2006 Winter Olympic Games

โดย วรรณปราณี ศักดิ์สราญรมย์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สิ้นสุดไปเรียบร้อยแล้วสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวประจำปี 2006 ที่แคนาดา ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง กวาดเหรียญมาครอง 24 เหรียญ รองจากเยอรมนี และสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งประสบการณ์ของความผิดหวังจากกีฬาฮอกกี้ชายที่ถือเป็นกีฬาประจำชาติ และความคาดหวังที่ต้องรุกหน้าในการเป็นเจ้าภาพปี 2010

กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งที่ 20 คราวนี้มีอิตาลีเป็นเจ้าภาพ โดยจัดขึ้นที่เมืองตูริน เริ่มต้นการแข่งขันระหว่างวันที่ 10-26 กุมภาพันธ์ มีนักกีฬากว่า 2,500 คน จาก 26 ประเทศ มีกีฬาประเภทต่างๆ ถึง 15 ประเภท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันในหิมะ เช่น Ice Hockey, Speed Skating, Curling, Snowboard, Ski Jumping, Cross-Country Skiing, Figure Skating เป็นต้น

พิธีการปิดการแข่งขันเริ่มที่การแสดงจินตลีลาตามแบบฉบับของชาวอิตาเลียนโรมันคาทอลิก ซึ่งปีนี้มีชื่อว่า Carnevale Italiano เป็นแบบฉบับของการเปลี่ยนแปลงของการดำรงชีวิตในโลกยุคโรมันจนถึงปัจจุบัน ที่เรียกความพึงพอใจให้กับผู้ชมไปทั่วโลกที่รับชมการถ่ายทอดสดคราวนี้ โดยเฉพาะริ้วขบวนมาดิกราส ที่มีสีสันของศิลปะแสง สี เสียง ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ Olympic Stadium

ไฮไลต์ของการปิดการแข่งขันเกิดขึ้นเมื่อมีการถ่ายโอนการเป็นเจ้าภาพจากเมืองตูริน อิตาลีไปยังแคนาดา โดยมีประธาน International Olympic Committee นาม Jacques Rogge และ TOROC President ชื่อ Valentino Castellani เป็นผู้ทำหน้าที่ใน การส่งธงสัญลักษณ์โอลิมปิกต่อไปยัง Sam Sullivan ผู้ว่าเมือง Vancouver

ผลการสำรวจจากเว็บไซต์ของหน่วยงานของเมืองตูรินในอิตาลีพบว่า ผู้ชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ให้ความสำคัญมากกว่าการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ถึง 10% โดยส่วนใหญ่นิยมชมการแข่งขันทางอินเทอร์เน็ตสูงถึง 50 ล้านครั้ง ในช่วงระหว่างการแข่งขันและมากกว่า 5 เท่าของการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ที่ Salt Lake City สหรัฐอเมริกา ในปี 2002

ทั้งนี้ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่สนใจชมการแข่งขันครั้งนี้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วง 5 วันแรกของการแข่งขันนั้น สื่อทางโทรทัศน์เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมในทวีปยุโรปมากที่สุด

การแข่งขันกีฬา Winter Olympic Games จัดขึ้นครั้งแรกที่เมือง Chamonix ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 1924 โดยมีนักกีฬา 250 คน จากประเทศต่างๆ รวม 16 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน

ผลการแข่งขันคราวนี้ทำให้ 5 ชาติ ที่ได้รับเหรียญมากที่สุด ได้แก่ เยอรมนี ได้รับมากเป็นอันดับหนึ่ง 29 เหรียญสหรัฐอเมริกา ได้ 25 เหรียญ แคนาดาได้ 24 เหรียญ ออสเตรเลียมาเป็นอันดับที่สี่ 23 เหรียญ และ รัสเซียมาเป็นอันดับห้า ได้ 22 เหรียญ ส่วนชาติเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ได้รับ 11 เหรียญ เท่ากับจีน ตามมาด้วยญี่ปุ่น ได้รับ 1 เหรียญ

เท่าที่เฝ้าติดตามชมการแข่งขันเห็นได้ชัดว่าชาวแคนาเดียนถึงกับหลั่งน้ำตา บางคนเสียใจที่ต้องพ่ายแพ้ฮอกกี้ชาย ขณะที่ในวันเดียวกันนักกีฬา Curling ก็ได้รับเหรียญมาทดแทนถึง 4 เหรียญ สื่อมวลชนทั่วไปกลับให้ความสำคัญกับความพ่ายแพ้มากกว่าชัยชนะ

หากพิจารณาในด้านบวกแล้ว โดยภาพรวมของกีฬาทั้งหมดครั้งนี้ ตัวเลขเหรียญโอลิมปิกที่แคนาดาได้รับมา 24 เหรียญครั้งนี้ ถือได้ว่าดีทีเดียว เมื่อเทียบกับการแข่งขันโอลิมปิกที่ Salt Lake City เมื่อปี 2002 ที่ได้รับมาเพียง 17 เหรียญ น่าสังเกตได้ว่าชาวแคนาเดียนต่างพุ่งเป้าไปที่กีฬาประจำชาติของตัวเองนั่นเอง หรือที่เรียกว่าเสียหน้าก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันโอลิมปิกคราวนี้ถือเป็นปีทองของนักกีฬาหญิงที่สามารถกวาดเหรียญได้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะทีมฮอกกี้หญิงของแคนาดาที่สามารถแก้หน้าให้กับทีมชาย โดยสามารถคว้าเหรียญทองจากการชนะทีมชาติสวีเดน

