พฤษภาคม 2529 เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ เดินออกจากรั้ววังบางขุนพรหม มาดูแลธนาคารกรุงเทพฯ
พาณิชย์การของครอบครัว ด้วยความคาดหวังเต็มเปี่ยมของคนรอบข้าง ทั้งผู้ใหญ่ในแบงก์ชาติและครอบครัวของเขาว่าจะกอบกู้ธนาคารแห่งนี้ให้ฟื้นแข็งแรง
มีนาคม 2539 แบงก์ชาติปฏิบัติการแข็งกร้าวที่สุด ในประวัติศาสตร์วิกฤตการเงิน
ยึดแบงก์บีบีซีฉับพลันให้กองทุนฟื้นฟูและเครือข่ายถือหุ้น 51% โดยเพิ่มทุนบวกวอแรนท์
11,000 ล้านบาท เพื่อหยุดยั้งสายป่านที่เขาสร้างไว้กับ ราเกซ สักเสนา จนธนาคารแทบไม่มีอะไรเหลือ
เกิดอะไรขึ้นกับทายาทรุ่นที่ 3 ของ 'อินทรฑูต' ผู้นี้ เขาสร้างตำนานอันเร้าใจบทนี้อย่างไร
ไม่รู้ว่ามันคือชะตากรรมหรือความบังเอิญกันแน่
20 มีนาคม 2529 อินทรฑูตรุ่นที่ 2 นำโดยอินทิรา ชาลีจันทร์ ปฏิบัติการยึดอำนาจบริหารธนาคารกรุงเทพฯ
พาณิชย์การจากธะนิต พิศาลบุตรโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า
สิบปีต่อมา 18 มีนาคม 2539 อินทรฑูตรุ่นที่ 3 โดยเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ก็ถูกธนาคารแห่งประเทศไทย
ปฏิบัติการเฉียบพลันเข้ายึดแบงก์บีบีซี อย่างแข็งกร้าวที่สุดในประวัติศาสตร์การกู้วิกฤตการณ์สถาบันการเงินไทย
บ่ายสามโมงเย็นของวันจันทร์ที่ 18 มีนาคมที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหมบนชั้น
4 ซึ่งเป็นชั้นผู้บริหารคราคร่ำไปด้วยนักข่าวที่ถูกเรียกด่วนเพื่อมาฟังแถลงข่าว
เรื่องวิกฤตการณ์แบงก์บีบีซี
ในห้องประชุมซึ่งใช้เป็นสถานที่แถลงข่าว เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพฯ
พาณิชย์การหรือบีบีซี นั่งเคียงข้างจรุง หนูขวัญผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อรับฟังรายละเอียดในการจัดการพร้อม
ๆ กับนักข่าวเกริกเกียรติดูเครียด แต่ยังสามารถเก็บความรู้สึกไว้ได้ดี
จรุง หนูขวัญแถลงข่าวอย่างออกรส "ในการแก้ปัญหาสถาบันการเงินแบงก์ชาติมี
2 ทางเลือก คือแบบเฉียบขาด สั่งเพิ่มทุนลดทุน เหมือนไมค์ ไทสัน ชกบรูโน กับอีกทางหนึ่งคือขอความร่วมมือแก้ปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไป"
แม้จรุงจะไม่ได้บอกตรง ๆ ว่าแบงก์ชาติจัดการกับบีบีซีแบบไหนในสองทาง แต่มติของแบงก์ชาติที่ออกมา
สามารถบอกกลยุทธ์ได้กระจ่าง
แบงก์ชาติใช้มาตรา 24 ทวิวรรค 3 พรบ. ธนาคารพาณิชย์ให้บีบีซีเพิ่มทุนติดต่อกันทันที
2 ครั้ง รวมวอแรนท์ แล้ว 11,000 ล้านบาท มตินี้ถือปฏิบัติทันทีโดยไม่ต้องขอมติผู้ถือหุ้น
โดยภายในเดือนเมษายนต้องเพิ่มทุน 5,000 ล้านบาทบวกวอแรนท์ 700 ล้านบาท
โดยออกให้ผู้ถือหุ้นเดิม 2,000 ล้านบาท บวกวอแรนท์ 700 ล้านบาท และให้กองทุนฟื้นฟูเข้าถือ
3,000 ล้านบาทในเดือนสิงหาคมให้เพิ่มทุนอีก 5,000 ล้านบาท วอแรนท์ 300 ล้านบาท
โดยต้องจดทะเบียน เพิ่มทุนกองแรกให้เสร็จภายในวันรุ่งขึ้น 19 มีนาคม 2539
และกองหลังให้เสร็จภายในวันที่ 22 มีนาคม
ภายหลังการเพิ่มทุนโครงสร้างผู้ถือหุ้นบีบีซีจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แบงก์ชาติโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟู
และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และกลุ่มธุรกิจอาทิ ตันติพิพัฒน์พงศ์ ธนาคารออมสิน
เจริญ สิริวัฒนภักดี ถือหุ้นรวมกัน 51%
ส่วนผู้ถือหุ้นเดิมคืออินทรฑูต และราเกซ สักเสนา ถูกลดสัดส่วนโดยปริยายเหลือไม่ถึง
30%
มันเป็นการสูญเสียอำนาจอย่างไม่คาดฝันของตระกูลอินทรฑูต
