|
พัฒนาโปรดักส์ ช่องทางขายที่หลากหลายขึ้น
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดถึงเหตุผลการประกาศลาออกแบบไม่ทันให้คนในตลาดได้ตั้งตัวของ ดัยนา บุนนาค ทั้งที่เธอเป็นผู้บุกเบิก บลจ.กสิกรไทย มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการเมื่อปี 2355 แต่เพิ่งจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บลจ. กสิกรไทยได้เพียงไม่ถึงปีนั้น คนภายนอกก็เริ่มมองกันไปต่างๆ นานา บ้างก็เชื่อว่า ความแปลกแยกทางความคิดจนวัฒนธรรมระหว่างองค์กรไม่อาจรวมกันได้เป็นหนึ่งเดียว น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจสละเก้าอี้ของเธอเมื่อปลายปีก่อน
ด้านคนใน บลจ.วรรณ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่กลับต้องมาพลอยฟ้าพลอยฝนตกที่นั่งลำบาก เหตุเพราะวิวรรณซึ่งเป็นทั้งเอ็มดีและผู้บุกเบิกพัฒนา บลจ.วรรณ มาตั้งแต่ปี 2535 อาจต้องทิ้งเก้าอี้ที่นี่เพื่อไปนั่งแทนที่ดัยนา ตามคำขอจากบัณฑูร ล่ำซำ ซึ่งเป็นทั้งอดีตเจ้านายผู้สนับสนุนการเติบโตในทางอาชีพให้แก่วิวรรณ และซีอีโอแห่งแบงก์กสิกรไทย
วิวรรณต้องใช้เวลาครุ่นคิดอยู่นานเกือบครึ่งปี ก่อนที่เธอจะตัดสินใจอย่างยากลำบากว่า เธอควรรับตำแหน่งใน บลจ.กสิกรไทย บริษัทจัดการกองทุนใหญ่เป็นอันดับ 1 ของตลาดที่กำลังมีปัญหาขาดผู้นำทัพ อย่างน้อยก็เพื่อตอบแทนบุญคุณอดีตเจ้านาย และองค์กรที่เธอเคยทำงานด้วยมาอย่างยาวนานถึง 8 ปี ก่อนที่จะออกไปสร้าง บลจ.วรรณ จนเติบโตก้าวหน้าขึ้นเป็นบริษัทจัดการกองทุนอันดับที่ 6 ของ วงการ
เมื่อการตัดสินใจของวิวรรณมาถึงจุดสิ้นสุดข่าวการย้าย ค่ายของเธอจึงเริ่มกระเส็นกระสายออกสู่ตลาดมาตั้งแต่ปลายปี และเป็นธรรมดาที่บรรดากลุ่มลูกค้าจากค่าย บลจ.วรรณ ย่อมหวั่นไหวต่อกระแสข่าวนี้ บางรายถึงขนาดที่ว่า ควรจะย้าย เงินไปไว้ที่อื่นดีหรือไม่ ขณะที่บางรายคิดการณ์ไกล ขนาดจะขอย้ายเงินมาลงกับ บลจ.กสิกรไทย ด้วยหวังจะให้วิวรรณช่วยดูแลให้ต่อหนึ่งในหน้าที่หลักๆ ของวิวรรณสำหรับช่วงเวลาที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่เดือนใน บลจ.วรรณ คือต้องคอยเดินสายขอร้องลูกค้าอย่าทิ้งกิจการแห่งนี้ไปไหน เพียงเพราะไม่มีเธอนั่งเป็นผู้บริหาร อีกทั้งที่ผ่านมา เธอและทีมงานทั้งหมดต่างก็ร่วมกันวางรากฐานนโยบายการทำธุรกิจนี้ไว้เป็นอย่างดีแล้ว และไม่ว่าเธอจะอยู่หรือไม่ บลจ.วรรณ ก็ต้องพาตัวเองเดินก้าวต่อไปให้ได้บนเส้นทางธุรกิจสายนี้
ปัจจุบันการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจกองทุนรวมเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่า บลจ.แห่งใดที่มีธนาคารมาช่วยเป็นตัวหนุนเนื่องขีดความสามารถในการเข้ารุกสู่ตลาดแล้ว ย่อมจะมีความได้เปรียบอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่ฐานเงินทุนที่แน่นหนา เครือข่าย ช่องทางการจัดจำหน่ายกินอาณาบริเวณกว้างขวางพอแน่ใจได้ว่าจะรักษาฐานทั้งในกลุ่มลูกค้าเก่า และขยายต่อไป กลุ่มใหม่ๆ ที่พอจะแบ่งปันกันได้ในบางพื้นที่
