ไทยอีควิพเม้นต์เป็นใครมาจากไหน? ทำไมพวกเขาจึงกลายเป็นบริษัทที่สมิธ ธรรมสโรชยืนยันหนักหนาว่าจะต้องเป็นผู้ชนะให้ได้
ในสงครามการประมูลซูเปอร์คอมพ์มูลค่าพันล้านบาทที่วุ่นวาย ยืดเยื้อและอื้อฉาวที่สุดในรอบปี
สมิทธลงทุนถึงขนาดตั้งกรรมการชุดของตนเองเพื่อดึงดันตามที่ตนต้องการ ท้าทายทั้งนักการเมืองและระบบราชการ
ไทยอีควิพเม้นต์ไม่ธรรมดาจริง ๆ!
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า โครงการประมูลซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของกรมอุตุนิยมวิทยา
มูลค่านับพันล้านบาทเป็นโครงการประมูลอื้อฉาวที่สุดในรอบปี
ทำไมอธิบดีกรมอุตุนิยมจึงกล้าเสี่ยงตั้งคณะทำงานขึ้นอีกชุด และพิจารณาให้บริษัทไทยอีควิพเม้นต์
รีเสิร์ช จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ
(กวพ.) สำนักนายกรัฐมนตรีได้คัดเลือกให้บริษัทท้อปกรุ๊ป ของค่ายเบียร์สิงห์เป็นผู้ชนะการประมูลไปแล้ว
ไทยอีควิพเม้นท์ รีเสิร์ช เป็นใครมาจากไหน
หลายคนรู้แต่เพียงว่าไทยอีควิพเม้นต์ รีเสิร์ช เป็นเจ้าประจำผูกขาดค้าขายอุปกรณ์
กรมอุตุฯ มานาน
กรมอุตุแทบจะเป็นอาณาจักรของไทยอีควิพเม้นท์ ที่ไม่มีใครแตะต้องก็ว่าได้
!
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ปฐมบทของไทยอีควิพเม้นต์ รีเสิร์ชนั้นเริ่มต้นมาจากธุรกิจค้าขายวัสดุก่อสร้างเมื่อ
30 กว่าปีมาแล้ว ในชื่อบริษัทสีลมฮาร์ดแวร์ ก่อตั้งขึ้นโดย "พิชิต อัศวพลังพรหม"
หรือ "เสี่ยบู๊" ที่คนในวงการเรียกขาน
จากธุรกิจค้าส่งวัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีลูกค้าที่เป็นทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่
รวมทั้งหน่วยงานราชการ เป็นจุดที่ทำให้สีลมฮาร์ดแวร์ได้พบตัวแทนขายสินค้าต่างประเทศ
จนกลายเป็นโอกาสแตกไลน์ธุรกิจไปค้าขายอุปกรณ์ชนิดอื่น ๆ
"ช่วงที่เราค้าวัสดุก่อสร้าง ทำให้มีโอกาสติดต่อกับตัวแทนขายอุปกรณ์ในต่างประเทศซึ่งเขามีสินค้ามาเสนอตลอด
ก็บังเอิญที่เราได้สินค้าเรดาร์ตรวจอากาศยี่ห้ออีอีซี ซึ่งมีชื่อเสียงค่อนข้างมากเข้ามาทำตลาด
และเป็นช่วงเวลาเดียวกับกรมอุตุต้องการเปิดประมูลซื้ออุปกรณ์เรดาร์ตรวจอากาศแบบใหม่พอดี
"ประพันธ์ อัศวพลังพรหม ประธานกรรมการบริษัทไทยอีควิพเม้นท์ รีเสิร์ช
เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ในการประมูลจัดซื้ออุปกรณ์เรดาร์ ตรวจอากาศแบบใหม่ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
สามารถแสดงผลเป็นภาพของกลุ่มเมฆ และฝน ซึ่งจะมาใช้แทนที่เรดาร์ตรวจอากาศรุ่นเดิมของกรมอุตุเมื่อ
15 ปีที่แล้ว จึงมีชื่อของไทยอีควิปเม้นท์ เทเลคอม บริษัทลูกของสีลมฮาร์ดแวร์
ติดกลุ่มเข้าร่วมประมูลด้วย
"ในช่วงที่เราเริ่มเข้าประมูล ก็มีหลายบริษัทที่เขาค้าขายอุปกรณ์กับกรมอุตุอยู่แล้ว
เช่น ล็อกซเล่ย์ ยิบอินซอย และบริษัทเก่าแก่จากอังกฤษ เราไม่ได้เป็นรายแรกที่ค้าขายกับกรม
