"ไต่บันได "โหรหุ้น" ไม่ใช่เรื่องของจังหวะ โอกาสและความฉาบฉวย"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

วิถีของนักเล่นหุ้น มักจะฉายซ้อนไปกับภาพของการวิเคราะห์ นักวิเคราะห์หุ้น...โหรหุ้น หมอดูรายวัน ผู้ผนวกเอาทฤษฎีและข้อมูลนานาชนิด มาทำนายหรือไขปริศนาแห่งการลงทุนให้กับนักเล่นหุ้นทั่วสารทิศ

โดยเฉพาะในยุคที่สื่อต่าง ๆ บานสะพรั่ง ทั้งเคเบิลทีวี หนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่น้อย จนมีนักวิเคราะห์หุ้นต่างพาเหรดเข้าสู่สื่อต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ ทำนาย คาดการณ์สถานการณ์หุ้นแทบทุกวัน วันละหลาย ๆ รอบ

แต่ปัญหาที่ยังถกเถียงกันอยู่ก็คือในเรื่องของคุณภาพบางคนมีชั่วโมงบินพอแล้วหรือ ๆ ว่าจะใช้สื่อเป็นเวทีโปรโมตตัวเองจากบริษัทเล็กไปสู่บริษัทใหญ่ หรือเพียงเพื่อหวังจะใช้เป็นบันไดไปสู่เงินและงานที่ดีขึ้น

เชษฐา มีมั่งคั่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างคนหนุ่มวัย 34 ที่มีเงินเดือนและผลตอบแทนอื่น ๆ สูง ไม่ต่ำกว่า 4,000,000 บาทต่อปี ในฐานะผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกสิน เชษฐาใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีหลังจากจบเศรษฐศาสตร์จากรามคำแหงและต่อปริญญาโทที่ธุรกิจบัณฑิตย์ ทำงานกับสถาบันการเงินที่มีอนาคตสดใส

เชษฐาทำงานหนัก และทะเยอทะยานไต่เต้าบันไดสู่ความสำเร็จในสายอาชีพการเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ โดยเริ่มงานจากการเป็นผู้ช่วยเทรดเดอร์ ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนไทย ตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจของไทยเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะตลาดหุ้นและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้นขาดแคลนคน และเมื่อเชษฐาสามารถสอบผ่านมาเป็นเทรดเดอร์ได้ ก็เป็นช่วงโอกาสทองที่ตลาดหุ้นกำลังเริ่มบูมมากในปี 2530

"หุ้นในช่วงนั้นเกือบทั้งตลาดติดซิลลิ่งกันมาก ซึ่งเป็นช่วงที่จะหาตลาดแบบนั้นได้ยาก ถ้าหุ้นตัวไหนไม่ติดซิลลิ่ง เทรดเดอร์สามารถวิ่งไปเคาะให้ซิลลิ่งขึ้นมาได้" เชษฐาเล่าให้ฟัง ถึงบทบาทของเทรดเดอร์ยุคเก่า

หน้าที่ของเชษฐาตอนนั้นนอกจากเคาะซื้อเคาะขายหุ้นในระบบเก่าก่อนที่ระบบคอมพิวเตอร์จะเข้ามาใช้ทดแทน เชษฐายังรับหน้าที่พากย์หุ้นในห้องค้าอีก ด้วยลีลาลูกเล่นการพากย์ที่ไม่เหมือนใคร ขณะที่คนอื่นมักจะมองภาพรวมเป็นหมวด ๆ หุ้นซึ่งมีตั้งหลายร้อยตัว แต่เขาเลือกเจาะพากย์เฉพาะหุ้นที่น่าลงทุน หรือให้ระวังหุ้นตัวนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นโหรวิเคราะห์หุ้นไปในตัว

"ตลาดหุ้นตอนนั้นกับตอนนี้แตกต่างกันมาก ระบบต่าง ๆ ก็ยังไม่ชัดเจน เมื่อสิบปีที่แล้วบุคลากรด้านนี้มีน้อยมาก และเทรดเดอร์ก็มีอิทธิพลมากสามารถชี้ชะตาหุ้นได้ เพราะตอนนั้นตลาดยังไม่คึกคักเท่าที่ควร หมายถึงจำนวนคนที่เข้ามาเล่นหุ้นและนักลงทุนรายย่อยเองก็ไม่ค่อยมีความรู้มาก นักวิเคราะห์ยังไม่ค่อยมีความจำเป็นเท่าไหร่ ประกอบกับช่วงนั้นภาวะปัจจัยภายนอกด้านเศรษฐกิจยังไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นเหมือนในตอนนี้ ที่นักวิเคราะห์เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น"

จากเทรดเดอร์ที่พากษ์หุ้นจนคุ้นหูนักลงทุน เชษฐาได้ย้ายไปจับงานวิเคราะห์ที่ บงล. ร่วมเสริมกิจในเวลาต่อมา ผลงานวิเคราะห์ของเชษฐาครั้งแรกตีพิมพ์ใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ จนกระทั่ง บงล. เอกสินชวนไปทำงานด้วย เชษฐาได้กลายเป็นโหรหุ้นเนื้อหอมที่สื่อต่าง ๆ รุมตอม เช่นรายการชีพจรหุ้นทางช่อง 9 ไทยสกายทีวี รายการวิทยุผู้จัดการ 97.5 และคลื่นวิทยุรายการอื่นที่ 106.5

