Baby Boomers : Retirement Loom

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

การผลิดอกเบ่งบานของซากุระ อาจเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นและการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สิ่งใหม่ๆ ในสังคมญี่ปุ่น แต่สำหรับ Baby boomer generation การเบ่งบานของดอกซากุระในปีนี้ กำลังเป็นประหนึ่งสัญญาณของการนับถอยหลังเข้าสู่การเกษียณอายุ และการค้นหาคุณค่าใหม่ๆ สำหรับช่วงชีวิตที่เหลืออยู่

พวกเขาเกิดและเติบโตขึ้นในช่วงเวลา แห่งความยากลำบากที่สาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์สังคมญี่ปุ่น ด้วยสถานะของประเทศผู้แพ้สงคราม ท่ามกลางซากปรักหักพังจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สิ้นสุดลงในปี 1945 พร้อมกับภาวะจำยอมที่ต้องถูกลิดรอน เอกราชและถูกครอบครองดินแดนจากกองกำลังต่างชาติ ก่อนที่สถานการณ์แห่งความทุกข์ลำเค็ญจะคลี่คลายอย่างช้าๆ ในเวลาต่อมา

กลุ่มประชากรที่ได้รับการกล่าวถึงในฐานะ Baby boomers ของญี่ปุ่นนี้ ได้ถือกำเนิดขึ้นระหว่างปี 1947-1949 ด้วยปริมาณ การเกิดเฉลี่ยที่มีมากถึง 2.7 ล้านคนต่อปี และทำให้ประชากรที่มีจำนวนรวมมากกว่า 7 ล้านคนดังกล่าว กลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 5 ของประชากร ญี่ปุ่นทั้งประเทศจากการสำรวจเมื่อปี 2004 ที่ผ่านมา และเป็นกลุ่มประชากรที่มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 8 ในตลาดแรงงานญี่ปุ่นในปัจจุบัน

ห้วงเวลาแห่งความทุกข์ลำเค็ญในวัยเยาว์ของเหล่า Baby boomers ถูกทดแทนด้วยนวัตกรรมร่วมสมัยจำนวนมากมายที่หลั่งไหลเข้ามารองรับการเติบโตและอำนวยความสะดวก ควบคู่กับความพยายามฟื้นฟูบูรณะประเทศที่เริ่มก่อรูปขึ้นในเขตหัวเมืองขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษาภาคบังคับ ที่เริ่มมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่เมื่อปี 1947 ซึ่งเปิดโอกาสให้ Baby boomers ในช่วงประถมวัยได้มีโอกาสในการศึกษา

เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น Baby boomers จำนวนไม่น้อยได้ผนวกผสานเข้ากับแรงงานและคนหนุ่มสาวจากเขตชนบทห่างไกล เพื่อเข้าแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับชีวิตในเขตเมืองใหญ่ ซึ่งกลายเป็นปรากฏการณ์สามัญที่ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง และขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงกลางของทศวรรษ 1960 จากกระแสธารของการย้ายถิ่นที่ไหลบ่าโดยเหล่า Baby boomers นี้

ในช่วงวัยดังกล่าว พวกเขาได้ประจักษ์ถึงความจำเริญเติบโตและพัฒนาการทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนเป็นรูปธรรมผ่านทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 1964 (Tokyo Olympic 1964) และการเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูง Tokaido Shinkansen ในปีเดียวกัน รวมทั้งเครือข่ายของระบบทางด่วนที่ล้วนก่อสร้างขึ้นเพื่อรองรับมหกรรมกีฬาดังกล่าวด้วย

กระนั้นก็ดี ความจำเริญก้าวหน้าที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในห้วงเวลาดังกล่าว มิได้หมายถึงโอกาสของชีวิตสดใส ที่ล่องลอยท่ามกลางสุญญากาศและรอคอยการหยิบฉวยอย่างไร้แรงเสียดทาน หากหมายถึงการแข่งขันอย่างหนักหน่วงในทุกมิติ ซึ่งต้องเรียกร้องศักยภาพส่วนบุคคลอย่างที่ไม่มีคนรุ่นใดของญี่ปุ่นต้องประสบมาก่อน

กับดักของ "การแพ้คัดออก" ที่รอคอยอยู่เบื้องหน้าในฐานะของการสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ซึ่งได้รับการกล่าวขานถึงประหนึ่ง examination hell กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ประชากรในกลุ่ม Baby boomers มีทัศนะที่มุ่งแสวงหาความเป็นเลิศและการแข่งขันอย่างยิ่งยวด ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ "ผ่านเกิด" หรือถูก "คัดออก" ก็ตาม

