คิว-คอนปรับราคาขายหวังรักษามาร์จิน27%


ผู้จัดการรายวัน(30 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"คิว-คอน" แจงสงครามราคาปี 48 ส่งผลกำไรบริษัทหดเหลือแค่ 28 ล้านบาท ปี 49 ปรับขึ้นราคาอิฐมวลเบาอยู่ที่ 130-135 บาท/ตร.ม. หวังดึงกำไรเพิ่ม ยันรักษากำไรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 27% พร้อมตั้งเป้าโต 30% ยอดขาย 1,200 ล้านบาท หวั่นโครงการรัฐชะลอก่อสร้างส่งผลตลาดอิฐมวลเบาชะลอตาม เตรียมเพิ่มตัวแทนจำหน่ายจาก 100 รายเป็น 300 รายในปีนี้

นายพยนต์ ศักดิ์เดชยนต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ Q-CON เปิดเผยถึงภาพรวมของตลาดอิฐมวลเบาในช่วงปีที่ผ่านมาว่า มีการแข่งขันสูงมากโดยเฉพาะในเรื่องราคาจากในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ราคาขายกว่า 200 บาท/ตร.ม. มาอยู่ในระดับต่ำกว่า 130บาท/ตร.ม. รวมถึงราคาต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทในปี 2548 มีเพียง 28 ล้านบาท ลดลง จากที่ปี 2547 ที่มีกำไรสุทธิ 312 ล้านบาท ส่วนยอดขายลดลง 48% จาก 892 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 844 ล้านบาท ในปี 2548 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 986 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่าในปีนี้จะมีแนวยอดขายเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อน โดยตั้งเป้าการขายจำนวน 8ล้านตร.ม.หรือมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท โต 30% จากปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิดีขึ้น โดยจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ไม่ต่ำกว่า 27% นอกจากนี้บริษัทฯมีนโยบายจะขยายปริมาณการใช้มากขึ้น อีกทั้งได้มีการปรับราคาขายสินค้าเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งได้ปรับราคาขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 130-135 บาท/ตร.ม.เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

อีกทั้งในปีนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการจะไม่หันมาแข่งขันในเรื่องของราคาเช่นปีที่ผ่านๆมา เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อบริษัท แต่ในทางกลับกันก็มีผู้บริโภคหันมาใช้อิฐมวลเบามากขึ้น เนื่องจากมีราคาใกล้เคียงกับอิฐมอญ แต่คุณภาพต่างกัน

นายกิตติ สุนทรมโนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขาย บริษัทควอลิตี้ คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ฯ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนที่จะขยายตลาดไปยังต่างจักหวัดเพิ่มมากขึ้น โดยผ่านตัวแทนจำหน่ายจากเดิมเน้นเฉพาะตลาดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ปัจจุบันบริษัทมีตัวแทนจำหน่ายประมาณ 100 ราย โดยไม่นับรวมร้านซีเมนต์ไทยโฮมมาร์ทที่เป็นพันธมิตรเดิม ในปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มตัวแทนจำหน่ายเป็น 300 รายทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีช่องทางการจำหน่ายมากขึ้น

สำหรับภาพรวมของตลาดอิฐมวลเบาคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 10% หรือประมาณ 20-25 ล้านตร.ม. ในขณะที่ตลาดรวมพื้นพนังทั้งหมดมีจำนวน 300 ล้านตร.ม. ซึ่งกว่า 80% เป็นอิฐมอญ และส่วนที่เหลือเป็นพนักไม่และอื่นๆ

ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิต 3 แห่ง กำลังการผลิตแห่งละ 3 ล้านตร.ม./ปี หรือ 9 ล้านตร.ม. แต่ปัจจุบันใช้กำลังการผลิตเพียง 60-70% เท่านั้น ส่วนโรงงานแห่งที่ 4 ได้สร้างเสร็จแล้ว โดยมีกำลังการผลิต 3 ล้านตร.ม./ปี เช่นเดียวกัน แต่ขณะยังไม่เดินการผลิตเนื่องจากอยู่ในช่วงทดสอบคุณภาพ อีกทั้งโรงงานดังกล่าวเครื่องจักรยังเป็นเทคโนโลยีใหม่จากประเทศเยอรมันนีจึงต้องมีการฝึกอบรมพนักงงานให้มีความเชี่ยวชาญก่อน ซึ่งเมือโรงงานแห่งที่ 4 เดินกำลังการผลิตจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเต็ม 12 ล้านตร.ม./ปี

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะส่งออกสินค้าอิฐมวลเบาไปขายยังต่างประเทศ โดยตั้งไว้ส่งออกไว้ที่ 7-8% ของยอดขายทั้งหมด จากที่ในปี 2548 บริษัทส่งออกเพียง 1-2% เท่านั้น ซึ่งล่าสุดได้เจรจาขายให้โครงการที่ประเทศญี่ปุ่น มัลดีฟ ออสเตรเลีย นิงซีแลนด์ สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า

"ราคาขายที่เราส่งออกจะขึ้นอยู่กับประเทศที่จะส่งไปหากอยู่นอกเอเชียตะวันออกจะมีราคาที่สูงกว่าเนื่องจากมีต้นทุนค่าขึ้นส่งสูงกว่า นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของประเทศนั้นๆ อย่างมัลดีฟก็จะซื้อในราคาสูงได้ บางประเทศก็ส่งออกไปถูก เพราะเค้าทำโครงการขนาดใหญ่ก็จะมีการต่อรองราคากันได้" นายกิตติกล่าว

นายกิตติกล่าวต่อว่า ตลาดอิฐมวลเบาในอนาคตยังมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยจะไปกินส่วนแบ่งตลาดอิฐมอญ เนื่องจากราคาไม่แตกต่างกันมากนัก แต่มีน้ำหนักเบากว่าและมีคุณสมบัติที่ดีกว่า นอกจากนี้การผลิตอิฐมอญยังมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากไม้ที่นำมาทำเชื้อเพลิงในการเผาอิฐหายาก ส่วนเชื่อเพลิงที่นำมาทดแทนก็มีราคาที่สูง นอกจากนี้ในฤดูฝนยังไม่สามารถผลิตได้เนื่องจากปัญหาเรื่องน้ำท่วมเตาเผา ดังนั้นจึงเชื่อว่าผู้บริโภคจะหันมาใช้อิฐมวลเบามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบต่อตลาดอิฐมวลเบาที่น่าจับตามองคือ ความล่าช้าของโครงการภาครัฐ โดยล่าสุดโครงการศูนย์ราชการที่แม้ว่าจะมีการประมูลไปแล้ว แต่ต้องรอการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามา ซึ่งอาจส่งผลต่อโครงการอื่นๆด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.