|
When the World needs HELP
โดย
อนิรุต พิเสฏฐศลาศัย
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังเหตุการณ์ September, 11 เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าการก่อการร้ายข้ามชาติ และโอกาสการเกิดโรคระบาดร้ายแรงอย่างไข้หวัดนก หรือซาร์ส กลายเป็นภัยคุกคามที่ชาวโลกตระหนักถึงมากที่สุด แต่ภัยคุกคามที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งที่ถูกแย่งชิง Headline ไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็คือ ปัญหา Global Warming และ Climate Change
เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามของนักวิทยาศาสตร์บางท่านและจากรัฐบาลของหลายประเทศ ที่จะผลักดันให้หัวข้อ Global Warming และ Climate Change กลับมาเป็นหัวข้อที่สำคัญในเวทีโลกอีกครั้งหนึ่ง
จากคำทำนายของนักวิทยาศาสตร์หัวก้าวหน้าอย่าง ศาสตราจารย์ James Lovelock เจ้าของทฤษฎี Gaia Theory เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่กล่าวเตือนว่า มนุษยชาตินั้นกำลังจะผ่าน Point of no return ในการแก้ปัญหา Global Warming และ Climate Change ไปเสียแล้ว นอกเสียจากว่า มนุษยชาติจะสามารถลดการปล่อยมลพิษเข้าไปในอากาศได้เหมือนในยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งต้องย้อนหลังไปมากกว่า 150 ปีที่แล้ว มิฉะนั้นแล้วผลของ Global Warming และ Climate Change ที่ร้ายแรงก็จะมาเยือนมนุษยชาติภายในศตวรรษนี้และมาเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่คาดไว้
อย่างที่หลายๆ ท่านคงเคยทราบว่า สาเหตุหลักของปัญหา Global Warming ก็คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากจนเกินไป ซึ่งมีผลทำให้โลกร้อนขึ้นและทำให้น้ำแข็งจากขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว จนทำให้ระดับน้ำทะเลในโลกสูงขึ้นจนสามารถท่วมเมืองริมฝั่งทะเลต่างๆ ได้ในที่สุด
นอกจากนั้น การที่โลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังก่อให้เกิดปัญหา Climate Change ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ร้ายแรง (Extreme Events) อีกด้วย ล่าสุดมีรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า จำนวน Hurricane ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมานั้น ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่สมรรถภาพในการทำลายล้างและความรุนแรงของ Hurricane เหล่านั้นต่างหากที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผลกระทบอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นที่สนใจในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อมอยู่ในขณะนี้ ก็คือ Climate Change อาจทำให้กระแสน้ำอุ่นจากอ่าวเม็กซิโก ที่ไปหล่อเลี้ยงตอนเหนือของทวีปยุโรป รวมถึงเกาะอังกฤษชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศเหล่านี้หนาวเย็นขึ้นอย่างผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์โดยส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า ยังไม่สายไปเกินไปที่เราจะร่วมมือช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหา Global Warming ก่อนที่จะสายเกินไป
ในงานประชุม Wolrd Economic Forum ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการแถลงข่าวถึงผลการศึกษาวิจัย "ดัชนีสิ่งแวดล้อม" ที่เรียกว่า Environmental Performance Index (EPI) ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัย Yale University และมหาวิทยาลัย Columbia University ของสหรัฐอเมริกา
ดัชนี EPI นี้ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อแสดงถึงความสามารถในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ของ 133 ประเทศทั่วโลก โดยเป้าหมายหลักก็เพื่อบ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แต่ละประเทศเผชิญอยู่ เพื่อที่หน่วยงานภาครัฐของประเทศเหล่านั้นจะได้ดำเนินการแก้ไขได้ถูกวิธี หรือได้ทำการศึกษาวิจัยตามแนวทางของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมชนิดนั้นๆ
ผลของดัชนี EPI ในปีนี้ นิวซีแลนด์ก็เป็นประเทศที่คว้าอันดับหนึ่งไปครอง โดยนิวซีแลนด์ประสบความสำเร็จในการรักษาสิ่งแวดล้อมและดูแลทรัพยากรธรรมชาติได้ดีถึง 88% จากเป้าหมาย 100% ส่วนประเทศที่ตามมาติดๆ ก็คือ สวีเดน ฟินแลนด์ สาธารณรัฐเช็ค และสหราชอาณาจักร
ส่วนประเทศไทยของเราอยู่ในอันดับที่ 61 ซึ่งยังตามหลังประเทศในแถบเอเชีย อย่างเช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งฟิลิปปินส์
จุดเด่นของงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือ การแยกปัญหาสิ่งแวดล้อมออกไปในด้านต่างๆ โดยด้านหลักๆ ก็คือ 1) ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ 2) คุณภาพของอากาศ 3) คุณภาพน้ำ 4) ระบบนิเวศวิทยา 5) สภาพทรัพยากรธรรมชาติดิน, แหล่งน้ำ และสัตว์น้ำ 6) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและไม่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยชิ้นนี้ยังจัดประเทศต่างๆ ที่ได้รับการสำรวจไปเป็นกลุ่มต่างๆ มากมาย อาทิ การจัดกลุ่มตามระดับรายได้ของแต่ละประเทศการจัดกลุ่มตามภูมิภาค การจัดกลุ่มตามความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งการจัดกลุ่มเหล่านี้ก็เพื่อเป็นการใช้คะแนนเฉลี่ยของกลุ่มเป็น Benchmark ในการบ่งชี้ถึงความสำเร็จในการรักษาสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ เพื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มของตนเอง แทนที่จะเปรียบเทียบกับทั้ง 133 ประเทศ ซึ่งมีปัจจัยแวดล้อมด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน
ในส่วนของนิวซีแลนด์ แม้จะมีคะแนนรวมอันดับหนึ่ง และมีคะแนนดัชนีสิ่งแวดล้อมในแทบทุกด้าน เหนือประเทศในกลุ่มภูมิภาค (East Asia and the Pacific) และกลุ่มรายได้ของตนอยู่มาก แต่ปรากฏว่า นิวซีแลนด์นั้นมีสภาพทรัพยากรธรรมชาติดิน, แหล่งน้ำ และสัตว์น้ำ แย่กว่าคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคของตน ซึ่งก็เป็นผลมาจากปริมาณสัตว์น้ำที่มีอยู่น้อย
ส่วนประเทศไทย ปัญหาที่เด่นชัดเมื่อเทียบกับกลุ่มรายได้ และกลุ่มภูมิภาคของตน (East Asia and the Pacific) ก็คือ คุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ และการเสื่อมสภาพของทรัพยากรธรรมชาติดิน, แหล่งน้ำ และสัตว์น้ำ
อย่างไรก็ตาม ดัชนี EPI 2006 ก็เป็นเพียงงานวิจัยชิ้นบุกเบิกสำหรับการวัด Environmental Performance ซึ่งในอนาคตก็คาดว่าดัชนี EPI ในปีต่อๆ ไป จะได้รับการปรับปรุงเพื่อช่วยในการวัดผลให้ถูกต้องและแม่นยำได้ยิ่งขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|