"รัชนี สวัสดิชูโต 17 ปีกับธุรกิจที่ต้องลุ้น...และต้องลุ้นต่อไป"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ปี 2536 ตลาดเมืองไทยได้มีโอกาสต้อนรับการหวนกลับมาของ "เมย์เบลลีน" เครื่องสำอางอันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง หลังจากต้องพับฐานกลับไปเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา

การกลับคืนสู่เวทีการแข่งขันครั้งที่ 2 ท่ามกลางคู่แข่งขันที่มีหนาตาขึ้นทั้งในระบบเคาเตอร์เซลและไดเร็กต์เซลส์ นับเป็นความพยายามของเมย์เบลลีน อิงค์ สหรัฐอเมริกาที่มองเห็นโอกาสที่จะขยายมาร์เกตแชร์ แช่นเดียวกับบริษัทข้ามชาติด้านเครื่องสำอางอีกหลายแห่งที่ทยอยเปิดตัวในไทย

ความได้เปรียบด้านสินค้าซึ่งเป็นเครื่องสำอางนำเข้าและการนำกลยุทธ์เรื่องราคาที่ต่ำกว่ามาเป็นจุดขาย ผนวกกับการฉีกแนวด้วยช่องทางจำหน่ายมาเป็นแบบแขวน (HANGING) ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีค่ายเครื่องสำอางรายใดนำมาใช้ในตลาด

ทำให้ช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาของการคืนสู่เวทีตลาดเมืองไทย เมย์เบลลีนกลับประสบความสำเร็จด้วยตัวเลขเติบโตถึงปีละกว่า 30% และปัจจุบันถือเป็นตัวเลขอัตราการเติบโตที่กลายเป็นสถิติสูงสุดของเมย์เบลลีนทั่วโลก

"เราศึกษาบทเรียนความล้มเหลวในอดีตเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าความผิดพลาดเกิดจากช่องทางการจำหน่ายและราคาขายที่สูงเกินไป เราต้องลบจุดอ่อน สร้างจุดแข็งเพื่อใช้เป็นข้อได้เปรียบด้านการแข่งขัน ซึ่งบริษัทแม่ก็รู้ถึงข้อผิดพลาดในอดีตและให้เงื่อนไขที่เราขอไป "รัชนี สวัสดิชูโต กรรมการผู้จัดการ บริษัท จิรา จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเครื่องสำอางเมย์เบลลีนกล่าวถึงความสำเร็จของเมย์เบลลีนกับ "ผู้จัดการ"

โดยเงื่อนไขพิเศษที่ทางบริษัท จิรา จำกัดได้รับจากบริษัทแม่ก็คือ การให้ไฟเขียวในเรื่องช่องทางจำหน่ายที่จะไม่ไปวางขายในซูเปอร์มาร์เกตเหมือนในอดีต และราคาสินค้าที่ต้องการันตีว่าใกล้เคียงกับราคาจำหน่ายในสิงคโปร์และฮ่องกง เพื่ออุดรอยรั่วในเรื่องการหันไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศแทน

บริษัท จิรา จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2522 โดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกคือเป็นตัวแทนจำน่ายเครื่องสำอางโคตี้ ซึ่งรัชนี สวัสดิชูโตรับช่วงมาจาดบริษัท ไฟเซอร์ เจ้าของเครื่องสำอางโคตี้ ซึ่งในขณะนั้นมีแผนที่จะหันมาเน้นธุรกิจหลัก 2 แผนกคือ แผนกยาคน และแผนกยาสัตว์ จึงตัดสินใจยุบแผนกเครื่องสำอางและมอบหมายให้บริษัทจิรา จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่าย

รัชนี สวัสดิชูโต นับเป็นหนึ่งในผู้บริหารของไฟเซอร์ ซึ่งเธอร่วมงานกับบริษัทแห่งนี้ถึง 18 ปี โดยในปี 2508 หลังจากไฟเซอร์ได้ซื้อกิจการโคตี้เข้ามาไว้ในมือและได้นำโคตี้เข้าสู่ตลาดเมืองไทย รัชนีก็ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลแผนกเครื่องสำอางโคตี้ เป็นต้นมาในตำแหน่ง REGINAL MANAGER

ปัจจุบันบริษัท จิรา จำกัดเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการจัดจำหน่ายเครื่องสำอาง โดยมีเครื่องสำอางในความดูแลคือโคตี้ และเมย์เบลลีน

เบื้องหลังที่ทำให้รัชนีตัดสินใจเป็นตัวแทนจำหน่ายเมย์เบลลีน เป็นเพราะเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เครื่องสำอางโคตี้มีการเปลี่ยนมือเจ้าของโดยไฟเวอร์ได้ตัดสินใจขายกิจการให้กับริษัท BENCKISER เจ้าของเครื่องสำอางแลงคาสเตอร์ ซึ่งมีนโยบายเน้นตลาดสหรัฐอเมริกา ทำให้ตลาดในภูมิภาคนี้มีความสำคัญน้อยลง

