"อิสระ ว่องกุศลกิจ "อ้อย" ที่ไม่ได้หมายถึงน้ำตาลเท่านั้น"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

นับเป็นกลุ่มทุนเพียงแห่งเดียวในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลของไทย ที่เผยแพร่ชื่อเสียงออกสู่สาธารณชนในวงกว้าง

และเมื่อถามผู้บริโภคน้ำตาลทรายในประเทศ ชื่อของน้ำตาลทรายมิตรผล เท่านั้นที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จัก

แม้ในสายตาของเถ้าแก่หลายรายทั้งรายใหญ่รายเล็กมักมองว่า การเผยแพร่ชื่อเสียงในวงกว้าง ไม่มีความจำเป็นมากนักสำหรับอุตสาหกรรมนี้ เพราะถึงอย่างไรด้วยกลไกของระบบสินค้ามันก็ขายได้อยู่แล้ว

แต่สำหรับ อิสระ ว่องกุศลกิจ ผู้ทุ่มเทและเป็นนักพัฒนาสำหรับวงการนี้แล้วเขาไม่ได้มองแต่เพียงนั้น

บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ดูเหมือนจะเป็นเพียงรายเดียวของไทย ที่นำน้ำตาลทรายมาโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ

อิสระ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ ในการวางแนวทางสร้างภาพลักษณ์สินค้าขึ้นเสียใหม่ว่า การที่บริษัทตัดสินใจทำพวกคอฟฟี่ซูการ์ หรือน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ชนิดซอง (STICK SUGAR) รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำตาลอื่น ๆ เช่น น้ำตาลกรวด ในบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ส่งตรงยังผู้บริโภคนั้น ก็เนื่องมาจากต้องการที่จะเผยแพร่ให้เห็นสภาพของอุตสาหกรรมนี้ว่าได้พัฒนาขึ้นมามากเป็นการเผยแพร่ผ่านผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ตลาดส่วนนี้ แม้ว่าปัจจุบันจะยังเป็นตลาดที่เล็กอยู่มากเมื่อเปรียบเทียบกับยอดจำหน่ายน้ำตาลทรายไปยังตลาดอื่น ๆ หรือรูปแบบอื่น แต่อนาคตตลาดส่วนนี้จะน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว การขยายตัวจะต้องมีแน่นอน การเข้ามาก่อนเพื่อหาประสบการณ์จึงน่าจะมีแต่ผลดี

แนวโน้มที่มองนั้น เนื่องจากในช่วงแรก ๆ ที่บริษัทเริ่มทำบรรจุภัณฑ์ในแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างตลาดในส่วนนั้นขึ้นมา ปรากฏว่างานในส่วนนี้ยังขาดทุนอยู่มาก เนื่องจากตลาดรองรับยังน้อยและช้ามาก แต่เมื่อบริษัทกระตุ้นตลาดส่วนนี้เป็นระยะ ที่สุดงานส่วนนี้ก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ถึงวันนี้เรียกว่าทำกำไรได้แล้ว

"งานส่วนนี้ยังทำต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเลี้ยงตัวเองได้ แต่จริง ๆ แล้วเราหวังเป็นภาพพจน์มากกว่า"

แน่นอนว่าชื่อเสียงของน้ำตาลมิตรผล เป็นที่รู้จักในวงกว้างและค่อนข้างเป็นภาพบวกจากงานโฆษณาที่ผ่านสื่อต่าง ๆ

มองกิจกรรมขององค์กรแห่งนี้ จะเห็นชัดเจนว่าอิสระ ผู้รับผิดชอบสูงสุดของเครือข่ายแห่งนี้ มีแนวคิดที่ก้าวหน้าอยู่มาก และที่น่าจะเป็นเหตุผลหลักประการหนึ่งที่ส่งให้ น้ำตาลมิตรผล คือยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทย

ปัจจุบัน น้ำตาลมิตรผลมีโรงงานอยู่ 4 แห่งในประเทศ คือ โรงงานน้ำตาลมิตรผล ที่ อ. ด่านช้าง สุพรรณบุรี โรงงานน้ำตาลมิตรสยาม ที่ อ. เมือง กำแพงเพชร โรงงานรวมเกษตรอุตสาหกรรม อ. ภูเขียว ชัยภูมิ และโรงงานน้ำตาลมิตรภูเวียง อ. หนองเรือ ขอนแก่น ซึ่งโรงงานแห่งที่ 4 นี้ บริษัทน้ำตาลมิตรผลได้ซื้อกิจการมาจากรายเดิมเมื่อกลางปี 2538 ที่ผ่านมา

นอกจากในประเทศแล้ว กลุ่มมิตรผล ยังมีโรงงานในจีนอีก 4 โรง ที่คาดว่าปี 2539 นี้กำลังการผลิตจะมีถึง 300,000 ตัน และยังมีโครงการเตรียมเข้าไปในเวียดนามอีกด้วย

สำหรับในไทยแล้วน้ำตาลมิตรผล ถือว่ากำลังการผลิตสูงสุด โดยในปี 2537/2538 ที่ผ่านมาสามารถผลิตน้ำตาลได้ 720,000 ตัน มียอดจำหน่ายรวม 7,000 ล้านบาท และในปี 2538/2539 นี้ คาดว่าจะสามารถผลิตน้ำตาลได้ 900,000 ตัน และคิดเป็นยอดจำหน่ายประมาณ 8,000 ล้านบาท

