|
I'm not a Ladyboy...
โดย
วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้าได้ยินคำว่า "เกย์" เมื่อไร ชาวไทยหลายคนอาจจะนึกถึงภาพของ "แต๋ว" หรือผู้ชายที่ชอบทำสวย หรือไม่ก็ผู้ชายที่ยังไม่ถึงกับแต๋ว แต่อาจจะออกอาการกระตุ้งกระติ้งบ้างพองาม เพื่อสื่อให้คนรู้ว่าฉันเป็น "ผู้ชายนะยะ"
ยิ่งสมัยนี้ สาวประเภทสองในเมืองไทยสวยกว่าผู้หญิงแท้ๆ จนพวกเราต้องอายม้วนต้วนเมื่อต้องเดินใกล้ๆกับพวกเขา เพราะถูกรัศมีความงามของ "เลดี้บอย" ของไทยบดบังเสียมิด ในขณะนี้เลดี้บอยที่เป็นนักแสดงในบ้านเราก็มีชื่อเสียงโด่งดังไปถึงเมืองผู้ดีแล้ว กลุ่ม "Ladyboys of Bangkok" ของไทยได้มาเปิดตัวแสดงที่อังกฤษทุกปีเป็นเวลาหลายปีแล้ว และเมื่อปี 2548 ก็ได้มาตั้งเต็นท์แสดงกลางแจ้ง ท่ามกลางลมหนาวของนิวคาสเซิลเป็นเวลาถึง 3-4 สัปดาห์เลยทีเดียว (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.ladyboysofbangkok.co.uk)
แต่สำหรับเกย์อีกหลายคนที่ไม่ออกอาการ "แต๋ว" นั้น การจะดูให้ออกว่าคนไหนเป็นเกย์ คนไหนชายแท้นั้น คงจะราวกับการงมเข็มในมหาสมุทร งมละมุดใต้ต้นพุทรากันเลยทีเดียว ก็หนุ่มเกย์ตั้งมากมาย หุ่นแมน แขนล่ำ ขนาดเกย์ชาวไทยเอง บางที ดูแล้วก็อาจยังไม่เชื่อว่านั่นน่ะ พวกเดียวกันจ้ะ
ผะอูล (Paul) เพื่อนชาวเอกวาดอร์ (Ecuador) ของผู้เขียน เพิ่งมาเที่ยวภูเก็ตกับแฟนเกย์ชาวออสเตรเลียของเขาเมื่อไม่นานมานี้ เขาบอกว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อว่า เขากับแฟนนั้นเป็นเกย์ แม้แต่ช่างตัดผมไทยในภูเก็ต ซึ่งออกอาการกระตุ้งกระติ้งพอสมควร ก็ยังนั่งยันนอนยันกับเขาเลยว่า เขาไม่เชื่อว่าทั้งสองเป็นเกย์ เพราะไม่เห็นมีท่าทางส่อเค้าของความเป็นหญิงเลยแม้แต่น้อย
เพราะความเชื่อที่ว่าคนที่เป็นเกย์จะต้องกระตุ้งกระติ้งเหมือนผู้หญิงเสียทุกคนนั่นล่ะ คือปัญหาที่ทำให้ผะอูลไม่แน่ใจอยู่ตั้งนานว่าตัวเองเป็นเกย์หรือเปล่า เนื่องจากเขาเองไม่ได้รู้สึกอยากเป็นสาว ไม่เคยนึกอยากแต่งตัวเป็นหญิง เขารู้แต่เพียงว่าตนชอบผู้ชายเท่านั้น แต่พอเพื่อนหนุ่มคนหนึ่งของเขา ที่ดูเหมือนชายเต็มร้อยปกติธรรมดา บอกให้เขาฟังว่าตัวเองมีแฟนเป็นผู้ชายเท่านั้นล่ะ ผะอูลถึงกับตกใจเพราะนึกไม่ถึงว่าเพื่อนตัวเอง จะเป็นเกย์ และแล้วเขาก็เริ่มเข้าใจว่าการเป็นเกย์ไม่ได้หมายความว่าต้องทำตัวเป็นหญิงเสมอไป ซึ่งก็ทำให้ผะอูลเข้าใจตัวเองในที่สุดว่าเขาเองก็เป็นเกย์เหมือนกัน
ผะอูลอธิบายว่า Homosexuality หรือรักร่วมเพศนั้น หมายถึงการมีความสนใจ ในเพศเดียวกัน อาจเป็นหญิงกับหญิง ชายกับชาย หรือคนที่รักได้ทั้งสองเพศ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นเลสเบี้ยนจะต้องมีมาดแมน หรือชายชาวเกย์จะต้องทำตัวเป็นหญิงเสมอไป ดังนั้นชายแปลงเพศหรือเลดี้บอย (ที่อาจจะยังไม่ได้แปลงทั้งหมด) และDrag Queen หรือเกย์ที่ชอบแต่งตัวฟู่ฟ่าด้วยชุดแพรวพราวนั้น ก็เป็นแค่รูปแบบหนึ่งของการเป็นเกย์เท่านั้น