"TEN & CO ยุทธศาสตร์ข้ามพรมแดนของ พีน่ากรุ๊ป"

โดย สมสมัย ศักดาวัฒนานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

พีน่ากรุ๊ปกำลังจูนทิศทางธุรกิจเสื้อผ้าสู่ MASS PRODUCRS เป็นการพลิกยุทธศาสตร์สู่ฐานกำลังการซื้อ "คนรุ่นใหม่" ที่มีนัยต่อวอลุ่มการขาย 2-3 ปีที่ผ่านมาภายในพีน่ากรุ๊ปมีการเตรียมความพร้อมหลายประเด็น มิติแรกเพื่อตั้งรับเกมการแข่งขันซึ่งจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นอีกหลายเท่าตัว แต่มิติหลังกลับกลายเป็นการจัดทัพเพื่อหวนทดสอบกำลังในตลาดต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง TEN&CO คือ สินค้ายุทธศาสตร์ที่สุพจน์ ตันติจิรสกุลหมายมั่นปั้นมือให้เป็นหัวหอก วิสัยทัศน์ของนักแสวงหาโอกาสและจังหวะผู้นี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ยังเป็นเรื่องต้องติดตาม

ปี 2540 นับเป็นปีที่มีความหมายต่อธุรกิจของพีน่ากรุ๊ปหรืออีกนัยหนึ่งคือกลุ่มพีน่าเฮ้าส์ เนื่องจากเป็นปีที่สุพจน์ ตันติจิรสกุล หัวเรือใหญ่เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่าจะเป็นปีที่ทางกลุ่มก้าวมาถึงจุดที่ไม่ได้เล็งแค่ตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่จะเปิดฉากรุกขยายตลาดไปยังต่างประเทศอย่างจริงจังหลังจากเตรียมความพร้อมมานาน

นับเป็นการเปิดแนวรบถึง 2 ด้านพร้อมๆ กัน เพราะนอกเหนือจากตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นตลาดใหม่สำหรับพีน่ากรุ๊ปแล้ว สำหรับตลาดในประเทศนั้นกล่าวกันว่าการแข่งขันในปี 2540 บรรดาผู้อยู่ในแวดวงเชื่อมั่นจะทวีความรุนแรงอีกหลายเท่าตัว

เพราะเป็นปีที่คาดกันว่าภาษีนำเข้าในกลุ่มเสื้อผ้าอาจจะลดต่ำลงเหลือเพียงประมาณ 10% ซึ่งเป็นผลมาจากการลดอัตราภาษีนำเข้าตามข้อตกลงขององค์กรการค้าโลก (WHO) ซึ่งปีที่ผ่านมาเริ่มมีการปรับลดจากเดิม 60% เหลือ 45%

จากจุดนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ตลาดภายในประเทศเพิ่มคู่แข่งขันที่เป็นอินเตอร์แบรนด์ ซึ่งต้นทุนสินค้านำเข้าจะต่ำลงจนสามารถเข้ามาแข่งขันได้มากขึ้นกว่าในอดีต


"ธุรกิจเสื้อผ้าดูเหมือนง่าย แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นธุรกิจที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการจะต้องมีความเป็นมืออาชีพและเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้กำหนดทิศทางจะต้องมีสายตาที่ต้องมองอะไรไว้ล่วงหน้าและปรับทิศทางอยู่ตลอดเวลาบนพื้นฐานของโอกาสและจังหวะ หยุดนิ่งก็เท่ากับตาย"

คือประโยคที่บอกถึงวิสัยทัศน์ของสุพจน์ ตันติจิรสกุล บุรุษวัย 47 ปีซึ่งยึดถือคำกล่าวข้างต้นเป็นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจตลอดระยะเวลากล่า 10 ปีที่ผ่านมาและแนวโน้มการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ใช่ว่าสุพจน์จะอ่านเกมไม่ขาด

