|

ความเปลี่ยนแปลงของเซ็นทรัล
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้จะมีผลกระทบจากปัจจัยภายนอกมากมาย ทั้งปัญหาเรื่องน้ำมัน ไข้หวัดนก และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังหาความชัดเจนไม่ได้แต่ ทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในนามของเซ็นทรัลรีเทล ซึ่งนั่งเป็นประธานในงานแถลงข่าวประจำปีของบริษัทแต่เพียงผู้เดียว โดยไร้เงาของผู้บริหารคนอื่นเคียงข้าง ออกจะพอใจกับผลประกอบการที่ผ่านมา
เนื่องมาจากปี 2548 เซ็นทรัลรีเทลทำรายได้เหยียบ 7 หมื่น ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเทียบกับปีก่อนหน้าถึง 19.7% เช่นเดียวกับกำไรที่โตขึ้นกว่า 30% ขณะที่ในปีนี้เซ็นทรัลคาดหวังเอาไว้ว่ายอดการเติบโตที่สูงขึ้นอีกถึงกว่า 12% ทะลุ 78,400 ล้านบาท
ปีที่ผ่านมา เซ็นทรัลรีเทลใช้งบส่วนใหญ่ไปกับการลงทุนเปิดห้างสรรพสินค้าโรบินสันสาขาใหม่ที่รัตนาธิเบศร์ ซึ่งเป็นโรบินสัน สาขาแรกหลังจากที่ไม่เคยได้เปิดมาเลยก่อนหน้านี้ถึง 8 ปี
ขณะที่ปีนี้ทั้งปี งบลงทุนกว่า 5,350 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาเกือบเท่าตัว ส่วนใหญ่จะใช้ไปกับการปรับโฉม Central World Plaza แบบยกเครื่อง ด้านในบรรจุร้านต้นแบบของ Flagship หรือแต่ละ Unit ธุรกิจของเซ็นทรัลรีเทลทั้ง Super Sport, Power Buy, B2S และ Office Depot ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศ ไทย ตามมาด้วยการปรับโฉม Zen ที่อยู่ติดกัน ให้เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ภายใต้อาคารใหม่ที่จะสูงถึง 20 ชั้น
นอกจากผลประกอบการ และการลงทุนใหม่ๆ ไปกับห้างที่มีอยู่เดิม จะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดอีกอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจของเซ็นทรัล นับจากนี้ก็คือ การตัดสินใจให้ความสำคัญ อย่างจริงจังกับการลงทุนของกลุ่มในต่างประเทศ
วันงานแถลงข่าวที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ ทศ จิราธิวัฒน์ เปิดเผยต่อบรรดาสื่อมวลชนถึงแผนการดำเนินการธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล ในนามเซ็นทรัลรีเทล ในประเทศจีน
หลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บรรดาสื่อมวลชนรับทราบข่าวจากเขาแต่เพียงการตัดสินใจไปต่างประเทศของเซ็นทรัล แต่จำกัดวงเฉพาะการรุกตลาดอาเซียน ด้วยเหตุผลของขนาดลูกค้าที่หากรวมกันแล้วก็เกือบครึ่งของจีนแล้วนั่นเอง และให้เหตุผลของการไม่ไปจีน เนื่องจากเป็นประเทศที่ใหญ่เกินไป และคู่แข่งมีมาก
วันนี้ ทศบอกว่า หลังจากที่ใช้เวลาในการศึกษาตลาดของจีน ทั้งขนาดประชากร อุปสงค์ อุปทาน และพฤติกรรมของผู้บริโภคมาเป็นระยะเวลาหลายปี และเชื่อว่าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะได้ข้อสรุปในแง่ภาพของการลงทุนในประเทศนี้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
หัวเมืองใหญ่ๆ ของจีนจำนวน 10 จังหวัด เป็นเป้าหมายสำคัญของเซ็นทรัลในการเข้าไปรุกตลาด เปิดห้างสรรพสินค้าของตนภายใต้แบรนด์ทั้งเซ็นทรัล โรบินสัน และอื่นๆ ทั้งผ่านวิธีการจับมือกับพันธมิตร และลงทุนด้วยตนเอง
นอกเหนือจากแผนการในการลงทุนธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ ทั้งการเป็นพันธมิตรกับคู่ค้าในสาขาธุรกิจที่เซ็นทรัลมีอยู่แล้ว อาทิ ธุรกิจหนังสือ และการเปิดห้างสรรพสินค้า
"จีน" กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ทำให้เซ็นทรัลก้าวเข้าสู่การเป็น global player แทนการเป็นเพียง regional player อย่างความตั้งใจเดิม เพราะเหตุผลที่จีนซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ ได้รับการคาดการณ์แล้วว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าจะแซงหน้าสหรัฐ อเมริกาในท้ายที่สุดนั่นเอง
"บทเรียนที่ผ่านมา ประเทศที่ติดอันดับ Fortune 500 มักอยู่ในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ แทบทั้งหมด ดังนั้นหากว่าจีนขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกเมื่อไร ก็มีความเป็นไปได้ว่า ธุรกิจที่ลงทุนอยู่ในจีนก็น่าจะติดอันดับนั้นด้วย ดังนั้นวันนี้การลงทุนของเซ็นทรัลในจีน จึงเป็นการลงทุนเพื่อ 30 ปีข้างหน้า" เป็นประโยคสำคัญที่ทศทิ้งท้ายเอาไว้ในวันงานแถลงข่าว ให้เห็นความสำคัญของการรุกไปอย่างมีเป้าหมายอย่างตรงไปตรงมาของเซ็นทรัลนับจากนี้เป็นต้นไป
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|