"ศิริรัตน์ โชติเวชการ นักบัญชีก็ต้องมีแฟรนไชส์"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ศิริรัตน์ โชติเวชการ จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสตรีวิทยา สอบเข้า และจบเป็นบัญชีบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ MBA Executive รุ่นที่ 5 จากที่เดียวกัน

เริ่มงานครั้งแรกเมื่อปี 2523 เป็นพนักงานบัญชีที่ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารเซ็นทรัล อยู่ 2 ปี ก่อนจะมาเป็นสมุห์บัญชีที่บริษัทไทยอัน จำกัดอีก 3 ปี แล้วจึงมารับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีของกลุ่มบริษัท มินีแบ จนถึงปี 2538 ศิริรัตน์เริ่มมองหาและเห็นช่องทางทำธุรกิจของตัวเองจากประสบการณ์งานบัญชีที่ตนถนัด

"เริ่มต้นจากที่เรามักจะถูกเรียกไปช่วยเรื่องการจัดการบัญชีอยู่บ่อย ๆ ก็เลยคิดว่าน่าจะมีอะไรที่ทำเป็นของตัวเองได้ พอดีสนใจระบบแฟรนไชส์ก็ไปหาหนังสือแฟรนไชส์มาเพื่อดูแฟรนไชส์พวกบิสซิเนสแปลนที่เราสามารถใช้ความรู้ด้านบัญชีได้ มาเจอบริษัทจีบีเอสก็เลยเสนอตัวด้วยการเขียนจดหมายไปแจ้งจุดประสงค์และแนะนำตัว ทางจีบีเอสก็ตอบกลับมา พร้อมกับให้ทำแบบสอบถาม เพื่อวิเคราะห์ตัวเรา ใช้เวลาเกือบปีกว่าจะอนุมัติ ส่วนที่ตัดสินใจเลือกจีบีเอสเพราะเป็นระบบที่ครบวงจรในด้านการจัดการแฟรนไชส์อื่นที่มีอีกประมาณ 3-4 แห่งเป็นด้านบัญชีอย่างเดียว" ศิริรัตน์ กล่าว พร้อมกับเล่าประวัติจีบีเอสว่า

GBS (General Business System) เป็นธุรกิจด้านการเงิน การจัดการ ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2505 พัฒนาขยายเป็นธุรกิจที่ใช้ระบบแฟรนไชส์ให้บริการทางด้านที่ปรึกษาทางการจัดการการเงิน บัญชี และภาษีอากร ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดีติดอันดับที่ 50 ของ พ.ศ. 2538 ที่จัดขึ้นโดยนิตยสารแฟรนไชส์บายเออร์ ของสหรัฐอเมริกาและเป็น 1 ใน 10 กิจการของบริษัทในเครือเดอะบายเออร์ กรุ๊ป ที่ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ที่ค่อนข้างหลากหลาย

ศิริรัตน์ กลายเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเน็ตเวอร์ก แอดไวซอรี่ ทีมจำกัดหรือเอ็นเอที ในปี 2539 นี้ ด้วยการเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ระบบบัญชีจากจีบีเอสของอเมริกาเข้ามาดำเนินงานในฐานะมาสเตอร์แฟรนไชส์ และสามารถเริ่มต้นได้ดีจากสายสัมพันธ์เดิม ๆ ของการเป็นนักบัญชีที่มีอยู่

"ตอนนี้เรามีลูกค้าที่เอ็นเอทีเข้าไปบริการให้ประมาณ 10 ราย สองรายแรกก็คือ บริษัทมินีแบ ซึ่งเคยทำงานอยู่ให้ไปช่วยจัดการเกี่ยวกับเรื่องภาษี เพราะทางญี่ปุ่นไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับระบบภาษีของเมืองไทย และกลุ่มสินธานี ซึ่งรู้จักกับคุณพนิดาภรรยาคุณสิทธิ ภาณุพัฒนพงษ์ ดูแลบัญชีให้สินธานี ก็เลยได้กลุ่มนี้มาเป็นพันธมิตรกันในการจัดตั้งเอ็นเอที โดยกลุ่มสินธานีถือหุ้นอยู่ 30% จากทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท"

การทำงานของเอ็นเอทีในปีแรก เป็นในรูปของการจำลองสาขาแฟรนไชส ์ที่ให้บริการลูกค้าเองแต่เพียงผู้เดียว ยังไม่เริ่มหาแฟรนไชส์ซีตามที่ได้สิทธิ์ เพราะแม้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์จะเป็นที่นิยมในเมืองไทย แต่สำหรับแฟรนไชส์ระบบบัญชียังถือว่าเป็นขั้นเริ่มต้นสำหรับเมืองไทย ซึ่งตัวศิริรัตน์เอง แม้จะมีความเชี่ยวชาญด้านบัญชีอยู่แล้วแต่ด้านการจัดการต่าง ๆ ก็ยังต้องมีการเดินทางไปประชุมเพื่อศึกษางานกับ GBS ที่อเมริกาปีละครั้งด้วย