แต่เอามาใช้กับชาวเกย์ทั้งหมดไม่ได้ ผะอูลตั้งข้อสังเกตว่าบางที การแต่งตัวเป็นหญิงอาจจะเป็นกุศโลบายที่ชาวเกย์นำมาใช้โดยไม่ได้ตั้งใจ เพื่อพยายามทำให้คนในสังคมยอมรับในความเป็นรักร่วมเพศของพวกเขาได้มากขึ้น เพราะความสัมพันธ์ของกะเทยกับผู้ชายคงจะดูคล้ายกับความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวทั่วไป ดูแล้วอาจจะไม่ขัดหูขัดตาใครบางคนมากเท่ากับถ้าต้องมองชายสองคนแสดงออกถึงความรักต่อกัน เหมือนอย่างในหนังเรื่อง Brokeback Mountain
ผะอูลเผยให้ฟังว่า การประกาศตัวว่าเป็นเกย์ในสังคมละตินอเมริกา ที่ผู้ชายต้องแสดงออกถึงความเป็นแมน (หรือความเป็น macho) อยู่ตลอดเวลานั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งกฎหมายก็ไม่เอื้อให้เกย์แสดงตัวตนออกมาด้วย เพราะการเป็นเกย์ในเอกวาดอร์เคยเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ถึงขนาดต้องโทษ จำคุกถึง 9 ปีเลยทีเดียว! กฎหมายนี้เพิ่งจะได้รับการยกเลิกเมื่อ พ.ศ.2542 นี้เอง ผู้เขียนไม่ทราบว่าเอกวาดอร์ใช้กฎหมายนี้กันมาตั้งแต่เมื่อไร แต่ในอังกฤษนั้น กฎหมายลงโทษรักร่วมเพศมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเฮนรี่ ที่แปดแล้ว พระองค์ทรงประกาศ Sodomy Laws ขึ้นมาใช้ตั้งแต่ปี 1533 ซึ่งมีความว่า การร่วมเพศใดๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการสืบสกุล ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศของคนเพศเดียวกัน การช่วยตัวเอง การเข้าประตูหลัง (anal sex) หรือการใช้ปาก (oral sex) นั้นมีความผิดถือเป็นคดีอาญาเลยทีเดียว แม้เมื่อร้อยกว่าปีก่อน การเป็นเกย์ในอังกฤษก็ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่ ขนาดนักเขียนชื่อดังของอังกฤษอย่างออสคาร์ ไวลด์ (Oscar Wilde) ก็ยังไม่ถูกละเว้น เขาต้องถูกจำคุกถึง 2 ปีในปี 1895 เพราะถูกจับได้ว่าเป็นเกย์ ชาวเกย์ของอังกฤษ เพิ่งจะได้รับการคุ้มครองทางด้านกฎหมายจริงๆ เมื่อปี 1967 หรือเกือบ 40 ปีที่แล้วนี่เอง ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษกับเวลส์ประกาศกฎ Sexual Offences Act ออกมาใช้ ที่อนุญาตให้ชายสองคนที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 21 ปี สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ปัจจุบัน หลายประเทศในยุโรปได้ออกกฎหมายอนุญาต ให้คู่ครองเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้แล้ว ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าในด้านสิทธิมนุษยชนที่ชาวเกย์จะต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธินี้กันต่อไป