ชาวแคนาเดียนถือว่า โค้ชทีมชาตินาม Wayne Gretzky เป็นโค้ชที่เลื่องชื่อเต็งหนึ่งของทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนของบ้านเมืองนี้ Gretzky ถือเป็นฮีโร่ในใจของพวกเขามาช้านาน และผลของการพ่ายแพ้ฮอกกี้คราวนี้ส่งผลทำให้หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเขาควรวางมือจากการเป็นโค้ชทีมชาติ และเปิดโอกาสให้โค้ชคนอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทน

ก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่ข่าวการพนันขันต่อที่โยงใยคนใกล้ชิดของโค้ชผู้นี้ รวมไปถึงการผ่องถ่ายนักฮอกกี้ทีมชาติที่มีการโอนสังกัดกันสับสนไปหมดว่า ผู้ใดสมควรจะติดอันดับทีมชาติ สิ่งนี้แสดงถึงปัญหาที่คาใจของชาวแคนาเดียนว่า ทีมชาติจะทำงานในรูปแบบ team work ได้อย่างไรในอนาคต

สถิติจาก Decima Research ระบุว่า ชาวแคนาเดียนส่วนใหญ่พอใจกับผลลัพธ์ของการแข่งขันในคราวนี้ 52% ทั้งนี้ไม่นับความผิดหวังจากกีฬาฮอกกี้ชาย 43% โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกีฬา Speed Skater นาม Cindy Klassen ที่ได้รับเหรียญทองถึง 5 เหรียญจนได้ฉายาว่า The woman of the games

นอกจากนี้ยังเกิดฮีโร่ในหัวใจของชาวแคนาเดียนอีกไม่น้อย เช่น Clara Hughes, Jennifer Heil, Chandra Crawford, Duff Gibson, Jeff Pain และ Brad Gushue ที่สามารถกวาดเหรียญโอลิมปิกกลับมาฝากแฟนๆ ชาวแคนาเดียน

ทีมฮอกกี้ชายจากสวีเดนได้รับชัยชนะกวาดเหรียญทองในคราวนี้ ทำให้ทีมฮอกกี้จากฟินแลนด์ และเชครีพับลิครับเหรียญเงิน และเหรียญทองแดงไปตามลำดับ และนี่เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ทุกคนตั้งคำถามกันว่า ทีมแคนาดาตกอันดับไปได้อย่างไร

การเตรียมแผนการล่วงหน้าเป็นสิ่งที่คณะกรรมการโอลิมปิกแคนาดา (The Canadian Olympic Committee) หรือ COC ได้ตั้งเป้าหมายในการเป็นประเทศที่ครองเหรียญโอลิมปิกให้ได้มากที่สุด หรืออย่างน้อยควรได้รับผลลัพธ์ 50% นั่นคือประมาณ 30 เหรียญขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อสมเกียรติกับการเป็นเจ้าภาพ

หนทางการนำเสนอเริ่มตั้งแต่การผลักดันให้รัฐบาลแคนาดาสนับสนุนงบประมาณที่ COC ได้รับมาแล้ว ในช่วงเริ่มต้นเมื่อต้นปี 2005 ประมาณ 110 ล้านเหรียญแคนาดา และจะมีการเสนองบเพิ่มอีกในไม่ช้า ซึ่งตัวเลขกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่วมกับมณฑล British Columbia (BC) และ เมือง Vancouver ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่การแข่งขัน

Annette Antoniak President and CEO of British Columbia's Olympic Organizing เปิดเผยตัวเลขการจำหน่ายตั๋วที่เมืองตูรินครั้งนี้มีเพียง 6% ของงบประมาณทั้งหมดที่ใช้ 3.6 พันล้านเหรียญ นี่เป็นเพียงตัวเลขเบื้องต้นที่แคนาดาต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ

บางฝ่ายเห็นว่า COC สมควรเพิ่มรางวัลให้นักกีฬาโอลิมปิกมากขึ้นจากเดิมได้รับปีละ 18,000 เหรียญ เป็น 25,000 เหรียญ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่บรรดานักกีฬาทั้งหลาย โดยแยกเป็นเหรียญทอง 25,000 เหรียญ เหรียญเงิน 18,000 เหรียญ และเหรียญทองแดง 10,000 เหรียญ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์มีขวัญถุงให้ทีมชาติเขาปีละ 25,000 เหรียญ ขณะที่ออสเตรเลียอยู่ที่ 7,500 เหรียญ

หลายฝ่ายเริ่มวิจารณ์ว่าไม่เฉพาะการวางเป้าหมายไว้ที่จำนวนตัวเลขของเหรียญโอลิมปิกเท่านั้น สิ่งสำคัญอันหนึ่งน่าจะมุ่งตรงไปยังการแสดงออกถึงสังคมและวัฒนธรรมของแคนาดาที่น่าเปิดโอกาสให้ชาติอื่นมาพิสูจน์

อีก 4 ปีข้างหน้าคงได้พิสูจน์กันว่า ฝ่ายใดจะสมหวังในการแข่งขันโอลิมปิกที่ Vancouver ดังสโลแกนของโอลิมปิกที่ว่า

"Passion lives here...Never stop believing that your dream can come true."


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.