Rockwell + Nobu 57 = destination dining


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

โจทย์คณิตศาสตร์พร้อมผลลัพธ์น่าสนใจชวนติดตามนี้เกิดจากเมื่อเร็วๆ นี้ Crain's New York Business ยกย่องให้ห้องอาหาร Nobu 57 เป็น "destination dining" ที่ทุกคนพลาดไม่ได้ด้วยเหตุผลว่าเป็นห้องอาหารที่ทรงคุณค่าสูงล้ำของการเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจอันน่าศึกษายิ่ง

จึงไม่น่าแปลกที่เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว อดีตประธานาธิบดี Bill Clinton เลือก Nobu 57 เป็นสถานที่ปิดการประชุม Clinton Global Initiative Conference ด้วยงบค่าใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมประชุมถึง 15,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว

นับจากปี 1994 ที่ David Rockwell เจ้าของ Rockwell Group รับงานออกแบบให้ห้องอาหาร Nobu 57 แล้ว ดูเหมือนทั้งชื่อของนักออกแบบและห้องอาหารจะกลายเป็นของคู่กันเหมือนคู่แฝดที่ผู้คนต้องพูดถึงพร้อมๆ กันอยู่ตลอดเวลา

ห้องอาหาร Nobu 57 ตั้งชื่อตามเชฟมือทอง Nobu Matsuhisa ผู้ซึ่งปัจจุบันกำลังสนุกสนานกับการขยายอาณาจักรห้องอาหารภายใต้ชื่อของเขาไปทั่วโลกจนนับได้ 14 แห่งแล้ว โครงการสยายปีกของเขาเดินหน้าไปด้วยดี นักพัฒนาที่ดินต่างเชื่อมั่นและเต็มใจที่จะลงเงินในโครงการก่อสร้างเต็มที่ เพราะรู้ดีว่ากิจการห้องอาหารหรือภัตตาคารระดับสูงอย่างนี้สามารถดึงดูดผู้เช่ากระเป๋าหนักและผู้ค้าปลีกตลาดระดับบนให้เข้ามาลงทุนได้ไม่ยาก เห็นได้จากการที่ Lefrak Organization ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ห้องอาหาร Nobu 57 ตั้งอยู่ กล้าควักกระเป๋าถึงครึ่งหนึ่งของวงเงินก่อสร้าง 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างห้องอาหารสไตล์หมู่บ้านชาวประมงญี่ปุ่นแห่งนี้ขึ้นมา

David Rockwell เจ้าของกิจการ Rockwell Group และผู้ออกแบบ Nobu 57 เล่าถึงแรงบันดาลใจในงานออกแบบนี้ว่า "เพราะอาหารของ Nobu ส่วนใหญ่จะห่อด้วยสาหร่ายทะเลหรือห่อด้วยอาหารรสชาติหนึ่งแล้วตามด้วยอาหารอีกรสชาติหนึ่ง ทำให้เราคิดว่ามันคงจะน่าตื่นเต้นไม่น้อยที่ได้เข้าไปในที่ที่เรารู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในภาชนะอะไรสักอย่างที่ห่อหุ้มตัวเราเอาไว้"

บริเวณห้องจัดเลี้ยงจึงออกแบบให้ผู้นั่งรับประทานอาหารรู้สึกเหมือนอยู่ในข้องใส่ปลา บนฝาผนังโดยรอบประดับด้วยวงแหวนไม้ไผ่หุ้มด้วยเรซิ่น แลดูเหมือนพรายฟองของน้ำที่ผุดขึ้นมาและล่องลอยอยู่โดยรอบ

เมื่อแหงนหน้าขึ้นมองเพดานของบริเวณบาร์ก็ต้องตกตะลึงกับความสวยงามของโคมไฟระย้าซึ่งแต่ละอันทำจากเปลือกหอยมุกถึง 10,000 ชิ้น เพราะ David Rockwell ต้องการวัสดุตกแต่งที่จะช่วยทำให้เพดานแลดูต่ำลง จึงมาลงเอยที่โคมไฟระย้าเปลือกหอยมุกซึ่งนำมาแขวนประดับในรูปแบบของเกลียวคลื่นดังที่เห็นในภาพประกอบ

