"แบงก์ใหม่ จะสอบผ่านกันสักกี่ราย ?"

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

คาดว่าต้นเดือนเมษายนนี้ คณะกรรมการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง คงต้องเปิดรับสมัครผู้ประสงค์จะเปิดกิจการธนาคารพาณิชย์ใหม่อีกรอบหลังจากที่ทางคณะกรรมการฯ ยังไม่สามารถพิจารณาให้ใบอนุญาตต่อผู้ยื่นขอจัดตั้งธนาคารได้ครบ 5 แห่ง ตามที่กำหนดไว้

ผลความคืบหน้าจากกระทรวงการคลัง คาดว่าจะมีกลุ่มที่ผ่านการพิจารณาเพียง 3 กลุ่ม ซึ่งถือเป็นครึ่งเดียวของกลุ่มที่ยื่นขอเปิดธนาคารใหม่ทั้งหมด 6 กลุ่ม

การเสนอให้เปิดธนาคารแห่งใหม่ได้อีก 5 แห่ง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาระบบการเงินไทยเพื่อก้าวไปสู่ศูนย์กลางการเงินต่อไป ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง โดยมีวิจิตร สุพินิจผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานในการพิจารณาคัดเลือก เริ่มดำเนินการคัดเลือกมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2539

ผู้เสนอจัดตั้งธนาคารใหม่ 3 กลุ่มที่ค่อนข้างมาแรง คือ กลุ่มบริษัทเงินทุนเอฟซีไอ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟ และกลุ่มองค์การทหารผ่านศึก

เอฟซีไอ และ จีเอฟ เป็นกลุ่มที่หลายฝ่ายยอมรับมาตั้งแต่ต้นว่า เป็นกลุ่มที่มีองค์ประกอบการเป็นธนาคารที่ชัดเจนอาทิ เรื่องแหล่งเงินทุน กลุ่มผู้ร่วมตั้งธุรกิจทั้งระบบที่ประกอบอยู่และฐานลูกค้า ทำให้หากได้รับการพิจารณาให้จัดตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ ก็จะมีความมั่นคงและสามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่เดิมได้ โดยธนาคารจีเอฟจะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น

การเตรียมการของธนาคารจีเอฟที่จะตั้งสำนักงานใหญ่ที่ จ. ขอนแก่น หากเมื่อได้รับเลือกให้เปิดกิจการธนาคารแห่งใหม่ตามที่บริษัทเตรียมการมานาน ทุกอย่างก็พร้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่ตั้งสำนักงานใหญ่ที่จะขยายจากสาขาเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟสาขาขอนแก่น ที่มีพื้นที่เหลืออยู่มาก

นอกจากนี้จีเอฟ ยังมีธุรกิจที่จะเป็นตัวสนับสนุนและทำให้ขยายตัวไปอีกมากในพื้นที่ดังกล่าว ในฐานะผู้บุกเบิกในพื้นที่อีสานตอนบนมานาน อาทิ เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิพัฒนาลุ่มแม่น้ำสงคราม การมีธุรกิจโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ ใน จ. หนองคายที่อยู่ใกล้เคียง ก็เป็นหนึ่งในโครงการลงทุนโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำสงครามของกลุ่มจีเอฟ ที่จะขยายการลงทุนจากธุรกิจการเงินสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์อันมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท เศรษฐกิจของภูมิภาคตอนบนของภาคอีสานนอกจากขอนแก่น ยังมีอีก 4 จังหวัดในลุ่มแม่น้ำสงคราม คือ หนองคาย นครพนม อุดรธานี และสกลนคร ซึ่งล้วนเป็นแหล่งยุทธศาสตร์ทางธุรกิจที่จะเอื้อต่อการดำเนินงานของธนาคารจีเอฟที่สร้างพื้นฐานรอไว้นี้ และจะใช้เป็นจุดก้าวไปสู่เศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคใกล้เคียงด้วย

