วัฒนธรรม + ภาพลักษณ์ใหม่

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ความพยายามที่จะปรับวัฒนธรรมเครือซิเมนต์ไทยให้เป็นองค์กรที่มี Innovation ไม่ได้มีเพียงการผลักดันนโยบายจากผู้บริหารระดับสูงลงมาในลักษณะ top down แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการจัดกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อกระตุ้นให้พนักงานทั้งเครือมีความตื่นตัวที่จะ think out of the box มากขึ้น

งาน Innovation Change for Better Tomorrow ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2547 ที่กานต์รับบทแม่งานในวันนั้นเปรียบเสมือนปฐมบทที่สื่อไปยังพนักงานทุกคนของเครือซิเมนต์ไทยได้เข้าใจถึงความสำคัญของ Innovation ที่จะเป็นแกนกลางของวัฒนธรรมใหม่ขององค์กร ที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในอาเซียน

วัฒนธรรมใหม่ที่กล่าวถึงเป็นวัฒนธรรมที่สนับสนุนให้พนักงานทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ คุณลักษณะของพนักงานภายใต้วัฒนธรรมดังกล่าวมี 5 ประการด้วยกัน คือกล้าเปิดใจรับฟัง กล้าคิดนอกกรอบ กล้าพูดกล้าทำ กล้าเสี่ยงกล้าริเริ่ม และกล้าเรียนใฝ่รู้ สำหรับผู้บริหารยังต้องเพิ่มบทบาทของความเป็นผู้นำอีก 3 ประการ ได้แก่ นำการเปลี่ยนแปลง สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง และบริหารการเปลี่ยนแปลงด้วยการทำเป็นแบบอย่าง

ภาพช้างก้าวออกจากกรอบ ซึ่งเป็นโลโกของงานในวันนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความคิดนี้ได้เป็นอย่างดี

อีกกิจกรรมหนึ่งที่เครือซิเมนต์ไทยจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญและเกิดการสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การประกวดรางวัล SCG Power of Innovation ซึ่งเปิดโอกาสให้แต่ละธุรกิจมีการจัดทีมคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ (product) กระบวนการทำงาน (process) หรือรูปแบบธุรกิจ (business model) เข้าแข่งขัน โดยทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 1 ล้านบาท

ความตื่นตัวของพนักงานเครือซิเมนต์ไทยที่ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดครั้งนี้เกินกว่า 300 ทีมสร้างความประทับใจให้กับกานต์เป็นอย่างมาก ความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่งผลกับเครือซิเมนต์ไทยทั้งในด้านโอกาสการสร้างรายได้ การลดรายจ่าย ไปจนถึงการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าและคู่ค้ามากขึ้น

11 ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายมีทั้งผลงานของธุรกิจซีเมนต์ กระดาษ ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จัดจำหน่ายและสำนักการเงิน โดยทีม PIMAI จากบริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย ในธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเป็นผู้คว้าชัยชนะในการประกวดครั้งนี้ ด้วยผลงานกระเบื้องพิมายที่เป็นกระเบื้องหินทรายที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในวงการกระเบื้อง

นอกจากการปรับวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นเรื่องภายในแล้ว เครือซิเมนต์ไทยยังมีการสื่อสารการเปลี่ยนแปลงออกสู่สังคมภายนอกผ่านทางกิจกรรมและโฆษณาต่างๆ อีกหลายชุดด้วย

เครือซิเมนต์ไทยเริ่มบอกกล่าวให้คนภายนอกรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งแรกผ่านโฆษณาทางโทรทัศน์ในชุด Rabbit ที่เริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2547 แนวความคิดของโฆษณาชุดนี้กระตุ้นให้เกิดการตั้งถามเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และความคิดนอกกรอบ ถือเป็นแนวความคิดโฆษณาที่แปลกใหม่มากสำหรับเครือ
ซิเมนต์ไทยในวันนั้น

ผลตอบรับจากโฆษณาชุดนี้ดีมากจนกระทั่ง TBWA\THAILAND ได้รับมอบหมายให้ทำโฆษณาต่อเนื่องมาอีก 2 ชุด ได้แก่ โฆษณาเปิดตัวกลุ่มปิโตรเคมีที่ออกอากาศในเดือนมีนาคม 2548 และกลุ่มกระดาษที่ออกอากาศตามมาในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ซึ่งทั้ง 2 ชุดสามารถสร้างการรับรู้ให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดีว่าเครือซิเมนต์ไทยไม่ได้มีเฉพาะธุรกิจซีเมนต์เท่านั้น แต่ยังมีอีก 2 ธุรกิจหลักที่คนจำนวนมากอาจจะยังไม่เคยรับรู้มาก่อนด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.