การเปิดตัว "TEN&OC" (เท็น แอนด์ โค) เมื่อปี 2537 ด้วยการนำกลยุทธ์เรื่องราคาที่ต่ำกว่าเข้าเป็นตัวเดินเกมเจาะกลุ่มวัยรุ่น เน้นการสร้างวอลุ่มการขายโดยอาศัยคอนเซ็ปต์การสร้างเครือข่ายสาขาแบบคอนวีเนียนสโตร์ ซึ่งปัจจุบันเท็น แอนด์โค มีสาขากระจายอยู่ถึง 40 แห่ง

หรือแม้แต่การตัดสินใจเข้าเทคโอเวอร์บริษัท กรุ๊ปโป้ 1991 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ด้วยเม็ดเงินเกือบ 50 ล้านบาท และทำการเพิ่มทุนจดทะเบียน จนล่าสุดพีน่ากรุ๊ปกลายเป็นผู้ถือหุ้นถึง 75% เป็นผลให้ในปีนี้ไอเท็มส์ซึ่งเป็นสินค้าคู่บุญของกรุ๊ปโป้ต้องเข้ามาอยู่ภายใต้ชายคาพีน่ากรุ๊ปโดยปริยาย ก็ถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งของสุพจน์ในการเดินเกมยึดตลาดระดับแมสโดยนำไอเท็มส์มาเป็นหมากสำคัญในการขยายไลน์ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องนอกจากเสื้อผ้า

"หากไปเท็มส์ยังเดินโดยใช้ระบบการตลาดที่ค่อนข้างมีขีดจำกัดคงจะแข่งขันกับคู่แข่งขันในตลาดได้ยาก ซึ่งผมในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมและผู้ถือหุ้นท่านอื่นในกรุ๊ปโป้ฯ ต่างมองเห็นปัญหาจุดนี้ได้ชัดเจน แต่ถ้าหากพีน่าฯ ได้มีโอกาสเข้าไปกำหนดทิศทางและซัพพอร์ตอะไรหลาย ๆ อย่างที่เรามีน่าจะสร้างให้ไอเท็มส์มีความโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดได้" สุพจน์กล่าวถึงเบื้องหลังของการเข้าไปซื้อกิจการกรุ๊ปโป้ฯ

หลังการเข้าครอบงำกิจการกรุ๊ปโป้ฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ต้นปีนี้สุพจน์ในฐานะประธานกรรมการบริหารบริษัท กรุ๊ปโป้ 1991 จำกัด ได้เข้ากำหนดบทบาทของไอเท็มส์ใหม่จากเดิมไอเท็มส์เป็นเสื้อผ้าที่เน้นรูปแบบความเป็นดีไซเนอร์แบรนด์สู่การปรับเปลี่ยนคอนเซ็ปต์เป็น MASS PRODUCTS ด้วยแนวเสื้อผ้าแบบเบสิกที่มีราคาจำหน่ายต่ำกว่าในอดีตถึงกว่าครึ่ง

อย่างไรก็ตามก่อนหน้าการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นในกรุ๊ปโป้ฯ ของพีน่ากรุ๊ป สัมฤทธิ์ ชูกลิ่นกรรมการผู้จัดการกรุ๊ปโป้ฯ ได้เริ่มมีการปรับแนวคอนเซ็ปต์ไอเท็มส์สู่การเป็น MASS PRODUCTS อุ่นเครื่องไปบ้างแล้ว

ล่าสุดพจน์มีแผนที่จะปรับปรุงรูปแบบร้านโดยนำคอนเซ็ปต์สโตร์ ซึ่งเป็นไอเดียจากต่างประเทศเข้ามาใช้แทนรูปแบบร้านเดิม ซึ่งจะเป็นการสร้างมิติใหม่ให้กับวงการเสื้อผ้าเมืองไทย โดยนับจากนี้ไปสินค้าของไอเท็มส์จะมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะประกอบด้วยเสื้อผ้าของใช้ส่วนตัว และเครื่องหนังเป็นต้น