สำหรับกลุ่มจีเอฟ มีธุรกิจเดิม ประกอบด้วยบริษัทเงินทุนจีซีเอ็น บริษัทสยามเจเนอรัล แฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัทมอร์แกน เกรนเฟลไทย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมออมสิน บริษัทจีเอส แคปปิตอล คอร์ปปอเรชั่น และ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม

ขณะเดียวกันในกลุ่มเอฟซีไอ จะมีที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ที่ จ. ระยอง เช่นเดียวกับกลุ่มองค์การทหารผ่านศึก มีจุดเด่นที่จะใช้ในธุรกิจธนาคารพาณิชย์เมื่อได้รับอนุมัติ ก็คือ การที่มีพันธมิตรเป็นบริษัทประกันภัยถึงสองแห่งคือ บ. วิริยะประกันภัยและบริษัทนารายณ์สากลประกันภัย ซึ่งจะช่วยได้ดีในเรื่องของเครือข่ายสาขาของประกันภัยเกือบ 100 สาขานั้น จะเป็นรากฐานของธุรกิจการเงินในต่างจังหวัด ที่สามารถให้บริการระหว่างกันในกลุ่มและจะขยายตัวได้เร็วจากฐานของบริษัททั้งสองในต่างจังหวัดที่มีอยู่

ในทางกลับกัน บริษัทประกันภัยทั้งสองก็หวังว่าการจับมือเป็นพันธมิตรกับธุรกิจการเงิน จะช่วยส่งเสริมธุรกิจประกันภัยของตัวเองได้ดี

ส่วนด้านกลุ่มองค์การทหารผ่านศึก ซึ่งยื่นข้อเสนอมาเป็นกรณีพิเศษในฐานะธนาคารเพื่อการคลังและสิ่งแวดล้อมนั้น เมื่อได้รับการพิจารณาอนุมัติให้จัดตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ ก็จะต้องมีการตกลงกับคณะกรรมการอีกครั้ง เพื่อให้การบริหารงานของธนาคารเป็นไปตามนโยบายการคลังเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อมตามที่ตกลงจริง ๆ

กลุ่มธนาคารทหารผ่านศึก มีกลุ่มศรีมิตรเป็นแกนนำในการบริหารหากได้รับอนุมัติเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ และมี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ร่วมเป็นแกนนำจัดตั้งเกิดความคิดจากเหตุผลที่ว่า องค์การทหารผ่านศึกควรจะมีรายได้จากทางอื่น ๆ บ้างนอกเหนือจากรายได้เดิม ๆ ขององค์การที่มีแต่คงที่หรือบางกิจการก็ลดน้อยลงไป เช่น กิจการป่าไม้ เหมืองแร่ โรงพิมพ์ สำนักงานจำหน่ายสลากกินแบ่งและบุหรี่ สถานีบ่มใบยาสูบ เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้บางอย่างไม่สามารถทำรายได้ต่อไปได้ เนื่องจากนโยบายของรัฐและระบบการแข่งขันเสรีกดดัน

ความคิดที่จะหารายได้ให้องค์การ เพื่อชดเชยกับงบประมาณรัฐที่ไม่ได้ตามเป้า จึงเริ่มด้วยการร่วมยื่นขอตั้งธนาคาร นอกเหนือจากที่องค์การฯ ได้เข้าไปร่วมทุนในธุรกิจโรงพิมพ์ และธุรกิจเกษตรอื่น ๆ มาบ้างแล้ว และคิดว่าหากได้รับจัดตั้งธนาคาร สิ่งต่าง ๆ ที่องค์การฯ ได้ศึกษาไว้ เช่น ธุรกิจโรงแรม โรงพยาบาลซึ่งดูต้นแบบมาจากโรงพยาบาลทหารผ่านศึกของไต้หวันที่ทำรายได้กับองค์การของทหารอย่างมาก ก็จะทำให้องค์การฯ มีช่องทางทำธุรกิจขยายออกไปและมีรายได้เข้ามาชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป นอกเหนือจากเป้าหมายหลักของธนาคารผ่านศึกที่จะบริการสำหรับทหารที่เลิกรบแล้ว

