พระนคร นอนเล่น

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สายลมที่โชยพัดผ่านทำให้ชมพูพันธุ์ทิพย์ริมรั้วซึ่งออกดอกบานสะพรั่งร่วงพรู ความร้อนอบอ้าวของอากาศยามบ่ายในต้นฤดูร้อนก็เริ่มคลายลง

เดินเลาะเลียบริมคลองเทเวศร์ เข้าซอยเทเวศร์ 1 ผ่านชุมชนเก่าแก่ของชาวบ้านย่านนั้นประมาณ 200 เมตรเยื้องๆ กับโรงเรียนสตรีวรนาถ "พระนครนอนเล่น" โรงแรมเล็กๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางพันธุ์ไม้ใหญ่น้อย

หญิงสาวร่างเล็กบางเดินไปมาเสิร์ฟน้ำให้แขกชาวยุโรปกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 4-5 คน ใบหน้าของเธอยิ้มแย้ม และดูมีความสุขกับงานที่กำลังทำอย่างมากๆ

"โรงแรมของโรส เป็นโรงแรมเล็กๆ มีคอนเซ็ปต์ชัดเจนว่าต้องการให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาได้สัมผัสชีวิตความเป็นไทยให้มากที่สุด อยู่อย่างไทย กินอย่างไทย เป็นอย่างไร โดยที่เราจัดสิ่งแวดล้อมให้เป็นเหมือนบ้านหลังหนึ่ง"

เสียงใสๆ ของวริศรา มหากายี เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง หลังจากล่ำลาแขกอยู่พักใหญ่ เธอบอกว่า เดิมทีเดียวที่นี่เป็นโรงแรมเก่ามีห้องพักประมาณ 50 ห้องที่หยุดกิจการไป คุณแม่ของสามีต้องการซื้อไว้ทำเป็นหอพัก โดยให้เธอและสามีเป็นคนดูแล

ภาพหอพักที่เธอและสามีต้องการคือ ที่พักท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเหมือนบ้านในต่างจังหวัด เพื่อให้สอดประสานกลมกลืนไปกับชุมชนเก่าในย่านนั้นที่ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ ไม่ใช่เพียงห้องเล็กๆ แคบๆ อุดอู้ เพื่อให้คนที่มาพักมีความสุขและผ่อนคลายมากที่สุด เป็นบ้านจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงที่นอนเท่านั้น

การลงมือตกแต่งปรับโฉมใหม่ สร้างความโปร่งสบายก็เกิดขึ้น เริ่มจากการรื้อฝ้า โชว์ฝ้าเพดานแบบเก่า กำแพงที่ดูทึบตันก็ทุบทิ้ง เพื่อขยายต่อเป็นระเบียงเล็กๆ และหาซื้อฝาบ้านไม้เก่าจากต่างจังหวัด มาทำเป็นกำแพงเพื่อสร้างความรู้สึกให้ดูอบอุ่น

อารมณ์ ความรู้สึกที่หลากหลายของคน ถูกสะท้อนออกมายังรายละเอียดภายในห้องที่ตกแต่งไม่เหมือนกัน เช่นบางห้องมีบานเฟี้ยม บางห้องมีบานเปิดบานปิด บางห้องหน้าต่างเล็ก หน้าต่างใหญ่ สี หรือลวดลายการเพ้นติ้งในห้องต่างกัน แม้แต่เตียงก็จะไม่เหมือนกันหมดทีเดียว

"ตอนนั้น แต่ละห้องทำมิเตอร์น้ำไฟ แยกต่างหาก เพื่อเตรียมไว้เป็นหอพัก แต่ทำไปทำมาก็เริ่มเสียดายว่า หากปล่อยให้เช่าเก็บค่าห้องแพงเดือนละ 5-6 พันบาท ก็สงสารคนทำงาน เก็บน้อยกว่านี้เราก็อยู่ไม่ได้ ลงทุนไปเยอะ เลยบอกคุณแม่ว่า ขอเปลี่ยนเป็นโรงแรมก็แล้วกัน ใบอนุญาตโรงแรมก็มีอยู่แล้ว"

การเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ครั้งนี้ทำให้เรื่องง่ายขึ้น เพราะจากคอนเซ็ปต์เดิมที่คงความเป็นไทย เลยโฟกัสไปยังตลาดต่างชาติ เพียงแต่ว่าที่นี่ต่างกว่าที่อื่นๆ โดยไม่ได้หวังจับลูกค้าทั่วไปราคาห้องประมาณ 400-500 บาทต่อคืน เหมือนเกสต์เฮาส์บนถนนข้าวสาร หรือลูกค้าระดับบน เช่น โรงแรมราคาแพงคืนละหลายพันบาท แต่วริศราเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีวิธีคิดไม่เหมือนใคร

ลูกค้าของพระนครนอนเล่น ต้องใช้ชีวิตแบบ slow life ดื่มด่ำกับธรรมชาติ และต้องการเรียนรู้วิถีชีวิตของคนไทย ที่นี่ไม่มีทีวีให้ดู มีแต่เพลงบรรเลงเบาๆ เพื่อผ่อนคลาย สูบบุหรี่ไม่ได้ ในเรื่องอาหารก็จะไม่มีอาหารตามสั่ง หรืออาหารประเภทไส้กรอก แฮม ชา กาแฟ เหมือนที่อื่น แต่จะเน้นอาหารเพื่อสุขภาพแบบไทยๆ ส่วนมื้อเที่ยงและมื้อเย็น ร้านอาหารอร่อยในชุมชนย่านนั้น จะได้รับการแนะนำให้แขกไปลองชิม แทนการสั่งอาหารในโรงแรม

วริศรากับสามีคลุกคลีกับงานสิ่งแวดล้อมในฐานะกำลังสำคัญของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ เมื่อดึงสิ่งเหล่านี้มาใช้กับธุรกิจของเธอ แม้เป็นอุดมการณ์ที่ดีแต่ต้องต่อสู้กับปัจจัยต้นทุนของการทำธุรกิจ ซึ่งเธอมั่นใจว่าผู้คนที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างเงียบสงบ ชอบท่องเที่ยวไปในวิถีไทยจริงๆ น่าจะมีไม่น้อย

เส้นทางท่องเที่ยวโดยเรือที่ท่าเรือเทเวศร์ บรรยากาศ 2 ฟากฝั่งเจ้าพระยา คือจุดขายง่ายๆ ที่เธอจะชี้ชวนให้ลูกค้าได้ไปสัมผัสในราคาที่ไม่แพงเลย

"โชคดีที่คุณแม่เข้าใจ แต่ก็บอกว่าให้ลองทำอย่างที่ลูกรัก แค่ 2 ปีนะ ถ้าไม่เวิร์กแม่จะเอากลับมาทำเป็นหอพัก" เธอเล่าเจือด้วยเสียงหัวเราะ

วันเวลาที่ผ่านไป จะเป็นระยะทางของการเรียนรู้ประสบการณ์ที่ได้มาหากผนึกรวมกับความตั้งใจจริงและหัวใจในการบริการแล้ว ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี โรงแรมแห่งนี้ที่เปิดให้คนนอนเล่นในช่วงเริ่มต้นเพียง 20 ห้อง อาจจะเปิดเต็มทั้งหมดก็เป็นได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.