คลังปลื้มดุลการค้าแนวโน้มดีขึ้น


ผู้จัดการรายวัน(29 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังแจ้งตัวเลขส่งออก-นำเข้าสินค้าขยายตัว 22.9% และ 19.0% ตามลำดับ สูงกว่าประมาณการณ์ ระบุตัวเลขบ่งชี้ว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมั่นคงในระดับน่าพอใจ "นริศ" เผยผลสัมมนาผู้บริหารระดับสูงเอซีดีพบการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นเว้นญี่ปุ่นขยายตัวถึง 48% ของจีดีพี พร้อมเสนอลดควบคุมด้านบัญชีทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ขณะที่ภาคเอกชนแนะให้กระจายความเสี่ยงในการลงทุนเพิ่ม

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคระหว่าง สศค.และสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 มูลค่าส่งออกสินค้าจำนวน 9,515.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราเร่ง 22.9% ต่อปี สูงกว่าเกณฑ์ที่คาดไว้ในระดับมาก ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าจำนวน 9,801.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 19.0% ต่อปี สูงกว่าเกณฑ์ที่คาดไว้ในระดับปานกลาง การขยายตัวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับการสนับสนุนจากอุปสงค์ภายนอกประเทศ

ขณะที่ดุลการค้าในเดือนกุมภาพันธ์ขาดดุล 286.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น้อยกว่าที่คาดไว้ 691 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และขาดดุลลดลงจากเดือนมกราคมที่ขาดดุล 442 พันดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ดุลการค้ารวม 2 เดือนแรกของปี 2549 ขาดดุล 728.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าใน 2 เดือนแรกจะขาดดุลถึง 1,676 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

“การที่มูลค่าการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ ขยายตัวในอัตราเร็วกว่ามูลค่าการนำเข้าแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับและสนับสนุนจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องและเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2549 และหากดูข้อมูลจริง 2 เดือน จะพบว่าทั้งปี 2548 ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจจะขาดดุลน้อยกว่าที่ทางสศค.คาดการณ์ไว้ ซึ่งถือว่ายังคงมีความมั่นคงของเสถียรภาพในระดับที่น่าพอใจ” นายนริศกล่าว

เผยพันธบัตรเอเชียรุดหน้า

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยถึงการสัมมนาผู้บริหารระดับสูงของประเทศสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือเอเชีย(เอซีดี)เรื่องการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินผ่านการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียว่า ภาพรวมของการพัฒนาตลาดพันบัตรในภูมิภาคเอเชีย ช่วงที่ผ่านมามีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นขนาดตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไม่รวมญี่ปุ่น ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 16.5% ของจีดีพีปี 2540 มาเป็น 48% ของจีดีพี ในปี 2548

โดยในการสัมมนามีความเห็นว่าความสำเร็จในการพัฒนาตลาดพันธบัตรในภูมิภาคนั้นจำเป็นต้องมีการออกพันธบัตร หุ้นกู้ที่เป็นสกุลเงินท้องถิ่น มากขึ้น โดยรัฐบาลต้องเป็นผู้นำ ส่วนการพัฒนาด้านอุปสงค์ ต้องเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นหลัก เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เข้มแข็งควบคู่กัน

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนได้เสนอที่ประชุม ให้เพิ่มมูลค่าพันธบัตร โดยให้มีการออกพันธบัตรอย่างต่อเนื่องในระดับเหมาะสม ลดมาตรการการควบคุมด้านบัญชีทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และสร้างความโปร่งใสและพัฒนาโครงสร้างทางกฎหมายสำหรับการบังคับคดี รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจจัดการสินทรัพย์

ในขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนของเงินสกุลต่างๆ ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสกุลเงินของเอเชียให้มากขึ้น และพิจารณาการเพิ่มความหลากหลายของพันธบัตร หุ้นกู้ประเภทใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.