ผ่าทางตันแปรสัญญา เปลี่ยนรายได้เป็นภาษี


ผู้จัดการรายวัน(26 ธันวาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

หมอเลี้ยบเผยกรอบแปรสัญญาไอซีที ยืนบนหลักการเอกชนจ่ายเท่าเดิม โดยเรียงลำดับความสำคัญเป้าหมายเริ่มจากรัฐและประชาชนทั่วไป ลูกค้า รัฐวิสาหกิจเจ้าของสัมปทานและเอกชนผู้รับสัมปทาน ด้วยการเปลี่ยนส่วนแบ่งรายได้เป็นภาษีสรรพสามิต พร้อมมีระยะเวลาผ่อนปรน (Grace Period) ด้านทศท.กับกสท.ให้มีการชดเชยไม่ว่าจะเป็นยกหนี้ให้รัฐหรือตีมูลค่าการลงทุนในอดีต เพื่อการแข่งขันเสรีและเป็น ธรรม คาดไตรมาสแรกปี 2546 ทุกอย่างเรียบร้อย ด้านดีแทคส่งสัญญาณ สนับสนุนแนวทางไอซีที

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงกรอบการแปรสัญญาตามแนวทางของกระทรวงไอซีทีว่าแนวทางการแปรสัญญาของไอซีที ผู้ประกอบการจะยังคงจ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามเดิมต่อไป โดยเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการจ่ายภาษีสรรพสามิตแทน ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจาก 1.รูปแบบภาษีสรรพสามิต ที่ใช้ โครงสร้างการเรียกเก็บจะเหมือนกับภาษีสุรา หรือ บุหรี่ ซึ่งสามารถนำมาใช้กำหนดอัตราภาษีโทรคมนาคมในแต่ละประเภทบริการได้

2.สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่ารัฐไม่เสียประโยชน์ เพราะส่วนแบ่งรายได้เดิมที่รัฐได้รับก็ยังได้รับเหมือนเดิมเพียงแต่เปลี่ยนรูปเป็นภาษีสรรพสามิตแทน ภายใต้การดูแลและจัดเก็บของกระทรวงการคลัง ส่วนทรัพย์สินโครงข่ายโทรคมนาคมต่างๆ ให้ผู้ประกอบการมีสิทธิใช้ทรัพย์สินดังกล่าวจนหมดอายุสัญญา โดยอาจมอบหมายให้อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงไอซีทีหรือกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนภายหลัง

3.รูปแบบภาษีสรรพสามิต จะทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันด้วยความเป็นธรรม โดยที่รัฐวิสาหกิจอย่างบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น หรือการสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาต้องลงทุนด้านโครงข่ายจำนวนมากเพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการ รัฐบาลก็มีความเห็นว่าจะต้องมีการชดเชยให้ อาจมีหลายรูปแบบ โดยที่ยังไม่ได้มีการสรุปไม่ว่าจะเป็นการโอนหนี้สิน หรือการชดเชยเป็นมูลค่าทรัพย์สิน เพื่อต้องการให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายจะต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตเหมือนกันหมด

เพียงแต่อาจมีเงื่อนไขเพื่อให้เป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายใหม่ หรือผู้ประกอบการรายเก่าแต่ให้บริการประเภทใหม่ โดยกระทรวงการคลังอาจกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน หรือจำนวนผู้ใช้บริการเพื่อยกเว้นการเสียภาษีสรรพสามิต (Grace Period) เพื่อทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถแข่งขันได้ เช่น อาจเป็นระยะเวลากี่ปี หรือกำหนดเป็นจำนวนฐานลูกค้า ถึงจำนวนเท่าไหร่ จึงจะต้องเสียภาษีสรรพสามิต

"เราสามารถกำหนดให้อัตราภาษีสรรพสามิตมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อให้หน่วยงานอย่างทศท.มีเวลาปรับโครงสร้างเพื่อรับการแข่งขัน"

กรณีทศท.ในการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานก็อาจไม่จำเป็นต้องมี Grace Period เพราะอยู่ในธุรกิจนี้มานานมีฐานลูกค้าจำนวนมาก แต่ไทยโมบายที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือ1900 เมกะเฮิรตซ์ ก็อาจต้องมี Grace Period ช่วงแรก

4.การจัดเก็บในรูปภาษีสรรพสามิต มีแนวทางที่จะให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด ด้วยการจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งให้คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือกทช.ในการพัฒนาบริการโทรคมนาคมสาธารณะในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้บริการทั่วถึง ซึ่งเมื่อแข่งขันเสรีแล้ว ประชาชนจะได้รับบริการด้วยอัตราค่าบริการที่ถูกลง

