ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล กับชีวิตวันนี้ในคราบนักธุรกิจ

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 30 ปีก่อน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ก็ไม่แตกต่างจากกลุ่มเลือดใหม่ของกระทรวงการคลัง 5 คนข้างต้น สมัยนั้นเขาถือเป็นข้าราชการหนุ่มไฟแรง กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงระเบียบปฏิบัติหลายประการของระบบราชการที่ดูล้าหลัง แต่ไม่น่าเชื่อว่าในใจจริงๆ ของเขาแล้ว เขามีความต้องการเป็นนักธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ

"ผมเป็นเอกชนตั้งแต่ผมเกิดแล้วล่ะ" ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ตอบคำถาม "ผู้จัดการ" ถึงที่มาที่ไปของการเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตนเอง หลังจากเกษียณอายุราชการในตำแหน่งสุดท้ายที่ได้รับคือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

"เลขาฯ ผมเคยถามว่า ไหนบอกว่าเกษียณแล้วจะไปเปิดร้านขายดอกไม้ ต้นไม้ ผมบอกว่าใครบอกผมเกษียณ ผมเพิ่งเริ่มต้นชีวิตตามที่เราอยากทำ เพราะก่อนหน้านั้นเราใช้หนี้สังคม"

ม.ร.ว.จัตุมงคลถือเป็นต้นแบบข้าราชการยุคใหม่ ที่เติบโตในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็วผู้หนึ่ง

"...ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือชื่อเล่นที่เรียกกันจนติดปากว่า "หม่อมเต่า"เป็นบุตรคนสุดท้องของ พล.ต.ม.จ.ฉัตรมงคล โสณกุล กับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุไรรัตน์ศิริมาน

"หม่อมเต่า" เริ่มเรียนชั้นประถมต้นที่กรุงเทพคริสเตียน เพื่อนร่วมรุ่นเช่น พ.อ.นพ.ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ร.พ.พระมงกุฎฯ, ชัยยันต์ โปษยานนท์ ผอ.กองการสามิต กรมสรรพสามิต ฯลฯ

เรียนอยู่จนถึงมัธยม 1 (คือประถม 5 ในปัจจุบัน) ครอบครัวโสณกุลทั้งหมด ก็อพยพไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เพราะต้องการให้ลูกๆ มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี และ ประเทศอังกฤษก็เป็นที่ซึ่งเจ้านายของไทยทั้งหลายนิยมไปเรียนกัน หลังจาก "หม่อมเต่า" จบไฮสกูลแล้วก็สอบเข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

พระองค์หญิงแม่ของ "หม่อมเต่า" เป็นคนที่รักการทำ อาหารและได้ชื่อว่าปรุงอาหารรสเลิศ อยู่เมืองไทยก็เคยไปปรุงอาหารที่กรุงเทพคริสเตียน เมื่อไปอยู่ที่อังกฤษ นอกจาก ดูแลลูกๆ ทั้ง 4 คนแล้ว ท่านไม่อยากอยู่เฉยๆ จึงเปิดร้านอาหารไทยขึ้นที่นั่น ซึ่งนับได้ว่าเป็นร้านอาหารไทยร้านแรกๆ ที่มีชื่อเสียงในหมู่คนไทยในอังกฤษ และที่อังกฤษนี้เองที่แววอัฉริยะของ "หม่อมเต่า" เริ่มฉายแววเพราะเรียนหนังสือเก่ง มากๆ จนอาจารย์ชาวอังกฤษยอมรับ

"สมัยที่เรียนอยู่กรุงเทพคริสเตียน คุณชายเต่าเป็นคนเงียบๆ เรียบร้อย ร่าเริงและชอบเล่น เรียนหนังสืออยู่ในเกณฑ์ธรรมดาอยู่ห้องเดียวกันคือห้อง ข. ตอนที่ผมเรียนแพทย์ อยู่เยอรมนีได้ข่าวว่าเขาสอบได้คะแนนสูงมาก จนพวกฝรั่งยอมรับว่าฉลาดมาก หลังจากคุณชายเต่าเข้ารับราชการกระทรวงการคลังแล้วไปดูงานที่เยอรมัน ผมยังเรียนอยู่ ผมเห็นคุณชายเต่าเปลี่ยนแปลงมาก พูดจาฉาดฉาน เริ่มพูดภาษาเศรษฐศาสตร์ยากๆ ที่ผมฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ผมรู้สึกว่าแววอัจฉริยะของเขาจะปรากฏชัดตอนที่เรียนอยู่อังกฤษ" พ.อ.นพ.ชูฉัตร ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนสนิทและญาติเล่ากับ "ผู้จัดการ"