ตอนนั้นกรมอุตุเขาใช้อุปกรณ์ยี่ห้อ เบนดิกส์ของอังกฤษ" ประพนธ์ย้อนอดีต
แม้จะเป็นหน้าใหม่ที่ต้องแข่งขันกับหน้าเก่า อย่างล็อกซเล่ย์ และยิบอินซอย
ซึ่งล้วนแต่เป็นยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดงานประมูลค้าขายอุปกรณ์กับทางราชการมานานแต่ไทยอีควิพเม้นต์
เทเลคอมกลับเป็นผู้คว้าชัยชนะสามารถขายอุปกรณ์เรดาร์ตรวจอากาศมูลค่า 10 ล้านบาท
ผลจากชัยชนะในครั้งนั้น ซึ่งทำเงินไทยให้กับอีควิพเม้นต์ได้ไม่น้อย ทำให้พิชิต
หรือ เสี่ยบู๊เริ่มหันมาจับธุรกิจค้าขายอุปกรณ์กับกรมอุตุฯ อย่างจริงจัง
ประจวบเหมาะกับในช่วงนั้น กรมอุตุมีนโยบายในการจัดซื้ออุปกรณ์ทันสมัยมาใช้งานเพิ่มขึ้น
เนื่องจากองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ (WMO: WORLD METEOROLOGY ORGANIZATION)
ต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการพยากรณ์อากาศของแต่ละประเทศ ซึ่งไทยถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งประเทศสมาชิก
ที่ต้องเป็น HUB REGIONAL ทำหน้าที่ป้อนข้อมูล พยากรณ์ อากาศในภาคพื้นแถบนี้ป้อนให้กับเครือข่ายของ
WMO
แม้ว่าล็อกซเล่ย์ และยิบอินซอยจะเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง
และยังมีประสบการณ์ค้าขายกับกรมอุตุฯ มาก่อน แต่กรมอุตุฯ ไม่ใช่ลูกค้ารายเดียว
ยังมีหน่วยงานราชการอื่น ๆ อีกที่เป็นลูกค้าของบริษัททั้งสอง
ขณะที่กรมอุตุฯ แม้จะเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม แต่ก็เป็นหน่วยงานที่แทบจะไม่มีบทบาทอะไร
เป็นแค่หน่วยงานให้บริการทางด้านพยากรณ์อากาศ ไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง นอกจากงบประมาณ
ที่ใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์มาใช้ในการพยากรณ์อากาศซึ่งไม่ได้มากมายนัก กรมอุตุฯ
จึงเป็นม้านอกสายตาที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายของบรรดาพ่อค้าอุปกรณ์ดังเช่นหน่วยงานราชการอื่น
ๆ เท่าใดนัก
ผิดไปจากไทยอีควิพเม้นต์ เทเลคอม ที่มุ่งเน้นไปที่กรมอุตุฯ เพียงหน่วยงานเดียว
เนื่องจากยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นธุรกิจและเป็นแค่บริษัทขนาดเล็ก จึงเป็นช่องทางอย่างหนึ่งทำให้ไทยอีควิพเม้นต์เริ่มเข้าไปสร้างสายสัมพันธ์กับกรมอุตุฯ
ได้อย่างเหนียวแน่น
"พอหลังจากเราประมูลได้ครั้งแรก เราก็เริ่มเข้าไประมูลอีกดูว่าโครงการไหนที่เรามีอุปกรณ์พอจะเข้าได้เราก็เข้า
ในช่วงนั้นไม่ค่อยมีใครสนใจกรมอุตุฯ เพราะงบประมาณน้อย" ประพันธ์เล่า
นับจากนั้นจนถึงปัจจุบันไทยอีควิพเม้นต์ เทเลคอม ทำธุรกิจค้าขายอุปกรณ์กับกรมอุตุนิยมวิทยา
อันเป็นลูกค้าหลักมาตลอด 15 ปี โดยสินค้าหลักของที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ คือเรดาร์ตรวจอากาศซึ่งประพันธ์ไม่ยอมเปิดเผยว่าในแต่ละปีบริษัทมีรายได้เท่าใด
บอกแต่เพียงว่ารายได้ของบริษัทจะขึ้นลงตามงบประมาณของกรมอุตุฯ