"จากตัวเลขส่วนแบ่งรายได้ที่เอกชนจ่ายให้รัฐในปี 2544 ประมาณเกือบ 2.5 หมื่นล้านบาท หากไม่รวมสัญญาอื่นที่แปรสัญญาไปแล้ว หากเปลี่ยนเป็นจัดเก็บในรูปภาษีสรรพสามิต ก็จะเก็บได้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท"

กรอบการแปรสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการจัดลำดับความสำคัญในการแปรสัญญา โดยคำนึงถึงรัฐและประชาชนทั่วไปมีความสำคัญลำดับแรก รองลงไปคือผู้ใช้บริการระบบโทรคมนาคมไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์พื้นฐานหรือโทรศัพท์มือถือ ลำดับที่3 คือหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของสัญญาร่วมการงานหรือเป็นเจ้าของสิทธิสัมปทานและลำดับที่4 คือผู้ประกอบการเอกชนคู่สัญญา

สำหรับอัตราภาษีของบริการโทรคมนาคมแต่ละประเภทนั้น ให้เป็นหน้าที่ของ กระทรวงการคลังในการกำหนดอัตราต่างๆซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2546 ซึ่งอัตราภาษีของแต่ละประเภทบริการจะแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนหรือผลักดันในเรื่องอะไร

อย่างเช่นอินเทอร์เน็ต มีความเป็นไปได้ที่จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำมากหรืออาจไม่เสียเลยอย่าง 0หรือ 1% เพราะรัฐบาลต้องการให้มีการใช้อินเทอร์เน็ตให้แพร่หลายมากขึ้น หรือโทรศัพท์พื้นฐาน ถ้าคิดว่าเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหา Digital Device ก็อาจให้มีอัตราภาษีที่ต่ำรองลงมา ส่วนโทรศัพท์มือถือถึงแม้จะมีการส่งเสริมแต่ก็น่าจะสูงกว่าโทรศัพท์พื้นฐาน

เขายกตัวอย่างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ใน 2 บริการหลักคือโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์ พื้นฐาน อย่างกรณีโทรศัพท์มือถือเดิมถ้าผู้ประกอบการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ 25% หมายถึงรัฐ คลังหรือทศท.กสท.ต้องได้รับรวมกันไม่ต่ำ กว่า 25% เท่าเดิม แต่หากคลังกำหนดกำหนดภาษีสรรพสามิต 20% หมายถึงผู้ประกอบการรายนั้นจะจ่ายภาษีสรรพสามิตให้คลัง 20% ส่วนต่างที่เหลือ 5% ให้ผู้ประกอบการเจรจา กับหน่วยงานเจ้าของสัมปทานอย่างทศท.หรือกสท.เกี่ยวกับการจ่ายในส่วนนี้ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นรูปการเชื่อมโยงโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จแทน ส่วนผู้ประกอบการที่จ่ายส่วนแบ่งรายได้ 20% แต่เสียค่าแอ็คเซ็สชาร์จ 200 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน ก็เท่ากับ 20% เป็นภาษีสรรพสามิตทั้งหมดที่เหลืออีก 200 บาทก็เจรจากับเจ้าของสัมปทานในรูปอินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จเหมือนกัน

กรณีโทรศัพท์พื้นฐานที่มีตัวเลขส่วนแบ่งรายได้ที่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะทีทีแอนด์ที จ่ายสูงสุด 43% หากกำหนดให้เสียภาษีสรรพ-สามิตในอัตราสูงสุด ย่อมส่งผลกระทบกับทศท. และทีเอ ดังนั้นต้องกำหนดอัตราที่ยอมรับได้ ซึ่งส่วนต่างที่เกิดขึ้นระหว่าอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่กับส่วนแบ่งรายได้เดิม ให้ทศท.ไปเจรจากับทีทีแอนด์ทีในเรื่องทรัพย์สิน อินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ หรือจะพิจารณาว่าจะให้ผลตอบแทน ในรูปแบบอื่นใดแทน

"หลังปีใหม่ ขอให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายพิจารณาในรายละเอียด และหลังจากกระทรวงการคลังกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ชัดเจน ก็จะนำไปสู่การกำหนดอัตราด้านอื่นๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องอินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ หรือเรื่องบริการสาธารณะ (Universal Service Obligation-USO) โดยที่กระทรวงไอซีทีจะมอบให้กรมไปรษณีย์โทรเลขทำหน้าที่เป็นกทช.เงากำหนดกติกาในเรื่องเหล่านี้"

เขากล่าวว่าประเด็นการชดเชยให้ทศท.กับกสท.กรณีที่จะไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากผู้ประกอบการเอกชนนั้น ไม่ใช่เป็นการชดเชยในรูปเปอร์เซ็นต์ แต่อาจเป็นครั้งใหญ่ครั้งเดียว เช่น อาจเป็นการยกหนี้สินที่กระทรวงการคลังค้ำประกันให้ มาเป็นหนี้สินของรัฐ โดยที่ทศท.มีหนี้ สินประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท กสท.มีหนี้สินประมาณ 8 พันล้านบาทหรือรัฐอาจตีมูลค่าการลงทุนที่ผ่านมาและชดเชยให้เป็นก้อนใหญ่แต่อาจไม่ใช่ในรูปเงินสดก้อนเดียว