"หม่อมเต่า" เริ่มรับราชการในตำแหน่งเศรษฐกรโท สังกัดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ว่ากันว่าเขาต้องคร่ำเคร่ง กับการฟื้นฟูภาษาไทยก่อนเข้ารับราชการด้วยความที่จบแค่ ป.4 โรงเรียนไทย ซึ่งก็ปรากฏว่าฝึกฝนได้เร็วมาก ทำอยู่ 2 ปี บังเอิญมีโปรเฟสเซอร์จากฮาร์วาร์ดมาติดต่อไกรศรี จาติกวณิช ว่าต้องการข้าราชการไทยสักคนไปเรียนต่อที่ฮาร์วาร์ด ไกรศรีแนะนำว่าคนที่มีแววว่าจะไปเรียนได้ชื่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล พอฝรั่งสัมภาษณ์เสร็จก็ตัดสินใจรับทันที

"หม่อมเต่า" ไปเรียนด้าน Public Administration โดยเมเจอร์เศรษฐศาสตร์ เรียนจบปริญญาโทและทำหน่วยกิต ปริญญาเอกหมดแล้ว แต่ยังไม่ทันทำวิทยานิพนธ์ ตัดสินใจกลับมาก่อน เพื่อรับตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในขณะนั้น

"หม่อมเต่า" กลับมาพร้อมภูมิรู้ด้านเศรษฐศาสตร์และการบริหารทั่วไปอย่างเต็มที่ เขาเป็นคนหนุ่มไฟแรงซึ่งมีปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะนำความรู้ที่เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดกับการทำงาน

ช่วง 2-3 ปีในตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ รมต. "หม่อมเต่า" ได้เรียนรู้งานอย่างกว้างขวางเพราะจะต้องเป็นผู้ที่ช่วยกลั่นกรองงานและเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีค่าต่ออนาคตมากๆ

หลังจากหมดยุค ดร.เสริม ก็กลับมาทำงานที่ สศค. ตามเดิม..."

(ส่วนหนึ่งของเรื่อง "NEW BREED ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล จะมีความใหม่อะไรบ้าง" นิตยสารผู้จัดการ เดือน มีนาคม 2531 หาอ่านรายละเอียดได้ใน www.gotomanager. com)

"ผมเป็นปลัดกระทรวงการคลังคนเดียวที่ไม่เคยเป็นผอ.สศค. เป็นเด็ก สศค.คนเดียวที่ไม่เคยเป็น ผอ.สศค." ม.ร.ว.จัตุมงคลบอกในการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุด เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

"ผมไม่เคยอยู่ที่ไหนนาน ดวงผมทำอะไรสำเร็จจะถูกย้าย ไม่ใช่ดวงอยู่กินเมือง พอที่ไหนเจ๊ง เขาก็เอาผมไป พอรอด เขาก็ย้ายผมไปทำที่อื่นที่มันเจ๊ง"

แม้ตลอดชีวิตข้าราชการกว่า 30 ปีของ ม.ร.ว. จัตุมงคล เขาจะบอกว่าเป็นการใช้หนี้สังคม แต่ผลงานการใช้หนี้สังคมของเขา สามารถปฏิรูประบบราชการให้เกิดความทันสมัยได้หลายประการ ทั้งในช่วงที่เป็นอธิบดีกรมสรรพากร กรมบัญชีกลาง และปลัดกระทรวงการคลัง

เขายกเลิกพิธีการต่างๆ ที่ล้าสมัย และทำให้เสียเวลา และขั้นตอน นำระบบจัดอันดับรัฐวิสาหกิจเข้ามาใช้กับการจัดทำงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการเป็นเอกชนมากขึ้น