"ทุกวันนี้ผมยังต้องทำการบ้านอยู่ตลอดเวลาถ้าหยุดเมื่อไหร่ แสดงว่าคุณตายแล้วในอาชีพวิเคราะห์หุ้น ผมคิดว่าถ้าหยุดเมื่อไหร่หมายถึงโบกมือลาอาชีพนี้ งานของเราเริ่มแต่ 7 โมงเช้า บางครั้งอยู่ถึง 4 ทุ่มเพื่อที่จะวิเคราะห์ข้อมูลไว้ตอบคำถามทางโทรศัพท์กับลูกค้า 10 กว่าสาขาทั่วประเทศ นอกจากนั้นก็เตรียมข้อมูลไว้พูดให้กับรายการทีวีและสถานีวิทยุเจ้าประจำที่มีเกือบทุกวัน" เชษฐาเล่าให้ฟังถึงภารกิจประจำวัน

ในฐานะที่อยู่ในวงการโบรกเกอร์มากกว่า 10 ปี เชษฐาเห็นว่านักวิเคราะห์ที่ดีควรจะขยันค้นคว้าหาข้อมูล มีความตั้งใจจริงติดตามงานอย่างต่อเนื่อง และรักอาชีพนี้อย่างจริงจัง แต่ในข้อเท็จจริงนักวิเคราะห์คุณภาพในขณะนี้ก็ยังถือว่าขาดแคลน แต่ในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีการเปิดหลักสูตร CFA (CERTIFICATE FINANCE ANALYSIS) ของอเมริกามาอบรมโดยสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ร่วมกับ ก.ล.ต.

บทบาทของอาจาย์พิเศษของเชษฐา เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สอนวิชาหลักการลงทุน เชษฐาให้ความเห็นว่ามีเด็กสนใจเข้ามาเรียนวิชาพวกนี้กันมาก เพราะ "เงินและงานดี" เป็นแรงจูงใจนักศึกษาให้ฝันใฝ่อยากเป็นเทรดเดอร์ทำงานในตลาดหุ้น ค่าตอบแทนที่ดีมีโบนัสสูง ๆ ทำให้สาขาที่เปิดสอนวิชาที่เกี่ยวกับหุ้น และการเงินได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษดังนั้นที่ผ่านมาแต่ละรุ่นลงเรียนเกือบ 50 คน แต่ผ่านไม่ถึง 15 คน

นอกจากเชษฐาแล้วโหรหุ้นหญิงที่เด่นอีกคนก็คือ ศศิธร วิทยารักษ์สรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์มอร์แกรนเกรนเฟล เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของหญิงยุคใหม่ในวงการหุ้นที่ก้าวขึ้นมาเป็นระดับผู้บริหารด้วยวัยเพียง 30 ปีเศษ เธอจบเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วไปต่อปริญญาโทด้านเอ็มบีเอที่ UNIVERSITY OF ALABAMA AT BIRMINGHAM USA. ด้วยความชอบวิชาที่เกี่ยวกับตัวเลข และการวิเคราะห์ทำให้เธอมุ่งมั่นแต่แรกว่าจะเข้ามาเดินในถนนธุรกิจด้านหลักทรัพย ์และการเงิน

หลังจากเรียนจบศศิธรใช้ช่วงเวลาไม่ถึงแปดปี ศศิธรผ่านประสบการณ์ทำงานด้านการตลาดและวิเคราะห์กับโบรกเกอร์ชั้นนำไม่ต่ำกว่า 4 แห่ง โดยเริ่มงานครั้งแรกที่ บงล. ร่วมเสริมกิจ ต่อมาที่บงล. นวธนกิจหลังจากนั้นไม่นานเธอก็ย้ายมาอยู่ที่ บล. ยูไนเต็ด และล่าสุดมาอยู่ในตำแหน่งและเงินเดือนที่สูงขึ้นที่ บล. มอร์แกรนเกรนเฟล รับผิดชอบงานด้านสายตลาด แต่เธอก็ยังไม่ทิ้งงานโหรหุ้นวิเคราะห์ ในแต่ละวันเธอต้องเตรียมข่าวสารข้อมูลอย่างมากมายเพื่อไว้ตอบคำถามลูกค้าชาวต่างประเทศที่เธอรับผิดชอบ

"งานหนักทีเดียว แต่ก็ถือว่าท้าทายได้ลับสมองอยู่ตลอดเวลา" ศศิธรเล่าให้ฟัง

หนทางสู่ถนนแห่งดวงดาวสายนี้มิได้อาศัยเพียงแต่โชค จังหวะ และโอกาส หากแต่อาศัยความสามารถ ประสบการณ์ การเรียนรู้ที่ต้องฟูมฟักผ่านกาลเวลา จนถึงตอนนี้คงมองออกไม่ยากว่า มีนักวิเคราะห์ หรือโหรหุ้นสักกี่คนบนถนนสายนี้ ที่เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.