|
"จุดเยือกแข็ง" ของสื่อจีน
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
วันที่ 8 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา ระหว่างช่วงเวลาของการประชุมประจำปีของสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติจีน สื่อมวลชนจีนได้รายงานว่า หวังเหวยจง หนึ่งในผู้แทนฯ จากมณฑลจี๋หลินได้ยื่น "ร่างกฎหมายการตรวจสอบข่าวสาร" ให้กับที่ประชุมได้พิจารณา
โดยผู้ยื่น "ร่างกฎหมายการตรวจสอบข่าวสาร" ได้ระบุถึงใจความสำคัญของกฎหมายดังกล่าวว่า ในสังคมใดๆ การมีระบบการตรวจสอบที่สมบูรณ์นั้นถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นกฎหมายฉบับดังกล่าวในทางหนึ่งจะปกป้องสิทธิของสื่อมวลชนในการทำข่าว สืบค้นข้อเท็จจริง รวมไปถึงการทำข่าวเชิงสืบสวน ขณะที่ในอีกทางหนึ่งก็จะเพิ่มบทลงโทษขึ้นอีกเป็นเท่าตัวสำหรับผู้ที่ทำร้ายนักข่าว
ปัจจุบันในขณะที่ประเทศจีนกำลังเปิดประตูกว้าง เปิดเสรีในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจการค้า การเงิน และสังคม ในทางกลับกันอิสระของสื่อสารมวลชนในประเทศจีนยังถือว่าตกอยู่ในภาวะที่ถูกมัดมือมัดเท้าไว้อย่างแน่นหนาเช่นเดิม
ก่อนหน้าการประชุมประจำปีของสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนได้ไม่ถึง 2 เดือนดี รัฐบาลจีนเพิ่งมีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ชื่อ "ปิงเตี่ยน" หรือแปลเป็นภาษาไทย คือ "จุดเยือกแข็ง" (Freezing Point) อันเป็นหนังสือ แทรกในหนังสือพิมพ์ China Youth Daily ด้วยข้อหาตีพิมพ์บทความวิชาการประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของจีนที่มีเนื้อหาบิดเบือน พร้อมกันนั้นได้มีการปลดบรรณาธิการของปิงเตี่ยนออกด้วย 2 คน
บทความวิชาการชิ้นดังกล่าวที่ถูกตีพิมพ์ในปิงเตี่ยนที่ชื่อว่า "ความทันสมัยและแบบเรียนประวัติศาสตร์" เขียนโดย หยวนเหว่ยสือ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจงซาน (ม.ซุนยัดเซ็น) ที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงเนื้อหาประวัติศาสตร์จีนที่บรรจุอยู่ในหนังสือแบบเรียนของนักเรียนชาวจีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันว่ายังมีบางจุดที่ยังผูกอยู่กับความเป็นโฆษณาชวนเชื่อ วาดภาพให้ชาวจีนเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียวมากกว่าที่จะยืนอยู่บนหลักฐานทางประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริง อย่างเช่น กรณีการเผาพระราชวังหยวนหมิงหยวนของชาวตะวันตก หรือกรณีกบฏนักมวยในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิง
หลังจากบทความชิ้นดังกล่าวลงตีพิมพ์ในหนังสือฉบับวันที่ 11 มกราคม 2549 อีก 2 สัปดาห์ถัดมา หนังสือพิมพ์ดังกล่าวก็ถูกสำนักงานโฆษณาการแห่งชาติจีนสั่งให้ยุติการพิมพ์ พร้อมกับมีการปลดบรรณาธิการและรองบรรณาธิการของปิงเตี่ยน 2 คน โดยมีการย้ายทั้งสองไปยังศูนย์วิจัยข่าวของสำนักพิมพ์แทน
สำหรับสาเหตุที่แท้จริงของการสั่งให้ยุติการพิมพ์ของหนังสือพิมพ์เล่มดังกล่าว และการปลดบรรณาธิการทั้งสองนั้นมีความเห็นจากคนวงในระบุว่า จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดจากการตีพิมพ์บทความที่มีการกล่าวหาว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้อันเป็นรากฐานนำมาสู่การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสาธารณรัฐประชาชนจีนในเวลาต่อมา แต่เกิดจากการที่ในช่วงหลังหนังสือพิมพ์ปิงเตี่ยนมักจะตีพิมพ์บทความพาดพิงกฎระเบียบที่เข้มงวดของสำนักงานโฆษณาการอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงปี 2548 ที่ผ่านมาที่สำนักงานโฆษณาการของรัฐบาลจีนแทรกแซงสื่อมวลชนจีนอย่างรุนแรง ไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อยุคดิจิตอลอย่างเช่น ความเห็นในเว็บบอร์ด (Bulletin Board Systems : BBS) เครื่องมือค้นหาเว็บไซต์ ข้อความสั้นที่ส่งกันทางโทรศัพท์มือถือ Weblog รวมไปถึงการดำเนินคดีและจำคุกนักเขียนที่เผยแพร่บทความทางอินเทอร์เน็ต
จากการรายงานล่าสุดถึงสถานการณ์สื่อมวลชนโลก (A Worldwide Survey by the Committee to Protect Journalists) โดยคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชน หรือ CJP ประจำปี 2548 (ค.ศ.2005) ระบุอย่างชัดเจนว่า ในยุคปัจจุบันแม้ประเทศจีนจะมีการเปิดกว้างมากขึ้น และมีการถ่ายโอนผู้นำจากเจียงเจ๋อหมินมาสู่หูจิ่นเทาอย่างเต็มตัวแล้ว แต่ความพยายามแทรกแซงสื่อมวลชนของรัฐบาลจีนก็ยังคงถือว่าโดดเด่นยิ่งกว่าประเทศใดๆ ในโลก