ทั้งนี้เงื่อนไขพิเศษที่องค์เสนอไปก็คือ การให้กระทรวงการคลังผ่อนผันให้ฝ่ายทหารถือหุ้นใหญ่ 25% จากหลักเกณฑ์กำหนดไว้ให้ผู้ถือหุ้นของแต่ละธนาคารถือได้แห่งละ 5% เพื่อไม่ให้ธนาคารตกอยู่ในมือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยสิทธิ์ขาด

แต่ถึงจะมาแรง แต่ก็มีหลายเสียงมองว่า ธนาคารแห่งนี้อาจจะไม่ได้เกิดเพราะผิดเงื่อนไขหลายประการ ถ้าจะยอมกันคงมีคนรุมค้านมากมาย

เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ "ไม่ผ่าน" แบบรักษาหน้ากันไว้บ้างเท่านั้น

สำหรับอีก 3 กลุ่ม ที่คาดว่าจะไม่ผ่านการพิจารณาในครั้งนี้ก็คือ กลุ่มซิทก้า กลุ่มมาบุญครองฯ และกลุ่มอิตาเลียนไทยฯ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กันไป

กลุ่มซิทก้า สร้างความฮือฮาอย่างมากในการส่งเอกสารเพื่อยื่นขอจัดตั้งธนาคาร โดยมาก่อนเส้นตายปิดรับสมัครไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และเป็นกลุ่มที่ในสายตาคนทั่วไปคิดว่ามีความพร้อมเพราะเตรียมทั้งผู้จะมาเป็นกรรมการผู้จัดการไว้อย่างวีระ มานะคงตรีชีพ รวมถึงอ้างจุดแข็งของกลุ่มพันธมิตรที่มีความหลากหลายและเป็นระดับผู้นำการตลาด ทั้งองค์กรธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่เข้าตากรรมการ ซึ่งผู้บริหารของกลุ่มเองก็ทราบข่าวและยอมรับในเรื่องที่ผ่านสายตากรรมการไปแล้ว

กลุ่มมาบุญครอง ภายใต้การนำของคุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ก็คงได้อุบไต๋ต่อไปจากที่อุบมาตั้งแต่วันที่ยื่นสมัครตั้งธนาคารใหม่ จะด้วยเพราะสาเหตุอะไรก็คงไม่ทำให้กลุ่มมาบุญครองกระทบกระเทือนอะไรมากนัก เพราะคุณหญิงชนัตถ์เองก็เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าเรื่องการทำธนาคารเป็นเรื่องบังเอิญที่กลุ่มพันธมิตรเสนอมาให้มาบุญครองเป็นแกนนำ

ดังนี้แล้ว หากกลุ่มมาบุญครองจะบังเอิญไม่ได้ก็คงไม่เป็นไร

ส่วนกลุ่มอิตาเลียนไทยฯ ที่ร่วมด้วยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกสิน ซึ่งเข้ามาเป็นกลุ่มสุดท้าย คงต้องรอผลที่แน่นอนจากการแถลงของการธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ผ่านการพิจารณา

เพราะที่แน่ ๆ แม้แต่แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกจับตาว่าน่าจะสนใจในเรื่องจัดตั้งธนาคารใหม่ก็ยังเฉย ๆ และไม่รับรู้ต่อการที่บริษัท คิวเอช อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือบริษัทคิวเฮ้าส์ ที่โตมากับอกของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ไปเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นขอจัดตั้งธนาคารใหม่กับกลุ่มอิตาเลียนไทยฯ โดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่ควอลิตี้เฮ้าส์ตัดสินใจได้เองไม่เกี่ยวกับแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เพราะส่วนของแลนด์แอนด์เฮ้าส์เองถือหุ้นที่ควอลิตี้เฮ้าส์เพียง 7% และก็มีหุ้นธนาคารเอเชียของตนอยู่แล้ว จึงไม่คิดจะร่วมขอตั้งธนาคารใหม่กับใคร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.