แต่จากสถิติผลงานการค้าขายอุปกรณ์ของไทยอีควิพเม้นต์ในกรมอุตุฯ ตั้งแต่ปี
2534-2538 ระบุว่าไทยอีควิพเม้นต์มีรายได้จากการขายอุปกรณ์เรดาร์ตรวจอากาศ
และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และบางปีก็มีมากถึง
500 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)
ประพันธ์เล่าว่า ลูกค้าที่เป็นหน่วยงานราชการอื่น ๆ ก็มีอยู่บ้าง แต่มีน้อยรายที่ต้องการใช้อุปกรณ์ประเภทนี้
เช่น กรมการบินพาณิชย์ หรือการท่าอากาศยาน ซึ่งไทยอีควิพเม้นต์ขายอุปกรณ์เรดาร์ตรวจอากาศให้
ในช่วงที่มีการปรับปรุงท่าอากาศยานที่ภูเก็ต
การดำเนินงานของไทยอีควิพเม้นต์ พิชิตจะเป็นผู้ดูแลและบุกเบิกมาตลอด แต่มาช่วงปีหลัง
ๆ เมื่ออายุมากขึ้นจึงเริ่มหันมาเน้นหนักเรื่องนโยบายและมอบหมายงานในบริษัทให้ลูกชาย
3 คนคือ ประจักษ์ ประพันธ์ และประดิษฐ์ ซึ่งจบทางสายวิศวกรรมมารับภาระต่อ
การบริหารงานในช่วงหลัง ๆ จึงตกอยู่ในรุ่นลูก ซึ่งจะแบ่งรับผิดชอบเป็นโครงการ
ๆ ไปแล้วแต่ความถนัด ดังเช่นประพันธ์ลูกคนกลางหลังจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท ทางด้านไฟแนนซ์ ประพันธ์บินกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัว
และได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการประมูลซูปเปอร์คอมพ์
ส่วนสีลมฮาร์ดแวร์ยังคงทำธุรกิจค้าวัสดุก่อสรร้างเช่นเดิม แต่มอบหมายให้พนักงานอาวุโสเก่าแก่เป็นผู้ดูแล
โดยมุ่งเน้นเฉพาะลูกค้าดั้งเดิมเท่านั้น
ปัจจุบัน สีลมฮาร์ดแวร์และไทยอีควิพเม้นต์ ขยับขยายสถานที่ตั้งสำนักงานจากถนนสีลมมาตั้งอยู่บนอาคารพาณิชย์
4 คูหาบริเวณถนนสาธรมีพนักงานรวม 50 คน
ตลอดเวลาที่สนทนา ประพันธ์ออกตัวว่าไทยอีควิพเม้นต์เป็นเพียงธุรกิจครอบครัวเล็ก
ๆ ไม่ได้มีบทบาทอะไรจึงไม่อยากเอยถึงเท่าใดนัก พร้อมกับย้ำตลอดเวลาว่าไม่ได้ผูกขาดค้าขายกับกรมอุตุฯ
แต่เป็นเพราะการมีสินค้าที่ดีความเชื่อถือและสายสัมพันธ์ที่ดี ทำให้บริษัทค้าขายกับกรมอุตุจนทุกวันนี้
"เรามีสินค้าในธุรกิจนี้ คุณจะให้เราเอาเครื่องพยากรณ์อากาศไปขายกับการสื่อสารฯ
หรือองค์การโทรศัพท์ฯ มันก็เป็นไปไม่ได้ แต่เพราะเราทำธุรกิจนี้มาจนเชี่ยวชาญเรารู้ว่าควรคำนวณต้นทุนอย่างไรซึ่งเป็นเรื่องต้องอาศัยประสบการณ์
หากให้ผมไปขายกับหน่วยงานอื่นมันก็ไม่ง่ายเหมือนกัน ใครว่าเราผูกขาดผมว่าไม่ยุติธรรม"
ประจักษ์ชี้แจง
อย่างที่รู้กันว่างานประมูลซื้อขายอุปกรณ์กับหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหญ่เล็กขนาดไหน
ไม่เพียงแต่ต้องมีสินค้าดีราคาเหมาะสมเท่านั้น แต่ "คอนเนคชั่น"
ก็สำคัญไม่แพ้กันหรือบางครั้งก็สำคัญมากกว่าสองสิ่งแรกด้วยซ้ำ
ผู้เข้าประมูลเกือบทุกรายจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องหาเส้นสายไปไว้เป็นแรงหนุนไม่ว่าโครงการเล็กหรือใหญ่
ไม่เช่นนั้นโอกาสที่จะชนะคงไม่ใช่เรื่องง่าย
