"ไพรเวท แบงกิ้ง ทำไมหละหลวมถึงขนาดนี้ ?"

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย อนุสรา ทองอุไร
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

"ทำไมนิตยาจึงโกงได้บ่อย ๆ เป็นปี แสดงว่าระบบการตรวจสอบไม่ชัดเจนทั้ง ๆ ที่เรื่องโกงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2536 คือตั๋วบี/อีของลูกค้ารายหนึ่งเริ่มมีปัญหา แต่ลูกค้าซึ่งเป็นคุณยายรายนั้นไม่ไหวตัว เพราะยังได้รับดอกเบี้ยตามสัญญาทุกเดือนจนกระทั่งแกมารู้จากหนังสือพิมพ์เจอประกาศแจ้งจับ แกจึงมาร่วมแจ้งความด้วย นั่นแสดงว่าถ้าคุณนิตยาหมุนเงินได้ทันเรื่องก็ไม่แดงออกมาและเรื่องนี้อย่าให้คิดเลยว่าจะเสียหายมากมายกว่านี้สักแค่ไหน เรียกว่าระดับน้อง ๆ แชร์ชม้อย" เจ้าหน้าที่ สศก. เล่าให้ฟัง

กรณีของนิตยาจึงสะท้อนให้เห็นมุมมืดของไพรเวทแบงกิ้งที่ยังมีธุรกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมายที่น่าสงสัย ที่นำพาไปสู่ประเด็นภาพติดลบของไพรเวทแบงกิ้งด้วยว่าเป็น "วงแชร์ตั๋วบี/อีปลอมหรือแหล่งฟอกเงินจริงหรือไม่?"

"มีลูกค้าชาวต่างประเทศเข้ามาขอคำปรึกษาการลงทุน 3 รายๆ ละ 500 ล้านบาท เป็นนักลงทุนจากสวีเดน จีนแดงและสิงคโปร์ ซึ่งเรากำลังจะสร้างบุคลากรให้สามารถรับลูกค้าระดับนี้เพิ่มมากขึ้นให้ได้ วันก่อนก็มีลูกค้าจากประเทศฮอลแลนด์เข้ามาหาบอกว่า อยากจะลงทุนปลูกต้นปาล์มที่ใช้เป็นไม้ประดับส่งออก เราก็ช่วยให้คำปรึกษา เช่นราคาที่ดิน ค่าแรง ทำเป็นรายงานสำรวจให้เขา แล้วคิดค่าบริการ เขาก็ชอบใจซึ่งก็เป็นรายได้อีกทางหนึ่งของธนาคาร สมัยก่อนเรามีแต่ทำให้ FREE ไม่มี FEE" จินดา จรุงเจริญเวชช์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เคยให้สัมภาษณ์กับการเงินการธนาคารฉบับมิถุนายน 2531 ปีที่แบงก์กรุงเทพเปิดบริการไพรเวทแบงกิ้งครั้งแรก

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของเงินทุนมหาศาลของต่างประเทศที่จะไหลผ่านเข้ามาพักในบัญชีแบงก์กรุงเทพ แล้วผันไปลงทุนหรือไม่ก็ตาม แต่สายงานธนบดีธนกิจได้รับค่าที่ปรึกษาที่คิดราคาต่างกันไปตามความยากง่ายของโครงการ

หลังเกิดเหตุการณ์ "นิตยา วิรัชพันธุ์" ธุรกิจไพรเวทแบงกิ้งกลายเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ จากธุรกิจที่มีภาพพจน์สวยหรูและปราศจากข้อสงสัยใด กลายธุรกิจที่เต็มไปด้วยคำถามเพียงชั่วข้ามคืน

เป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ที่สำนักงานกฎหมาย ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน ซึ่งรับผิดชอบว่าความให้กับโจทก์ในคดีนี้ถึงกับลงทุนจัดสัมมนาเรื่อง "หน้าที่และความรับผิดชอบของธนาคารผู้ประกอบการกิจการไพรเวทแบงกิ้ง" โดยเชิญ เดชอุดม ไกรฤกษ์ อุปนายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ สงคราม สกุลพราหมณ์ ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย แบงก์กรุงเทพ และวิบูลย์ สิทธาพร ฝ่ายกฎหมายแบงก์กสิกรไทย และสองนักกฎหมายจากแบงก์ชาติเกริก วนิชกุล รอง ผอ. กฏหมายและชาญชัย บุญญฤทธิ์ชัยศรี ผู้ช่วยฯ

