ธุรกิจบีโลว์ เดอะไลน์ จ้องลบเส้นแบ่งพรมแดน พีอาร์ - อีเว้นท์ แห่กินแชร์ธุรกิจโฆษณา


ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อโจทย์ทางการตลาดซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน คู่แข่งทางธุรกิจเพิ่มขึ้นมากหน้าหลายตา เป้าหมายเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง กลยุทธเหนือเส้น (Above the Line) ที่ถูกนำมาตอบโจทย์ เริ่มหมดความขลัง

เม็ดเงินโฆษณาเกือบ 9 หมื่นล้าน ไม่สามารถจู่โจมพุ่งตรงสู่กลุ่มเป้าหมายได้ครบถ้วน เป็นเหตุให้เจ้าของสินค้าหันมาหยิบใช้กลยุทธใต้เส้น (Below the Line)และไ ด้ผลเข้าเป้า สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจประชาสัมพันธ์ และอีเว้นท์ ถึงกับประกาศลบเส้นแบ่งพรมแดนไม่ยอมอยู่เบี้ยล่าง

ด้านอินเด็กซ์ วีอาร์วัน เรดิโอ เห็นโอกาสต่อยอดธุรกิจโดดร่วมธุรกิจพีอาร์ ชูจุดขาย Creativity

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจโฆษณา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า หลังจากธุรกิจที่มีมูลค่า 88,931 ล้านบาท เมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นมูลค่าที่มีการเติบโตที่ตกต่ำอย่างน่าใจหายของธุรกิจนี้ เพียง 5.7 % จากปี 2547 จะมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นอยู่ในระดับ 8-10% ในปี 2549 แต่ก็ยังต่ำในระดับเท่าตัวจากอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงระหว่างปี 2545-2547 ที่เติบโตถึง 16%

ประเด็นสำคัญที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ให้เห็นถึงสภาพการแข่งขัน คือ สถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจโฆษณาในปีนี้จะเป็นไปในลักษณะที่ทวีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๆ อย่างแน่นอน แต่กลับมองว่าสัดส่วนของงบสนับสนุนการตลาดเพื่อกลยุทธโฆษณาผ่านสื่อ หรือ Above the Line ของหลายกิจการกลับอาจจะลดน้อยลง ส่วนงบการตลาดสำหรับกลยุทธ์การตลาดที่ไม่ผ่านสื่อ หรือ Below the Line มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กลยุทธ์ Below the Line ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน จากความถี่ของกิจกรรมต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น

กลยุทธ์ Below the Line ส่วนใหญ่มีฐานหลักอยู่ที่ธุรกิจการประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะเป็นผู้วางคอนเซปต์ ผสมผสานกลยุทธ์ Below the Line ต่าง ๆ สร้างเป็นกิจกรรมที่จะตอบโจทย์ทางการตลาดให้กับเจ้าของสินค้า ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตรงจุดกว่าการหว่านเม็ดเงินโฆษณาอย่างที่เคยทำกันมา เมื่อพื้นที่ใต้เส้นพรมแดนกิจกรรมสนับสนุนการตลาดเติบโตอย่างคึกคักเช่นนี้ จึงเกิดแนวคิดการลบเส้นพรมแดนของผู้ประกอบการในธุรกิจประชาสัมพันธ์ ที่มองความสำเร็จของโจทย์ทางการตลาดในปัจจุบัน ไม่สามารถแบ่งแยกใช้กิจกรรมเหนือหรือใต้เส้นอีกต่อไป หากแต่ต้องมีการนำกลยุทธทั้งหมดมาบูรณาการเพื่อให้ได้แผนงานสนับสนุนทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

Through the Line เทรนใหม่ของการตลาด

เสือปืนไว ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ นักสื่อสารการตลาดชื่อดัง รับตำแหน่งใหม่ Chief Executive Officer ให้กับบริษัทที่ตั้งขึ้นเอง โดยใช้ชื่อตามแนวคิดลบเส้นเขตแดนกลยุทธการตลาดว่า ธรู เดอะไลน์ คอมมิวนิเคชั่นส์ พร้อมวางคอนเซปต์ของบริษัทนี้ว่า เป็น IMC Consulting รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย

ธีรพันธ์ มองว่าที่มาของเส้นเขตแดนของกิจกรรมสนับสนุนการตลาด มิได้เกิดมาจากกลไกทางการตลาด หากแต่เป็นเรื่องของกลไกทางการเงิน เส้นแบ่งเหนือ-ใต้ใช้มูลค่าของงบประมาณที่ใช้ทุ่มลงไปเป็นตัวบอก ณ งบประมาณระดับหนึ่งที่เป็น Break Line การใช้เงินที่สูงกว่านั้น ถือเป็น กิจกรรม Above the Line ส่วนกิจกรรมที่ใช้เงินต่ำกว่าเส้น กลายเป็น Below the Line ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่า งบประมาณในการดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการตลาดที่ถูกจัดสรรสูงสุด ก็คือ งบในการซื้อสื่อโฆษณา นั่นเอง

เมื่อเครื่องมือที่อยู่เหนือเส้น มักจะเป็นการโฆษณาผ่าน Mass Media และเครื่องมือใต้เส้น กลายเป็นกิจกรรมที่มุ่งเฉพาะกลุ่ม เฉพาะจุด ไม่มีการจ่ายเงินเพื่อสื่อวงกว้างเหล่านั้น ต่างฝ่ายต่างมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน จึงเกิดกระแสของการนำกลยุทธ์ทั้งสองมาบูรณาการ ทะลุทะลวงผ่านเส้นแบ่ง กลายเป็นการสื่อสารการตลาดองค์รวม (IMC : Integrated Marketing Communications)

ธีรพันธ์ บัญญัติแนวคิด Through the Line เข้าสู่พจนานุกรมทางการตลาด ด้วยเชื่อว่านี่คือกระแสใหม่ของการตลาดในปัจจุบัน ที่จะไม่มีการพูดถึง above หรือ below อีกต่อไป เหลือแต่เพียง IMC

"Through the Line คือไม่มีการมองเส้นแบ่งกันแล้ว above และ below จะถูกรวมเข้าด้วยกัน เพราะเรามีความเชื่อว่า ภายใต้ above กับ below ถ้าถูกทะลุทะลวง จะดึงดูดความสนใจได้มากกว่า การที่จะไปใช้เครื่องมือการตลาดย่อย ๆ เยอะ ๆ เพราะเครื่องมือแต่ละเครื่องมือ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เมื่อมีเครื่องมือเยอะ ๆ ก็ยิ่งทำให้เกิดความซับซ้อนในการที่จะบูรณาการ หรืออาจเกิดความยุ่งยาก ขาดคนที่มีความชำนาญการเฉพาะ ดังนั้น การมองทะลุในครั้งเดียว ภายใต้คอนเซปต์เดียวกัน น่าจะดีกว่าการที่จะไปละล้าละลังกับเครื่องมือย่อย ๆ เรียกว่า มองก้อนเดียวให้ทะลุผ่านไปทั้งหมด"

แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับกันว่า โอกาสที่ทำให้ ธรู เดอะไลน์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ได้แจ้งเกิดขึ้น เนื่องจากเทรนของธุรกิจสื่อสารการตลาดซึ่งครั้งหนึ่งเคยรวมทุกบริการอยู่ภายใต้บริษัทโฆษณาใหญ่อันแข็งแกร่ง กลายเป็นการแตกบริการออกเป็นเฮ้าส์ เกิดเป็น Creative House , Branding Agency, Media Agency, Production House , Research House , Sale Promotion Agency ให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้งานเฉพาะด้านได้ตามความต้องการ หากแต่ถามว่า เมื่อเลือกใช้แต่ละเครื่องมือมาทำงาน ใครจะเป็นผู้คุมคอนเซปต์ของ IMC เหล่านี้ ธีรพันธ์ จึงเห็นโอกาสวางตำแหน่ง ธรู เดอะไลน์ คอมมิวนิเคชั่นส์ เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้าน IMC โดยชูจุดขายจากตัวเขาเองที่ได้ร่ำเรียนมาในศาสตร์ด้าน IMC มาตลอดชีวิต จนถึงระดับปริญญาเอก