จากการสืบทราบไปยังหน่วยงานราชการบางแห่ง มีเอกชนบางรายถึงกับส่งนายหน้ามานั่งประจำกรมหรือกอง
เพื่อต้อนรับเลี้ยงดูปูเลื่อข้าราชการในกรมกองเหล่านี้ เมื่อเวลาหน่วยงานนั้นมีการประกวดราคาจัดซื้ออุปกรณ์ครั้งใด
ก็จะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทำให้สามารถเสนอราคาหรืออุปกรณ์ได้ตรงตามกับงบประมาณที่หน่วยงานตั้งไว้
และกลายเป็นผู้ชนะไปในที่สุด
ในการประมูลแต่ละครั้ง เอกชนผู้เข้าประมูล จึงต้องมีการจัดสรรงบประมาณในรูปของ
"มาร์เก็ตติ้งฟรี" ตกประมาณ 10-20% ของวงเงินที่ใช้ในการประมูลแต่ละครั้ง
เพื่อจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา
ภาพสายสัมพันธ์ระหว่างเอกชนที่เป็นเจ้าประจำค้าขายอุปกรณ์กับหน่วยงานรัฐมายาวนาน
ขึ้นอยู่กับว่าเอกชนรายนั้น ๆ จะจับสินค้าอะไรเข้ามาจำหน่าย เช่น กลุ่มยูคอมที่ค้าขายอุปกรณ์สื่อสาร
ยี่ห้อโมโตโรล่ากับการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) หรือกลุ่มสามารถ ที่ขายอุปกรณ์ประเภทเสาอากาศกับกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นพิเศษ
รวมทั้งสี่แสงการโยธาที่รับเหมาสร้างถนนให้กับกรมทางหลวงมาเป็นเวลายาวนาน
แน่นอนว่า การทำธุรกิจค้าขายอุปกรณ์ให้กับกรมอุตุฯ มาเป็นเวลานานเกือบ 20
ปี ความคุ้นเคยระหว่างไทยอีควิพเม้นต์และกรมอุตุย่อมต้องมีแน่ ตามประสาพ่อค้าและลูกค้าที่ติดต่อค้าขายกันมายาวนาน
ความสนิทสนมระหว่างพ่อค้าและลูกค้าของสองรายนี้ ไม่มีใครยืนยันว่าถึงขั้นไหน
เพียงแต่มีการยืนยันว่า หากกรมอุตุฯ เปิดประมูลซื้อขายอุปกรณ์เรดาร์ตรวจอากาศเมื่อใด
ไทยอีควิพเม้นต์จะได้รับชัยชนะไปเป็นส่วนใหญ่
ไทยอีควิพเม้นท์มีบริษัทในเครืออีก 3-4 แห่ง ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเข้าประมูลงานกับกรมอุตุฯ
โดยเฉพาะ คือ บริษัทสตาทิฟิกรีเสิร์ช, แอฟโก้ไทย, ไทยอีควิพเม้นต์รีเสิร์ช
การประมูลงานของกรมอุตุฯในบางคราวจะเสนอพร้อมกันคราวละ 2 บริษัท ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้เข้าประมูลงานราชการนิยมใช้เป็นส่วนใหญ่
ยกเว้นประมูลจัดซื้ออุปกรณ์ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรดาร์ตรวจอากาศ จะมีหน้าใหม่เข้ามาบ้างประปราย
เช่น การประมูลจัดซื้ออุปกรณ์ดาวเทียม ในช่วงปี 2537 ซึ่งกลุ่มสามารถเป็นผู้ชนะ
แต่ในระหว่างประมูลก็ถูกโจมตีตลอด กระทั่งผู้บริหารของกลุ่มสามารถ ยังต้องขอยอมยกธงขาวประกาศไม่เข้าประมูลกับกรมอุตุฯ
อีก
"กรมอุตุฯ เขามีเจ้าประจำที่ผูกขาดอยู่แล้ว เราเข้าไปเราก็แพ้ การประมูลแต่ละครั้งต้องทุ่มเททั้งคนและเวลา
สู้เราไปประมูลกับหน่วยงานอื่นดีกว่า ตอนนั้นที่กลุ่มสามารถชนะ เพราะเป็นระบบดาวเทียมเราชำนาญกว่า
และก็ถูกกว่าด้วย" ผู้บริหารของกลุ่มสามารถกล่าว
เช่นเดียวกับกลุ่มยูคอมที่ชนะประมูลวิทยุสื่อสารในกรมอุตุ เพราะชำนาญในเรื่องอุปกรณ์เหล่านี้อยู่แล้ว
