|

เวนเจอร์แคปปิตอล"เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงตลาด MAI
ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ อาจเป็นหนทางที่จะปลุกชีพตลาดMAIที่เปรียบเสมือนคนเก็บตัวเงียบจากความเหนื่อยล้าที่พยายามสร้างเสน่ห์ให้กับตนเองมาตลอด 7 ปี ให้กลับมามีไฟ หลังนโยบายต่าง ๆ ที่พยายามผลักดันไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง และหนนี้การตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอล ขึ้นมาก็เพื่อการคัดสรรกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้สนใจเข้ามาเล่นหุ้นในตลาดMAIบ้าง
ความพยายามในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ MAI (Market for Alternative Investment : MAI)มีอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 7ปี แต่ความน่าสนใจและแรงดึงดูดที่มีต่อนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยยังไม่เป็นที่ประสบความสำเร็จมากนัก ซึ่งเห็นได้จากบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียน และมูลค่าการซื้อขายของตลาดMAI ยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)
ที่สำคัญภาพลักษณ์ในสายตาของนักลงทุน ที่มีต่อตลาดMAIยังไม่ดีเท่าใดนักเพราะนักลงทุนมักมองว่าบริษัทในตลาด MAI มีขนาดเล็ก คุณภาพจึงอาจด้อยกว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กระนั้นก็ตาแนวคิดดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ตลาดMAI ท้อถอยหยุดการพัฒนา เพราะจากแนวคิดดังกล่าวเป็นเสมือนภาพสะท้อนให้ตลาดMAIต้องเร่งผลักดัน หากลยุทธ์หรือวิธีการใหม่ ๆ มาแก้ไขเพื่อสร้างแรงดึงดูให้นักลงทุนได้เหลียวมามองตลาดแห่งนี้บ้าง
ย่างเข้าสู่ขวบปีที่ 8 ตลาด MAI มีการปรับโครงสร้างผู้บริหารใหม่โดย ชนิตร ชาญชัยณรงค์ มาเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์MAI แทน วิเชฐ ตันติวานิช ที่กลายเป็นที่ปรึกษาไป
"ผมเข้ามายังคงสานต่อนโยบายเดิมที่วางไว้ แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนงานบางอย่างให้มีขั้นตอนที่กระฉับมากขึ้น อีกทั้ง การสารต่อในนโยบายกองทุนบายตั้งเวนเจอร์แคปปิตอล"
ชนิตร บอกว่า ตลาดMAIจะสวมหมวกอีกใบในฐานะผู้ลงทุนสถาบันเมื่อมีการ จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนของเอ็มเอไอ หรือ เอ็มเอไอแมทชิ่ง ฟันด์ ที่มีมูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท รูปแบบการเข้าไปลงทุนอยู่ระหว่างการพิจารณาที่คาดว่าเดือนเมษายนนื้จะสรุปผลได้ แต่ทั้งนี้ได้วางไว้ 2 ลักษณะ คือการตั้งกองทุนเวนเจอร์ แคปปิตอลฟันด์ขึ้นใหม่โดยร่วมกับพันธมิตรเพื่อเข้าไปลงทุนในบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต ส่วนอีกรูปแบบคือ การเข้าไปร่วมลงทุนในเวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ที่จัดตั้งขึ้นมาอยู่แล้วซึ่งวิธีที่ 2 นี้ทำได้ทันที เพราะกองทุนประเภทนี้มีอยู่จำนวนมาก
ชนิตร เล่าว่า เวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ คือกองทุนที่เข้าไปลงทุนโดยตรงในบริษัทที่เห็นแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต โดยกลุ่มบริษัทหรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในข่ายน่าเข้าไปลงทุน มีทั้งธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ธุรกิจเทคโนโลยีทางด้านวัฒนธรรม ธุรกิจเทคโนโลยีสำหรับอนาคต ธุรกิจด้านมีเดีย ธุรกิจยานยนต์ และธุรกิจบริการเฉพาะกิจ
"แนวคิดที่มีของการเข้าไปร่วมลงทุนคือ ธุรกิจต้องมีการขยายตัว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก จริงอยู่ที่แรกเริ่มเดิมที่อาจเป็นธุรกิจในครอบครัวเงินลงทุนก็มาจากเงินหมุนในครอบครัว แต่เมื่อวันหนึ่งธุรกิจต้องโตมากกว่าที่เป็นอยู่ เงินในครอบครัวคงไม่เพียงพอต่อการพัฒนาศักยภาพบริษัทได้ ดังนั้น ตลาดMAI ในฐานะผู้ลงทุนก็จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้วยการลงทุนทางตรง คือเข้าไปถือหุ้น ซึ่งเมื่อวันหนึ่งเขาสามารถเติบโตและยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้ เราก็พร้อมจะถอนออก"