บทบาท IMC Consulting ของ ธรู เดอะ ไลน์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ประกอบด้วย 1) Consult คือ การเป็นผู้วางคอนเซปต์ให้กับแผนงานส่งเสริมการตลาดของลูกค้า 2) Co-Ordinate เป็นผู้ประสานงานกับเฮ้าส์ต่าง ๆ ที่ลูกค้าเลือกใช้ ให้ดำเนินการอยู่ภายใต้คอนเซปต์ที่ได้วางไว้ 3) Conduct คือ การนำให้เครื่องมือทางการตลาดที่ลูกค้าเลือกใช้ดำเนินการไปตามกลยุทธ์ที่ถูกต้อง และ 4) Control ควบคุมไม่ให้กลยุทธของแผนงานไม่หลุดหรือออกนอกลู่นอกทาง

"ยกตัวอย่างเมื่อก่อน สมมติ คุณต้องไปทำการตลาดกับ DYR เพราะต้องการได้งานโฆษณาจากดลชัย บุณยะรัตเวช แต่ก็ต้องการใช้สไตล์การทำ IMC จากธีรพันธ์ ที่ไม่ได้อยู่ DYR ก็เป็นไปไม่ได้ อยากให้ผู้เชี่ยวชาญด้านมีเดียคนหนึ่งมาดูมีเดียให้ แต่ก็ต้องทนใช้มีเดียของ DYR ถึงวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว แบรนด์ดลชัย ออกมาเปิดเฮ้าส์เอง อยากให้ธีรพันธ์ทำ IMC ให้ แล้วอยากได้มีเดียจากอีกเจ้านึง 3 คนนี้มาทำงานร่วมกันได้ โดยมีผมเป็นคนคุมคอนเซปต์ ทำให้ลูกค้าได้ทำงานกับคนที่ครีม ๆ ของแต่ละด้าน มีความมั่นใจกับคนที่เขาเชื่อมั่นในฝีมือ"

ธีรพันธ์ เชื่อว่า เครื่องมือ IMC แต่ละรูปแบบ อาทิ การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ หรือการจัดอีเวนท์ ตอบโจทย์การตลาดที่แตกต่างกันไป โดยไม่มีเครื่องมือชนิดใด ชนิดหนึ่งสามารถตอบโจทย์การตลาดได้ทั้งหมด ดังนั้น IMC ก็จะมีเครื่องมือที่เป็นวาไรตี้ จะเข้าไปสนับสนุนในจังหวะที่เหมาะสม ปัญหาคือ วันนี้ใครจะเป็นผู้บอกได้ว่า โจทย์การตลาดเช่นนี้จะใช้เครื่องมือประเภทไหนเข้าไปแก้ปัญหา เพราะเท่าที่เห็นกิจกรรมสนับสนุนการตลาดที่ดำเนินการกันอยู่ บางครั้งก็เหมือนสูญเปล่า ตนจึงเชื่อว่าแนวคิด Through the Line จะสามารถตอบโจทย์การตลาดที่ซับซ้อนในปัจจุบันได้

สยามพีอาร์ ชี้หมดยุค above - below นานแล้ว

เปรมศิริ ดิลกปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด กล่าวแสดงความเห็นสอดคล้องกับแนวคิด Through the Line โดยปัจจุบันลูกค้าจะไม่ค่อยมองว่ากลยุทธที่นำมาใช้เป็น above หรือ below หากแต่จะมองว่าเอเยนซี่จะทำอะไร สื่อสารถึงใคร เป็นการสื่อสารทางการตลาดอย่างไร มากกว่า

"ถ้าพูดถึงการสื่อสารการตลาด สมัยก่อนจะเป็นว่า ตั้งงบสื่อสารการตลาด 3%, 5% ใช้เป็นงบโฆษณาเท่าไหร่ ที่เหลือจะใช้เป็นงบ below the line แต่เวลานี้ไม่พูดกันเช่นนั้นแล้ว งบสื่อสารการตลาด 3% ,5% เหมือนเช่นเดิม แต่จะถามรวมว่างบสื่อสารการตลาดก้อนนี้ จะใช้วิธีการอะไร ไม่สน below the line หรือ above the line ไม่มีความหมายแล้ว"