แต่เมื่อถึงคราวประมูลอุปกรณ์เรดาร์ตรวจอากาศเมื่อใดจะต้องพ่ายแพ้ให้กับไทยอีควิพเม้นท์มาตลอด
แม้จะเป็นแค่บริษัทครอบครัว ว่ากันว่ากำลังภายในของไทยอีควิพเม้นต์ไม่เป็นรองใคร
ตระกูลอัศวพลังพรหม ที่บังเอิญมีแซ่เบ๊เหมือนกับคนชื่อบรรหาร ศิลปอาชา หนำซ้ำยังเคยทำธุรกิจในธุรกิจเดียวกันมาก่อน
ในการปรับปรุงท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต เพราะปัญหาเครื่องบินตก ตามนโยบายของบรรหาร
สมัยที่นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงมีชื่อของไทยอีควิพเม้นต์ติดกลุ่มในฐานะของผู้ขายอุปกรณ์เรดาร์ด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ในการประมูลจัดซื้อซูเปอร์คอมพิวเตอร์มูลค่าพันล้านบาทของกรมอุตุฯ
แม้กรมอุตุฯ จะเป็นม้านอกสายตาในธุรกิจประมูลเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ
มานานแต่ถึงคราวเปิดประมูลจัดซื้อซูเปอร์คอมพิวเตอร์มูลค่าพันล้านบาท เพื่อใช้พยากรณ์อากาศล่วงหน้า
3 วัน กรมอุตุกลายเป็นสาวเนื้อหอมทันที
เพราะไม่เพียงแค่มูลค่าโครงการแต่เอกชนที่ประมูลได้จะมีโอกาสขายสินค้าและซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้องให้กับหน่วยงานอื่น
ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ซึ่งมีโครงการนำอุปกรณ์เหล่านี้ไปใช้งานด้วย
ปรากฏว่ามีผู้ยื่นซองประกวดราคาถึง 9 ราย คือ ชิโนบริต, สหวิริยาโอเอ,
ไทยอีควิพเม้นต์ รีเสิร์ช, ไทยแมนเนจเม้น ไซน์ซ (ทีเอ็มเอส), เทคโนโลยีออปอเรชั่น,อินเตอร์เนชั่นแนลเอ็นจิเนียริ่ง
(ไออีซี), กลุ่มยูคอม, ไทยแซทของล็อกเล่ย์ และ ที.เอส.เอ. อินเตอร์เนชั่นแนล
ซึ่งล้วนแต่เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อสารและคอมพิวเตอร์
แน่นอนว่าไทยอีควิพเม้นต์นั้นเจ้าขอวพื้นที่คงไม่ยอมปล่อยงานชิ้นสำคัญไปง่ายดาย
ในขณะที่รายใหม่ล้วนแต่เป็นยักษ์ใหญ่คงไม่ยอมพลาดโอกาสงาม ๆ นี้
ทุกรายล้วนควานหาพันธมิตรหวังผนึกกำลังเต็มที่ สินค้าที่เสนอแบ่งออกเป็น
2 ค่ายหลัก คือ ญี่ปุ่น และสหรัฐ
ไทยอีควิพเม้นต์นั้น เตรียมตัวแต่วันหันไปคว้าสิทธิซุปเปอร์คอมพิวเตอร์
ยี่ห้อเครย์ ซึ่งมีชื่อเสียงมากเข้ามาทำตลาด และยังมอบให้กับเนคเทคไว้ใช้งานฟรีอีก
1 เครื่อง เพื่อหวังสร้างเรคคอร์คให้กับบริษัท
งานประมูลครั้งนี้ย่อมไม่ธรรมดา
ปัญหาของโครงการนี้เริ่มทันทีตั้งแต่ยังไม่เปิดซองประมูล เริ่มตั้งแต่ความไม่ลงรอยกันระหว่างพินิจ
จารุสมบัติ และสมิทธ ธรรมสโรช จนเป็นเหตุให้เกิดมีแก้ไขสเปคเพื่อเปิดกว้างมากขึ้น
รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ โดยมีวิสุทธิ์ มนตริวัต รองอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน
กรรมการมี ธีระ อภัยวงศ์ จากธนาคารกรุงเทพ ผ.ศ. บุญชัย โสวรรณวณิชกุล -
ดร. จิตตภัทร เครือวรรณ - เลอสรร ธนสุกาญจน์ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วนสมบัติ เจริญวงศ์ และดร. ดุษฎี ศุขวัฒน์ จากกรมอุตุนิยมฯ
จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นคนนอกกรมอุตุฯ มีเพียงกรรมการสองคนเท่านั้นที่มาจากกรมอุตุฯ
มีการโยงใยความสัมพันธ์พิเศษระหว่างพินิจและกลุ่มยูคอม และสมิทธที่สนับสนุนไทยอีควิพเม้นต์
จนสั่งให้เลื่อนวันกำหนดรับซองทีโออาร์จากเดิม 25 เมษายน 2538 ไปอีก 1 เดือน
มีการระบุว่าสาเหตุมาจากไทยอีควิพเม้นต์ยังจัดทำเอกสารเข้าประมูลไม่ทัน
ในขณะที่พินิจเร่งให้คณะกรรมการตัดสินโดยเร็ว ภายใน 2 เดือนหลังรับซองทีโออาร์
ก่อนรัฐบาลบรรหารจะเข้ามารับหน้าที่แทนรัฐบาลชวน
ตัวเก็งในเวลานั้น จึงตกเป็นของยูคอม และไทยอีควิพเม้นต์ไปโดยปริยายแต่การพิจารณาของคณะกรรมการยังไม่บรรลุผล
จนกระทั่งเปลี่ยนรัฐบาล สมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้ริเริ่มโครงการกลับมารับตำแหน่ง
รมช. คมนาคมอีกครั้ง
ระหว่าง 6 เดือนเต็ม ในการพิจารณาของคณะกรรมการ มีข่าวลือโจมตีกันเกิดขึ้นมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นการล้มประมูลและการนำเอาอิทธิพลทางการเมืองเข้าแทรกแซงจากกลุ่มผู้เข้าประมูล
โดยเฉพาะการมีจดหมายจากสถานฑูตสหรัฐอเมริกา พร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ
และจากบริษัทเครย์รีเสิร์ช รวม 3 ฉบับ ส่งถึงนายกบรรหาร เพื่อขอให้ความเป็นธรรมกับบริษัทเอกชนจากสหรัฐที่เข้าประมูลจัดหาคอมพิวเตอร์
เพราะหลังจากนั้นไม่นาน วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือถึงวันมูหะมัดนอร์ มะทา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จ่าหัวเรื่อง ขอความสนับสนุนแก่บริษัทสหรัฐในการเข้าประมูลซุปเปอร์คอมพ์
พร้อมแนบสำเนาหนังสือจำนวน 3 ฉบับจากสหรัฐ ระบุว่าขอให้กระทรวงคมนาคมให้ความเป็นธรรมกับบริษัทเอกชนของสหรัฐที่เข้าประมูล
นับว่าเป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่ง ที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาถึงกับลงทุนส่งหนังสือมาถึงรัฐบาลไทย
เพราะเท่ากับเป็นการกดดันให้กับรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนสินค้าในประเทศตนอย่างเต็มที่
ยิ่งส่อเค้าให้รู้ว่าการประมูลครั้งนี้ไม่ธรรมดาเลย โดยเฉพาะไทยอีควิพเม้นต์ถูกจับตามองว่าอยู่เบื้องหลังในเรื่องนี้เพราะหลังจากมีข่าววงในหลุดมาว่าไทยอีควิพเม้นต์ตกสเปค
จดหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ก็ส่งมาถึงนายกบรรหารทันที
มีการระบุว่าค่ามาร์เก็ตติ้งฟรีสำหรับงานประมูลชิ้นนี้พุ่งไปถึง 20-30%ของมูลค่าโครงการ
กรรมการบางคนเล่าว่า มีเอกชนบางรายเสนอจ่ายเงินให้ถึง 40 ล้านบาทเพื่อแลกกับชัยชนะในครั้งนี้
กระทั่งสิ้นสุดการพิจารณา คณะกรรมการตัดสินให้บริษัทท้อปกรุ๊ป ม้ามืดจากค่ายเบียร์สิงห์
ซึ่งเสนอเครื่องไอบีเอ็มชนะไปด้วยคะแนนเทคนิคสูงสุด คือ 66 คะแนน จากคะแนนเต็ม
75 คะแนนและราคาต่ำสุดคือ 1,068,157 บาท
