โรงถลุงเหล็กแห่งแรกของไทยกับข้อเรียกร้องที่แปลกออกไป


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

มีความมั่นใจกันอย่างมากมาย ทั้งภาครัฐและเอกชนว่า ถ้าประเทศไทยมีอุตสาหกรรมเหล็กในลักษณะพื้นฐานถึงจุดเริ่มต้น อย่างโรงถลุงแร่เหล็ก เมื่อนั้นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ จะเติบโตและพัฒนาตามไปอย่างมาก

ความเชื่อมั่นนี้มีมาหลายสิบปี แต่เพราะว่าประเทศไทยไม่มีแหล่งแร่เหล็กที่คุ้มกับการลงทุน ประกอบกับการลงทุนสูงมาก โครงการขนาดใหญ่ที่มองว่ามีความจำเป็นเช่นนี้ จึงยังไม่มีโอกาสเกิดขึ้น

แต่มาวันนี้ อุปสรรคสำคัญนั้นไม่มีความสำคัญอีกต่อไป เมื่อนักลงทุนที่กล้า ชอบท้าทายกับโครงการใหญ่ๆ ได้รุกเข้ามาในส่วนนี้

"ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" แม้ไม่ต้องเอ่ยถึงก็อาจจะทราบกันได้ว่า น่าจะเป็นเขาผู้นี้ และแม้ว่าโครงการนี้จะไม่ใช่การลงทุนโดยตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ทั้งหมด แต่โครงการที่ขยายผลไปยังต้นทาง ก็มาจากการนำเสนอของเขา

"ในตอนแรก วางโครงการว่าจะทำการผลิตในส่วนของการหลอมและผลิตเหล็กลวด คือขั้นกลางและปลายทางมากกว่า แต่เมื่อมาเจรจากับทางทีพีไอแล้ว คุณประชัย ก็เสนอว่าน่าที่จะรุกไปยังต้นทางในลักษณะครบวงจรมากกว่า ก็มาศึกษากัน ในที่สุดก็เลยตัดสินใจว่าจะทำให้ครบวงจร" อนุรัตน์ ก้องธรนินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย จำกัด (มหาชน) กล่าว

โครงการผลิตเหล็กครบวงจรนี้นอกจากกลุ่มทีพีไอของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ถือหุ้นอยู่ 34.16% และกลุ่มกรุงเทพสลักภัณฑ์ ของตระกูลก้องธรนินทร์อีก 13.02% แล้ว ยังมีกลุ่มเอสเอสพีของตระกูลลีสวัสดิ์ตระกูล เข้าร่วมถือหุ้นด้วยถึง 26.07% ที่เหลือ 26.75% เป็นรายย่อยและสถาบันการเงินที่ร่วมปล่อยสินเชื่อกว่า 2 หมื่นล้านบาทให้กับโครงการนี้

จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นในขณะนี้แม้ว่า เมื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2540 นี้ อาจจะปรับสัดส่วนไปบ้าง แต่ก็ได้แสดงให้เห็นว่า บริษัท อุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย มีโครงสร้างที่ประสานประโยชน์กันอย่างแนบแน่นทีเดียว

อย่างกลุ่มเลี่ยวไพรัตน์กับก้องธรนินทร์นั้น นอกจากจะเกี่ยวข้องในเชิงธุรกิจแล้ว "เมธินี ก้องธรนินทร์" กรรมการผู้จัดการอีกคนหนึ่งของบริษัท อุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย เดิมนั้นก็ใช้นามสกุลเลี่ยวไพรัตน์

หรืออย่างการเข้ามาของกลุ่มลีสวัสดิ์ตระกูลนั้น นอกจากจะเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว เหล็กแท่งจำนวนหนึ่งที่ได้จากโครงการนี้ จะถูกส่งเข้าโรงรีดของเอสเอสพี เพื่อผลิตท่อเหล็ก ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มเอสเอสพีต่อไป และยังมีโครงการเกี่ยวเนื่องในอุตสหกรรมเหล็กขั้นปลายทางรออยู่อีกมาก เช่นเดียวกับกลุ่มก้องธรนินทร์ ที่เป็นผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเหล็ก