ปัจจุบันการขายสินค้าให้ได้มีปัจจัยมากมาย การตัดสินใจซื้อของลูกค้าแตกต่างกันไป สมัยก่อนอาจใช้การโฆษณาคุณสมบัติของสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่สมัยนี้ปัจจัยชี้ขาดการตัดสินใจซื้อของลูกค้าในแต่ละสินค้าไม่เหมือนกัน ลูกค้าบางคนซื้อด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ก็ต้องนำเสนอลักษณะหนึ่ง ลูกค้าบางกลุ่มซื้อเพราะภาพพจน์ความเป็นผู้นำ ก็ต้องวางกลยุทธ์อีกแบบหนึ่ง หรือบางสินค้าการตัดสินใจซื้ออยู่ที่ภาพพจน์เพียงอย่างเดียว ลักษณะการนำเสนอจึงแตกต่างกัน ทำให้บริษัทประชาสัมพันธ์ได้รับโอกาสจากลูกค้ามากขึ้น

เปรมศิริ กล่าวว่า ผู้วางกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดต้องมีความเข้าใจกระแสผู้บริโภค เข้าใจกระแสสังคม ไม่ควรยึดติดอยู่กับกับดักของตนเอง ที่บางครั้งเคยทำลักษณะนี้มาก่อน ใช้แต่การโฆษณา ทุกการสื่อสารเหมือนกันหมด แต่ตัวผู้บริโภคกลับไม่ได้สนใจ เพราะเขาได้เคลื่อนที่ไปแล้ว ดังนั้น การสื่อสารการตลาดจึงมีความสำคัญที่สุดคือการเข้าให้ถึงตัวผู้บริโภค ต้องเข้าใจว่า ใครคือลูกค้า และลูกค้าเคลื่อนไปไหน กลยุทธการสื่อสารประเภทไหนจึงจะเหมาะสม

"ผู้ประกอบการ นักการตลาดมีความรู้มากขึ้น รู้จักใช้เครื่องมือสื่อสารการตลาดมากขึ้น และรู้ว่า การทำประชาสัมพันธ์ในแบบเดิม ๆ ที่เน้นการส่งภาพข่าว ส่งข่าว แล้ววัดคอลัมน์นิ้ว เป็นการนำเสนอที่แข็งทื่อเกินไป เพราะมุมมองของลูกค้าหรือผู้บริโภคที่มองเข้ามาถึงตัวสินค้านั้น ๆ ไม่ได้มีการแยกว่า เห็นจากเครื่องมืออะไร การโฆษณา ข่าว หรือการจัดกิจกรรม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของคนทำการสื่อสารการตลาด จะต้องทำอย่างไรให้ลูกค้าได้สัมผัสถึงตัวสินค้าหรือบริการให้ได้มากที่สุด ทุกวันนี้กลยุทธของประชาสัมพันธ์ที่เคยว่าอยู่ใต้เส้น เพราะไม่มีการซื้อสื่อ ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะประชาสัมพันธ์ก็มีการซื่อสื่อเช่นกัน เม็ดเงินเท่ากัน แต่การนำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อที่ซื้อของประชาสัมพันธ์จะมีเนื้อหา เรื่องราวต่างไปจากการโฆษณา "

ยักษ์อีเว้นท์ อินเด็กซ์ โดดแจมธุรกิจพีอาร์

ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการด้านการประชาสัมพันธ์เท่านั้น ที่เห็นโอกาสในการดึงงบประมาณด้านการสื่อสารการตลาดจากกลยุทธเหนือเส้น เพราะหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าของสื่อ ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ อาทิ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย โพลีพลัส ต่างก็เปิดบริการธุรกิจการประชาสัมพันธ์ที่ใช้จุดแข็งของตนเองในการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ เว็บไซต์ หรือเป็นเจ้าของรายการโทรทัศน์ เป็นคนสนิทเจ้าของหนังสือพิมพ์หัวสียักษ์ใหญ่ มาเป็นจุดขาย ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากเจ้าของสินค้าใหญ่ ๆ หลายรายที่เทงบประมาณด้านการสื่อสารการตลาดก้อนใหญ่มาให้กับผู้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เหล่านี้ โดยเอเยนซี่โฆษณาได้แต่มองตาปริบ ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แคมเปญ รวยฟ้าฝ่า 30 ฝา 30 ล้าน ที่โออิชิเทงบประมาณให้กับ อ.ส.ม.ท. ทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทั้งหมดของตน จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เป็นที่กล่าวขาน Talk of the town ขึ้นหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์หัวสี และสร้างดันยอดขายโออิชิให้โดดเด่นเหนือชาเขียวคู่แข่งที่คราคร่ำอยู่ในตลาด

