|
ฝันไกลของดูไบ
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ดูไบมีแผนจะเข้าบริหารท่าเรือหลายแห่งของสหรัฐฯ และตั้งเป้าจะเป็น "Wall Street แห่งอ่าวเปอร์เซีย"
ดูไบเป็นรัฐหนึ่งของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (U.A.E.) ซึ่งปกครองแบบสหพันธรัฐ และเป็นรัฐอาหรับที่ดูจะมีสีสันที่สุดในตะวันออกกลาง รวมทั้งอาจเป็นรัฐที่มีความฝันไกลที่สุดของตะวันออกกลางด้วย
ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Dubai Ports World (DP World) รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งของดูไบ ซึ่งมีเป้าหมายจะผงาดขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทั่วโลก ได้ตกลงซื้อบริษัท Peninsular & Oriental Stream Navigation Co. (P&O) ของอังกฤษ ซึ่งกุมอำนาจบริหารจัดการท่าเรือใหญ่หลายแห่งของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงท่าเรือในนครนิวยอร์ก บัลติมอร์ และไมอามี
แต่ความหวังของดูไบที่จะได้เข้าบริหารท่าเรือของสหรัฐฯ กลับเผชิญการขัดขวางอย่างดุเดือดและคาดไม่ถึงจากสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งอ้างความวิตกเรื่องความมั่นคงเป็นเหตุผลใหญ่ เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นชาติอาหรับ
แม้แต่ Peter King ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสภาล่างสหรัฐฯ ซึ่งเป็น ส.ส.ของพรรครีพับลิกัน อันเป็นพรรครัฐบาลเอง ยังประกาศจะขวางข้อตกลงของ DP World โดยอ้างความวิตกเรื่องความมั่นคงและการขาดข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องนี้จากรัฐบาลสหรัฐฯ
ความขัดแย้งดังกล่าวยังอาจทำให้อดีตประธานาธิบดี Bill Clinton ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งของ DP World ต้องขัดแย้งกับภรรยาคือ Hillary Clinton วุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์ก ซึ่งคัดค้านการที่ DP World จะซื้อกิจการท่าเรือสหรัฐฯ เช่นกัน
การซื้อ P&O ของ DP World ในครั้งนี้มีความหมายสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ต่อดูไบ ซึ่งเป็นชาติอาหรับในตะวันออกกลางและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นมากกว่าเพียงแค่สวนสนุกสำหรับมาเที่ยวเล่นชั่วครั้งชั่วคราวของเศรษฐีต่างชาติ
ภายใต้การบริหารประเทศของมกุฎราชกุมาร Mohammed bin Rashid al-Maktoum หรือ Sheik Mo ตามที่สื่อมวลชนนิยมเรียกขานพระนามอย่างสั้นๆ ผู้ไม่ทรงนิยมการเป็นข่าว ซึ่งทรงเริ่มบริหารดูไบ นับตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา ก่อนจะทรงขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองดูไบในปีนี้ ดูไบได้จัดตั้งเครือข่ายของบริษัท holding company และกองทุน รวมทั้งบรรษัทต่างๆ ซึ่งรวมถึง Dubai Holding บรรษัทของรัฐบาลดูไบ ที่ดูแลการลงทุนขนาดใหญ่เกือบทั้งหมด ทั้งในดูไบและในต่างประเทศ โดยเครือข่ายบรรษัทและกองทุนของรัฐบาลดูไบเหล่านี้ได้ทุ่มลงทุนในต่างประเทศไปแล้วมากกว่า 1 หมื่น 5 พันล้านดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายที่จะดันให้ดูไบกลายเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ศูนย์กลางทางการเงินไปจนถึงเทคโนโลยีชีวภาพ
ดูไบเองก็เปรียบเสมือนบรรษัทขนาดใหญ่ที่อาจเรียกว่า Dubai Inc. ซึ่งมี Sheik Mo ทรงเป็น CEO "ดูไบก็ไม่ต่างจากประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์" Mohammed Alabbar เจ้าหน้าที่ระดับสูงรับผิดชอบการพัฒนาเศรษฐกิจของดูไบ และประธานบริษัท Emaar ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของดูไบกล่าว "ดูไบ ตระหนักดีว่าเศรษฐกิจของตนมีขนาดเล็กเกินไป จึงต้องออกไปลงทุนในตลาดต่างประเทศที่กว้างขวางกว่า"
และแผนพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวของดูไบก็ดูเหมือนจะได้ผลเป็นอย่างมาก เศรษฐกิจของดูไบแข็งแกร่งที่สุดในตะวันออกกลาง โดยเติบโตร้อยละ 16 ต่อปี และเติบโตถึงเกือบ 3 เท่า ภายในเวลาเพียง 10 ปี จนมีขนาด 3 หมื่น 4 พัน 5 ร้อยล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน และยังกระจายการทำธุรกิจอย่างหลากหลายนอกเหนือไปจากน้ำมัน ซึ่งมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6 ของ GDP ของดูไบเท่านั้น
เขตการค้าเสรีและท่าเรือของดูไบกำลังไปได้สวย ขณะที่รัฐบาลดูไบได้ลงทุนสร้างศูนย์ไฮเทคในด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึง Dubai Media City และ Dubai Internet City ซึ่งสามารถดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft จนกระทั่งถึง IBM นอกจากนี้ยังมีศูนย์วิจัย DuBiotech ที่กำลังดึงดูดบริษัทยายักษ์ใหญ่ รวมถึง Dubai International Financial Center "เขตเสรีทางการเงิน" ของดูไบ ที่ตั้งเป้าจะเป็นผู้นำตลาดหลักทรัพย์ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ดูไบยังเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านการท่องเที่ยวของตะวันออกกลางอยู่แล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไปเยือนดูไบมีมากถึงปีละ 7 ล้านคน เพราะดูไบมีทั้งลานเล่นสกีในร่มที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีเกาะที่สร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์เป็นรูปต้นปาล์ม มีโรงแรม Burj al-Arab ความสูง 56 ชั้น ซึ่งมีรูปร่างเหมือนใบเรือที่กำลังกางกินลมเต็มที่ และมี Dubai World Cup การแข่งม้าที่มีเงินสะพัดสูงถึง 6 ล้านดอลลาร์
ส่วน Sheik Mo ซึ่งทรงเป็นที่รู้จักจากการที่ทรงหลงใหลในม้าแข่งพันธุ์แท้ กำลังทรงซื้อธุรกิจเป็นการใหญ่ เมื่อไม่กี่เดือน ก่อนทรงซื้อพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง Tussauds Group และซื้อหุ้นร้อยละ 2 ใน Daimler Chrysler นอกจากนี้ยังทรงซื้อกิจการในสหรัฐฯ มากมาย ซึ่งรวมถึงโรงแรมหรูชื่อดังอย่าง Essex House และอาคาร Helmsley Building ในนิวยอร์ก รวมทั้งอพาร์ตเมนต์ให้เช่าอีก 69 แห่งในหลายรัฐทางใต้ของสหรัฐฯ และยังไม่ทรงมีท่าทีว่าจะหยุดซื้อ
แต่สิ่งที่ทรงสร้างความประทับใจแก่ต่างชาติมากที่สุด เห็นจะเป็นการที่ทรงพยายามเลี่ยงวิธีการทำธุรกิจแบบใช้เส้นสายหรือ connection ซึ่งไม่โปร่งใส อันเป็นสไตล์การทำธุรกิจที่นิยมในตะวันออกกลาง และทรงยืนยันที่จะทำธุรกิจตามแบบมาตรฐานของตะวันตก ทั้งในด้านการทำบัญชีและความโปร่งใส
กระนั้นก็ตาม การพยายามนำหลักการธุรกิจแบบตะวันตกมาใช้ของดูไบ ก็ยังไม่อาจจะทำให้นักการเมืองสหรัฐฯ คลายความหวาดกลัวด้านความมั่นคงลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการกลัวจริงหรือฉวยโอกาสสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองก็ตาม
Charles Schumer วุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์กจากพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นนักการเมืองอีกคนหนึ่งคัดค้านการที่ DP World จะซื้อ P&O ชี้ว่า ผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุวินาศกรรมที่เรียกกันว่า "9/11" ในสหรัฐฯ ได้ฟอกเงินผ่านดูไบ และดูไบมีส่วนร่วมในการคว่ำบาตรอิสราเอล (แม้ว่า DP World จะยังคงทำธุรกิจกับบริษัทต่างๆ ของอิสราเอลก็ตาม) ส่วน ส.ส. King ต้องการคำรับรองว่าผู้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย al-Qaeda จะไม่มีทางแทรกซึมเข้าไปใน DP World ได้
แม้แต่รัฐบาลสหรัฐฯ เอง ซึ่งสนับสนุน DP World อย่างแข็งขัน ก็ยังจำใจต้องประกาศ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนว่าจะทบทวนข้อตกลงซื้อ Don-casters บริษัทอังกฤษอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินรบและรถถังให้แก่กองทัพสหรัฐฯ ซึ่งกำลังถูกเสนอซื้อโดยบริษัท ดูไบอีกแห่งหนึ่ง