สามทหารเสือจากบางขุนพรหม
ย้อนอดีตไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2529
วันที่เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ หัวหน้าส่วนวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยเดินออกจากวังบางขุนพรหมเป็นวันที่ชะตาชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง
เช่นเดียวกับชะตากรรมของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ
แต่เขาไม่มีทางเลือก-พูดให้ถูก ก็คือ เขาเลือกไม่ได้มากกว่า ในเมื่อมารดาของเขาเพิ่งยึดอำนาจบริหารจาก
ธนิต พิศาลบุตรได้หมาด ๆ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
เขาเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของผู้ก่อตั้งแบงก์เป็นรุ่นที่ได้รับการศึกษาสูงจากต่างประเทศ
เขาจบปริญญาโท บริหารธุรกิจสาขาการเงินจากมหาวิทยาลัย วิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา
เมื่อจบกลับมาเขาทำงานที่ บงล. ภัทรธนกิจอยู่ได้แค่ 3 เดือนก็ลาออกไปอยู่แบงก์ชาติ
ตาของเขาคือ "พระพินิจชนคดี" ชาวจีนโพ้นทะเลที่ได้ดิบได้ดีหลุดเข้าไปในวงจรของผู้มีอำนาจ
ในสมัยนั้น ด้วยการผันตัวเองไปรับราชการตำรวจ และได้แต่งงานกับลูกสาวของพระองค์เจ้าคำรบ
(พระบิดาของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช)
ว่ากันว่าเขาเป็นลูกชายที่อยู่ในโอวาทของมารดามาตลอด
การตัดสินใจเดินออกจากแบงก์ชาติคราวนั้นเขาไม่เต็มใจนัก แต่เมื่อแม่ต้องการเขาก็ขัดไม่ได้ทั้ง
ๆ ที่เขารู้ตัวดีว่าสิ่งที่เขาต้องการคือการทำงานในภาคราชการ 10 ปีที่อยู่แบงก์ชาติเป็นช่วงชีวิตที่เขามีความสุขที่สุด
และไม่ต้องการจากมาเลย
ตอนจากแบงก์ชาติมา เขาก็ยังอุตส่าห์ขอให้ทำเรื่องยืมตัวเขามาโดยยังไม่ลาออกในทันที
และใช้วิธีต่ออายุกันปีต่อปีอยู่ถึง 3 ปีแรก
เขารู้สึกใจหายเมื่อเดินออกจากรั้วแบงก์ชาติ แต่ยังมั่นใจอยู่บ้าง ที่ไม่ได้มาคนเดียว
หากแต่มีเพื่อนร่วมทางจากแบงก์ชาติมาด้วยอีก 2 คน เอกชัย อธิคมนันทะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ,
และประภาส ประภาสโนบล หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์
"สามทหารเสือ" (ฉายาสมัยนั้น) เดินออกจากรั้ววังบางขุนพรหม ธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างภาคภูมิ
พร้อมแรงสนับสนุนและความคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมจากผู้ใหญ่ในแบงก์ชาติ
"ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ" คือบ้านหลังใหม่ที่เขาทั้งสามจะไปร่วมกันปัดกวาดซ่อมบำรุง
ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพทรุดโทรมรกรุงรังด้วย "หนี้เสีย" กว่า 8,000
ล้านบาท
เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ เป็นหัวเรือใหญ่ในตำแหน่งหมายเลข 1 ฐานะกรรมการผู้จัดการธนาคาร
ตัวแทนจากผู้ถือหุ้นใหญ่
เอกชัย อธิคมนันทะ อยู่ในฐานะหมายเลข 2 รองจากเกริกเกียรติ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อ
และควบผู้อำนวยการฝ่าย ประจำสำนักกรรมการผู้จัดการ ดูแลงานฝ่ายสินเชื่อทั้งหมดและช่วยจัดระบบงาน
ในฝ่ายสำคัญ ๆ ของแบงก์
เขาก็เป็นเด็กที่มีผลการเรียนดีมากหัวไว เรียนรู้อะไรอย่างรวดเร็ว และสนใจติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด
ประภาส ประภาสโนบล มารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกรรมการผู้จัดการ ดูแลงานประชาสัมพันธ์
