เพื่อนร่วมอาชีพท่านหนึ่งได้เขียนถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย วิจิตร
สุพินิจอย่างเห็นอกเห็นใจว่า ถูกรุมกระทืบในกรณีที่สั่งปลดเอกกมล คีรีวัฒน์ออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าการแบงก์ชาติ
ทันทีทันควันที่ถูกสั่งปลดจากเลขาธิการ ก.ล.ต. โดยสุรเกียรติ์ เสถียรไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
แต่....ช้าก่อน....งานนี้ถ้าพูดตามลำดับข้อเท็จจริงแล้ว ก็น่าจะเห็นว่าใครรุมกระทืบใครก่อน
เอาล่ะไหน ๆ..เราก็ร่วมเส้นทางวิชาชีพเดียวกันแล้ว ความคิดบางประการก็สอดคล้องกัน
บางประการก็อาจจะต่างกันบ้าง ก็คงไม่ว่ากันนะ ถือเสียว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
อย่างแรกที่พี่น้องผองเพื่อนนักข่าวตั้งคำถามกันมาก แต่จนบัดนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ก็คือการปลดเอกกมล ทำไมไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนอ้อมๆ แอ้มๆ ตอบมาก็คือ
"ความผิดนั้นชัดเจน" แล้วก็มาจนกับคำถามต่อเนื่องว่า ในเมื่อความผิดชัดเจน
ข้อกล่าวหา "เอาความลับราชการไปแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง"
ก็ไม่ควรมีแค่ปลดจากตำแหน่ง
อีกประเด็นหนึ่งที่เสี่ยซ้งเปิดได้ดีในกรณีผู้ว่าฯวิจิตร สุพินิจถือหุ้นในบางกิจการไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อหวังความร่ำรวยเพราะถ้าหากอยากรวยจริง
ๆ ก็มีวิธีการอื่นตั้งเยอะแยะ นั่นนะสิ ถ้าเอกกมลอยากรวยคงรวยไปตั้งแต่สมัยอยู่ฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ไปแล้ว
ฉันใดก็ฉันนั้น...ทำไมต้องมาอยากรวยเอาที่ ก.ล.ต.ซึ่งเป็นเป้าสายตาของสาธารณชน
และเหตุใดต้องเอาความลับทางราชการไปบอกเพื่อนทางโทรศัพท์ ในเมื่อรู้ว่าโทรศัพท์ถูกดักฟังมาตั้งนานแล้ว
ไม่เชื่อไปถาม กฤช ฟอลเล็ตที่เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับของ ก.ล.ต. ดูเอง
ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า คนอย่างผู้ว่าฯ วิจิตร สุพินิจหรือเอกกมล คีรีวัฒน์
อดีตรองผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงค่าของธนาคารแห่งประเทศไทย และประเทศชาติ
ต้องหันมาฟาดฟันกันด้วยฝีมือของกลุ่มคนที่ขอเรียกว่า "บุคคลที่สาม"
(ปลอดภัย) บทเรียนสมัยประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลืมเลือนกันไปแล้วหรือ?
อันที่จริงถ้าเดาใจกันก็ต้องอ่านว่า ผู้ว่าฯ วิจิตร สุพินิจไม่ได้สนใจกับตำแหน่งในแบงก์ชาติสักเท่าใดดอก
เฉกเช่นเดียวกับเอกกมล คีรีวัฒน์ แต่ทว่าผู้ว่าฯ วิจิตรจะลาออกตอนนี้ไม่ได้เพราะเท่ากับข้อกล่าวหาเอกกมล
คีรีวัฒน์เป็นเรื่องเท็จ เอกกมลเองจะยอมให้ปลดตามข้อกล่าวหาก็ไม่ได้ เพราะเท่ากับข้อกล่าวหาเป็นจริง
ที่น่าเห็นใจเป็นที่สุดก็คือ จรุง หนูขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
นักเรียนทุนแบงก์ชาติรุ่นที่สอง รุ่นเดียวกับเริงชัย มะระกานนท์ รองผู้ว่าฯ
และ ดร.โอฬาร ไชยประวัติกรรมการผู้จัดการแบงก์ไทยพาณิชย์ เพราะประสบการณ์ในวัยเด็กและวัยรุ่น
ศึกษาในโรงเรียนศาสนาพุทธมาตลอด จึงเป็นคนตรงและรู้สึกว่าผิด หากก็พูดอะไรที่ไม่ใช่ความจริง
มีเรื่องมีราวระหว่างคนกันเอง แม้จะรู้ข้อมูลดีก็พูดไม่ออก...ไม่พูดนักข่าวก็ซัก..เวรกรรม...เวรกรรม
อีกท่านหนึ่งแม้จะเคยเป็นคนโผงผางมาก่อน แต่งานนี้ก็ไม่ยอมพูดเหมือนกัน
นั่นคือรองผู้ว่าฯเริงชัย มะระกานนท์ เนื่องจากจ่อตำแหน่งผู้ว่าการอยู่ อีกทั้งเรื่องก็เป็นเรื่องภายในว่ากันตามจริงแล้ว
เริงชัย มะระกานนท์จะเป็นนักเรียนทุนแบงก์ชาติ รุ่นที่สอง รองจากวิจิตร สุพินิจรุ่นหนึ่ง
แต่เนื่องจากวิจิตรหลังจากจบการศึกษาได้ไปทำงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศอยู่สองปี
ทำให้อายุงานในธนาคารแห่งประเทศไทยน้อยกว่าเริงชัย จะเห็นได้ว่าเริงชัย มะระกานนท์ได้ขึ้นตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการก่อนวิจิตร
สุพินิจ แต่กลับได้ตำแหน่งรองผู้ว่าการพร้อม ๆ กัน
ไหน ๆ ก็เขียนถึงเรื่องนี้ ก็จะเขียนถึงสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เริงชัย
มะระกานนท์ไม่ได้ขึ้นตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ ในงานหมั้นของนักข่าวที่เริงชัยได้ให้ความกรุณาเป็นเจ้าภาพฝ่ายชาย
ร่วมกับลูกชายกรรมการแบงก์กรุงเทพ หลังจากพิธีหมั้นก็พากันไปรับประทานอาหารในละแวกบ้านของฝ่ายหญิง
มีการแซววาทีค่อนข้างแรงระหว่างเริงชัยซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกำกับ
และตรวจสอบสถาบันการเงินกับลูกชายกรรมการแบงก์คนนั้น
ก็ใครจะไปรู้ว่า ลูกชายนายแบงก์คนนั้นจะขึ้นมาเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ในช่วงที่แต่งตั้งผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่
ตัดภาพมายังปัจจุบันอีกครั้ง ทุกวันนี้ยังหาคนให้คำตอบว่าศึกระหว่างคนธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยกันเอง
จะลงเอยกันอย่างไรไม่ได้ ระหว่างวิจิตร สุพินิจกล่าวหาเอกกมล คีรีวัฒน์ และเอกกมลฟ้องกลับ
เพราะงานนี้อย่างจั่วหัวไว้ว่า ใครถอยเป็นต้องหกล้ม !
เห็นทีจะต้องยกให้เสมอกันตามภาษาของนักเศรษฐศาสตร์ ชอบใช้ก็คือว่า "IN
THE LONG RUN WE' RE ALL DEAD"