"สมศักดิ์ วิวัฒน์พนชาติ หนึ่งเดียว "เซลล็อกซ์" จะสู้คิมเบอร์ลี่-คล้าค"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ระหว่างที่คิมเบอร์ลี่ย์-คล้าค (ประเทศไทย) กำลังวุ่น ๆ อยู่กับการปรับองค์กรใหม่ให้ลงตัวหลังจากการเข้าเทกโอเวอร์บริษัทสก็อตเปเปอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกาของบริษัทแม่ ซึ่งส่งผลให้บริษัทกระดาษไทยสก็อตต์ จำกัด ต้องถูกยุบมารวมเข้ากับคิมเบออร์ลี่ย์-คล้าค (ไทย) เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ทั่วโลกนั้น บริษัท กระดาษเซลล็อกซ์ จำกัด ผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายกระดาษทิชชูทุนไทยรายเดียวที่ยืนหยัดต่อสู้กับบริษัทข้ามชาติอย่างคิมเบอร์ลี่ย์-คล้าค และไทยสก๊อตต์มานานกว่า 30 ปี จึงต้องปรับตัวรับสถานการณ์ไว้ก่อน

เพราะแม้จะยังมองไม่ออกว่าการสู้กับคู่แข่งรายเดียวแทนที่จะเป็น 2 รายเช่นในอดีตจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อตัวเองอย่างไร แต่ผลที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ สภาพตลาดกระดาษทิชชูมีการเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เซลล็อกซ์ ไทยสก๊อตต์และคิมเบอร์ลี่ย์เคยมีส่วนแบ่งทางการตลาดค่อนข้างใกล้เคียงกัน กลับกลายเป็นว่าเมื่อไทยสก๊อตต์ไปรวมกับคิมเบอร์ลี่ย์แล้ว คิมเบอร์ลี่ย์จะมีส่วนแบ่งตลาดถึงประมาณ 60-65% เป็นเจ้าตลาดที่ทิ้งห่างเซลล็อกซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ประมาณ 30% ไปโดยปริยาย

ยังโชคดีว่าเมื่อปีที่ผ่านมาราคาเยื่อกระดาษ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 50% ของต้นทุนการผลิตมีการปรับราคาสูงขึ้นตลอดปี ทำให้ธุรกิจนี้ไม่เหมาะกับการบุกตลาด เพราะยิ่งขายมากจะยิ่งขาดทุนมาก ทำให้ ดร. สมศักดิ์ วิวัฒนพนชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กระดาษเซลล็อกซ์ จำกัด ที่เข้ามาเป็นแม่ทัพต่อจาก "ประสิทธิ์ ณรงค์เดช" เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นผู้รับบทหนักในศึกครั้งนี้ ได้ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวไปในการปรับปรุงการบริหารงานของ 3 ฝ่ายหลัก คือฝ่ายการตลาด การเงินและโรงงาน ให้มีความแข็งแกร่งจนพร้อมจะต่อสู้กับคู่แข่งที่มีการรวมตัวกันพอดี

โดยฝ่ายการตลาดนั้น ดร. สมศักดิ์ ได้ชักชวน "กิ่งก้อย เพ็ญภาคกุล" อดีตมือดีของคิมเบอร์ลี่ย์-คล้าค ซึ่งคุ้นเคยกันตั้งแต่สมัยเขาเป็นผู้จัดการโรงงานที่นั่น ให้มานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2538 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับฝ่ายจัดจำหน่าย ฝ่ายโรงงานและลูกค้า

"กิ่งก้อย เพ็ญภาคกุล" ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญตลาดทิชชูเมืองไทยมากที่สุดคนหนึ่งทีเดียว เพราะไม่ว่าจะเป็น 7 ปีในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาดที่บริษัท ดีทแฮล์ม (ประเทศไทย) จำกัดหรือ 2 ปีกว่าในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัท คิมเบอร์ลี่ย์-คล้าคก็ดี สิ่งที่เธอทำตลอดช่วงเวลาดังกล่าวก็คือ การปลุกปั้นสินค้าของคิมเบอร์ลี่ย์-คล้าคให้เติบโต และแข็งแรง จึงแน่นอนว่าประสบการณ์ของเธอจะเป็นประโยชน์กับเซลล็อกซ์อย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีการเสริมทีมงานด้านการตลาดเพิ่มอีก 3 คนจากเดิมที่มีอยู่ 5 คน ซึ่งทีมงานดังกล่าวมีหน้าที่สำคัญในการเข้าไปเจรจากับบรรดาร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ที่เป็นช่องทางการจำหน่ายของเซลล็อกซ์ เพื่อให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันเป็นไปอย่างถูกต้องและรวดเร็ว

สำหรับฝ่ายการเงินนั้น ดร. สมศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทได้ลดต้นทุนการดำเนินงานลงด้วยการทำรีไฟแนนซ์ใหม่ เพื่อให้บริษัทมีสภาพคล่องมากขึ้น โดยมีบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นผู้ให้คำแนะนำในการหาแหล่งเงินทุนใหม่ทั้งในและต่างประเทศ จุดนี้จะช่วยให้บริษัทลดความเสียเปรียบคิมเบอร์ลี่ย์-คล้าค ที่สามารถกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากภายนอกประเทศเข้ามาใช้ได้