สำหรับทางจีบีเอสประธานบริษัท นายโรเบิร์ต อี. เทินไมรอ์ กล่าวถึงการที่จีบีเอส เลือกขยายสาขามาสู่ประเทศไทย เพราะเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เหมาะกับการดูแลได้ทั่วถึงสำหรับการเริ่มต้นขยายแฟรนไชส์ของจีบีเอสในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพราะอัตราการเติบโตของแฟรนไชส์ในไทยสูงมาก ดูตัวอย่างจากแฟรนไชส์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแมคโดนัลด์, บาสกิ้นรอบบิ้น, เชลล์ ซึ่งก็เป็นลูกค้าของจีบีเอสในอเมริกาอยู่เช่นกัน

"สถิติยอดขายแฟรนไชส์ในอเมริกาใน พ.ศ. 2537 มีอัตราเพิ่มขึ้น 40% ทั้งนี้เพราะทุกคนต้องการทำงานกับบริษัทที่มั่นคงและเชื่อถือได้ ซึ่งคงไม่ต่างกับเจ้าของธุรกิจในประเทศไทยในการเลือกทำงานกับระบบแฟรนไชส์ และสำหรับความน่าเชื่อถือจีบีเอสก็มีเครื่องยืนยันได้จากการมีสาขาอยู่ใน 30 ประเทศทั่วโลก และอีกจำนวน 400 แห่งในอเมริกาและแคนาดา" นายโรเบิร์ต กล่าว

ทั้งนี้นายโรเบิร์ตยังให้เหตุผลว่า การที่ประเทศไทยยังคงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 8.5% ต่อปี จะยังผลให้ธุรกิจขนาดกลางลงมาของประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องมีการบริการที่ปรึกษาทางด้านการจัดการการเงินบัญชีและภาษีฯ ในรูปแบบที่เป็นระบบมากขึ้น

จีบีเอสจึงถือเป็นแฟรนไชส์ด้านการจัดการและระบบบัญชีรายแรกที่เข้ามาในประเทศไทย ที่หวังจะให้บริการได้อย่างเป็นระบบและมีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือได้ รวมถึงรองรับปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเอ็นเอที ได้ ก็คือ

หนึ่ง-เรื่องของการแข่งขันอย่างรุนแรงทางธุรกิจ ที่ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องทราบสถานะที่แท้จริงของตนเอง และยอมรับว่าการวางระบบบัญชีที่ดีจะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องมีงบการเงินที่แสดงถึงผลประกอบการที่แท้จริง เพื่อให้สามารถดำเนินกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาผลประกอบการให้ดีขั้นอย่างทันท่วงที

สอง-กรมสรรพากรมีการพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี และมีมาตรการตรวจสอบที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ในขณะที่ธุรกิจขนาดย่อมซึ่งขาดบุคลากรที่มีความรู้ทางบัญชีและภาษีอากร เมื่อถูกตรวจสอบจึงมีความเสี่ยงกับการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง พร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับอันจะเป็นผลเสียหายให้กับธุรกิจ

"โครงสร้างภาษีของไทยใน 5 ปี จะเน้นการจัดเก็บในอัตราที่ต่ำลง แต่ถูกต้องและครบถ้วนมากขึ้น เรียกว่ากรมสรรพากรจะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี และเพื่อขจัดปัญหาตัวนี้ ธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่ขาดความชำนาญก็จะสามารถมีระบบการจัดการที่ดีได้ และที่สำคัญการจัดระบบบัญชียังจะเป็นการเริ่มต้นของฐานข้อมูลที่ดีสำหรับกิจการทุกขนาด อย่างประเทศญี่ปุ่นหากจะร่วมทุนกับใคร ก็จะให้ความสำคัญกับระบบบัญชีก่อน ถ้าไม่ดีก็จะไม่สนใจร่วมทุนด้วย" สิทธิ ภาณุพัฒนพงษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สินธานี กรุ๊ป หุ้นส่วนของเอ็นเอทีกล่าว

สาม-เศรษฐกิจขยายตัวเร็วทำให้มีบริษัทใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายส่งผลให้เกิดภาวะนักบัญชีขาดแคลน เพราะสามารถเลือกงานได้มากขึ้น มีอัตราการเปลี่ยนงานสูง ผลกระทบคือ ธุรกิจขนาดย่อมไม่สามารถจูงใจให้นักบัญชีทำงานอยู่ด้วยนาน ๆ การที่นักบัญชี เข้า-ออก บ่อยทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในงานบัญชี ซึ่งมีผลเสียหายต่อธุรกิจ

เพื่อแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อหลัก เอ็นเอทีจึงดำเนินการภายใต้ระบบของจีบีเอสด้วยการให้บริการตั้งแต่ด้านระบบบัญชี เช่น รับวางระบบบัญชีโดยให้สอดคล้องกับแต่ละธุรกิจ รับปรึกษาการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานบัญชี รับจัดทำบัญชีและรายงานงบดุลและงบกำไรขาดทุน บัญชีเงินเดือนและค่าแรง