คณะกรรมการคนหนึ่งให้เหตุผลว่าเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มที่ท้อปกรุ๊ปเสนอมานั้นทันสมัย
และมีประสิทธิภาพมากที่สุด และดูจากระบบโดยรวมแล้วดีที่สุด
"เราจะเอาเครื่องที่มีเทคโนโลยีทันสมัยหรือจะเอาเครื่องที่มีชื่อเสียง
แต่เป็นรุ่นเก่า ซึ่งเขาเปลี่ยนรุ่นไปแล้ว" กรรมการให้ความเห็น
สำหรับท็อปกรุ๊ปนนั้นไม่ได้อยู่ในสายตาผู้เข้าประมูลเลย เป็นบริษัทส่วนตัวของสันติ
ภิรมย์ภักดี ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เพื่อเข้าประมูลในงานนี้โดยเฉพาะและยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน
ว่ากันว่า จุดที่โดดเด่นของบริษัทนี้คือ สายสัมพันธ์ระหว่างสันติ และมนตรี
พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่มีสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นลูกพรรคและเป็น
รมช. คมนาคม
เป็นธรรมดา เมื่อรู้ผลการตัดสินกลุ่มที่พลาดหวังมักจะออกมายื่นหนังสือประท้วงผลการตัดสิน
แต่ในครั้งนี้มีถึง 3 รายที่ร่วมกันประท้วงระบุว่าท้อปกรุ๊ปเสนอผิดสเปค คือ
กลุ่มยูคอม ไออีซี และทีเอ็มเอส ส่วนสหวิริยา นั้นใช้วิธีส่งหนังสือประท้วงไปที่กระทรวงคมนาคม
น่าแปลกคือไทยอีควิพเม้นต์เก็บตัวซุ่มเงียบไม่ประท้วง ทั้ง ๆ ที่ครั้งนี้อาจถือได้ว่าเป็นสงครามศักดิ์ศรี
เนื่องจากกรมอุตุนั้นแทบจะเป็นอาณาจักรของไทยอีควิพเม้นต์มาตลอด แต่พอประมูลครั้งใหญ่ตนเองกลับพ่ายแพ้แก่ผู้ที่มาใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ
สาเหตุสำคัญอยู่ที่สมิทธ ธรรมสโรช อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา!
ทางด้านอธิบดีสมิทธทันทีที่รู้ผลกลับแต่งตั้งคณะทำงานของกรมอุตุฯ ขึ้นมาอีกชุด
ซึ่งมีไกรสร พรสุธีรองอธิบดีกรมอุตุฯ เป็นประธาน และพิจารณาให้บริษัทไทยอีควิพเม้นต์รีเสิร์ช
ซึ่งเสนอเครื่องเครย์ ที่ตกสเปคด้านเทคนิคไปตั้งแต่แรกเป็นผู้ชนะ
การกระทำในครั้งนี้เท่ากับปฏิเสธผลการตัดสินของคณะกรรมการชุดของวิสุทธิ์อย่างสิ้นเชิง
ไป ๆ มา ๆ นอกจากจะเป็นสงครามระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกันแล้ว ยังสงครามระหว่างนักการเมืองและข้าราชการที่ถือหางเอกชนคนละฝ่าย
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมในเมื่ออธิบดีกรมอุตุฯ ไม่พอใจผลการตัดสินไม่เป็นธรรมจึงไม่เสนอเรื่องให้การสอบสวนหรือทบทวนใหม่
แต่กลับตั้งคณะทำงานขึ้นและชี้ขาดให้ไทยอีควิพเมนต์เป็นผู้ชนะ เหมือนกับว่ามีตัวเลือกอยู่ในใจอยู่แล้วเมื่อคณะกรรมการไม่ตัดสินตามที่ต้องการจึงไม่ยอมรับผล
อีกทั้งตลอดเวลาที่คณะกรรมการพิจารณา อธิบดีจะให้สัมภาษณ์ตลอดเวลาว่าจะไม่ยอมรับผิดชอบผลการพิจารณาที่เกิดขึ้น
เพราะเป็นกรรมการคนนอกจะไปรู้เรื่องดีเท่ากับกรมอุตุฯ ที่เป็นคนใช้งานเองได้อย่างไร
"ผมปรึกษานักกฎหมายของกรมอุตุฯ แล้วว่า ผมมีอำนาจตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีกชุดเพื่อเปิดซองประมูลใหม่ได้