ล่าสุดอีกยักษ์ใหญ่ของวงการอีเว้นท์ บริษัท อินเด็กซ์ อีเว้นท์ เอเจนซี่ จำกัด(มหาชน) บริษัทที่ทำกิจกรรม below the line ให้มียอดขายสูงสุดถึงกว่า 600 ล้านบาท คุ้นเคยกับงานประชาสัมพันธ์มาเกือบ 18 ปี ร่วมงานกับบริษัทประชาสัมพันธ์เกือบทุกบริษัท ก็ประกาศโดดร่วมวงสู่ธุรกิจประชาสัมพันธ์อีกราย โดยการดึงมืออาชีพในวงการประชาสัมพันธ์ที่หายหน้าไปพักใหญ่ มนญา ทองดีเลิศ เข้านั่งกุมบังเหียน บริษัท จี คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด บริษัทประชาสัมพันธ์ในเครืออินเด็กซ์ กรุ๊ป

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม อินเด็กซ์ อีเว้นท์ เอเจนซี่ เป็นอีกคนที่ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งเส้นเขตแดนกลยุทธการสื่อสารการตลาด เขาเล่าให้ฟังถึงที่มาของการบัญญัติศัพท์ above the line และ below the line ในความคิดส่วนตัวว่า น่าจะมาจากเอเยนซี่ในประเทศอินเดีย ที่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ below the line ที่ตนเองคลุกคลีอยู่น่าจะเป็นชนชั้นจัณฑาลในประเทศนั้น

แต่ในความจริง เกรียงไกร เห็นว่า น่าจะเป็นเพราะธุรกิจโฆษณาเป็นธุรกิจที่มีพัฒนาการมายาวนาน เป็นธุรกิจที่แข็งแรง เหมือนเป็นแกนหลักของการสื่อสารการตลาด มีการตั้งสมาคมโฆษณารองรับ แต่วันนี้ ลูกค้าเริ่มสงสัยแล้วว่า การใช้โฆษณาจะได้ผลเสมอไปหรือไม่ หรือไม่น่าจะได้ผลแล้ว

จากภาวะความผันผวนทั้งด้านเศรษฐกิจ และความผันผวนทางการเมือง เขามองว่า กลยุทธการสื่อสารการตลาดจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเพื่อรองรับภาวะผันผวน กลยุทธ์ที่จะสามารถรับความไดนามิคเช่นนี้ได้ น่าจะเป็นโอกาสของการประชาสัมพันธ์ และการจัดอีเว้นท์ ที่ตอบโจทย์ได้รวดเร็ว ต่างจากการทำโฆษณา ซึ่งต้องใช้เวลาทำ branding 3-4 เดือน กว่าจะคิดงาน นำเสนอลูกค้า มีการ approve จนถึงขั้นตอนการผลิตงานโฆษณา ต้องสูญเสียเวลาไปมาก แต่ทั้งนี้ การที่กิจกรรมของการประชาสัมพันธ์จะเข้าไปทดแทนการโฆษณาได้นั้น เกรียงไกร เห็นว่า ต้องใส่ Creativity ลงไปในแต่ละแผนงานให้มากกว่านี้

จี คอมมูนิเคชั่นส์ เกิดขึ้นเนื่องจากเกรียงไกร มองเห็นช่องว่างของการประชาสัมพันธ์ที่เขาคลุกคลีทุกวัน แต่ละแห่งก็มีจุดเด่นในแต่ละด้าน อาจมี Network ของนักข่าวที่แข็งแกร่ง มีความสัมพันธ์กับสื่อที่ดี แต่ส่วนนี้ถือเป็น tradition way ที่บริษัทประชาสัมพันธ์มักจะทำ ยังไม่มีบริษัทประชาสัมพันธ์ใดที่โดดเด่นด้าน Creativity ซึ่งเขาตั้งใจให้แผนงานประชาสัมพันธ์ที่ออกมาจากจี คอมมูนิเคชั่นส์ ใส่แง่มุมที่เรียกว่าแปลกใหม่ฉีกไปจากรูปแบบเดิม ๆ หรือจะเรียกว่า เริ่มคิดพิศดารมากขึ้น