สำหรับรายละเอียดของโครงการเหล็กครบวงจรนี้ อนุรัตน์กล่าวว่า วงเงินลงทุนทั้งหมดนั้นประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท โรงงานตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมทีพีไอ ที่จังหวัดระยอง ใช้เนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกนั้นจะเป็นการผลิตเหล็กลวดซึ่งถือเป็นขั้นปลายทางก่อน โดยคาดว่าภายในไตรมาสที่สองของปีนี้ (2540) จะเริ่มทำการผลิตได้ โดยจะมีกำลังการผลิต 500,000 ตันต่อปี จำหน่ายภายในกลุ่ม 2 แสนตันต่อปี อีก 3 แสนตันต่อปี จำหน่ายนอกกลุ่ม แต่ยังคงเป็นตลาดในประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้เหล็กลวดที่ผลิตได้ จะเป็นชนิดไฮคาร์บอนเกรดพิเศษ ทนแรงดึงสูงซึ่งเป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยปัจจุบันนี้ผู้ผลิตในไทยยังไม่สามารถผลิตเหล็กลวดชนิดนี้ได้ ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องของสินค้าล้นตลาด ซึ่งแนวทางนี้ถือเป็นนโยบายของบริษัทก็ว่าได้ โดยพยายามผลิตสินค้าที่เน้นการทดแทนการนำเข้ามากกว่าที่จะผลิตแข่งกับผู้ผลิตของไทยรายอื่น บวกกับเป็นความจำเป็นของอุตสาหกรรมลักษณะครบวงจรเช่นนี้ ที่จำต้องแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"เรามองว่า เมื่อเราผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าแล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการทำตลาด เพราะมั่นใจว่าคุณภาพของสินค้าเราไม่เป็นรอง ราคาเราไม่ต่างกับของที่นำเข้ามากนัก และการบริการต่างๆ รวมถึงระยะเวลาการส่งมอบ เราย่อมดีกว่าเพราะอยู่ใกล้กว่า ตลาดในประเทศจึงคิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา" อนุรัตน์กล่าว

แต่การรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ทดแทนการนำเข้านั้น ในอนาคตอันใกล้ย่อมมีปัญหาตามมาแน่นอน เมื่อโลกการค้าได้เปิดกว้างและเสรีมากขึ้น และยังมีประเด็นในเรื่องของการพัฒนาโดยเฉพาะในส่วนของ "คน" ที่ยังน่าเป็นห่วง ซึ่งอนุรัตน์ และ สมบัติ ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการผู้จัดการอีกท่านหนึ่ง รวมทั้งกนก พงศ์พิพัฒน์ ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการอุตสาหกรรมเหล็กของเมืองไทยมากที่สุดคนหนึ่ง และปัจจุบัน ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อนำประสบการณ์มาเสริมวิสัยทัศน์ให้กับผู้บริหารซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ของ บริษัท อุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมสนทนากับ "ผู้จัดการ" ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป

และแน่นอนว่า ย่อมต้องมีข้อเรียกร้องต่อภาครัฐ แต่แปลกตรงที่ว่า ครั้งนี้ข้อเรียกร้องไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

สำหรับโครงการในระยะที่สองนั้นจะเป็นหน่วยผลิตถ่านโค้ก หน่วยถลุงและหน่วยหลอม ซึ่งเป็นโครงการต้นทางและขั้นกลาง โดยคาดว่าจะสามารถผลิตได้ภายในปี 2542 โดยจะมีกำลังการผลิตเหล็กแท่ง 2.3 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์เสริมที่เกิดจากกระบวนการผลิตอีกหลายอย่างที่จะสร้างรายได้ให้กับโครงการ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ได้จากเตาผลิตเหล็กกล้าสามารถนำไปเปลี่ยนสภาพเป็นพลังงานเพื่อป้อนโรงงาน และส่วนที่เหลือสามารถขายให้แก่โรงไฟฟ้าในกลุ่มทีพีไอ