ที่สำคัญคือเขานำระบบรี-เอ็นจิเนียริ่ง เข้าไปใช้กับโครงสร้างการทำงานของหน่วยงานราชการ จนได้ชื่อว่าเป็น ผู้นำในการรี-เอ็นจิเนียริ่งของภาคราชการ ควบคู่กับบัณฑูร ล่ำซำที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในด้านเดียวกันของภาคเอกชน

ด้วยแนวคิดเชิงปฏิรูปดังกล่าว ทำให้ทุกวันนี้ แม้เขาจะเกษียณจากราชการแล้ว แต่เขายังมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ไม่ได้เป็นในฐานะนักกฎหมาย แต่เป็น ในฐานะผู้ให้ความเห็นทางการเงินการคลัง ซึ่งตำแหน่งนี้เขาเป็นตั้งแต่ยังเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ ส่วนอีกตำแหน่งหนึ่ง คือ กรรมการในคณะกรรมการพัฒนาข้าราชการพลเรือน (กพร.)

"เขาอยากได้ประสบการณ์ ผมก็บอกเขาตลอดเวลาว่าผมมาในฐานะเอกชน ที่ราชการขอให้มา"

แนวความคิดที่ต้องการทำธุรกิจของ ม.ร.ว.จัตุมงคล เกิดขึ้นมาตั้งแต่เขายังเด็ก

"จริงๆ แล้วในชีวิตอยากลงทุนขายของ ลงทุนเพื่อมีแอสเซท ขายของแล้วก็มีกำไร ชอบ ผมอยู่อังกฤษ ผมยังซื้อหุ้นเลย หุ้น M&G เดี๋ยวนี้มันไปอยู่ที่ไหนแล้วก็ไม่รู้ อาจจะเป็นมหาเศรษฐีไปแล้วก็ไม่รู้ ปัญหาของผมคือ ผมไม่ systematic ใบหุ้นผมก็ทำหายอะไรอย่างนี้"

หลังจากออกจากราชการแล้ว เขาเคยไปเป็นผู้จัดทำเว็บไซต์เกี่ยวกับการประมูลขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ยังค้างอยู่ในระบบสถาบันการเงิน แต่งานดังกล่าวเขาบอกเหตุผลว่าที่ไปทำเพราะถูกขอมาให้ไปเป็นมาร์เก็ต เมกเกอร์ให้เท่านั้น ไม่มีการใส่เงินเข้าไปเป็นจำนวนมาก

แต่งานหลักจริงๆ ของเขา คือการเป็นตัวกลางในการจัดหาผู้ลงทุน เข้ามาดำเนินการโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ลักษณะงานเช่นนี้ อาจดูใหม่สำหรับรูปแบบธุรกิจในเมืองไทย

เขานิยามลักษณะงานของตนเองว่าเป็นผู้สรรหา (sourcer) โดยอาศัยเครือข่ายดั้งเดิมที่เขาเคยมีอยู่ตั้งแต่รับราชการ และการสร้างเครือข่ายใหม่ๆ ขึ้นมา คอยดูว่ามีพื้นที่ใดที่มีศักยภาพในการพัฒนา แล้วสรรหาผู้ลงทุน และทีมงานเข้ามาดำเนินการ

"เนื่องจากไม่อยากใหญ่มาก ก็เลยทำทีมแบบฝรั่งมีกัน 5-6 คนเท่านั้นเอง ทุกอย่างเอาต์ซอร์สหมด บัญชี กฎหมาย วิศวะ โปรเจ็กต์แมเนจเมนต์ ซึ่งอันนี้เป็นวิธีที่ฝรั่งทำงาน เราก็รู้เพียงแต่ว่าควอลิตี้ เซอร์เวเยอร์คนไหนดีไม่ดี ก็จำไว้ เที่ยวหน้าก็ไม่เอา ส่วนการตลาดไม่มี เพราะเราใช้ ทีดีอาร์อี (TDRE) แล้วก็ไม่ได้คิดจะไปแข่งกับแลนด์ แอนด์เฮ้าส์ เราไม่เน้นเป็นบริษัท 100 คน 1,000 คน ไม่ได้ต้องการจะเข้าไปลิสต์ในตลาด ทำปีหนึ่งได้โครงการหนึ่งก็พอ"