เกรียงไกรกล่าวถึงทิศทางของงานประชาสัมพันธ์ว่า ตนเห็นว่างานประชาสัมพันธ์ควรจะถึงเวลาที่มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนได้แล้ว แต่ละกิจกรรมควรมีการผสมผสาน Creativity ให้มีน้ำหนักมากขึ้นกว่าเดิม จากเดิมน้ำหนักของ Creativity ในแต่ละงานอาจมีเพียง 5-10% สังเกตจากกิจกรรมการจัดงานแถลงข่าวที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่จากเดิม ทั้งที่ Creativity สามารถใส่ลงไปได้ตั้งแต่วิธีการเชิญนักข่าว การจัดงานแถลงข่าว สถานที่ รูปแบบ เป็นโอกาสที่น่าสนใจ จี คอมมูนิเคชั่นส์ ต้องการทำให้เกิดขึ้น ให้แต่ละงานมีประเด็นที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น กลายเป็นโอกาสใหม่ๆ ที่ทำให้ทุกคนตื่นเต้นได้ และบรรลุตามเป้าหมายในทุก ๆ กิจกรรม

เมื่อมองดูโครงสร้างใหม่ของอินเด็กซ์ ซึ่งมีธุรกิจหลักอยู่ที่การจัดอีเว้นท์ ก้าวสู่ธุรกิจประชาสัมพันธ์ และมีบทบาทในการทำโฆษณามาบ้างแล้วให้กับงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ และโครงการโปรโมทลองกอง ที่ท้องสนามหลวง จนดูเหมือนว่า อินเด็กซ์ จะก้าวเข้าสู่การเป็น IMC Agency ครบวงจร เกรียงไกรปฏิเสธว่า คงเป็น IMC ในแบบอินเด็กซ์มากกว่า โดยจะเป็น IMC ที่ชำนาญการด้านการจัดอีเวนท์ ไม่คิดจะก้าวเข้าไปทำธีมเมติก เนื่องจากไม่คิดจะก้าวข้ามไปทำธุรกิจโฆษณา ซึ่งไม่คิดว่าจะทำได้ดีกว่าคู่แข่ง เหมือนที่ทำได้ในธุรกิจอีเวนท์

วีอาร์วัน หวังชิงงบจากสปอตแพง สร้างงานพีอาร์จากคนวิทยุ

จากเวทีการแข่งขันในธุรกิจวิทยุที่มีการปรับกลยุทธกันอยู่ตลอดเวลา กลยุทธจากลุกออกจากการสื่อสารทางเดียว ที่นั่งจัดรายการอยู่ในสถานีวิทยุ ออกมาจัดกิจกรรมนอกสถานที่กับผู้ฟังเพื่อสร้างการสื่อสารแบบไป-กลับ ที่จะช่วยมัดใจผู้ฟังให้เหนียวแน่นต่อคลื่นมากยิ่งขึ้น

หนึ่งในค่ายวิทยุที่มีการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบแห่งหนึ่งบนหน้าปัทม์ วี อาร์ วัน เรดิโอ เจ้าของคลื่นวิทยุ 101 , get 102.5 , 103.5 FM.One และ 104.5 Fat Radio ค้นพบว่า ทุกครั้งที่จัดกิจกรรม การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่มีอยู่ในมือ ก็สามารถเรียกผู้เข้าร่วมงานได้นับหมื่นนับแสนทุกครั้ง และเจ้าของสินค้าหลาย ๆ รายก็เดินเข้ามาหา เพื่อให้วี อาร์ วัน จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายให้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการเปิดสายงานการประชาสัมพันธ์ขึ้นในบริษัทผู้ผลิตรายการวิทยุ