นอกจากนี้ทศท.และกสท.ก็จะยังได้รับการชดเชยในเรื่องการให้บริการโทรคมนาคมสาธารณะในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุนหรือ USO จากกระทรวงการคลัง ไอซีที และกทช.ด้วย โดยที่กระทรวงการคลังจะดูแลเรื่องกฎหมาย และอัตราภาษีสรรพสามิต ที่จำเป็นต้องนำเข้าครม.ส่วนกรอบแปรสัญญาของกระทรวงไอซีทีสามารถเดินหน้าได้เลย ซึ่งกระทรวงไอซีทีก็จะดูแลเรื่องอินเตอร์คอนเน็ก-ชั่นชาร์จด้วย

ส่วนการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯของทศท.นั้น คาดว่าไม่ทันภายในไตรมาสแรกของปี 2546 เนื่องจากต้องรอความชัดเจนในเรื่อง อัตราภาษีสรรพสามิตที่กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนด ส่วนต่างจากการจ่ายวิธีใหม่กับแบบเดิมจะจ่ายในรูปแบบไหน การคิดเรื่องอินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จต่างๆ ซึ่งหุ้นทศท.เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อไหร่นั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ มากกว่าความพร้อมและแผนธุรกิจที่ชัดเจนซึ่งนักลงทุนจะให้ความสนใจ

"กรอบแปรสัญญาของไอซีที ไม่มีผลกระทบกับค่าบริการ เพราะผู้ประกอบการเอกชน ไม่ได้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเลย และเอกชนก็ต้องแปรสัญญาทุกรายเพราะไม่เช่นนั้นจะต้องจ่าย 2 ต่อคือภาษีสรรพสามิตกับส่วนแบ่งรายได้" ดีแทคขานรับแนวทางหมอเลี้ยบ

นายพิทยาพล จันทนะสาโร ผู้ช่วยประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมู-นิเคชั่นหรือ ดีแทค ให้ความเห็นกรอบแปรสัญญาของกระทรวงไอซีทีโดยแบ่งเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1.ส่วนแบ่งรายได้ จะใช้หลักการแปลงเป็นภาษีสรรพสามิต ซึ่งทั้งรัฐและเอกชนจะจ่ายในอัตราเดียวกัน ดีแทคเห็นว่าเป็นความคืบหน้าที่ดี

2.ค่าเชื่อมโยงโครงข่ายดีแทคสนับสนุน รมว.กระทรวงไอซีที ที่ให้มีการใช้ระบบการคิดค่าเชื่อมโยงโครงข่าย(Interconnection Charge) ผนวกกับการเก็บภาษีสรรพสามิต แทนการเก็บค่าเชื่อมโยงเดือนละ 200 บาทต่อหมายเลข ที่ผู้ประกอบการบางรายต้องจ่ายอยู่ในปัจจุบัน ซึ่ง บางรายก็มีการจัดเก็บในรูปแบบอื่นๆที่ไม่เท่ากัน

นายพิทยาพล ย้ำว่าการใช้ระบบส่วนแบ่งรายได้โดยแปลงเป็นภาษีสรรพสามิต จำเป็นต้องใช้ควบคู่ไปกับการคิดค่าเชื่อมโยงโครงข่ายจึงจะเกิดความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน 3.ผู้ประกอบการรายใหม่จะให้มีช่วงผ่อนปรน (Grace Period) โดยกระทรวงการคลังจะเป็นหน่วยงานที่พิจารณากำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ดีแทคสนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหม่แข็งแรง สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่ทั้งนี้ต้องติดตามรายละเอียดเรื่องการผ่อนปรนในเรื่องระยะเวลา หรือ จำนวนลูกข่ายมาพิจารณาประกอบด้วย

4.การใช้ทรัพย์สิน ดีแทคเห็นด้วยในการให้เอกชนมีสิทธิ์ใช้ทรัพย์สินที่เอกชนได้ลงทุนไปแล้วต่อไปได้จนหมดอายุสัมปทานส่วนการดูแลให้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานกลาง

ท้ายสุดนายพิทยาพล สรุปว่า ถ้าได้มีการดำเนินการตามรายละเอียดข้างต้นเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายคงจะเห็นด้วยกับการแปรสัญญา และย้ำว่าแนวทางของรมว.กระทรวงไอซีทีนับเป็นสัญญาณที่ดีว่าในอนาคตผู้ประกอบการจะได้ดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและยุติธรรม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.