ภายใต้ความหลากหลายของสินค้าภายใต้ชื่อไอเท็มส์กลุ่มเป้าหมายจะขยายฐานออกไปคือจากเดิมที่เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็จะขยายสู่กลุ่มครอบครัวที่พ่อ แม่และลูกสามารถเข้าไปจับจ่ายภายในร้านได้ทั้งหมด

เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า จะเป็นสาขาแรกของร้านไอเท็มส์ภายใต้คอนเซ็ปต์สโตร์ซึ่งกล่าวกันว่าขณะนี้ทางพีน่ากรุ๊ปกำลังมอบหมายให้บริษัทจากอเมริกาซึ่งเป็นผู้ออกแบบร้านเท็น แอนด์ โค เป็นผู้กำหนดรูปแบบร้านอยู่ซึ่งภายในร้านอาจจะประกอบด้วยมุมสวนสนุกเพื่อสร้างบรรยากาศสนุกสนานในการเข้าไปจับจ่าย

"ตรงนี้จะเป็นภาพใหม่ที่เราใส่ให้กับไอเท็มส์ คือเพิ่มความหลากหลาย ขนาดพื้นที่ร้านต้องใหญ่ ขณะที่เท็น แอนด์ โคเป็นสินค้าที่เบสิกมาก ๆ เน้นกลุ่มการขายขนาดพื้นที่ร้านจึงไม่ต้องใหญ่แต่ความถี่ของจำนวนสาขาจะต้องครอบคลุมเช่นดียวกับคอนเซ็ปต์คอนวีเนียนสโตร์" สุพจน์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการสร้างชื่อไอเท็มส์ให้เป็นที่ยอมรับขณะนี้ทางสุพจน์ได้เตรียมมอบหมายให้ บริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ ซึ่งเป็นเอเยนซีดูแลงานโฆษณาให้กับเท็น แอนด์ โค เข้าดูแลงานในส่วนนี้ของไอเท็มส์อีกแบรนด์

เบื้องหลังของการพลิกกลยุทธ์มุ่งขยายฐานธุรกิจของกลุ่มสู่ตลาดระดับแมส เป็นเพราะสุพจน์เชื่อมั่นว่าจากการศึกษาของเขาพบว่าตลาดระดับแมสเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อมหาศาล และยังมีช่องว่างให้แทรกสร้างยอดขายได้ไม่ยาก ขณะเดียวกันตลาดนี้ยังเป็นจุดเปราะบางสำหรับคู่แข่งที่เป็นอินเตอร์แบรนด์ยังไม่สามารถเข้าถึง เนื่องจากปัจจัยด้านราคาเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ

"การแข่งขันต่อไปคงจะต้องพูดถึงเรื่องคุณภาพและราคาที่สมเหตุสมผล เรามองแนวโน้มตรงนี้ต้องเกิดแน่ ในเมื่อเรามีความพร้อมและมีโอกาส ในขณะที่คู่แข่งยังทำอะไรไม่ได้ เราจึงเร่งเดินหน้าเพราะเราเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความพร้อมมากที่สุด"

ปีที่ผ่านมาพีน่ากรุ๊ปมียอดขายประมาณเกือบ 800 ล้านบาท โดยปัจจุบันสินค้าในเครือของพีน่ากรุ๊ปประกอบด้วย เสื้อผ้าแบรนด์ที่สร้างรายได้หลักคือพีน่า และเท็น แอนด์ โค ตลอดจนแกลลอป เบอร์นินี่ ยูโฟ และล่าสุดคือไอเท็มส์

ปีนี้พีน่ากรุ๊ปตั้งเป้าหมายยอดขายของกลุ่มไว้ที่กว่า 1,000 ล้านบาทโดยมุ่งเน้นกลยุทธ์หลัก ๆ คือสร้างภาพสินค้าในเครือให้มีความชัดเจนในแง่กลุ่มเป้าหมายพร้อมกำหนดแผนการขายเครือข่ายสาขาคือ

