|

เฮเฟเล่ฯรุกเฟอร์ฯไทยทุ่ม250ล.ลุย
ผู้จัดการรายวัน(29 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"เฮเฟเล่" ผู้นำเข้า-รับจ้างผลิตเฟอร์นิเจอร์ฟิตติ้ง เผยแผนระยะยาวทุ่มงบ 250 ล้านบาทซื้อที่ดินเรียบถนนบางนา 20-30 ไร่ สร้างโรงงานสต็อกเฟอร์นิเจอร์นำเข้า ผุดโชวร์รูมขนาดใหญ่หน้าโรงงานเดิม มั่นใจนักลงทุนต่างชาติมองประเทศไทยศักยภาพการลงทุนสูงกว่า จีน-เวียดนาม ระบุเป็นเมืองสงบ- ค่าครองชีพต่ำ เหมาะสำหรับย้ายฐานตั้งครอบครัว แจงปัญหาการเมืองไม่กระทบตลาด เชื่อแนวโน้มตลาดยังขยายตัวต่อเนื่อง ฟุ้งยอดขาย ไตรมาสแรกยอดขายเติบโตจากปี 48 กว่า 24% ยันการบริโภคเฟอร์นิเจอร์ในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ1ในเอเชีย ตั้งเป้ายอดขายปี49ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เติบโตจากปี48 กว่า 20%
นายโฟล์เคอร์ เฮลสเติร์น กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท เฮเฟเล่ จำกัด ผู้นำเจข้าและรับจ้างผลิตเฟอรืนิเจอร์ฟิตติ้ง จากประเทศเยอรมัน กล่าวว่า จากนโยบายของบริษัทที่จะเน้นการลงทุนในประเทศที่ เฮเฟเล่ เข้าไปดำเนินการธุรกิจและตั้งสาขา โดยใช้ผลกำไรในการดำเนินธุรกิจในแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มและขยายตลาด รวมถึงการสต็อกสินค้า และบริหารสต็อกกระจ่ายสินค่าไปในประเทศและกลุ่มประเทศข้างเคียงเพื่อลดต้นทุนในการขนส่งของบริษัทนั้น ในช่วงที่ผ่านมา เฮเฟเล่ ได้ใช้งบประมาณส่วนหนึ่งในการซื้อที่ดินสะสมและขยายเพิ่มโกดังสต็อกสินคา โดยล่าสุดบริษัทได้เจรจาซื้อที่ดินในย่านถนนบางนาตราด จำนวน 20-30 ไร่ เพื่อขยายโกดังสต็อกสินค้าในระยะ2-3 ปีข้างหน้า
โดยการก่อสร้างโกดังสต็อกสินค้าดังกล่าวคาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 250 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถสต็อกสินค้าเพื่อส่งออกไปในประเทศข้างเคียงอาทิ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินฯลฯ ในสัดส่วนประมาณ 5% ส่วนที่เหลือ 95% จะเป็นการรองรับความต้องการตลาดในประเทศไทย ทั้งนี้แนวโน้มการขยายตัวของตลาดในประเทศยังมีอัตราการขยายตัวที่ต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจัยด้านการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะมีความร้อนแรง แต่จากยอดขายในช่วงไตรมาสแรกของปี49 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส1 ของปี2548 มี่อัตราการขยายตัวของยอดขายเติบโตถึง24%
โดยในปี2548 ที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายรวมในประเทศ 870ล้านบาท ส่วนยอดขายรวมของกลุ่มบริษัท เฮเฟเล่ ใน36 ประเทศทั่วโลกมีทั้งสิ้น 700 ล้านเหรียญยูโร ส่วนในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ายอดขายในประเทศว่าจะมีอัตราการเติบฌโตเพิ่มขึ้นจากปี48 ประมาณ 20% หรือมียอดขายรวม 1,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้จากการขายตรงหรือขายให้โครงการจัดสรร โรงแรม 30% ขายผ่านดีลเลอร์ 30% ส่วนที่เหลือ 40% เป็นการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการในประเทศ โดยลูกค้ารายใหญ่ของ เฮเฟเล่ ในขณะนี้คือ อินเด็กซ์ และ เอสซีเอส