แม้ว่า Rockwell จะดำเนินกิจการ Rockwell Group มานานถึง 20 ปี มีพนักงาน 160 ชีวิตฝากอนาคตด้วย และบริษัทมีผลงานด้านการออกแบบห้องอาหารเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของผลงานทั้งหมดก็จริง แต่ผลงานเหล่านั้นล้วนได้รับการยอมรับและกล่าวขวัญถึงอยู่ตลอดเวลา

จุดเด่นของงานออกแบบห้องอาหารที่ Rockwell Group ประสบความสำเร็จมาโดยตลอดก็คือ ความสามารถในการทำให้อาหารและสถาปัตยกรรมมีการต่อเชื่อมกันได้อย่างลงตัวดังที่ Rockwell เล่าว่า "หนึ่งในกุญแจแห่งความสำเร็จของการออกแบบห้องอาหารก็คือ ต้องสามารถสร้างสรรค์เรื่องราวขึ้นมา" โดยส่วนหนึ่งก็มาจากการพูดคุยกับเชฟ Nobu Matsuhisa เกี่ยวกับแรงบันดาลใจที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์รายการอาหารของเขา จากนั้นจึงนำอาหารแต่ละจานมากำหนดเป็นแรงบันดาลใจในงานออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมของห้องอาหาร Nobu 57 อีกต่อหนึ่ง อาทิ

Soft-Shell Crab Roll (โปรดดูภาพประกอบ) ซึ่งถือเป็นอาหารจานเด่นของเชฟ Nobu ที่ทุกคนต้องสั่งเมื่อเข้าไปนั่งรับประทานอาหารที่นี่ จุดเด่นของอาหารคือ ต้องใช้เทคนิคของการห่อเป็นหลัก จึงเป็นตัวจุดประกายความคิดให้ Rockwell นำมาใช้เป็นหลักในงานออกแบบห้องอาหารทั้งหมด นั่นคือ การใช้เสื่อทอด้วยปอมะนิลาประดับบนเพดานและฝาผนังให้พลิ้วไหวเหมือนเกลียวและระลอกคลื่น ทำให้ผู้นั่งรับประทานอาหารมีความรู้สึกเหมือนกำลังนั่งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศริมทะเลตามแนวคิดหมู่บ้านชาวประมงญี่ปุ่นของห้องอาหารนั่นเอง

เสื่อทอด้วยปอมะนิลานี้ออกแบบโดย Kenneth Cobonpue นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชาวฟิลิปปินส์ จึงไม่น่าแปลกที่เขาสามารถนำวัสดุจากธรรมชาติคือปอมะนิลามาถักทอเพื่องานนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ เพราะปอมะนิลาเป็นวัสดุท้องถิ่นของฟิลิปปินส์ที่มีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์คือ ใช้ถักเป็นอวนหรือแหจับปลา และนิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลักในการออกแบบของ Rockwell ไม่มีอะไรพิสดารหรือซับซ้อน เขาเน้น "ถูกสตางค์" สำหรับค่าวัสดุ จากนั้นนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มในส่วนของงานที่ต้องใช้มันสมอง ศิลปะ และเวลา อาทิ

- การทุ่มเทเวลาถึง 2 ปีให้กับงานวิจัยและพัฒนาจนได้คำตอบที่ต้องการคือ ใช้เรซิ่นในการหุ้มวงแหวนไม้ไผ่ที่ใช้ประดับฝาผนังของห้องอาหาร หรือ

- การประดับเพดานห้อง private room ชั้นบนด้วยโคมไฟระย้าทำด้วยเปลือกหอยเม่น 107,000 ชิ้น (โปรดดูภาพประกอบ) หรือ

- การตกแต่งบริเวณบาร์ชั้นล่างด้วยหินโมรา (onyx) สีขาวที่มีไม้วอลนัทหนา 4 นิ้วและถูกไฟไหม้บริเวณขอบๆ ของชิ้นไม้ประดับอยู่ตรงกลางของแผ่นหินยักษ์สำหรับใช้เป็นเคาน์เตอร์ของพนักงานต้อนรับ

แปลและเรียบเรียงโดย ดรุณี แซ่ลิ่ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.