โดยใช้คนของกรมอุตุฯ เป็นหลัก เราเป็นคนใช้ใครจะมารู้ดีกว่าเรา" สมิทธกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
สาเหตุที่สมิทธเชื่อมั่นในไทยอีควิพเม้นท์มากนักนั้น สมิทธไม่ได้อธิบายในเชิงเทคนิค
แต่เขาอธิบายว่า เชื่อมั่นในชื่อเสียงของเครย์ ใช้ 16 ประเทศ ขณะที่ไอบีเอ็มยังไม่มีใครใช้หรือส่วนใหญ่อยู่ในขั้นทดลองและอ้างตลอดเวลาว่า
รองอธิบดีทั้งสี่คนรวมทั้งระดับรองผู้อำนวยการเห็นด้วยกับเขา
เขาอ้างด้วยว่า กรรมการชุดแรกไปรับเอกสารเพิ่มเติมอีกกว่า 100 หน้าจากท้อปกรุ๊ปหลังจากที่เปิดซองแล้ว
ซึ่งไม่ยุติธรรมกับผู้ประมูลรายอื่น ทำให้เขาต้องตัดสินใจเช่นนี้
"ท้อปกรุ๊ป เป็นใครมีพนักงานอยู่ไม่กี่คน เกิดเครื่องเสียไม่มีคน เราก็แย่"
ปมปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้สมศักดิ์ เทพสุทิน รมช. กระทรวงคมนาคมผู้รับผิดชอบ
แต่กลับส่งเรื่องทั้งหมดให้คณะกรรมการว่าด้วยระเบียบพัสดุ (กวพ.) สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้ขาดแทนว่าใครกันแน่ควรเป็นผู้ชนะ
กวพ. ให้ข้อสรุปมาว่า คณะกรรมการชุดแรกของวิสุทธิ์เป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายส่วนคณะทำงานของกรมอุตุฯ
มีสิทธิ์แค่ให้ความเห็น แต่ไม่มีสิทธิ์ให้คะแนน เพราะผิดกฎระเบียบของ ซึ่งหากมองในมุมนี้ก็เท่ากับว่าท้อปกรุ๊ปจะต้องเป็นผู้ชนะ
หากแต่ รมช. สมศักดิ์ ส่งเรื่องกลับไปให้กรมอุตุฯ ไปพิจารณาสรุปผลอีกครั้งอาจเป็นไปได้ว่าต้องการให้กรมอุตุฯ
หันไปทบทวนและยอมรับพิจารณาแต่โดยดี เพื่อไม่ให้มีปัญหาขึ้นในระหว่างนี้
เพราะขณะนี้ตัว รมช. สมศักดิ์เองกำลังถูกโจมตีจากการเปลี่ยนบอร์ดการท่าอากาศยานจึงไม่อยากผลีผลามทำอะไรลงไป
หรือเพื่อประวิงเวลาต่อไป
เพราะคำตอบของโจทย์มี 3 ข้อ คือ
1. ท้อปกรุ๊ปชนะตามผลการตัดสินของคณะกรรมการของวิสุทธิ์
2. ไทยอีควิพเม้นต์ รีเสิร์ชชนะตามความเห็นชอบของอธิบดี
3. ล้มประมูล และเปิดประมูลใหม่แบบเร่งด่วยเพื่อไม่ให้เสียเวลามาก ด้วยการจัดซื้อพิเศษ
หรือ
CLOSE BID คือให้เอกชนที่ผ่านสเปค 4 ราย คือ ท้อปกรุ๊ป ทีเอ็มเอส ไออีซี
และทีเอชเอ ยื่นเสนอราคาเข้ามาใหม่
หากมองในแง่หลักการแล้ว ท้อปกรุ๊ปคงเป็นผู้คว้างานไป เพราะผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการที่ถูกต้องเว้นเสียแต่ว่าจะมีกำลังภายในจากรัฐบาลมาให้เห็นจะ
ๆ
สำหรับสมิทธแล้ว แม้เขาจะมีท่าทีแข็งกร้าวในเรื่องนี้ แต่เขาก็ออกตัวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า ทุกอย่างแล้วแต่รัฐมนตรี หากเลือกแล้ว ตัวรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ
แต่คนทั่วไปก็ย่อมรู้ว่า เกมนี้ยังอีกยาว และสมิทธไม่ถอยแน่ ๆ เพราะถลำตัวมาถึงขั้นนี้แล้ว
แต่ที่แน่ ๆ ของงานประมูลในครั้งนี้คงต้องยอมรับว่า ไทยอีควิพเม้นต์ไม่ธรรมดาจริง
ๆ !