ตะกรันที่ได้จากเตาถลุงเหล็กสามารถนำมาแปรสภาพเป็นปูนซีเมนต์ปอร์ตเลนด์ กำลังการผลิต 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งบริษัทมีแผนป้อนให้กับทีพีไอเช่นกัน และหินทนแรงอัดสูง เพื่อใช้สร้างสนามบิน ถนน กำลังการผลิต 400,000 ตันต่อปี

อย่างที่เกริ่นไว้แล้วว่า การผลิตเหล็กตั้งแต่โรงถลุงแร่เหล็กจนถึงปลายทางนั้น คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องแข่งกับต่างประเทศ ดังนั้นปัญหาที่อยู่นอกเหนือการควบคุมย่อมต้องมี และหน่วยงานที่จะช่วยปัดเป่าได้บ้างก็คือ ภาครัฐ

ทั้ง อนุรัตน์ และ สมบัติ ได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเอกชนโดยเฉพาะเอกชนของไทยเอง กล้าที่จะเข้ามาลงทุนในส่วนของอุตสาหกรรมลักษณะนี้ ภาครัฐก็น่าที่จะตามเข้ามาดูแลและให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถต่อสู้กับต่างชาติได้อย่างไม่ยากลำบากจนเกินไป

ข้อเรียกร้องที่ผู้บริหารบริษัท อุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย สรุปตรงกันก็คือ มาตรการจากภาครัฐที่จะคอยปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ให้พ้นจากเกมดัมพ์ตลาดจากผู้ผลิตต่างชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กนั้น มีผู้ผลิตจากยุโรปตะวันออก หรืออีกหลายประเทศ กระทั่งรัสเซีย ซึ่งต้นทุนการผลิตต่ำ ประการสำคัญประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่แทบจะไม่มีต้นทุนในเรื่องของการป้องกันมลพิษในกระบวนการผลิตเลย เพราะประเทศเหล่านั้นยังไม่เข้มงวดในเรื่องสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตเหล่านี้จึงส่งสินค้าเข้ามาดัมพ์ตลาด ซึ่งลักษณะเช่นนี้ถ้ารัฐบาลพิสูจน์ได้ว่ามีการดัมพ์จริง ก็สามารถเรียกเก็บเซอร์ชาร์จ หรือออกมาตรฐานขึ้นมาเพื่อกีดกันได้ ตรงนี้ภาครัฐต้องตามให้ทัน

อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ ปัญหาเรื่องแรงงานและบุคลากร โดยเฉพาะแรงงานที่มีความรู้ในระดับช่างนั้น ประเภทที่จบออกมาแล้วทำงานได้เลยแทบไม่มี ตรงนี้เอกชนต้องเป็นภาระในเรื่องการฝึกอบรม ซึ่งจริงๆ แล้ว น่าจะเป็นหน้าที่ของภาครัฐมากกว่า

น่าจะถึงยุคที่ภาครัฐต้องเข้ามาศึกษาแล้วว่า หรือเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาที่กำลังจะจบออกมาได้อย่างไรบ้าง การสร้างเทรนนิ่งเซ็นเตอร์หรือศูนย์ฝึกอบรมส่วนกลางที่มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมในทุกสาขาอาชีพ โดยภาครัฐดำเนินการน่าที่จะต้องเริ่มต้นได้แล้ว ไม่ใช่ให้เอกชนต้องคลำทางกันเอง ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เอกชนก็คงต้องเหนื่อยมากหน่อยกับการต่อสู้กับผู้ผลิตจากต่างประเทศ

"สำคัญที่คน ตลาดยังหาง่าย" ประเด็นเรื่อง "คน" นั้น เป็นการเรียกร้องที่สมเหตุสมผล และน่าสนับสนุนให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างมาก

ที่สำคัญ ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่ข้อเรียกร้องของกลุ่มทุนภายใต้ร่มเงาของ "ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" ออกมาดูดีอย่างคาดไม่ถึง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.