ในส่วนของร้านพีน่าเฮ้าส์ จะเน้นการปรับปรุงเพิ่มขนาดชอปที่มีอยู่ในปัจจุบันประมาณ 26 แห่งให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนเคาน์เตอร์ที่มีอยู่ในห้างประมาณ 20 แห่ง ก็จะมีการพิจารณาทบทวนถึงความเหมาะสมกับจุดยืนของสินค้าที่เน้นกลุ่มคนทำงานเป็นหลัก

ด้านเท็น แอนด์ โคในปีนี้มีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 60 แห่ง โดยส่วนหนึ่งจะมุ่งเน้นขยายผ่านระบบแฟรนไชส์ในต่างจังหวัด สำหรับน้องใหม่ในสังกัดคือไอเท็มส์ จากเดิมที่มีอยู่ 8 แห่งในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 15 แห่ง

"ปีนี้ในเรื่องสาขาที่จะขยายเพิ่มเติมนั้น ส่วนหนึ่งเราอาจจะใช้วิธีสับเปลี่ยนร้านที่มีอยู่เพื่อความเหมาะสม" สุพจน์กล่าว

พร้อมยกตัวอย่าง คือบริเวณสยามสแควร์ ร้านเท็น แอนด์ โค สาขาตรงข้ามมาบุญครอง จะย้ายไปอยู่ที่ตึกมารูอิ 0101 ซึ่งพีน่ากรุ๊ปเซ้งสัญญาต่อมาจากบุญศักดิ์ วัฒนหฤทัยหรือเฮียหมาเจ้าของเสื้อผ้ายี่ห้อโดมอน และให้ร้านไอเท็มส์ภายใต้รูปแบบคอนเซ็ปต์ไปเปิดดำเนินการแทนที่ ส่วนพีน่าเฮาส์สาขาแรกที่สยามสแควร์ก็จะย้ายไปอยู่อีกบริเวณหนึ่งซึ่งเป็นตึกแถวขนาด 5 ห้องซึ่งจะทำให้พื้นที่ร้านมีขนาดกว้างขึ้น

"ต้องยอมรับว่าคุณสุพจน์เป็นคนเก่งฝีมือระดับปรมาจารย์ โดยเฉพาะในส่วนของช่องทางการจำหน่ายซึ่งเขาสามารถขยายได้รวดเร็ว เป็นจุดแข็งที่รายใหม่ซึ่งเป็นคู่แข่งกับเขาสู้ไม่ได้" แหล่งข่าวระดับสูงในวงการเสื้อผ้าให้ความเห็น

กรณีของบริษัท รีโน่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าแบรนด์เอทูแซดที่ประกาศตัวชิงชัยในสนามตลาดระดับแมสเป็นรายแรกในรูปแบบชอป แต่ต้องพบกับอุปสรรคในเรื่องพื้นที่ซึ่งศูนย์การค้าฟิวเจอร์ปาร์ค บางแค เลื่อนกำหนดการเปิดศูนย์ฯ ทำให้เท็น แอนด์ โคของพีน่ากรุ๊ปกลายเป็นรายแรกที่รุกสร้างตลาดนี้

หรือแม้แต่จิออร์ดาโน ถึงแม้จะเป็นสินค้ายอดฮิตของวัยรุ่นไทย ซึ่งเข้ามาเปิดตลาดโดยการร่วมทุนกับกลุ่มศรีวิกรม์ ตั้งบริษัท จิออร์ดาโน ประเทศไทยเพื่อนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จิออร์ดาโน ก็ยังไม่สามารถสร้างความสั่นสะเทือนให้กับพีน่ากรุ๊ปได้ กลับต้องเจอคู่แข่งของหนีภาษีชื่อเดียวกันเบียดยอดขายไปอีก

เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่ผ่านมาการรุกขยายเครือข่ายสาขา พีน่ากรุ๊ปจะให้น้ำหนักในการเปิดชอป ซึ่งแต่ละแห่งต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูง สุพจน์มีวิธีคิดและมีแหล่งเงินมาจากไหน