ส่วนด้านการผลิตหรือโรงงานนั้น เซลล็อกซ์ได้แต่งตั้ง "อุดม สุขนิยม" เข้ามารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตเพื่อทำหน้าที่ในการจัดวางระบบขั้นตอนการผลิตสินค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค

นอกจากนี้ยังมีการทดลองติดตั้งคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างฝ่ายการตลาด และฝ่ายผลิต เพื่อฝ่ายโรงงานจะได้นำข้อมูลทางการตลาดมาใช้ในการวางแผนการผลิตได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริษัทไม่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่ไม่จำเป็น

ดร. สมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากปรับปรุงการบริหารงานภายในเสร็จเรียบร้อย สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เซลล็อกซ์ได้เริ่มทำ และถือว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในการแข่งขันกับคู่แข่งของบริษัทก็ว่าได้นั่นคือ การมุ่งเน้นสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ "เซลล็อกซ์" โดยหวังจะให้เป็นแบรนด์ลีดเดอร์ในตลาดกระดาษทิชชูทุก ๆ ประเภทและทุกระดับ ทั้งกระดาษม้วน กระดาษเช็ดหน้า กระดาษเช็ดปาก ตลอดจนกระดาษอเนกประสงค์

จากเดิมที่บริษัท กระดาษเซลล็อกซ์ มีสินค้าอยู่หลายแบรนด์ด้วยกัน นอกจากยี่ห้อเซลล็อกซ์แล้วยังมียี่ห้ออื่น เช่น เซลล่า, เซลโล่ ดี,ซิลค์ หรือซิลค์ คอตต้อน เป็นต้น

"เพราะจาการสำรวจ เราพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคยกับยี่ห้อเซลล็อกซ์มากที่สุดในบรรดากระดาษทิชชูยี่ห้อต่าง ๆ เราจึงคิดว่าแทนที่จะกระจายงบประมาณในการทำตลาดให้กับหลาย ๆ แบรนค์อย่างอดีตเราควรจะหันมามุ่งสร้างแบรนด์เซลล็อกซ์แบรนด์เดียวให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนทางการตลาดของเราไปได้อย่างมาก" กิ่งก้อยกล่าว

จุดนี้เองที่เซลล็อกซ์หวังว่าจะทำให้บริษัทมีความคล่องตัวและได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคิมเบอร์ลี่ย์ คล้าค ซึ่งจะมีแบรนด์สินค้ามากมายให้ทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นเดลซี่ คลีเน็กซ์ สก๊อต เป็นต้น

กิ่งก้อยกล่าวถึงวิธีการที่จะทำให้แบรนด์เซลล็อกซ์เข้มแข็งว่า จะเริ่มจากการเพิ่มออกไลน์สินค้าใหม่ ๆ ให้ครบ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการแนะนำกระดาษม้วน "เซลล็อกซ์ จูเนียร์" เข้าสู่เซ็กเมนท์กระดาษทิชชูราคาต่ำ ซึ่งเป็นตลาดที่มีส่วนแบ่งอยู่ 18% ของตลาดทิชชูแบบม้วนซึ่งมีมูลค่า 2,400 ล้านบาท แต่เซลล็อกซ์ยังไม่ได้เข้าไปจับตรงนี้

พร้อมกันนี้ยังได้แนะนำกระดาษเช็ดหน้า "เซลล็อกซ์ ไวท์ ลินิน" เข้ามาทำตลาดเพิ่ม จากเดิมที่มี "เซลล่า" อยู่ในตลาดแล้ว เพราะมองว่าตลาดกระดาษเช็ดหน้าซึ่งมีมูลค่าตลาดประมาณ 500 ล้านบาท เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง 20% โดยปัจจุบันมีคิมเบอร์ลี่ย์ คล้าคเป็นผู้นำตลาดอยู่

นอกจากการแนะนำสินค้าใหม่ในชื่อเซลล็อกซ์แล้ว บริษัทยังวางแผนที่จะเปลี่ยนสินค้าที่เดิมใช้ยี่ห้ออื่นมาเป็นเซลล็อกซ์ด้วย โดยที่ผ่านมาได้เปลี่ยนชื่อกระดาษอเนกประสงค์เซลล่า คิดทาวเป็นเซลล็อกซ์ คิททาว ซึ่งในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแบรนด์ของกระดาษยี่ห้ออื่นด้วย

ดร. สมศักดิ์คาดว่า ในปีนี้บริษัทจะมียอดขายประมาณ 770-800 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10-15% ตามอัตราการเติบโตของตลาด

"การรวมกันของคิมเบอร์ลี่ย์ คล้าคและไทยสก๊อตต์ ไม่ได้ทำให้เราเสียเปรียบคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอำนาจการต่อรองกับร้านค้าอย่างที่หลาย ๆ คนมอง เพราะในประเทศไทยวงการค้าปลีกยังไม่แข็งแกร่งและเป็นผู้ควบคุมตลาดเหมือนอย่างอเมริกา ยังกระจัดการะจายกันอยู่" ดร. สมศักดิ์ยืนยันอย่างมั่นใจ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.