"เราเริ่มมองว่าเมื่อนโยบายเปลี่ยน ถ้าเราทำแต่โคตี้อย่างเดียวเราก็ไม่แน่ใจว่าจะได้รับการสนับสนุนเหมือนเดิมหรือไม่ พอดีทางเมย์เบลลีนติดต่อเข้ามาเราเห็นว่าเป็นไปได้น่าสนใจก็เลยทำซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเรารุกในส่วนเมย์เบลลีนมาก เพราะบริษัทแม่เขาสนับสนุนเต็มที่ ส่วนโคตี้ ด้านกิจกรรมการตลาดเราชะลอเพื่อดูท่าทีทางเจ้าของว่าจะมีสินค้าอะไรใหม่ ๆ ออกมาหรือเปล่าแล้วค่อยมาดูกันใหม่"

รัชนีเล่าให้ฟังถึงการผลักดันเมย์เบลลีนสู่ตลาดเมืองไทยในยุคเริ่มต้นว่า ก่อนการวางสินค้าในตลาด เธอวางเป้าหมายอันดับแรกคือการสร้างอิมเมจที่ดีให้กับสินค้าโดยการทำสัญญาจับมือกับเซ็นทรัลด้วยเงื่อนไขคือ 6 เดือนแรกของการหวนคืนสู่ตลาดเมืองไทย เมย์เบลลีนจะจำหน่ายเฉพาะที่ห้างเซ็นทรัลเท่านั้น

"เป็นการยกระดับอิมเมจของสินค้า เพราะเซ็นทรัลขึ้นชื่อในเรื่องการคัดเลือกสินค้าที่จะเข้าไปจำหน่ายอยู่แล้ว เมื่อผู้บริโภคเห็นสินค้าเราขายในเซ็นทรัลและเป็นสินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่าเครื่องสำอางนำเข้าทั่วไปก็ซื้อ เราประสบความสำเร็จมาก จนห้างอื่นสนใจต้องการให้เมย์เบลลีนไปจำหน่าย" รัชนีกล่าว

เครื่องสำอางค์เมย์เบลลีนนับเป็นเจ้าแรกที่นำช่องทางจำหน่ายระบบแขวนมาใช้ในประเทศไทย ปัจจุบันเครื่องสำอางจำหน่ายผ่านระบบแบบแขวนมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นช่องทางจำหน่ายที่มีผู้สนใจเข้ามาร่วมแข่งขันกันมากขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้อของคนไทยและเอื้อต่อการขยายจุดขายได้รวดเร็ว

ขณะนี้คู่แข่งรายสำคัญของเมย์เบลลีนก็คือโอซีซีและอินเตอร์เนชั่นแนลคอสเมติคส์หรือไอซีซีซึ่งแม้ทั้ง 2 บริษัทจะเป็นค่ายท้องถิ่น แต่ก็จัดเป็นค่ายที่มีความแข็งแกร่งในด้านเงินทุนและประสบการณ์

รัชนีกล่าวว่าการที่เครื่องสำอางแบบแขวนกลายเป็นตลาดที่มีค่ายผู้ประกอบการให้ความสนใจนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือเมย์เบลลีนคงจะต้องถูกแย่งมาร์เกตแชร์จากเดิมที่เคยถือครองอยู่ 100% แต่ข้อดีคือเป็นการกระตุ้นให้ตลาดเครื่องสำอางแบบแขวนเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้างขึ้น

NATURAL DEFENSE เครื่องสำอางสำหรับผิวหน้าโดยเฉพาะซึ่งทางเมย์เบลลีนส่งลงตลาดในปีนี้พร้อมแพคเกจจิ้งที่ปรับปรุงเพิ่มความสวยงาม คือกลยุทธ์เพิ่มความหลากหลายของสินค้าที่ทางจิรานำมาใช้เป็นจุดขายใหม่

"เป็นลูกเล่นใหม่เสริมเข้ามาเพื่อสร้างความหลากหลายเป็นการฉีกแนวจากคู่แข่งซึ่งเราจะนิ่งนอนใจไม่ได้ ขณะเดียวกัน NATURAL DEFENSE ยังเป็นกลยุทธ์เสริมที่จะทำให้เราสามารถเข้าใกล้สินค้าเคาน์เตอร์เซลส์มากขึ้น" รัชนีกล่าว

ขณะที่เมย์เบลลีนในไทยตั้งท่ากำลังติดลมบน ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางเมย์เบลลีน อิงค์บริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจขายกิจการให้กับลอรีอัล เอสเอ. แห่งปารีส

"แม้จะได้รับการยืนยันว่านโยบายไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีในอนาคตเขาอาจทวงคืน เราในฐานะผู้จัดจำหน่ายก็ต้องเตรียมพร้อม ซึ่งหากเราทำผลงานดีเขาก็อาจจะให้เราทำต่อ" รัชนีกล่าวด้วยน้ำเสียงเข้าใจในธรรมชาติของธุรกิจนี้ที่มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย

ทำให้ ณ วันนี้ รัชนี สวัสดิชูโต กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือการสร้างผลงานในการรักษามาร์เกตแชร์จากคู่แข่งในตลาดเครื่องสำอางแบบแขวนซึ่งเมย์เบลลีนเป็นผู้กรุยทางเป็นรายแรก กับอีกด้านคือการรักษาเมย์เบลลีนไม่ให้หลุดมือไป ซึ่งเธอเชื่อว่าตราบใดที่ยังสามารถสร้างผลงานให้ลอรีอัลเห็นว่า "เธอทำได้ !" ก็ไม่น่ามีปัญหา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.