เมื่อ Baby boomers ข้ามพ้นจากระบบการศึกษา ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน พวกเขาได้นำพาทัศนะของการแข่งขันและการแสวงหาความเป็นเลิศเข้าสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งกรณีดังกล่าวได้กลายเป็นจักรกลสำคัญที่เร่งเร้าให้เกิดความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญในระดับนานาชาติในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกัน ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษ 1970-1980 และดำเนินไปท่ามกลางพลังการผลิตที่มี Baby boomers เป็นแกนกลางประหนึ่งกระดูกสันหลังนี้ ส่งผลให้ Baby boomers กลายเป็นฐานของผู้บริโภคที่เปี่ยมด้วยกำลังซื้อขนาดใหญ่ ที่พร้อมจะเสริมสถานภาพทางสังคม ด้วยสินค้าเชิงสัญลักษณ์ของความทันสมัยและมีรสนิยมวิไลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยกระแสความนิยมในแฟชั่นล้ำสมัยหลากหลายสะท้อนออกเป็นวัตรปฏิบัติของ Baby boomers ไม่ขาดสาย

บทบาทของ Baby boomers ในกรณีดังกล่าว ผนวกกับสถานะของการเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของสังคม ส่งผลให้ Baby boomers เป็นประหนึ่ง change agent ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมญี่ปุ่นอย่างไม่อาจเลี่ยง และได้รับการกล่าวถึงในฐานะ nodular generation (Dankai no Sedai) ที่ได้ผลิตสร้างรูปการณ์จิตสำนึกร่วมสมัยที่เชื่อมโยงสังคมญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามเข้ากับกระแสสังคมระดับนานาชาติด้วย

ประพฤติกรรมของ Baby boomers ญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา จึงมีสภาพไม่ต่างจากการเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก และเป็นตัวแบบของบรรทัดฐานที่สะท้อนความเป็นไปของสังคมญี่ปุ่นได้อย่างเด่นชัด โดยในหลายกรณีปรากฏการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นแรงบีบอัดที่กดทับสู่คนรุ่นหลังไปโดยปริยาย ท่ามกลางการเปรียบเทียบทั้งในเชิงกระบวนการและผลแห่งความสำเร็จที่ Baby boomers ได้ผลิตสร้างขึ้นในอดีต

แม้ว่า Baby boomers จะเป็นกลไกสำคัญที่เกื้อหนุนพัฒนาการของสังคมญี่ปุ่นมาอย่างเนิ่นนาน แต่สถานะของ baby boomers กลับตกต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อญี่ปุ่นต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่ง Baby boomers จำนวนมากถูกกดดันให้ต้องเปลี่ยนงานหรือแม้กระทั่งการออกจากงานด้วยมาตรการเกษียณอายุก่อนเวลา (early retirement) และการปลดออก (lay-off) ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายและแปลกแยกจากค่านิยมว่าด้วยการจ้างงานตลอดชีพ (lifetime employment) ที่พวกเขาคุ้นชินอย่างมาก

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ช่วงอายุในวัย 50 ปี ของบรรดา Baby boomers ซึ่งควรจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต หลังจากที่พวกเขาได้ลงแรงทำงานอย่างหนักเพื่อให้เติบโตและก้าวหน้ามาสู่การเป็นเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร มีสภาพไม่ต่างไปจากฝันร้ายที่คุกคามความเชื่อมั่นศรัทธาที่พวกเขาเคยมี ซึ่งผลจากกรณีดังกล่าวทำให้ Baby boomers บางส่วนถูกกล่าวถึงด้วยถ้อยคำปรามาสรุนแรงในฐานะ deadwood ที่เป็นภาระของสังคม

การเคลื่อนเข้าสู่วัยเกษียณอายุของ Baby boomers ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนเมษายน 2007 ในด้านหนึ่งอาจสะท้อนภาระหนักของสังคม เมื่อเป็นที่คาดการณ์ว่าเงินอุดหนุนที่พวกเขาจะได้รับจากการเกษียณอายุนี้ มีมูลค่ารวมกว่า 50 ล้านล้านเยน (ประมาณ 17 ล้านล้านบาท)

แต่ขณะเดียวกัน กรณีดังกล่าวกำลังเปิดเผยให้เห็นศักยภาพอีกด้านหนึ่งของ Baby boomers เพราะนอกจากพวกเขาจะเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหญ่ของผู้ผลิตสินค้า และบริการหลากหลายแล้ว ด้วยเงินออมและเวลาที่มีอยู่อย่างล้นเหลือหลังการเกษียณอายุ Baby boomers ในวัย 60 ดูเหมือนจะพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างคุณค่าและมาตรฐานใหม่ให้เกิดขึ้นกับสังคมญี่ปุ่น

แม้ว่าสังคมญี่ปุ่นจะผ่านประสบการณ์ และเผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสูงอายุมานานกว่า 3 ทศวรรษ แต่การเกษียณอายุของ Baby boomers นับจากนี้ อาจนำไปสู่การสร้างกระแสวัฒนธรรมใหม่ เป็นวัฒนธรรมของผู้ใหญ่วัยเกษียณที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.