|
สศค. องค์กรในฝันของ เอม เจริญทองตระกูล
โดย
สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เอม เจริญทองตระกูล เป็นหนึ่งในกลุ่มเด็กจบใหม่ ที่ต้องเริ่มหางานทำ หลังเศรษฐกิจผ่านช่วงเวลาตกต่ำสุดขีดมาได้เพียงปีเศษ
ขณะที่กลุ่มแบงก์และสถาบันการเงินยังไม่หยุดปลดพนักงานในยุควิกฤติเศรษฐกิจ เอม เจริญทองตระกูล ลองเสี่ยงกรอกใบสมัครที่ธนาคารไทยพาณิชย์ รออยู่หลายเดือน ยังไม่เรียกตัว
โชคดีที่กรมการบินพาณิชย์เปิดรับสมัครลูกจ้างชั่วคราว เอมจึงไปที่นั่น แม้งานจะไม่ตรงกับสายที่เรียนมา แต่น่าจะดีกว่า ตกงาน
ทำงานอยู่ในกรมการบินพาณิชย์ได้ไม่นาน สศค.เปิดรับลูกจ้างชั่วคราว เอมจึงลาออกจากกรมการบินพาณิชย์เพื่อมาสมัครงานที่ สศค. ตามคำชวนของเพื่อน ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวในกองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศอยู่ก่อนแล้ว
เอมเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จนจบชั้น ม.6 จากนั้นต่อปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาเศรษฐ ศาสตร์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญา โท สาขาเศรษฐศาสตร์และการเงินระหว่างประเทศ ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน จนจบเมื่อปี 2542
แม่ของเธอเป็นอาจารย์ในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่เกิด เอมจึงมีภาพการเป็นข้าราชการของแม่เป็นต้นแบบ เริ่มโตขึ้นมาเลยตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบเธอจะรับราชการ และจะพยายามเป็นข้าราชการที่ดีเหมือนแม่
สมัยยังเรียนมหาวิทยาลัย เอมมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อย ประทับใจนัก เกี่ยวกับท่าทีการทำงานแบบเช้าชามเย็นชามของ ข้าราชการในหน่วยงานราชการบางแห่ง ที่เธอเคยเข้าไปติดต่อ ขอข้อมูลเพื่อนำกลับมาทำงานจากชั้นเรียนของเธอ
เอมไม่แน่ใจว่านั่นเป็นเพราะคนที่นั่นมองเธอเป็นแค่นักศึกษา หรือนั่นคือวัฒนธรรมการทำงานของข้าราชการทั่วไป
ที่ สศค.เอมเป็นข้าราชการประจำที่มาจากการทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวในกองนโยบายป้องปราบและการฟอกเงินนอกระบบ แม้จะไม่ใช่แรงหลักแต่ก็มีส่วนร่วมกับการร่างกฎหมายป้องกันการฟอกเงิน
ตอนนั้นเอมยังไม่เคยได้ยินชื่อ สศค. จนเมื่อได้เข้ามาทำงาน ยิ่งชวนให้สงสัยว่าทำไมในแต่ละวันคนของ สศค. ถึงมีงานทำกันมากมายจนแทบไม่มีเวลาหยุดพัก ต่างจากภาพที่เธอเคยเห็นในหน่วยงานราชการแห่งอื่น
ด้วยจิตวิญญาณในการทำหน้าที่ของ สศค. ตลอดจนวัฒนธรรมของคนในองค์กรที่เน้นความร่วมมือในการทำงาน ให้ความช่วยเหลือกันในแบบพี่ๆ น้องๆ ที่ยังเผื่อแผ่มาถึงลูกจ้าง ชั่วคราวอย่างเธอ ทำให้ สศค.กลายเป็นองค์กรในฝันที่เอมอยากจะก้าวเข้ามาเป็นข้าราชการอีกคนหนึ่งของที่นี่
ฝันของเอมเป็นจริง หลังทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวในกองป้องปราบฯ มา 11 เดือน สศค.เริ่มเปิดรับข้าราชการใหม่ เธอจึงสมัครสอบจนผ่านเข้ามาเป็นข้าราชการใหม่ในกองนโยบายภาษี เมื่อต้นปี 2543 และเธอได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2546 จาก ก.พ. ด้วยแรงโหวตท่วมท้น จากเพื่อนร่วมกองของเธอ
"เอมเป็นเด็กใช้ได้ ขยัน ทำงานเก่ง ทุกคนชอบเธอ"หลายคนใน สศค.พูดถึงเอมกับ "ผู้จัดการ" แบบนี้
ไม่ต้องสงสัยว่าเอม เศรษฐกร 6ว ส่วนนโยบายสิทธิประโยชน์ทางภาษี กลุ่มการวางแผนภาษีในภาพรวม เป็นอีกคนที่ผู้ใหญ่ใน สศค.พร้อมโปรโมตเมื่อถึงเวลา
ตั้งแต่เริ่มเข้ามาเป็นข้าราชการ เอมถูกใช้ให้เป็นหนึ่งใน ทีมทำงานใหญ่ระดับชาติ อย่างการจัดประชุมประจำปีธนาคาร พัฒนาเอเชีย หรือ ADB และ APEC Forum ที่เชียงใหม่ ร่วม กับจุฬารัตน์ สุธีธร รอง ผอ.สศค.ซึ่งเติบโตจากกองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และทีมงานจากต่างประเทศอีกมากมาย เอมบอกว่าเป็นงานที่เธอภูมิใจ
งานที่เอมอยากทำแต่ยังไม่ค่อยมีโอกาสที่จะได้ทำมากนักนับแต่เข้ามา เห็นจะอยู่ตรงงานสายวิชาการ เพราะที่ผ่านมา เนื้องานส่วนใหญ่ของเธอจะมุ่งไปในด้านปฏิบัติ อย่างเช่นการ ปรับโครงสร้างภาษีสรรพากร และการปรับระบบภาษีเช่าซื้อ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|