ในการแถลงเปิดตัววิวรรณอย่างเป็นทางการ ของ บลจ.กสิกรไทย เมื่อวันที่ 10 มีนาคมนั้น เธอหวังไว้ว่า เธอจะสามารถนำประสบการณ์การทำงาน ทั้งหมดที่เธอเคยมีอยู่ใน บลจ.วรรณ บวกกับความคุ้นเคยเข้าใจวัฒนธรรมอันเก่าแก่ยาวนานของแบงก์ กสิกรไทยที่เธอมีอยู่เป็นทุนเดิม เข้ามาช่วยส่งเสริม การทำงานร่วมกันพัฒนาธุรกิจในเครือ KBank ได้มากขึ้น ขณะที่ความต้องการของธุรกิจเวลานี้คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินอันหลากหลาย มากกว่าการรับเงินฝากเพียงอย่างเดียว อีกทั้งช่อง ทางการใช้บริการของลูกค้าที่ต้องมีมากกว่าการอาศัยธนาคารกสิกรไทยแต่เพียงช่องทางเดียวนั้น ยังเป็นอีกเรื่องหนึ่งวิวรรณเห็นว่าน่าจะต้องมีการพัฒนา
ด้านเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจจัดการกองทุนของบริษัทฯ ปีนี้จะอยู่ที่ 10% ส่วนแผนออกกองทุนนั้นยังจะเน้นความหลากหลาย และลักษณะ ที่พิเศษมากขึ้น แต่ยังไม่ทิ้งความสำคัญในการออกตราสารหนี้ เนื่องจากปริมาณความต้องการ ที่มีค่อนข้างมากจากตลาด แม้อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นจากการใช้นโยบายดอกเบี้ยกำราบเงินเฟ้อของทางการก็ตาม แต่ไม่น่าจะรุนแรงมากนักในปีนี้ และดอกเบี้ยที่กำลังขยับตัวขึ้นในตลาด จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงแหล่งลงทุนของผู้ลงทุน เมื่อพิจารณาข้อดีเรื่องสิทธิภาษีการออมเงินผ่านกองทุนที่มีมากกว่าการออมในรูปเงินฝากธนาคาร
อัตราการเติบโตของธุรกิจในปีนี้ บลจ.กสิกรไทยตั้งเป้าหมายว่าจะขยายขนาดกองทุนรวมให้โตขึ้น 15% จากจำนวนกองทุนใหม่กว่า 10 กองทุนที่จะเปิดขายในแต่ละเดือน และจากการนำกองทุนเดิมที่เคยมีอยู่แล้วกลับมาทำตลาดใหม่ โดยการเปิดขายหน่วยลงทุนจะทำให้ครอบคลุมทั้งในกองทุนที่อ้างอิงตลาดอนุพันธ์ กองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งกองทุนหลังนี้เธอคาดว่า น่าจะมีออกมาได้ประมาณ 1-2 กองทุน
สำหรับผลงานตั้งแต่ต้นปี บลจ.กสิกรไทยเปิดขายกองทุนไปแล้ว 3 กองทุน โดยมียอดระดมทุนรวม 13,650 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแผนเปิดขายกองทุนใหม่เพิ่มอีก 2 กองทุน คิดเป็นมูลค่ารวม 11,000 ล้าน บาท ทั้งนี้ มาร์เก็ตแชร์ในปัจจุบันมีรวมกันสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในตลาด ด้วยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 219,936 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดอยู่ในธุรกิจกองทุนรวม และกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 143,433 ล้านบาท และ 41,605 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นมีส่วนแบ่งอยู่ที่อันดับ 4 จากมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 34,897 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|