วาสนพงษ์ วิชัยยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีอาร์วัน เรดิโอ จำกัด มองเห็นว่า ปัจจุบันสื่อวิทยุ หรือสื่อใด ๆ ก็ตาม มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เจ้าของสินค้าหรือบริการที่เคยใช้มีเดียเริ่มหันมาคิดว่า คุ้มค่าหรือเปล่า บางสถานีมีราคาสปอตวิทยุสูงถึงราว 1 หมื่นบาท ต่อสปอต ทั้งที่บทบาทของสปอตเป็นเพียงการย้ำเตือน ไม่สามารถทำให้ผู้ฟังคล้อยตามได้เท่ากับสื่อที่เห็นภาพเช่น โทรทัศน์ หรือนิตยสาร ลูกค้าซื้อไปด้วยเงินหลาย ๆ แสนแล้วไม่ได้ผลตอบรับที่ดีเท่ากับเงินที่เสียไป น่าจะเป็นโอกาสของวีอาร์วัน ที่ปกติราคาสปอตถูกกว่า และยังมีศักยภาพในการจัดงานให้กับสินค้านั้น ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงได้อีกด้วย

โดยสายงานประชาสัมพันธ์ที่วีอาร์วันสร้างขึ้นมานี้ อยู่ภายใต้การดูแลของ สาลินี ปันยารชุน ที่คลุกคลีกับงานประชาสัมพันธ์ การจัดอีเว้นท์ มาพอควร พร้อมด้วยทีมดีเจประสบการณ์สูงที่สามารถผันตัวมาลุยงานอีเวนท์ได้อย่างไม่ขัดเขิน ทั้ง หัทยา วงษ์กระจ่าง ยุทธนา บุญอ้อม และวินิจ เลิศรัตนชัย วางจุดเด่นของบริการที่มีสื่อในการประชาสัมพันธ์ที่หลากหลายกลุ่มเป้าหมายทั้งสถานีข่าวซึ่งเป็นกลุ่มผู้ติดตามข่าวสาร การลงทุน หรือกลุ่มวัยทำงาน หรือวัยรุ่นที่ติดตามคลื่นเพลงในแต่ละคลื่น นอกจากนี้ วาสนพงษ์เองยังมีนิตยสารในสังกัดอีกหลายฉบับ รวมถึงภายในปีนี้ Fat Radio จะขยายขอบข่ายสู่ Fat TV ที่ยังเลือกรูปแบบการออกอากาศระหว่างบอร์ดแบนด์ หรือทีวีดาวเทียมอยู่นั้น ก็จะเป็นอาวุธในการเข้าสู่ธุรกิจของบริษัทประชาสัมพันธ์น้องใหม่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

วาสนพงษ์ กล่าวว่า จุดขายชัดเจนของบริการงานประชาสัมพันธ์ของวีอาร์วัน คือ ครีเอทีฟ เซอร์วิส และความสามารถในดึงกลุ่มเป้าหมายรุ่นใหม่ ๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ที่เข้าสู่ตลาด ต้องการกิจกรรมที่มี Creativity สูง ๆ ที่ผ่านมาวีอาร์วันได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้กับ ชาขาว เพียวริคุ และยาสีฟัน ซอล์ท จนประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักในตลาดมาแล้ว เช่นเดียวกับความแข็งแกร่งของแบรนด์ไฮเนเก้น ส่วนหนึ่งมาจากการจัดกิจกรรมร่วมกับ Fat Radio มาอย่างต่อเนื่อง

"จุดเด่นของเราคือ วีอาร์วันมีสื่อที่จะเรียกคน เรตติ้งของแต่ละสถานีอาจไม่ได้ติดอยู่ในระดับผู้นำจากการสำรวจ แต่สามารถเรียกคนมาร่วมงานได้เป็นหมื่นเป็นแสนทุกครั้ง คุณอยากจัดงานแล้วมีคนมาร่วมงานคึกคักไหม จัดงานใคร ๆ ก็จัดได้ แต่จัดแล้วจะมีกลุ่มเป้าหมายมาหรือเปล่า เสียงบประมาณหลายล้าน ครีเอทีฟสวย เก๋ แต่ไม่มีคนมา ก็ไม่มีประโยชน์ แต่วีอาร์วันเจาะได้ถึงกลุ่มเป้าหมายได้แน่" วาสนพงษ์ กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.