TMB ตามหลังคู่แข่งอยู่ 2 ก้าว เสียงแข็งดี DBS ไม่คิดครอบงำ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"แบงก์ทหารไทย"(TMB) เชื่อผู้คนคงเข้าใจและไม่คิดว่าทุนสิงคโปร์ "ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง"ที่ถือหุ้น 16%จะเข้าครอบงำ โลโก้ที่ก่อตั้งมาโดย 3 เหล่าทัพ ยอมรับหลังรีแบรนดิ้งองค์กร ยังอยู่ห่างคู่แข่งอย่าง แบงก์กรุงศรีฯและเคแบงก์ตระกูล K ฮีโร่ถึง 2 ก้าว ขณะที่ปี 2549 เตรียมเทงบไปกับการปลุกปั้น "อิมเมจ" แบงก์ทหารไทยให้ทันสมัยและมีสีสัน....

การควบรวมระหว่างแบงก์ทหารไทย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(IFCT) และแบงก์ดีบีเอสไทยทนุ ทำให้แบงก์ทหารไทยยุคใหม่ที่เกิดจากการควบรวมต้องลดฝีเท้าลง แต่ภายหลังการควบรวมไม่นาน ในเดือนพฤศจิกายน 2548 ก็มีการรีแบรนดิ้งองค์กรเพื่อไล่ให้ทันคู่แข่งที่ออกสตาร์ทล่วงหน้าไปก่อนหน้านั้นหลายก้าว

ความเคลื่อนไหวล่าสุดก็คือ การประกาศเพิ่มทุนท่ามกลางสถานการณ์อึมครึมของการเมืองในประเทศ อันเป็นผลมาจากโครงสร้างการถือหุ้นที่มีทุนจากสิงคโปร์ ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ตัวแทนผลประโยชน์รัฐบาลสิงคโปร์ถือหุ้นอยู่ 16% ทำให้เกิดข้อครหามากมาย โดยเฉพาะประเด็นการแอนตี้ "ไม่เอา" ไม่ซื้อสินค้า ไม่ใช้บริการธุรกิจที่มีกลุ่มทุนจากสิงคโปร์เป็นพันธมิตร ในขณะที่เจ้าของเม็ดเงินก็เริ่มลังเลใจต่อเหตุการณ์ที่ยังไม่คลี่คลายลงในเร็ววัน

ปัจจุบัน โครงสร้างผู้ถือหุ้นธนาคารทหารไทยมีกระทรวงการคลังถือหุ้น31% ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง สิงคโปร์ ถือ 16% สามเหล่าทัพ 5% ไทยประกันชีวิต 1-2% ที่เหลือเป็นรายย่อย 45%

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนโดยการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้อยสิทธิ์กึ่งทุน และการเพิ่มทุนใหม่ ก็ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อนำไปไถ่ถอนแคปส์จำนวน 5 พันล้านบาท ชำระคืนเงินกู้ที่มีต้นทุนสูง และขยายธุรกิจ

สุภัค ศิวะภักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทย ยังต้องตอบคำถามผู้คนที่สงสัยในตัวผู้ถือหุ้นกลุ่มทุนสิงคโปร์ โดยออกตัวว่า แบงก์ทหารไทยเกิดจาก 3 เหล่าทัพเป็นผู้ก่อตั้ง จึงเชื่อว่าคนจะเข้าใจ และคงไม่แอนตี้กลุ่มดีบีเอส ที่ถือหุ้นในแบงก์ทหารไทย นอกจากนั้นก็คิดว่าผู้คนคงแยกแยะได้ เพราะถ้าคิดว่ามีการครอบงำก็คงแย่เอาการ

ขณะที่ปีนี้ ได้เตรียมงบโฆษณาภายใน 2-3 เดือนประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อพยายามเข้าใกล้แต่ละครัวเรือน โดยการปรับอิมเมจ โลโก้ ของแบงก์ให้มีสีสันทันสมัยและมีชีวิตชีวามากขึ้น ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อจากการ "รีแบรนดิ้ง" ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 เป็นต้นมา

สุภัคบอกว่า หากเทียบกับคู่แข่งอย่างแบงก์กรุงศรีอยุธยาและเคแบงก์หรือ Kฮีโร่ ทหารไทยยังห่างอยู่ถึง 2 ก้าว เพราะช่วงแรกของการรีแบรนดิ้งอยู่ในขั้นเปลี่ยนแปลงแบรนด์โลโก้ สาขา รวมถึงคำขวัญ การปรับปรุงรูปโฉมภายในองค์กร เพื่อให้คนยอมรับ

" แบงก์อื่นๆเขาปรับปรุงคุณภาพ การบริการ ทำให้บางแบงก์ก้าวหน้าไปไกลกว่าเรา ส่วนเรายังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน"

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อไปของทหารไทยก็คือ อยู่ในช่วงปรับปรุงสินค้า หลังจากมีการปรับปรุงสาขาไปแล้ว 50-100 แห่ง ก็จะเริ่มเน้นการอบรมพนักงาน เพื่อทำหน้าที่ขายสินค้าหน้าเคาท์เตอร์

โดยไตรมาส 2 ปีนี้แบงก์ทหารไทยอยู่ระหว่างคัดเลือกพันธมิตรเพื่อเป็นตัวแทนขายประกันภัย ประกันชีวิต เพื่อให้เหลือเพียงรายเดียว จากปัจจุบันที่มีอยู่หลายรายจากผู้วิ่งไล่ตามอยู่ข้างหลังมานานหลายปี หลังจากนั้นแบงก์ทหารไทยก็จะเริ่มเบียดเข้าประชิดตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่มีอาการสะดุดจากกระแส "ไม่เอา" ทุนสิงคโปร์ เป็นอันดับแรกเสียก่อน....


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.