ความจริง สหรัฐฯ คุ้นเคยกับดูไบเป็นอย่างดีทั้ง Clinton, Bob Dole (นักการเมืองสหรัฐฯ และมีภรรยาเป็นวุฒิสมาชิกรัฐ North Carolina) รวมทั้งกลุ่มล็อบบี้ของ Madeleine Albright อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ล้วนเป็นที่ปรึกษาของ DP World ตัว Clinton เองเคยกล่าวว่า U.A.E. เป็นประเทศตัวอย่างของตะวันออกกลาง
ส่วนรัฐบาลของประธานาธิบดี George W. Bush ยิ่งสนิทชิดเชื้อกับ DP World โดย CSX บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการขนส่ง ซึ่งเคยเป็นของ John Snow รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้เคยขายสิทธิ์ในการบริหารท่าเรือนานาชาติให้แก่ DP World ในปี 2004 นอกจากนี้ DP World ยังทำงานร่วมกับ Carlyle Group บริษัทลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งมีผู้บริหารที่ล้วนแต่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ
การถูกสมาชิกรัฐสภาคัดค้านครั้งนี้ ทำให้ดูไบต้องรู้สึกปวดแสบปวดร้อนกับมาตรฐานซ้อนของสหรัฐฯ ซึ่งส่งเสริมโลกาภิวัตน์ก็แต่เฉพาะในขอบเขตที่สหรัฐฯ รู้สึกสบายใจเท่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลดูไบคนหนึ่ง ให้ความเห็นว่า สื่อสหรัฐฯ มักกล่าวอ้างว่า โลกไร้พรมแดน แต่หากเป็นชาติอาหรับกลับมีอุปสรรคมากมาย ขณะที่ Sheika Lubna al-Qasimi รัฐมนตรีเศรษฐกิจและการวางแผนของดูไบกล่าวว่า ไม่ว่าดูไบจะได้เข้าบริหารท่าเรือสหรัฐฯ หรือไม่ ก็จะไม่กระทบกับความร่วมมือทางการทหารและข่าวกรองระหว่างสหรัฐฯ กับดูไบ
อย่างไรก็ตาม ดูไบอาจรู้สึกมีแรงจูงใจน้อยลงที่จะทำการค้ากับบริษัทอเมริกันต่อไปอีก และหากเป็นเช่นนั้น ก็อาจเป็นการช่วยเร่งให้ดูไบ หันไปพยายามดึงดูดเงินทุนจากชาติอาหรับ ให้เข้ามาในศูนย์กลางการเงินของดูไบที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ดูไบยังมีแผนจะลงทุนถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ ในโครงการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการขยายท่าอากาศยาน และการสร้างโรงแรมและคอนโดอีกจำนวนมาก เมื่อไม่นานมานี้ ดูไบก็เพิ่งเผยแผนที่จะจัดตั้งบรรษัทผลิตและให้บริการด้านอากาศยานของโลก ซึ่งจะให้เช่าเครื่องบินและให้บริการบำรุงรักษาซ่อมแซม ซึ่งเท่ากับประกาศตัวเป็นคู่แข่งกับบริษัทอย่าง General Electric ส่วน Emaar บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของดูไบ ก็กำลังลงทุนสร้างเมืองใหม่ในซาอุดีอาระเบีย โดยทุ่มทุนถึง 2 หมื่น 3 พันล้านดอลลาร์ โดยที่เมืองใหม่ดังกล่าวจะมีทั้งท่าอากาศยาน ท่าเรือ โรงเรียน และโรงพยาบาล
การทุ่มลงทุนในต่างประเทศอย่างขนานใหญ่ของดูไบก่อให้เกิดคำครหาว่า ดูไบอาจจะเป็นฟองสบู่ที่สร้างขึ้นจากกองหนี้ เพราะโครงการขนาดใหญ่เหล่านั้นล้วนกู้ยืมเงินมาลงทุนทั้งสิ้น "ความลับประการหนึ่งของดูไบคือ ดูไบไม่ได้มีเงินมาก" Harry Alverson ผู้บริหาร Carlyle Group ซึ่งทำงานร่วมกับรัฐบาลดูไบกล่าว แต่การกู้ยืมเงินมาลงทุนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่บริษัทที่เติบโตสูงและประเทศที่เจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจทำอยู่แล้วเป็นปกติ และนั่นก็ทำให้ Alabbar เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจของดูไบเชื่อมั่นว่า ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของดูไบไม่ใช่ภาพลวงตา เขากล่าวทิ้งท้ายว่า "ภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังต้องการผู้ที่จะมาให้บริการสนองความต้องการ ซึ่งก็ไม่มีใครที่จะทำได้นอกจากดูไบ"
แปลและเรียบเรียงจาก
Time 13 มีนาคม 2549
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|