มองถึงสภาพการแข่งขัน และด้านการบริหารในภาคของอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลแล้ว น้ำตาลมิตรผลดูจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุด และมาถึงตรงนี้ การแข่งขันกับคู่แข่งในประเทศ กลายเป็นเรื่องที่อยู่ข้างหลังไปเสียแล้ว

เป้าหมายย่อมอยู่ที่การแข่งขันกับผู้ผลิตในต่างประเทศ ที่ต้นทุนในด้านต่าง ๆ ยังได้เปรียบผู้ผลิตในประเทศไทย เช่น ต้นทุนด้านการปลูกอ้อยที่ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาช่วยงานอยู่มาก หรือด้านการผลิตและความช่วยเหลือจากภาครัฐก็ได้เปรียบผู้ผลิตชาวไทยพอสมควร

น้ำตาลมิตรผล กำหนดแนวนโยบายชัดเจนที่จะหันกลับมามองถึงศักยภาพด้านต่าง ๆ ที่จะพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก

ผลงานชิ้นแรกตามนโยบายนั้นก็คือ การก่อตั้งโรงงานผลิตปาร์ติเกิล บอร์ดหรือไม้อัดจากชานอ้อย ในนามบริษัท เอ็มพี ปาร์ติเกิล บอร์ด จำกัด

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ปัญหาทำลายหรือทิ้งชานอ้อยที่เหลือจากอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลนับว่าเป็นเรื่องหนักอกพอสมควรสำหรับน้ำตาลมิตรผล

ในอดีตนั้น อย่างดีก็นำชานอ้อยเหล่านี้ไปเป็นเชื้อเพลิง แม้ปัจจุบันจะพัฒนาถึงชั้นนำมาเป็นเชื้อเพลิง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งใช้ในโรงงาน และจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีชานอ้อยเหลืออีกในปริมาณที่มาก ซึ่งทำได้แค่นำไปฝังกลบหรือเผาทำลาย ซึ่งก็ได้แค่นั้น ที่สำคัญเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ได้มูลค่าเพิ่มอะไรเลย

อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่า ขณะที่เป็นการแก้ปัญหาไปในตัว ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2533 ด้วยเงินลงทุน 750 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องคิดหนักเหมือนกัน กับการลงทุนในส่วนนี้ เพราะเงินไม่ใช่น้อย

อีกอย่าง ตลาดยังต้องไปดิ้นรนกันอีก ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักค้าน้ำตาลโดยทั่ว ๆ ไป ไม่เว้นแม้แต่อิสระ

โรงงานแห่งนี้เริ่มผลิตได้ในปี 2535 และตลอด 3 ปี ในยุคเริ่มต้น ก็หนักหนาสาหัสทีเดียว เรียกว่ากำไรไม่ต้องพูดถึง เพียงแค่หาตลาดเพื่อให้สินค้าขายได้แบบเสมอตัวก็พอแล้ว

แต่แนวโน้มความนิยมในสินค้าตัวใหม่นี้ เริ่มเด่นชัดขึ้น เพราะปี 2538 ที่ผ่านมารายได้ของโครงการนี้สามารถสร้างกำไรได้บ้างแล้ว และเป็นรายได้ที่ขยายตัวขึ้นจากตลาดที่เริ่มยอมรับ โดยมียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 300 ล้านบาท

ไม้อัดจากชานอ้อย มุ่งเน้นตลาดเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นหลัก โดยปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 60,000 คิวต่อปี ส่งไปยังลูกค้าหลัก ๆ ได้แก่ โมเดอร์นฟอร์ม, แกรนด์ดิสและ KONNOK นอกจากนี้ยังได้ส่งไปจำหน่ายในประเทศจีนด้วย

นอกจากการผลิตไม้อัดจากชานอ้อยแล้ว ยังสานต่อไปยังการเคลือบผิว ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าอีกด้วย นี่แนวการทำงานของอิสระ

ชิ้นงานขั้นต่อไป ในการลดต้นทุน และแก้ปัญหาในเรื่องขยะ ได้เริ่มขึ้นแล้ว

อิสระกำลังทดลองทำปุ๋ยหมักจากชานอ้อย ซึ่งทุกวันนี้ได้ทดลองใช้กับไร่อ้อยของชาวไร่ที่อยู่ในโครงการและเป็นคู่สัญญากับบริษัทแล้ว ซึ่งก็ได้ผลระดับหนึ่ง ส่วนการจะพัฒนาไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์นั้นยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

แต่ไม่ว่าจะขยับขึ้นสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ แต่โครงการนี้ ก็นับว่าคุ้มค่าแล้วในระดับนี้

เชื่อว่ายังมีอีกหลายโครงการในใจของ อิสระ ว่องกุศลกิจ ที่จะผลักดันออกมา

แต่แน่ใจได้ว่าทุกโครงการก็เพื่อพัฒนาการอันเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลทั้งสิ้น

"ถ้ามีโครงการจะขยายผมคงมองที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมน้ำตาล เพราะนี่คือจุดหลัก การขยายไปธุรกิจอื่นคงไม่ทำ" เขากล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.