ส่วนสถานการณ์ด้านการแข่งขันของตลาดในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศนั้น มีความแตกต่างจากตลาดเฟอร์นิเจอร์ในประเทศเยอรมัน เนื่องจากการแข่งขันในประเทศ มีการแข่งขันในด้านตัวสินค้า และบริการหลังการขายรวมถึง ราคาด้วย โดยในประเทศไทยนั้นนอกจากดีไซนด์ที่ดีแล้ว จะต้องมีระดับราคาที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าด้วย ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเองในช่วงที่ผ่านมาการแข่งขันเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าตลาดจะมีการแข่งขันสูงขึ้นแต่จำนวนการขยายตัวของยอดขายก็ยังในประเทศก็สูงกว่าทุกประเทศในแถบเอเซียโดยประเทศไทยนับเป็นอันดับ1 ที่มีอัตราการขยายตัวมากที่สุด และเป็นอันดับ4 ของโลกที่มีการขยายตัวของยอดขายรองจาก อเมริกา อังกฤษ และออสเตเรีย
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีบริษัทมีการเตรียมงบการตลาด และการออกงานต่างๆ อาทิ งานเอเซียเฟอร์นิเจอร์ งานสถาปนิกสยามฯ ไว้ส่วนหนึ่ง โดยในแต่ละปีบริษัทจะใช้งบประมาณในการจัดทำแคตตาล็อก ต่างๆ เพื่อเผยแพร่สินค้าใหม่ๆ ประมาณ 10ล้านบาท ส่วนในปีนี้ บริษัทก็จะมีการเข้าร่วมงาน Asean Furniture & Interior Fittings ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27-30 เมษายนนี้ โดยบริษัทจะนำชุดครัวดีใหม่เข้าร่วมแสดงในงานด้วย
" แม้ว่าสถานการณ์การเมืองของประเทศไทย จะยังเป็นผลด้านลบต่อการลงทุนแต่เมื่อพิจารณาจากยอดขายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทในช่วง 3 เดือนแรกที่มีอัตราการขายายตัวสูงถึง 24% ซึ่งถือว่าอัตราการขยายตัวยังสูงอยู่ แม้ว่าในส่วนของตลาดขายตรงของบริษัทจะมีบางส่วนที่ชะลอไปบ้าง จากอัตราการขยายตัวของยอดขายโดยรวมจึงทำให้บริษัทมั่นใจว่าในปีนี้ จะมียอดขายได้ถึง 1,000 ล้านบาทแน่นอน" นายโฟล์เคอร์กล่าว
นายโฟล์เคอร์ กล่าวว่า สำหรับ เฮเฟเล่ ถือว่าเป็นกลุ่มบริษัทสัญชาติ เยอร์มัน ทั้ง 100% จากเดิมที่ก่อนหน้านี้การเข้ามาลงทุนในประเทศไทย บริษัทเข้ามาลงทุนในรูปแบบการจอยท์เวนเจอร์ร่วมกับ บริษัท สหมิตร แมชชันนารี จำกัด เพื่อนำเข้าชินส่วนและเฟอร์นิเจอร์ จากบริษัทแม่ในประเทศเยอร์มันและรับจ้างผลิตสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ในประเทศ แต่หลังจากเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี2540 พันธมิตรได้ถอนหุ้นเพื่อไปลงทุนในธุรกิจอื่นทำให้ เอเฟเล่ กลายเป็นถือหุ้นทั้งหมด100% ซึ่งบริษัทได้มีการขอการสนับสนุนการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อดำเนินธุรกิจต่อ
สำหรับ รูปแบบการผลิตสินค้าส่งออกไปจำหน่ายตามสาขาต่างๆ ทั้ง 36 ประเทศทั่วโลกนั้น 20-30% จากเป็นการจาก โรงงานในเยอรมัน ซึ่งมีอยู่ 4 โรงงาน ส่วนที่เหลือ เป็นการสั่งผลิตจากผู้ประกอบการในประเทศ ต่างๆ อาทิ สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตเรีย จีน ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าการผลิตเอง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|