เมืองไทยในฐานะสังคมขี้ฉ้อ

โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมติดตามศึกษา Corruption Perceptions Index (CPI) ซึ่งจัดทำโดย Transparency International (TI) ตั้งแต่ปี 2538 แล้ว มิอาจสรุปเป็นอย่างอื่น นอกเสียจากว่า เมืองไทยเป็นสังคมขี้ฉ้อ

ในโลกนี้ มีสถาบัน และองค์กรมากหลาย ที่เที่ยวไปสำรวจถามความเห็นบุคคลต่างอาชีพ ต่างสถานะ ต่างภูมิหลังในประเทศต่างๆ เกี่ยวกับสภาวะการฉ้อราษฎร์บังหลวง และประพฤติมิชอบ หลายต่อหลายองค์กรสำรวจความเห็นพ่อค้า นักธุรกิจ และนักลงทุนเกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงในประเทศ ที่ตนเข้าไปลงทุน และประกอบธุรกิจ Transparency International นำผลการสำรวจเหล่านี้มาประมวลจัดทำดัชนี ที่เรียกว่า Corruption Perceptions Index ประเทศ ที่มีการจัดทำ CPI จะต้องมีผลการสำรวจจากองค์กรอิสระ ที่เชื่อถือได้อย่างน้อย 3 องค์กร

CPI มิใช่ดัชนี ที่บ่งบอกข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง และประพฤติมิชอบ หากแต่เป็นดัชนีบ่งบอกทัศนคติ และความรู้สึก ของผู้คนเกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงในประเทศต่างๆ ความน่าเชื่อถือทางวิชาการของ Transparency International ทำให้ CPI ได้รับการยอมรับในระดับสากล ผู้นำประเทศ ที่ CPI มีค่าต่ำรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ เพราะถูมองว่าเป็นประเทศ ที่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง และประพฤติมิชอบอย่างแพร่หลาย

แม้ว่าจำนวนประเทศ ที่ TI จัดทำ CPI จะเพิ่มขึ้นจาก 41 ประเทศในปี 2538 เป็น 99 ประเทศในปี 2542 และลดลงเหลือ 90 มีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก กล่าวคือ อยู่ระหว่าง 13-15 ประเทศ (ดูตาราง ที่ 1)

เมื่อพิจารณาเป็นกลุ่มประเทศอาเซียใต้ อันประกอบด้วยอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ เป็นกลุ่ม ที่มี "กลิ่นเหม็น" โดยที่กลุ่มอาเซียนมีความเหม็นรองลงมา ในขณะที่กลุ่ม Asian NICs (ยกเว้นเกาหลีใต้) ญี่ปุ่น และอิสราเอลมีกลิ่นค่อนข้างสะอาด ด้วยรายละเอียดปรากฏในตาราง ที่ 1

หากเราถือว่า ประเทศ ที่ CPI มีค่าตั้งแต่ 5.0 ขึ้นไปเป็นประเทศ ที่มี "กลิ่นสะอาด" กล่าวคือ มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง และประพฤติมิชอบค่อนข้างน้อย จำนวนประเทศในอาเซีย ที่มี "กลิ่นสะอาด" ระหว่างปี 2538-2543 มีไม่มาก เพียง 5-6 ประเทศ โดยมีไม่เกิน 40% จำนวนประเทศในอาเซีย ที่มีการจัดทำ CPI (ดูตาราง ที่ 2-3)

สิงคโปร์ยึดตำแหน่งประเทศ ที่มี "กลิ่นสะอาด" มากที่สุดในอาเซียอย่างเหนียวแน่น ประเทศ ที่ "สอบได้" ทุกปี ได้แก่ ฮ่องกง และญี่ปุ่น อิสราเอล "สอบได้" ทุกปี ยกเว้นปี 2538 ที่ไม่มีดัชนี CPI ประเทศ ที่ "สอบได้" เกือบทุกปี ได้แก่ ไต้หวัน (สอบตกปี 2539) และมาเลเซีย (สอบตกปี 2543) เกาหลีใต้ "สอบได้" ในปี 2539 แต่สอบตกในปีอื่นๆ

เมื่อจัดทำ Corruption League ด้วยการรวบรวมประเทศ ที่มี "กลิ่นเหม็น" เรียงจากประเทศ ที่ CPI มีค่าต่ำไปยังประเทศ ที่ CPI มีค่าสูงโดยเลือกเพียง 10 อันดับในแต่ละปี (ดูตาราง ที่ 4 และ 5) เราจะพบว่ารายชื่อประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก หากเราถือว่าประเทศ ที่ CPI มีค่าตั้งแต่ 5.0 ขึ้นไปมี "กลิ่นสะอาด" และคัดประเทศเหล่านี้ออกจาก Corruption League Corruption League จะมีเพียง 8 ประเทศในปี 2538 และมี 9 ประเทศระหว่างปี 2539-2543 (ตาราง ที่ 4 และ 5)

อินโดนีเซีย และปากีสถานแย่งชิงตำแหน่งแชมป์ของ Corruption League โดยปากีสถานสวมเข็มขัดในปี 2539-2540 (ตาราง ที่ 4) นอกนั้น ตำแหน่งแชมป์ตกแก่อินโดนีเซีย บังกลาเทศน่าจะติด Corruption League อย่างต่อเนื่อง แต่หลุดจากอันดับ เนื่องจากมีปัญหาในการจัดทำ CPI

ไทยติด Corruption League ทุกปี โดยครองอันดับ 5 หรือ 6 (ตาราง ที่ 4 และ 5) ข้อที่น่าสังเกตก็คือ CPI ของไทยมีค่าต่ำกว่า 5.0 ทุกปี แสดงว่า "สอบตก" ทุกปี ปีที่ CPI มีค่าต่ำสุด คือ ปี 2538 (CPI=2.79) ส่วนปีที่ CPI มีค่าสูงสุด คือ ปี 2539 (CPI=3.33)

ในปี 2538 ไทยติดอันดับ ที่ 8 ของประเทศ ที่มีการฉ้ราษฎร์บังหลวงสูงสุดในโลก (จากจำนวนประเทศ ที่จัดทำ CPI 41 ประเทศ) ในช่วงปี 2541-2542 อันดับของไทยอยู่ ที่ 31-32 กระนั้น ก็ตาม ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ 35% แรก ที่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงสูงสุดในโลก

การที่ไทยมี CPI ต่ำกว่า 5.0 ตลอดระยะเวลาระหว่างปี 2538-2543 สะท้อนให้เห็นว่า สาธารณชนในสังคมไทย และสังคมโลกมองว่า ไทยเป็นประเทศ ที่มี "กลิ่นเหม็น" น่าประหลาด ที่ชนชั้นปกครองไทยมิได้รู้สึกอับอายจนถึงระดับ ที่จะดำเนินการชะล้างความโสโครก ในขณะที่มีการปราบปรามพ่อค้าแม่ค้า และคนจนด้วยข้ออ้าง ที่ว่า คนเหล่านี้ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ และสร้างความสกปรกแก่บ้านเมือง เหล่านักเลือกตั้งยังคงสมคบกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในการปล้นชาติต่อไป มิไยภาพลักษณ์ความโสมมจะปรากฏสู่มนุษยพิภพ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.