ชนิตร บอกอีกว่า หลักการของเวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ ส่วนมากจะมีระยะเวลาลงทุนอยู่ที่ 5-8 ปี วัตถุประสงค์คือการให้ทุนผู้ประกอบการนำไปพัฒนาธุรกิจ แต่เงื่อนไขที่แฝงไว้สำหรับเวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ที่ ตลาดMAIจะเข้าไปถือหุ้นคือ เมื่อใดก็ตามที่บริษัทมีความพร้อม จะต้องนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์MAI
และนี่คือกลยุทธ์สำคัญในการสร้างสินค้าในตลาดMAIให้เพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนนี้เรียกว่าซับพลาย เมื่อซับพลายมีมากขึ้น ดีมานก็ย่อมตามมา นั่นหมายถึงนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยจะให้ความสนใจสินค้าในตลาดMAIเพิ่มขึ้น
ชนิตร บอกว่า ที่ต้องนำ ตลาดMAI มาเป็นผู้ร่วมทุนนั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรหรือนักลงทุนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในเวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ ซึ่งตองยอมรับว่าเรื่องของความมั่นใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนดังนั้นการมีนานตลาดMAIปรากฏในฐานะหนึ่งในผู้ลงทุนน่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ เวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ และบริษัทที่เข้าไปลงทุนเดินหน้าไปได้เร็วขึ้น
คาดว่าปีนี้บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดMAI จะอยู่ที่ 40 รายซึ่งเป็นเป้าหมายที่ตังไว้และคิดว่าจะทำได้ ในขณะที่ตั้งเป้าไว้ว่าปี 2552 จะมีบริษัทจดทะเบียนครบ 500 แห่ง คิดเป็นมูลค่าตลาดราว 250,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูงมาก และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดMAI ไม่สามารถหยุดนิ่งที่จะคิดหรือหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อกระตุนทั้งซับพลายและดีมานให้เพิ่มมากขึ้น
ชนิตร เล่าว่า อีกส่วนที่สำคัญคือในการสร้างมูลค่าให้ตลาดคือการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจนักลงทุน ที่ผ่านมาตลาดMAI ได้จัดกิจกรรมหลากหลาย รวมถึงการเดินทางไปพบปะผู้บริหารที่จดทะเบียนในตลาด MAI ด้วยตนเองเพื่อทำความรู้จักและเข้าใจในแต่ละอุตสาหกรรม
"เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการเดินเข้าไปพบผู้บริหาร การที่เราจะขายสินค้าหรือสร้างความน่าสนใจให้สินคาที่มีอยู่นั้นจะต้องลงไปทำความรู้จักว่าอะไรคือจุดเด่นที่จะทำให้สินค้าดังกล่าวเป็นที่สนใจของนักลงทุน เพราะถ้าเราไม่รู้จักว่าสินค้าในตลาดเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการความต้องการอะไร เพื่อนำผลดังกล่าวมาประเมินและทำเป็นนโยบายให้การสนับสนุน ซึ่งเชื่อว่าตลาดMAI ก็จะสามารถเติบโตไปในทางที่ดีได้"
ความพยายามหลายอย่างที่MAIพยายามทำอยู่ตลอดระยะเวลา 7 ปียังไม่เห็นผลเป็นที่ชัดเจนนัก นักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยยังไม่เหลียวแลหรือให้การตอบรับที่ดีแม้จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ แล้วก็ตาม แต่ความหวังยังมีอยู่ เพราะ เวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ จะเป็นตัวสร้างสินค้าในตลาดMAIให้เพิ่มขึ้น และผลที่หวังไว้สำหรับผู้บริหารของตลาดMAI ก็คือดีมานจากนักลงทุนจะตามมาเอง
เวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ จึงเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงและส่งสารอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกายตลาดMAI ซึ่งเปรียบได้กับความหวังที่มาพร้องกับการดึงดูดนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อย ให้สนใจและเข้ามาลงทุนในตลาดดังกล่าวมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|