กับคำถามที่ว่า ทำไมหนุ่มๆ ชาวเกย์ทั้งที่ทำตัวเป็นหญิงและไม่หญิงนั้น จึงมีความสนอกสนใจในรูปร่างหน้าตาและการแต่งกาย ทั้งของตัวเองและของหนุ่มอื่นๆ กันมากเหลือเกิน ผะอูลเฉลยให้ฟังว่า เขาเองก็ไม่รู้ว่าทำไม แต่ก็ยอมรับว่าความที่เป็นคนหลงตัวเอง (vain) ของเขา ทำให้ผะอูลสนใจกับเรื่องเสื้อผ้าและการแต่งตัวของตัวเองมาก อีกทั้งชาวเกย์ทั้งหลายมักจะได้ชื่อว่าเป็นพวกที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะเรามักจะเห็นชาวเกย์ทำงาน ด้านศิลป์กันมาก ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ช่างทำผม ช่างแต่งหน้า นักออกแบบเสื้อผ้า (ซึ่งก็คืออาชีพของผะอูลด้วย) และอีกอย่างหนึ่งก็คือ การแต่งตัวดี มีรูปร่างบึกบึนก็บ่งบอกฐานะ ทางสังคมของเกย์รายนั้นด้วย เช่น ถ้ากล้ามเป็นมัดๆ ก็แสดงว่าคนนี้มีเงินมากพอที่จะไปออกกำลังกายที่โรงยิม กินอาหารดีๆ ใช้เวลา เอาใจใส่ตัวเอง ถ้าผิวแทนก็แสดงว่ามีเงินไปเที่ยวอาบแดดบนชายหาดในต่างประเทศ ผิวจึงไม่ได้ขาวเป็นไก่ต้ม (ผิดกับพี่ไทยที่ชอบ ฟอกผิวให้ขาวผ่อง เพราะนั่นหมายถึงการเป็น ลูกคนรวยไม่ต้องตรากตรำทำงานหนักกลางแจ้ง) ถ้าแต่งตัวดีก็แปลว่ารสนิยมดี มีสตางค์ มีเวลาเดินห้าง และอีกอย่างก็คือ การที่เกย์หลายคนเล่นกล้ามจนหุ่นล่ำบึก ก็อาจเป็นการพยายามลบล้างความคิดของคนทั่วไปที่ว่า คนเป็นเกย์จะต้องกระตุ้งกระติ้งเหมือนผู้หญิงเสมอ ก็เป็นได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้เกย์ชาวไทยก็หันมาเล่นกล้ามกันบ้างแล้ว (มติชนรายวัน 20 ตุลาคม 2547)
ถึงแม้พวกเราจะดูกันไม่ค่อยออกว่าคนไหนเป็นเกย์คนไหนไม่ใช่ แต่เกย์ด้วยกันจะมีสัญชาตญาณที่เรียกกันว่า "เกย์ดาร์ (Gaydar)" ซึ่งเขาว่ากันว่าเป็นสัญ (ชาต) ญาณเรดาร์ที่จับคลื่นความเป็นเกย์ของคนอื่น ถ้าไปไหนแล้วเจอเกย์ด้วยกัน เจ้า "เกย์ดาร์" นี้ก็จะส่งสัญญาณบอกให้รู้ว่านั่นน่ะ พวกเดียวกัน
"เจฟ" เพื่อนเกย์ชาวแคนาดาของผู้เขียน เคยพาผู้เขียนนั่งรถตระเวนในย่านเกย์ของเมืองโตรอนโต แล้วลองทดสอบ "เกย์ดาร์" ของผู้เขียน หลังจากที่คนรู้ใจที่คบกันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เริ่มส่งสัญญาณบางอย่าง ที่ทำให้ผู้เขียนชักไม่แน่ใจในความเป็นชายของเขา เจฟให้ผู้เขียนลองเดาว่าหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ที่เดินผ่านไปมาบนท้องถนนคนไหน บ้างที่เป็นเกย์ ปรากฏว่าในตอนนั้น "เกย์ดาร์" ของผู้เขียนยังไม่ทำงาน จึงเดาผิดหมดจนเพื่อนถึงกับถอนหายใจแล้วบอกให้ผู้เขียนไปปรับเกย์ดาร์ของตัวเองเสียใหม่ จะได้ไม่อกหักอีก
มาถึงบรรทัดนี้ผู้เขียนคงต้องขอกล่าวคำอำลาคุณผู้อ่านทุกท่านเสียแล้ว เพราะตอนนี้ตัวเองเสร็จภารกิจการเรียนในอังกฤษแล้ว จึงเดินทางกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทยอีกครั้ง ขอขอบพระคุณคุณผู้อ่านทุกท่านที่ให้การสนับสนุนงานเขียนของผู้เขียนมาตลอด ระยะเวลาปีครึ่ง เราอาจจะได้มีโอกาสพบกันอีกในพื้นที่อื่นๆ ยังไงก็อย่าทิ้งกันนะคะ ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านโชคดี และไม่หยุดนิ่งที่จะ เปิดใจกว้าง ค้นคว้าหาเกร็ดความรู้ใส่ตนต่อไปนะคะ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|