รายได้ของเขาคือค่าธรรมเนียมในการเป็นตัวกลาง และหากโครงการมีกำไร ก็อาจมีส่วนแบ่งรายได้จากกำไร แต่หากโครงการใดที่ทำแล้วไม่คืบหน้า เขามีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าเขาต้องเข้าไปช่วยในการบริหารงานเอง

โครงการโรงแรมฮิลตัน มิลเลนเนียม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงท่าเรือคลองสานเป็นโครงการแรกที่เขาเริ่มทำงานในลักษณะนี้ โดยการประมูลซื้อที่ดินมาจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บสท.) แล้วก็จัดหาผู้ลงทุน มาดำเนินการ แต่ต่อมาภายหลังโครงการเดินช้ามาก เขาจึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหาร จนสามารถเป็นโครงการได้เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โครงการนี้เขาทำในนามบริษัทซีเอ็ม โซลูชั่น จำกัด

ส่วนโครงการล่าสุด ม.ร.ว.จัตุมงคลได้เป็น project co-ordinator ให้กับกองทุนรีแคป ซึ่งเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจดทะเบียนอยู่ที่หมู่เกาะเคย์แมน ที่ทำโครงการ คอนโดมิเนียมในนามเดอะมิลเลนเนียม เรสซิเด้นซ์ บนเนื้อที่ เกือบ 13 ไร่ ในซอยสุขุมวิท 18

รายละเอียดของโครงการมีจำนวน 4 อาคาร 604 ยูนิต พื้นที่ต่อยูนิตเริ่มต้นตั้งแต่ 66 ตารางเมตร 1 ห้องนอน จนถึง 637 ตารางเมตร สำหรับห้องเพนส์เฮาส์

จุดเด่นของโครงการคือมีทางเข้าออก 3 ทางด้วยกัน คือ พระราม 4 สุขุมวิท และรัชดาภิเษก สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของทะเลสาบของสวนเบญจกิติ

ที่มาของการได้ที่ดินแปลงนี้ ม.ร.ว.จัตุมงคลบอกว่าเจ้าของที่ดินเป็นคนมาเสนอขายให้กับเขา เพราะรู้จากคนอื่นว่าเขากำลังทำธุรกิจลักษณะนี้

"อย่างบางทีคุณมีที่ดิน แต่กำลังมีปัญหา ก็อาจจะมีคนมาบอกว่าไปหาหม่อมเต่าสิ มันเป็นปากต่อปาก ที่แปลงนี้ เจ้าของมีปัญหา ก็มาหาผมให้ไปช่วยพูดกับแบงก์ พอมาดูก็เลยแนะนำให้ขายเพื่อนำเงินไปเคลียร์แบงก์ ผมก็จัดให้ เราก็หาผู้ลงทุนมาพัฒนา แต่ต้องซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่ม"

คราวนี้เขาทำในนามบริษัทเอ็มทีอาร์ แอสเซ็ท แมเนเจอร์

"ซึ่งจริงๆ คือบริษัทรถแข่งเดิมของลูกชาย คือบริษัท หม่อมเต่า เรสซิ่ง มันมีอยู่แล้ว ขี้เกียจตั้งใหม่ ก็เอามาเปลี่ยน ชื่อทำต่อไปเลย"

ปัจจุบันโครงการเดอะมิลเลนเนียม เรสซิเด้นซ์ กำลัง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะเริ่มเปิดขายโครงการได้ในเร็วๆ นี้

แม้ว่าด้วยลักษณะงาน ซึ่งต้องออกไปพบปะพูดคุยกับผู้คน เพื่อหาทีมงาน และช่องทางธุรกิจ รวมถึงอาจจะต้องเดินทางไปดูที่ดินแปลงต่างๆ ที่มีคนนำมาเสนอขาย หรือเสนอให้เขาทำโครงการ แต่ชีวิตส่วนใหญ่หากมีเวลาว่าง ม.ร.ว.จัตุมงคลมักจะนั่งอยู่ที่ร้านอาหารออเรนเจอรี่ บนชั้น 4 สยามพารากอน ซึ่งเขาร่วมลงทุนกับเพื่อน ซึ่งเป็นนักธุรกิจโรงแรมรายหนึ่งในสัดส่วน 50 : 50 โดยเขาเป็นผู้ลงมาบริหารร้านด้วยตนเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.