"Character Design" มากกว่าการออกแบบ

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

วันนี้ภาพตัวการ์ตูนน่ารักน่าชังมีค่ามากกว่าแค่ออกแบบให้ไปอวดโฉมบนปกสมุด หนังสือ และเสื้อยืดหลากแบบ และขายได้เงินเพียงไม่กี่บาท แต่รูปแบบของการทำธุรกิจแบบใหม่ของบริษัทออกแบบการ์ตูน ช่วยให้เจ้าของอยู่ได้ด้วยการขายลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนให้ไปโลดแล่นในแทบทุกผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ

แม้จะเพิ่งเปิดตัวได้เพียง 2 ปีสำหรับ "@Club Design" บริษัทออกแบบตัวการ์ตูนหรือ character เล็กๆ ภายใต้การบริหารของบริษัทแม่อย่าง "Poly-press" และยังไม่สามารถสรุปได้ว่าบริษัทนี้จะประสบความสำเร็จอย่างไรบ้างในอนาคต

แต่ต้องยอมรับว่า @Club Design เป็นตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ การออกแบบตัวการ์ตูนที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะไม่เพียงแต่ธุรกิจดังกล่าวจะอาศัยทั้งความคิดสร้างสรรค์และศิลปะในการออกแบบตัวการ์ตูน ผสมกับเทคโน โลยีการออกแบบผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ที่แตกต่างจากกระบวนการก่อนหน้านี้หลายปี เพื่อให้ตัวการ์ตูนออกมามีเอกลักษณ์โดดเด่นจน "ขายได้"

ธุรกิจเช่นนี้ยังอาศัยศาสตร์แห่งการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผลิตภัณฑ์จะขายได้ หรือสร้างมูลค่าได้ก็ล้วนแต่จำเป็นต้องใช้วิชาการตลาดที่ดีของผู้ผลิต และเจ้าของด้วยในเวลาเดียวกัน

@Club Design ถือกำเนิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของสุดเขตต์ จำรัสฉาย ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัท และอยู่ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท

สุดเขตต์เรียนจบในสาขาเครื่องกลอุตสาหกรรม และหันเหชีวิตทำงานในสายศิลปะมาตลอด ทั้งโรงงานเซรามิกและบริษัทรับผลิต cropmark หรือลายพิมพ์สำหรับใช้กับเสื้อผ้า ก่อนตัดสินใจเปิดธุรกิจรับออกแบบ ตัวการ์ตูนดังเช่นทุกวันนี้ โดยมีทีมงานเริ่มต้นเพียง 4 คน จนกระทั่งปัจจุบันมีพนักงานกว่า 15 คนแล้ว

ในเริ่มแรก @Club Design เริ่มต้นธุรกิจด้วยการรับออกแบบลายและผลิต cropmark ให้กับลูกค้าที่ต้องการ ก่อนเริ่มต้นพัฒนาตัวการ์ตูนหรือ character ขึ้นมา และจัดทำให้เป็น cropmark ที่พัฒนาขึ้นมาด้วยวัสดุพิเศษ ทำให้ผู้ใช้สามารถรีดติดเสื้อได้โดยใช้เพียงแค่เตารีดที่บ้านของตน จนกระทั่งเข้าสู่วงการจำหน่ายลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนดังกล่าวให้กับบริษัทผู้ผลิตสินค้านำไปใช้งาน

ไม่ว่าจะเป็นการนำตัวการ์ตูนดังกล่าว ไปวางบนเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ของบริษัทตนและวางขายอวดสีสันและแย่งเงินในกระเป๋า มาจากลูกค้า แทนการที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าเหล่านั้นจะต้องออกแบบลวดลายการ์ตูนด้วยตนเอง

วันนี้ @Club Design มีตัวการ์ตูนที่จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ให้กับทั้งในไทยและต่างประเทศ ผ่านทางนายหน้าผู้จัดการลิขสิทธิ์การ์ตูนให้กับผู้ผลิตสินค้า และการเจรจาโดย ตรงกับผู้เป็นเจ้าของสินค้า หลังจากที่ตระเวน แสดงผลงานของตนมาแล้วหลายประเทศ ทั้งจีน ฮ่องกง และมีแผนจะไปโปรโมตงานแสดงสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ระดับโลกที่จัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาในปีนี้

ลักษณะการขายลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนของ @Club Design ถือเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการมูลค่าของผลงานของบริษัทในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไป และผู้เป็นเจ้าของสินค้ามีช่องทางในการขายของมากยิ่งขึ้น

ตัวการ์ตูนหนึ่งตัวจะมีลักษณะท่าทาง หรือการออกแบบมากมายนับร้อยแบบ บริษัทสามารถขายลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนแยกตามหมวดสินค้า เช่น ขายให้หมวดขนมขบเคี้ยว ประดับยนต์ หรือเครื่องเขียน เป็นต้น ทำให้บริษัทสามารถขายลิขสิทธิ์ตัวเดียวกันได้หลายครั้งแยกตามหมวดสินค้านั่นเอง

ขณะเดียวกันเจ้าของลิขสิทธิ์ยังได้รับส่วนแบ่งจากการขายสินค้า หรือ royalty ที่เลือกใช้ลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนดังกล่าวได้ตามข้อตกลงเบื้องต้นอีกด้วย

แม้ตัวการ์ตูนจะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเห็นกันจนชินตา แต่ความสำเร็จและที่มาของตัวการ์ตูนเหล่านั้นก็แตกต่างกันออกไป

บางตัวเลือกที่จะเกิดจากเรื่องราวก่อน เป็นทั้งภาพเคลื่อนไหวหรือบรรจุลงในหนังสือ การ์ตูน ก่อนถูกเจ้าของขายลิขสิทธิ์ให้กับปรากฏบนผลิตภัณฑ์มากมาย หรือบางรายเลือกที่จะเกิดจากการเป็นตัวการ์ตูนปกติที่ขายลิขสิทธิ์ให้กับผู้ผลิตสินค้า และพัฒนาไปเป็นเรื่องราวในท้ายที่สุด

สำหรับ @Club Design แล้วเลือกวิธีการหลัง คือเลือกที่จะเป็นตัวการ์ตูนและพยายามพัฒนาให้เกิดเรื่องราวและภาพแอนิเมชั่น โดยปกติทางบริษัทเร่งมือในการพัฒนาภาพแอนิเมชั่นจากตัวการ์ตูนที่มีอยู่ ให้เป็นเรื่องราวสำหรับมิวสิกวิดีโอเพลง และเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งสุดเขตต์หวังว่าการพัฒนาดังกล่าว จะกลายเป็นช่องทางใหม่ในการขายลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนของบริษัท เพิ่มเติมจากแค่ขายลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทผู้ผลิตสินค้าอื่นๆ เพียงอย่างเดียว

สุดเขตต์บอกว่าวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ @Club Design แม้จะเลี้ยงตัวเองได้ แต่กำไรยังไม่เป็นกอบเป็นกำ เขาเองต้องลงทุนในการพัฒนาตัวการ์ตูน และออกแสดงยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่และกว้างกว่าการมองแค่เมืองไทยไปอีกหลายปี

แต่เขาเชื่อว่าการออกแบบการ์ตูนของเขาจะเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ในระยะยาวในอนาคต เพราะรูปแบบการขายลิขสิทธิ์การ์ตูนค่อนข้างได้ผลจากบทเรียนที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันการพัฒนาตัวการ์ตูน เพิ่มขึ้นในไลน์การผลิตของเขา ก็เพิ่มโอกาสให้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

การออกแบบการ์ตูนจึงไม่ใช่แค่วาดให้สวยงาม หรือใช้ความสามารถส่วนบุคคลของคนวาด และใช้เทคโนโลยีการออกแบบผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังอาศัยความคิดสร้างสรรค์ของทีมงานและศาสตร์ของการทำตลาดรูปแบบใหม่ในเวลาเดียวกันด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.