เสียงขลุ่ยทิพย์

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ก่อนวันงานเปิดประมูลงานศิลปะของบริษัท Bangkok Art Auction บริษัทได้จัดให้มี Exclusive Press Preview ขึ้นที่ชั้น 7 อาคารเพ็ญชาติ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บงานศิลปะ ก่อนย้ายมาจัดประมูลในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2549

ในวันนั้นนอกจากเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ชมผลงานอย่างใกล้ชิดแล้ว ไฮไลต์ของงานคือได้เชิญขนงนุช ยิ้มศิริ บุตรสาวคนโตของอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ มาทุบโมผลงานเสียงขลุ่ยทิพย์ ซึ่งเป็นผลงานประติมากรรมที่มีชื่อเสียงของบิดา ต่อหน้าสื่อมวลชนด้วย

น่าเสียดายนักที่วันนั้นมีนักข่าวมาร่วมงานน้อยมาก ทั้งที่การทุบโมของเขียน ยิ้มศิริ ครั้งนี้มีนัยสำคัญอย่างมาก และไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยนักในแวดวงศิลปะของไทย เมื่องานเสียงขลุ่ยทิพย์ Edition ที่ 9 ซึ่งขายไปเมื่อปีที่ผ่านมา ราคายังสูงถึง 8 แสนบาท และราคาขั้นต้นของงานชิ้นที่ 8/9 ที่นำมาประมูลเริ่มที่ 8 แสนบาท

"เป็นความตั้งใจที่จะให้งานของคุณพ่อมีแค่ 9 ชิ้น ซึ่งตอนนี้ก็ได้ทำขายครบไปแล้ว ดังนั้นไม่ว่าใครเอาไปแอบอ้างหรือเลียนแบบ ก็จะได้เป็นที่รู้ว่าไม่ใช่งานของเขียน ยิ้มศิริ ของจริง หลายคนอาจทำงานชิ้นนี้คล้ายงานของคุณพ่อ เพราะได้รับแรงบันดาลใจ แต่บางคนตั้งใจเลียนแบบเลยโดยดัดแปลงให้ชิ้นงานเล็กลง ยังจำได้ว่าเมื่อก่อนคุณแม่เคยให้ตำรวจไปจับ จับทีก็หายไปที แล้วมีอีกแต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้ว อาจเป็นเพราะงานศิลปะกว้างขวางขึ้น"

ขนงนุชอธิบายถึงการทุบโมที่มีอายุนานถึง 57 ปีชิ้นนี้ ปัจจุบันเธอและน้องสาว ขนงนาฎ มีบริษัทผลิตและส่งออกสินค้าเซรามิกในแบรนด์ "เขียน"มาประมาณ 18 ปี โรงงานอยู่ในซอยวัชรพล ส่วนใหญ่ส่งออกในประเทศแถบยุโรปและญี่ปุ่นเป็นหลัก

เขียน ยิ้มศิริ เกิดวันที่ 22 พฤษภาคม 2465 ที่ธนบุรี ภายหลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอัมรินทร์โฆษิต ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ปี 2493 ได้รับทุนกระทรวงศึกษาธิการ ไปศึกษาวิชาประติมากรรมที่ Chelsca School of Art ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ภายใต้การดูแลและแนะนำของ Henry Moore เป็นเวลา 1 ปี ต่อมาปี 2496 ได้รับทุนจากรัฐบาลอิตาลีไปศึกษาประติมากรรมและประวัติศาสตร์ศิลป์ ณ สถาบันศิลปะแห่งกรุงโรม

ปี 2496 ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาประติมากรรม

ปี 2507 รักษาการตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ สืบต่อจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2514 รวมอายุได้ 49 ปี

ผลงานของเขียนแสดงออกด้วยเรื่องราวและลักษณะของไทย คล้ายประติมากรรมสมัยสุโขทัยมาผสมผสานกับทัศนะส่วนตัวนำเสนอในลักษณะสมัยใหม่ เสียงขลุ่ยทิพย์เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างมาก

สำหรับซากของโมชิ้นนี้จะเก็บไว้เป็นอนุสรณ์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึงศิลปินท่านนี้ที่ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.