"ตั๋วบี/อี มหาภัย ระวังโง่-งก-เงิน"

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย อนุสรา ทองอุไร
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

จากตั๋วบี/อีปลอมกระดาษแผ่นเดียวหลายกอปปี้ที่เขียนข้อความว่า "ตั๋วแลกเงิน" (BILL OF EXCHANGE) ของบริษัทปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์ ที่สุรพงษ์ ใจงาม กรรมการผู้จัดการ เซ็นชื่อเป็นผู้รับรองการจ่ายเงินและสั่งจ่ายแบบ WITHOUT RECOURSE ที่ไม่ต้องรับผิดชอบกรณีตั๋วเงินถูกปฏิเสธ กลายเป็นเรื่องไฟลามทุ่งที่ขยายไปถึงตลาดซื้อขายตั๋วแลกเงินที่กำลังสะพัดมูลค่าถึง 3-4 แสนล้านบาท

บางทีเศรษฐีหัวโบราณที่เคยแต่กินดอกเบี้ยเงินฝากประจำอาจจะสนใจแค่ผลตอบแทนดอกเบี้ยสูงๆ โดยไม่เข้าใจว่า "ตั๋วบี/อีมหาภัย" นี้ คืออะไรแท้จริง จึงทำให้หละหลวมในการตรวจสอบและตกเป็นเหยื่ออันโอชะให้นิตยาและพวกพ้องหลอกเงินไปหมุนจำนวนถึง 266 ล้านบาท

"ตั๋วแลกเงิน" (BILL OF EXCHANGE) หรือเรียกว่า"ตั๋วบี/อี" ทำหน้าที่คล้ายพันธบัตรตรงที่บริษัทผู้ออกตั๋วแลกเงินออกมาเพื่อระดมทุนเอาไปขยายกิจการ ส่วนผู้ซื้อตั๋วแลกเงินนี้ก็คือนักลงทุนทั้งบุคคลธรรมดาและสถาบันลงทุน โดยมีคนกลางคือแบงก์พาณิชย์ที่จับคู่ระหว่างบริษัทเจ้าของตั๋วบี/อีกับลูกค้าผู้ซื้อ

ในขณะนี้ตลาดซื้อขายตั๋วบี/อีเป็นไปอย่างซื้อง่ายขายคล่อง เพราะบริษัทที่ต้องการใช้เงินทุนระยะสั้น 3-6 เดือนต่างนิยมช่องทางตั๋วบี/อีนี้ระดมทุนด้วย "สะดวกและต้นทุนต่ำ" กว่าเสียดอกเบี้ยอัตราไพรม์เรทลูกค้าชั้นดีที่กู้จากแบงก์พาณิชย์ ขณะที่ลูกค้าผู้ซื้อตั๋วบี/อี ก็พอใจกับผลตอบแทนที่ให้อัตราสูงกว่าฝากประจำแบงก์เล็กน้อย

แต่ใช่ว่าใครๆ จะออกตั๋วบี/อีได้ง่ายๆ เพราะความน่าเชื่อถือของกระดาษแผ่นเดียวนี้ขึ้นอยู่กับใครเป็นคนค้ำประกันหรือรับผิดชอบ ถ้าหากเป็นแบงก์พาณิชย์อาวัล ตั๋วบี/อี ประเภทนี้คนซื้อก็อุ่นใจเพราะแบงก์ต้องตรวจสอบฐานะกิจการและให้บริษัทเอาหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งแบงก์ชาติถือว่าเป็นการปล่อยสินเชื่อรูปแบบหนึ่ง โดยผู้ออกตั๋วบี/อีเอาหลักทรัพย์มาค้ำประกันกับแบงก์ แบงก์จึงจะปล่อยเงินกู้ออกไป

หากเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่มีชื่อเสียงดีมากต้องการออกตั๋วบี/อีเพื่อระดมทุนเหมือนสิบปีที่แล้วที่บริษัทไทยออยล์ทำ บางทีสถาบันการเงินก็ไม่จำเป็นต้องอาวัล เพราะนักลงทุนก็จ้องจะซื้อเก็บไว้เป็นสินทรัพย์อยู่แล้ว ตั๋วประเภทนี้แบงก์ชาติเสนอว่าอาจจะมีการจัดเครดิตเรตติ้งกำกับ

แต่ตั๋วบี/อีที่เสี่ยงที่สุดน่าจะเป็นตั๋วบี/อีประเภท "BACK TO BACK" คือผู้ออกตั๋วและผู้ซื้อตั๋วเป็นทั้ง "เจ้าหนี้และลูกหนี้" เสร็จสรรพในคน ๆ เดียว โดยทางเจ้าของบริษัทจะออกตั๋วบี/อี และผู้ที่จะเข้ามาซื้อตั๋วบี/อี

ก็คือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เจ้าของตั๋วนั่นเองเหมือนกรณีตั๋วบี/อี ของบริษัทปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะดอกเบี้ยงามเป็นพิเศษ

ตั๋วบี/อี สามารถซื้อขาย "เปลี่ยนมือ" ได้เหมือนใบหุ้นเพียงแต่สลักหลังตั๋ว ซึ่งจะมีเงื่อนไขรับผิดชอบไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกมีคำว่า "RECOURSE" แสดงว่าผู้ถือตั๋วคนสุดท้ายสามารถไล่เบี้ยทวงสิทธิ์เมื่อตั๋วถูกปฏิเสธการจ่าย กรณีที่สอง "WITHOUT RECOURE" คือ ผู้ซื้อคนสุดท้ายต้องรับความเสี่ยงเองเพราะไล่เบี้ยกับใครไม่ได้เลย ซึ่งปรากฏในตั๋วของปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ส์

ผลตอบแทนที่ทุกฝ่ายแฮปปี้ก็คือ "ดอกเบี้ย" ฝ่ายเจ้าของตั๋วก็ได้ต้นทุนดอกเบี้ยต่ำแทนที่จะกู้แพงจากแบงก์หรือเพิ่มทุนก็ช้า ส่วนฝ่ายผู้ซื้อตั๋วก็ชอบเพราะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าฝากประจำ ขณะที่แบงก์พาณิชย์ที่อาวัลตั๋วในฐานะเจ้าหนี้จะได้ดอกเบี้ยจากการปล่อยกู้แก่เจ้าของตั๋ว หรือแบงก์ได้ส่วนลดที่หักค่าบริการ 1% จากยอดหน้าตั๋วกำหนดไว้ นอกจากแบงก์อาจกินหลายต่อ ถ้าหากตั๋วบี/อีน่าเชื่อถือและให้ผลตอบแทนด้านดอกเบี้ยสูงน่าพอใจ แบงก์ก็อาจจะซื้อเก็บไว้เก็งกำไรเอง แล้วถ้าขายต่อให้ลูกค้า แบงก์ก็จะได้ส่วนลดอีกด้วย

จึงไม่ต้องสงสัยว่า ในโลกการเงิน อิทธิพลของกระดาษแผ่นเดียวที่เขียนว่า "ตั๋วบี/อี" จึงมีมากพอที่จะทำให้เศรษฐีผู้หลงคารมไพรเวทแบงเกอร์ผู้ชำนาญการอย่างนิตยา วิรัชพันธุ์ ยิ่งกว่าญาติมิตรตนเอง ยอมเซ็นเช็คเป็นสิบ ๆ ล้านจ่ายซื้อตั๋วบี/อีปลอม เพียงเพราะต้องมนต์ดอกเบี้ยงาม ๆ เท่านั้นเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.