MFC มุ่งสู่ความเป็นเลิศในภูมิภาค


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อปีก่อน ทีมวิจัยการลงทุนต่างประเทศของ บลจ.เอ็มเอฟซี เพิ่งจะเสร็จสิ้นการสร้างดัชนีผลตอบแทนในตลาดหุ้นต่างประเทศทั่วโลก และการวิเคราะห์หุ้นรายตัว เพื่อให้กองทุน MFC Global Alpha Fund ซึ่งเป็นกองทุน FIF ของเอ็มเอฟซี นำไปใช้เป็นพื้นฐานการตัดสินใจเลือกหุ้นในพอร์ตกองทุนของ Smith Barney

แต่หลังเปิดศักราชใหม่ได้เพียงไม่นาน บลจ.เอ็มเอฟซีก็ออกมาประกาศอีกครั้งว่า นับแต่ปีนี้ถึงปี 2553 บลจ.เอ็มเอฟซีจะมุ่งพัฒนาตัวเองขึ้นสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านการบริหารความมั่งคั่งให้แก่นักลงทุนไทยทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ บนมาตรฐานการให้บริการที่เป็นเลิศในระดับภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

อีกทั้งยังมีความมุ่งมั่นที่จะขยายขนาดมูลค่ากองทุนสุทธิภายใต้การบริหารจัดการให้ใหญ่ขึ้นเป็น 400,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนของการขยายตัวแบบสม่ำเสมอปีละ 11% ภายในระยะเวลา 5 ปี

ทั้งนี้เมื่อปีก่อน มูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.เอ็มเอฟซีมีทั้งสิ้น 182,000 ล้านบาท และในปีนี้ บลจ.เอ็มเอฟซี ได้กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ให้เป็น 200,000 ล้านบาท

สำหรับมูลค่าสุทธิของกองทุนที่ระดับ 400,000 ล้านบาทนี้ ถือเป็นหนึ่งในมาตรฐานสากลที่ต้องมีสำหรับกองทุนที่จะเข้าลงทุนโดยตรงในตลาดขนาดใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกา และจีน

การขยายขนาดมูลค่าสินทรัพย์สุทธิในกองทุนของ บลจ. เอ็มเอฟซี ครั้งนี้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดโครงสร้างกิจการและการทำธุรกิจของตัวเองใหม่ จากสถานภาพในปัจจุบันที่เป็นเพียงบริษัทจัดการกองทุน ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ขึ้นไปเป็นกิจการ holding company ของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นเจ้าของกองทุนขนาดใหญ่อีกรายแห่งภูมิภาคเอเชีย ที่สามารถเข้าลงทุนตลาดต่างประเทศขนาดใหญ่ทั่วโลกได้

โดยศักยภาพของกองทุนที่รัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าของนี้ ต้องมีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากองทุนเทมาเส็ก ซึ่งอยู่ภายใต้โครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้ง จากรัฐบาลสิงคโปร์

แม้จะยังไม่มีความชัดเจนในปัจจุบันถึงรูปแบบการจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ของ บลจ.เอ็มเอฟซี จะออกมาเป็นเช่นไรก็ตาม แต่ในปีนี้ดูเหมือนว่าจะมีกลยุทธ์หลายประการที่บริษัทจัดการกองทุนแห่งนี้จำเป็นต้องดำเนินการ อาทิ การเริ่มต้นใช้ปรัชญาการ บริการลูกค้าที่เน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ภายใต้แนวคิด Wealth Management และอาศัยสาขาธนาคารออมสินเข้ามาเป็นช่องทางกระจายสินค้าสู่ตลาดในต่างจังหวัด

อีกทั้งยังจะใช้นโยบายเน้นการเปิดตลาดใหม่ๆ ทั้งในระดับ ภูมิภาคในตลาดตะวันออกกลาง และในตลาดคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ ตลอดจนถึงตลาดรัฐบาล รวมถึงปรับปรุงระบบการทำงาน ใหม่ในอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีการบริหารกองทุน การบริหารความเสี่ยงระบบควบคุมการปฏิบัติงาน และพัฒนาระบบดัชนีชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงานของบริษัทเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่ดีภายในองค์กร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.