การบริการด้านภาษีอากร ซึ่งนายโรเบิร์ต อี. เทินไมรอ์ ประธานจีบีเอสยืนยันว่า ระบบด้านภาษีของจีบีเอสที่มีอยู่สามารถนำมาปรับใช้กับระบบภาษีของเมืองไทยได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะโครงสร้างภาษีของแต่ละประเทศไม่ได้แตกต่างกัน สิ่งที่แตกต่างคือส่วนของรายละเอียดที่ปรับปรุงได้ไม่ยาก

"เราเชื่อว่านักบัญชีจะต้องดีใจเมื่อมีการนำระบบของจีบีเอสเข้ามาใช้ เพราะนักบัญชีจะไม่ต้องปวดหัวกับระบบบัญชีที่ยุ่งยาก เมื่อมีระบบที่ชัดเจน นอกเหนือจากการแก้ปัญหาเรื่องนำบัญชีขาดแคลนให้กับเจ้าของกิจการขนาดเล็กแล้ว ยังสามารถทำให้นักบัญชีที่แต่ละบริษัทรับเข้ามาทำงานสามารถสานต่องานได้ทันที เพราะระบบบัญชีไม่เปลี่ยนไปเป็นตามสไตล์ของนักบัญชีแต่ละคน ทุกคนทำตามระบบได้เลย" ศิริรัตน์ กล่าว

เอ็นเอทีได้ตั้งเป้าหมายสำหรับการเข้าไปบริการระบบเหล่านี้ว่า จะไม่เข้าไปด้วยกลยุทธ์การตัดราคากับสำนักงานตรวจสอบบัญชีที่มีลักษณะงานใกล้เคียงกันอยู่ เพราะถือว่าระบบที่นำมาจะแตกต่างจากการตรวจสอบระบบบัญชีเดิม โดยเอ็นเอที จะเน้นการวิเคราะห์ปัญหาให้เจ้าของกิจการได้แก้ไขและปรับปรุงในจุดที่บกพร่องด้วยนอกเหนือจากการจัดทำระบบต่าง ๆ ทั้งนี้การคิดค่าบริการสูงหรือต่ำจะขึ้นอยู่กับว่าให้บริการในลักษณะใดบ้าง อาทิ ให้วิเคราะห์ปัญหาเป็นกรณี ๆ หรือรับทำระบบบัญชีเป็นรายเดือน เป็นต้น

หลังปี 2539 เอ็นเอทีตั้งเป้าไว้ว่าจะมีลูกค้าที่ใช้บริการของบริษัทไม่น้อยกว่า 100 ราย แล้วจากนั้นจึงจะเริ่มขายแฟรนไชส์ให้ผู้สนใจในปี 2540 และเมื่อถึงปี 2545 เอ็นเอทีตั้งเป้าว่าทุกจังหวัดในประเทศไทยจะต้องมีสำนักงานแฟรนไชส์ของระบบจีบีเอสตั้งอยู่อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง

"ค่าแฟรนไชส์ที่เราตั้งไว้ประมาณ 5 แสนกว่า รวมแล้วจะต้องใช้เงินในการเริ่มต้นสำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ประมาณ 750,000 ขึ้นไป รวมค่าเช่าสำนักงานและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเราจะให้ระบบสำหรับการเป็นบริษัทที่ปรึกษา อาทิ ซอฟท์แวร์ต่าง ๆ การอบรมเพื่อปฏิบัติงาน แต่ทั้งนี้ผู้จะซื้อแฟรนไชส์เองก็ควรมีพื้นฐานด้านบัญชี ถ้าไม่มีเลยก็คงจะทำไม่ได้ สัญญาค่าแฟรนไชส์จะกินระยะเวลา 5 ปี ส่วนเอ็นเอทีก็จะมีรายได้จากค่ารอยัลตี้จากยอดขายของแฟรนไชส์ซีอีกเดือนละ 9% และต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงจะถึงจุดคุ้มทุนเช่นเดียวกับบริษัท" ศิริรัตน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของเอ็นเอทีไม่ได้หยุดที่การขายแฟรนไชส์จีบีเอสให้ได้ทั่วไทย เพื่อหวังจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในการเปิดโอกาสให้ผู้บริการระดับกลางสามารถมีธุรกิจเป็นของตนเองได้เท่านั้น แต่เอ็นเอทียังมีโครงการที่จะขยายแฟรนไชส์ไปยังประเทศใกล้เคียง อย่างเช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ต่อไปในอนาคต ตามแผนที่บริษัทแม่ในอเมริการ่วมวางไว้ด้วย

แต่สิ่งที่ต้องคอยดูกันก่อนสำหรับเอ็นเอทีก็คือ อีก 2 ปีต่อจากนี้ การดำเนินงานของเอ็นเอทีจะถึงจุดคุ้มทุนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่ เพราะแม้แต่จีบีเอสบริษัทแม่ของเอ็นเอทีเองก็บอกไว้ในงานเปิดตัวของเอ็นเอทีเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2539 ที่ผ่านมาว่า

"95% ของกิจการเปิดใหม่มักจะล้มเหลวในปีแรก"

ศิริรัตน์เองก็คงต้องใช้คำพูดประโยคนี้เป็นคติเตือนใจเหมือนกับที่เอ็นเอทีจะนำไปใช้แนะนำกับลูกค้าเช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.