อย่างไรก็ตามในที่สัมมนาก็ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน นอกจากข้อเสนอให้แบงก์มีจรรยาบรรณรับผิดชอบในกรณีทุจริตลูกค้าเกิดขึ้นสัญญาที่แบงก์ได้เปรียบควรได้รับการแก้ไขจากแบงก์ชาติ ส่วนผู้เสียหายสามารถฟ้องแบงก์โดยอ้างหลักสุจริตในมาตรา 5 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวพันถึงความรับผิดชอบของแบงก์กับพนักงานที่เป็นตัวแทนแบงก์

นอกเหนือไปจากนั้น ไพรเวทแบงกิ้งเริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้น เคยมีข้อสงสัยว่ามีบ้างไหมที่เงินสกปรกจากธุรกิจเถื่อนที่ผิดกฎหมายไม่ว่าค้าอาวุธ ค้าโสเภณีหรือยาเสพติด จะไหลเข้ามาฟอกให้สะอาด โดยผ่านกระบวนการทางการเงินระดับวีไอพีแบบไพรเวทแบงกิ้ง ที่มีอยู่ในสถาบันการเงินชั้นนำในไทยแล้วโอนเงินไปเปิดบัญชีหรือตั้งบริษัทผ่องถ่ายเงินสะอาดไปเก็บไว้ที่สวิตเซอร์แลนด์ หรือเกาะเคลย์แมน เบอร์มิวด้า บาฮามาหรือลักเซมเบอร์กอย่างลับ ๆ

แต่ใครเล่าจะสนใจ เพราะไพรเวทแบงกิ้งจะสนใจแต่จะสร้างมูลค่าเพิ่มกำไรให้กับแบงก์ในรูปค่าธรรมเนียมงาม ๆ ขณะที่ลูกค้าบางคนก็อาจแฮปปี้กับการฟอกเงินให้สะอาดโดยปราศจากการรบกวนจากแบงก์ชาติ

นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยต่อมาว่า ไพรเวทแบงกิ้งต่าง ๆ จะแอบแฝงธุรกรรม "วงแชร์ตั๋วบี/อี" ที่ระบาดไปทั่ววงการ เนื่องจากกระบวนการออกตั๋วบี/อีนั้นง่ายมาก เหมือนการปล่อยสินเชื่อเงินกู้นอกระบบที่ไม่ต้องตั้งสำรองตามกฎหมายแถมไม่จำกัดเพดานสินเชื่ออีกด้วย ทำให้ตลาดของตั๋วบี/อีโตมีมูลค่าถึงระดับ 3 แสนล้านบาท

การเล่นแชร์ตั๋วบี/อีทั้งตั๋วจริง และตั๋วปลอม จึงอาจระบาดในไพรเวทแบงเกอร์ที่เป็นคนกลางของตลาดผู้ออกตั๋วบี/อีกับตลาดผู้ลงทุนซื้อตั๋วบี/อี เพียงแต่ใครหมุนตัวได้รอบจัดกว่าผู้นั้นก็เป็นผู้ชนะในเกมธุรกิจหมุนเงินนี้โดยไม่พลาดท่าเสียทีเหมือนกรณีนิตยา วัชรพันธุ์

ถึงวันนี้แล้วทางแบงก์ชาติน่าจะกำหนดจรรยาบรรณความรับผิดชอบของแบงก์ในความเสียหาย หรือบังคับให้แบงก์ต้องตั้งสำรองหลักทรัพย์ในการออกตั๋วบี/อี รวาทั้งธุรกรรมทางการเงินของไพรเวทแบงกิ้งน่าจะมีการทบทวนให้ถ่องแท้ และรัดกุมในการกำกับตรวจสอบที่จะให้ความมั่นใจแก่ลูกค้า โดยไม่ต้องหวั่นเกรงว่า เงินที่ฝากไปนั้นจะถึงมือแบงก์หรือไม่

มิเช่นนั้นต่อไปนี้ คนนำเงินไปฝากแบงก์มิต้องตามไปประกบถึงห้องเก็บเงินหรือ?

เมื่อถึงวันนั้นวันที่พนักงานธนาคารไม่เป็นที่น่าเชื่อถือไพรเวทแบงกิ้งก็อาจถึงวันล่มสลาย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.