|

การเมืองฉุดจีดีพีปีนี้เหลือ3.2%
ผู้จัดการรายวัน(22 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
นักวิชาการประเมินการเมืองยืดเยื้อ ฉุดจีดีพีประเทศปีนี้เหลือ 3.2% เหตุโครงการเมกะโปรเจกต์ การลงทุนและการท่องเที่ยวจะชะลอตัวหมด แนะ "ทักษิณ"เว้นวรรค ไปเคลียร์ตัวเองให้จบก่อน
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจไทยภายใต้ผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองว่า ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 กรณี โดยกรณีแรก ไม่เกิดปัญหาทางการเมือง อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ และโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐมีการลงทุน 75.30% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัว 5.02% ดุลการค้าขาดดุล 11,249 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกจะขยายตัว 13.14% นำเข้าขยายตัว 14.25% ด้านการลงทุนขยายตัว 11.46% แบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 9.86% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 16% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5,781 ล้านเหรียญสหรัฐ
กรณีที่สอง สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง สามารถยุติได้ในระยะเวลาสั้น โดยจีดีพีประเทศจะลดลง 1.04% หรือขยายตัว 3.98% เนื่องจากเกิดการชะลอการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐในช่วงครึ่งปีแรก เหลือเพียง 56.17% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำให้ดุลการค้าขาดดุลลดลงเหลือ 10,947 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออกขยายตัว 13.14% แต่นำเข้าชะลอตัวลดลง 0.22% หรือขยายตัว 14.03% ขณะที่การลงทุนลดลง 3.09% เหลือเพียง 8.37% แบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชน 8.57% ลดลง 1.30% เนื่องจากต่างชาติไม่แน่ใจจึงชะลอการลงทุน และหันไปลงทุนประเทศอื่น เช่น เวียดนามแทน การลงทุนภาครัฐขยายตัว 8.73% หรือลดลง 8.17% เนื่องจากเกิดการชะลอลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ รวมทั้งโครงการบ้านเอื้ออาทร ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุล 5,650 ล้านเหรียญสหรัฐ
กรณีที่สาม สถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อ และไม่สามารถสานต่อนโยบายด้านการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งมีการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์เหลือ 37.05% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นด้านการลงทุนกลับมาได้ในปี 2549 จีดีพีประเทศ จะลดลง 1.82% หรือขยายตัวเหลือ 3.20% ดุลการค้าขาดดุล 10,362 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออกเพิ่มขึ้น 0.31% หรือขยายตัว 13.46% นำเข้าลดลง 0.45% หรือขยายตัว 13.80% โดยการลงทุนลดลง 5.93% หรือขยายตัว 5.54% แบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 7.16% หรือลดลง 2.25% เนื่องจาก ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาครัฐ ลดลง 16.35% หรือขยายตัวเพีง 0.35% เท่านั้น และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะขาดดุล 6,912 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองยืดเยื้อ 3 อันดับแรก จะเป็นธุรกิจในภาคบริการทั้งโรงแรม ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และศูนย์การจัดประชุม รองลงมาเป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เช่น เครื่องดื่ม และธุรกิจบริษัทโฆษณา เพราะธุรกิจต่างๆ จะมียอดขายตกลง ทำให้ชะลอการใช้จ่ายงบโฆษณา ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวนั้น พบว่าหากเป็นกรณีแรก ไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 439,888 ล้านบาท กรณีที่สอง รายได้จะลดลง 5% และหากยืดเยื้อกรณีที่สาม รายได้ท่องเที่ยวจะหายไปมากกว่า 10%
นายอัทธ์กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ มีความเป็นได้ที่จะเข้าขั้นกรณี 3 เนื่องจากเชื่อว่าจะต้องมีการเลือกตั้งอีกครั้ง หลังจากวันที่ 2 เม.ย. ที่มีการเลือกตั้งไปแล้ว เพราะความขัดแย้งจะยังไม่จบ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรียังเป็นคนเดิมคือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะมีการชุมนุมเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจจะไม่ดีขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะกลับมาทำโครงการเมกะโปรเจ็กต์ แต่ก็ไม่สามารถผลักดันเศรษฐกิจได้เหมือนเดิม แต่หากนายกรัฐมนตรีเสียสละลาออก และมีคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน เศรษฐกิจประเทศจะดีขึ้นมา เพราะการเมืองนิ่ง ด้านความเชื่อด้านเศรษฐกิจเป็นอีกเรื่อง เพราะมีความเป็นไปได้ว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่อาจจะไม่ดำเนินนโยบายของระบบทักษิณ แต่โดยรวมเศรษฐกิจดีกว่าทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี
"ในฐานะประชาชนหนึ่งเสียง อยากให้นายกฯ ทักษิณ เว้นวรรคทางการเมือง เสียสละลาออก โดยให้เคลียร์เรื่องการขายหุ้นชินคอร์ปของตัวเองให้จบก่อน แล้วค่อยกลับมาเป็นนายกฯ ใหม่ จะสง่างามและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเลือกตั้งแล้วพรรคไทยรักไทยกลับมาใหม่ เศรษฐกิจก็จะดีขึ้นเพราะว่าสานต่อโครงการต่างๆได้เลย และหากนายกฯ ไม่ใช่พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนในพรรคไทยรักไทย ก็จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นมากกว่านี้"นายอัทธ์กล่าว
สมคิดโยนบาปพันธมิตรฯทำลงทุนชะงัก
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รักษาการ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวก่อนการเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ยอมรับว่าการขอสิทธิพิเศษในการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) มีจำนวนที่ลดน้อยลงนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ว่าหารการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาลมีความยืดเยื้อก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะยาว
สำหรับ สถานการณ์การเมืองขณะนี้ประชาชนไม่มีอารมณ์ที่จะจับจ่ายใช้สอยเท่าที่ควร ส่วนเรื่องที่สภาหอการค้าระบุคาดว่า จีดีพีไตรมาส 1 ของปี 2549 อาจจลดลง 0.5-1 % นั้น ตนในฐานะรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ จะดูแลเรื่องดังกล่าวให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามเมื่อกล่าวถึงกรณีแกนนำพันธมิตรฯออกมาเดินขบวนรณรงค์ที่บริเวณ ถนนสีลม ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญขนาดใหญ่ เพื่อชักชวนให้นักธุรกิจออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีให้พ้นจากตำแหน่ง ว่าการเคลื่อนไหวของแกนนำพันธมิตรในครั้งนี้จะมีผลกระทบอย่างไรบ้างนั้น นายสมคิด ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|