สำหรับสภาวะของสื่อมวลชนจีนในปัจจุบันนั้น ทั่วประเทศจีนมีหนังสือพิมพ์และนิตยสารรวมทั้งสิ้นกว่า 11,000 หัว ขณะที่มีสถานีวิทยุและโทรทัศน์อยู่ราว 600 แห่ง โดยในช่วงหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน ทางด้านรัฐบาลจีนได้มีนโยบายลดการครอบครองและอุดหนุนสื่อให้เหลือน้อยลงเรื่อยๆ โดยปล่อยให้สื่อเหล่านี้มีการบริหารรายรับ-รายจ่าย และหารายได้เข้าตัวเองมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้นี่เองที่ทำให้ในปัจจุบันหนังสือพิมพ์จีนเริ่มมีการแข่งขันกันหาข่าว เจาะข่าว และทำข่าวในเชิงสืบสวนกันมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถดึงดูดผู้อ่านและหาโฆษณาได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากรายงานขององค์กรสื่อในระดับนานาชาติได้ชี้ให้เห็นว่า แม้รัฐบาลจีนจะลดการครอบ ครองและอุดหนุนสื่อลง แต่ก็ไม่ได้หมายว่า การแทรกแซงในด้านเนื้อหาจะลดลงตามไปด้วยเลยไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงในทางตรง หรือการกดดันให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง
CJP ระบุว่าในปี 2548 มีผู้สื่อข่าวจีนถูกฆาตกรรม ถูกทำร้าย ถูกจำคุก มีการดำเนินคดีกับนักข่าวสิงคโปร์ข้อหาจารกรรมข้อมูล (โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาพบกับทนายเพื่อสู้คดี) ขณะที่นักข่าวต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่งที่จะเข้าไปในพื้นที่เพื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับภาวะความวุ่นวายทางการเมืองในพื้นที่ชนบทแห่งหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง ก็ถูกกีดกัน ขู่ และทำร้าย
นอกจากนี้ CJP ยังระบุอีกด้วยว่า นับถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมาประเทศจีนยังถือว่าเป็นประเทศที่มีสถิติการจำคุกผู้สื่อข่าวมากที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 7 โดยปัจจุบันมีผู้สื่อข่าวต้องกินข้าวแดง-นอนอยู่ในมุ้งสายบัวมากถึง 32 คน
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์จุดเยือกแข็ง (ปิงเตี่ยน) ได้รับไฟเขียวจากสำนักงานโฆษณาการแห่งชาติจีนให้มีการกลับมาตีพิมพ์ได้อีกครั้ง หลังจากทางสำนักงานโฆษณาการถูกโจมตีอย่างหนักจากผู้อ่าน China Youth Daily และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนหัวก้าวหน้าที่เกษียณราชการไปแล้วที่ได้ร่างจดหมายเปิดผนึกวิจารณ์คำสั่งของสำนักงานโฆษณาการ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สำหรับการหวนสู่แผงของปิงเตี่ยนอีกครั้งนั้น แม้จะกลับมาในรูปโฉมเดิม แต่หัวใจของปิงเตี่ยนกลับถูกเปลี่ยนถ่ายไปแล้ว เพราะในส่วนของกองบรรณาธิการ ได้มีการส่งบรรณาธิการหัวอนุรักษนิยมเข้ามาบริหารงานแทนบรรณาธิการเดิมทั้ง 2 คน และในฉบับวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมาได้มีการตีพิมพ์บทความตอบโต้บทความ "ความทันสมัยและแบบเรียนประวัติศาสตร์" ของศาสตราจารย์หยวนเหว่ยสือ
ไม่น่าแปลกใจเลยที่ หลงอิ้งไถ คอลัมนิสต์หญิงชาวไต้หวัน ผู้มีชื่อเสียงด้านการวิพากษ์การเมืองของจีนอย่างเผ็ดร้อน (แต่ก็เป็นที่ชื่นชอบของชาวจีนแผ่นดินใหญ่) และเป็นหนึ่งในคอลัมนิสต์ของปิงเตี่ยน จะเขียนจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลจีนส่งไปยังประธานาธิบดี หูจิ่นเทา โดยกล่าวเปรียบเปรยว่า
"ในจำนวนม้าหมื่นตัว มีม้าเหลืออยู่เพียงตัวเดียวและตอนนี้มันก็ถูกตัดคอไปแล้ว..."
ผมกลับมาอ่านรายงานข่าวการยื่น "ร่างกฎหมายการตรวจสอบข่าวสาร" ให้ที่ประชุมประจำปีของสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติพิจารณาอีกครั้ง แล้วผมก็อ่านเจอเนื้อข่าวท่อนสั้นๆ ท่อนหนึ่ง ที่อาจถือได้ว่าเป็นหัวใจของข่าวและเหตุการณ์ทั้งหมด
หวังเหวยจง ผู้แทนจากมณฑลจี๋หลิน ผู้ยื่นร่างดังกล่าวเข้าสภา กล่าวกับที่ประชุม ไว้สั้นๆ ในตอนหนึ่งว่า "ที่ต้องร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นนั้นก็เพราะผู้สื่อข่าวนั้นถือเป็นปากเป็นเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|