"ส่วนหนึ่งเราต้องยอมรับว่าเป็นผลกำไรที่ได้จากพีน่า แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมมีความเชื่อในช่องทางนี้ตลอดระยะเวลา 10 ปี ผมกลายเป็นนักสะสมทำเลทั้งรูปแบบเซ้ง เช่าและซื้อ ซึ่งในยุคนั้นราคาต่ำกว่าในยุคนี้หลายเท่า มันกลายเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้เราหลุดจากวงล้อมปัญหาเรื่องการหาทำเลไปได้ ในขณะที่ยุคนั้นคนในวงการไม่ได้มองในจุดนี้"

ปัจจุบันสุพจน์ยังคงมองหาทำเลที่เขาสนใจอย่างต่อเนื่อง กรณีการตัดสินใจใช้เงิน 30 ล้านเซ้งตึกมารูอิ 0101 ต่อจากเฮียหมาทั้งที่เหลือเวลาอีกเพียง 4 ปี ซึ่งระยะหลังประสบปัญหาขาดทุนสะสมถึง 100 ล้านบาท และจำเป็นต้องเคลียร์หนี้สินจึงเซ้งตึกมารูอิ 0101 นั้น

ในความคิดของสุพจน์ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มเพราะภายหลังสัญญาสิ้นสุดทางสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ จะอนุญาตให้ต่อสัญญาไปจนถึงปี 2548

"ผมถือเป็นการซื้ออนาคต เพราะผมเชื่อมั่นว่าสยามสแควร์น่าจะเป็นย่านที่ดีมาก จะมีโครงการใหม่ ๆ เกิดขึ้น และในอนาคตโครงการรถไฟฟ้าก็จะวิ่งผ่านย่านนี้ซึ่งจะต้องมีสถานีเกิดขึ้นแน่นอนประกอบกับขนาดตึกก็ตรงกับคอนเซ็ปต์ของเท็น แอนด์ โค เป็นการซื้อเวลาและมองยาวมากกว่า"

ขณะที่ตลาดต่างประเทศ พีน่ากรุ๊ปกำลังเร่งรุกที่จะยึดหัวหาดตลาดระดับแมส การขยายแนวรบสู่ตลาดต่างประเทศนั้นสุพจน์มีความเชื่อมั่นมากกว่าในอดีต

"มันต่างจากครั้งแรกที่เราเคยนำพีน่าขยายไปต่างประเทศเมื่อ 5 ปีที่แล้วครั้งนั้นเราถือแป็นการเรียนรู้ประสบการณ์เป็นการลองผิดลองถูก เป็นบทเรียนที่ต้องเอากลับมาพัฒนาใหม่ ผมเชื่อมั่นว่าภาพใหม่ของพีน่ากรุ๊ปในวันนี้น่าจะสามารถทำอะไรในระดับสากลได้มากขึ้น"

เท็น แอนด์ โค คือสินค้าที่ถูกกำหนดให้เป็นหัวหอกในการขยายแนวรบไปยังตลาดต่างประเทศเนื่องจากเท็น แอนด์ โค เป็นคอนเซ็ปต์ที่มีต้นแบบมาจากฮ่องกง ซึ่งจะสังเกตได้ว่าไม่ว่าจะเป็นจิออร์ดาโนหรือแม้แต่จี 2000 ล้วนเป็นสินค้าที่มีจุดกำเนิดมาจากฮ่องกงแต่กลับสามารถทำตลาดได้ทั่วโลก ตลาดเป้าหมายระยะแรกคือประเทศที่มีลักษณะใกล้เคียงกับประเทศไทยซึ่งผู้บริโภคจะยอมรับสินค้าในแนวนี้

สุพจน์ใช้ระยะเวลากว่า 3 ปี ในการพัฒนาสร้างความพร้อม โดยที่ผ่านมาเขามีการลงทุนทั้งในเรื่องการพัฒนาสินค้า บุคลากร ลงทุนด้านโนว์ฮาว จ้างบริษัทที่ปรึกษามาพัฒนาระบบบริหารภายในไม่ว่าจะเป็นระบบบัญชี การบริหารสต็อกการบริหารข้อมูลข่าวสารจากหน้าร้านถึงส่วนกลาง เป้าหมายก็เพื่อรองรับแผนงานการขยายธุรกิจที่เขาคิดไว้แล้วนั่นเอง

ปัจจุบันบริษัท พีน่าเฮาส์ จำกัดซึ่งเปรียบเสมือนบริษัทแม่ ได้แบ่งโครงสร้างบริหารภายในออกเป็น 3 ฝ่ายคือ 1. ฝ่าย 1 ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบสินค้าภายใต้ชื่อ พีน่าทั้งเซ็กชั่น โดยมีสุรัตน์ ตันติจิรสกุล น้องชายซึ่งเข้ามาช่วยงานสุพจน์ตั้งแต่พีน่าเริ่มเปิดตัวเข้ามากำกับอย่างใกล้ชิด 2. ฝ่าย 2 จะทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในส่วนของผู้ค้าด้านดีพารต์เมนต์สโตร์ มีพิเชษฐ พงพิทักษ์เมธาเป็นคนดูแลในฐานะรองกรรมการผู้อำนวยการ

และ 3. ฝ่าย 3 ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบสินค้าภายใต้ชื่อเท็น แอนด์ โคและยูโฟโดยมีปุณณา เบญจพรรักษาในฐานะผู้อำนวยการสายพัฒนาธุรกิจทำหน้าที่นั่งกำกับฝ่ายนี้

ด้านบริษัท กรุ๊ปโป้ 1991 จำกัดนั้นแม้สุพจน์จะนั่งดูแลในฐานะประธานบริหารแต่เขาจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้กำหนดทิศทางและภาพโดยรวมเท่านั้น ในเชิงปฏิบัติแล้วยังคงมอบหมายให้ สัมฤทธิ์ ชูกลิ่น กรรมการผู้จัดการเป็นผู้รับผิดชอบเช่นเดิม

"พีน่ากรุ๊ปเรามีความพร้อม เมื่อมีโอกาสเราคงจะขยายต่อไป แต่สิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นต้องไม่ไปซ้ำกับสิ่งที่มีอยู่เดิมและขอบเขตของผมก็คือพยายามจะทำสินค้าอะไรก็ได้ที่ตอบสนองคนรุ่นใหม่ตลอดเวลา"

จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้นของนักธุรกิจวัย 47 ปีผู้นี้ที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง ทำให้ในวันนี้พีน่ากรุ๊ปอาจจะกำลังเตรียมที่จะมีการจัดโครงสร้างบริหารภายในครั้งใหญ่ เพื่อปูทางเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้งในอีก 2 ปีข้างหน้าเพื่อใช้เป็นแหล่งในการระดมเงินทุน

หลังจากชะลอแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปเมื่อ 5 ปีก่อน โดยครั้งนี้สุพจน์ หวังที่จะนำธุรกิจพีน่ากรุ๊ปเข้าอยู่ในหมวดหมู่พาณิชย์ โดยมีเครือข่ายชอปต่าง ๆ เป็นสินทรัพย์ที่แสดงว่าวันนี้ธุรกิจของพีน่ากรุ๊ป กำลังกลายเป็นผู้ค้าปลีกที่มีรีเทลชอปเป็นของตัวเอง

แนวคิดและทิศทางที่สุพจน์ ตันติจิรสกุล กำหนดเป็นแนวทางเดินให้กับพีน่ากรุ๊ป คงต้องติดตามว่าเขาจะสามารถใช้ปัจจัยความพร้อมเป็นสปริงบอร์ดทะยานพีน่ากรุ๊ปสู่ความเป็นสากลได้สำเร็จ หรือไม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.