ไม่มีใครรู้ว่าการเดินทางสู่ความสำเร็จในมโนภาพ เต็มไปด้วยขวากหนามเป้แห่งความหวังที่พวกเขาสะพายบนหลังหนักขึ้นทุกทีที่ก้าวขาเดินจนเขาแทบจะสลัดมันทิ้งไป
บทเรียนอันแสนแพง
3 ปีแรกในแบงก์บีบีซี โลกแห่งความจริงสอนบทเรียน แก่เขาและเพื่อนร่วมงานมากมายเป็นบทเรียนที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโลกบนหอคอยในรั้วบางขุนพรหม
แม้ครั้งนั้นเขาจะเคยมีประสบการณ์ร่วมแก้ไขวิกฤตการณ์ มาแล้วก็ตาม
บทที่หนึ่ง การจัดการลูกหนี้
เอกชัย เปิดฉากตะลุยชนิด "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" กับลูกหนี้ที่มีปัญหา
เริ่มต้นที่กลุ่ม เสถียรภาพ อุตสาหกรรม ผู้ผลิตเซรามิก ของตระกูล "จุลไพบูลย์"
สุดยอดลูกหนี้ซึ่งสอนมวยบีบีซีอย่างเจ็บแสบ
เดือนมีนาคม 2531 ปฏิบัติการยึดโรงงานได้เริ่มขึ้นเอกชัยขนนักข่าวขึ้นรถตู้เพื่อเป็นประจักษ์พยานในการยึดสมรภูมิโรงงานเสถียรภาพเซรามิก
ปรากฎว่าลูกหนี้เป็นมวยกว่าขออำนาจศาล พิทักษ์ทรัพย์สินจนเอกชัยถอยกลับมาแทบไม่ทันนักข่าวที่ร่วมขบวนจึงได้ข่าวใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม
ยุทธภูมิต่อมา แบงก์ฟ้องเรียกหนี้บริษัทเอื้อวิทยาในปี 2532 บริษัท เป็นหนี้แบงก์
800 ล้านบาท แต่ปรากฎว่าเจอลูกหนี้ฟ้องกลับมาเรียกค่าเสียหายกว่าถึง 5 แสนล้านบาท
มากกว่ามูลหนี้ที่แบงก์ฟ้องเอาไว้ถึง กว่า 600 เท่าตัว
รายที่ 3 โรงงานใบยาสูบที่ เชียงใหม่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะประสบความสำเร็จ
บทที่สอง การแข่งขันในเกมธุรกิจ
สาขาต่างจังหวัดของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ มีความขลัง และได้เปรียบแบงก์อื่นตรงที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีที่สุด
"คุณไปดูสาขาแต่ละแห่งของธนาคารสิอย่างสาขาท่าแพ เชียงใหม่นี่เห็นทำเลแล้วต้องบอกว่า
มีแบงก์บีบีซี ของท่านอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมชเท่านั้นจึงจะสามารถได้มา"
นายแบงก์ใหญ่แห่งหนึ่งให้ความเห็น
ทว่านั่นไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดของความสำเร็จ
การแข่งขันหาเงินฝากและปล่อยสินเชื่อด้วยกลยุทธ์ดอกเบี้ย เป็นไปอย่างดุเดือนในยุคนั้น
ทว่า ยอดเงินฝากและสินเชื่อที่ปรากฎในบัญชี แบงก์บีบีซี ส่วนใหญ่ได้มาด้วยสายสัมพันธ์พิเศษ
กับผู้ถือหุ้นมากกว่าการแย่งชิงเงินฝากจากประชาชน แต่ก็พอช่วยเพิ่มการเติบโตของสินเชื่อและเงินฝากยุคนั้นได้บ้าง
บทที่สาม บุคลากรและการจัดการ
แบงก์บีบีซีมีอายุ 42 ปี ในขณะที่เกริกเกียรติอายุเพียง 39 ปี สิ่งที่เขาต้องเผชิญคือบรรดาข้าเก่าเต่าเลี้ยงที่อยู่แบงก์มา
20-30 ปี ด้วยความซื่อสัตย์รักองค์กรแต่ทว่ายากต่อการปรับตัว
เมื่อทีมงานเกริกเกียรติเข้าไป บีบีซี ก็แตกเป็นสองส่วนที่ยากจะประสานกันกลุ่มหนึ่งคือคนรุ่นใหม่ไฟแรงได้เงินเดือนสูง
อีกกลุ่มหนึ่งคือคนเก่าแก่ที่อยู่มานาน
5 ปีต่อมา ประภาส ประภาสโนบลจากโลกนี้ไปทีมประชาสัมพันธ์มืออาชีพทั้งหลายที่ประภาสดึงเข้ามาช่วยก็ทยอยอำลาแบงก์ไป
การจัดการให้องค์กรมีประสิทธิภาพจึงไม่ใช่เรื่องง่ายในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
มันเป็นอีกโลกหนึ่งที่ยากแสนเข็นสำหรับเขาที่จะปรับตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน
สมัยอยู่แบงก์ชาติ เพียงแค่ทำตามหน้าที่ที่มีผู้ใหญ่สั่งงานลงมาอีกทอดหนึ่งให้สำเร็จก็ถือว่าสอบผ่าน
ซึ่งไม่เหมาะกับชีวิตที่ถูกบ่มเพาะมาแบบผู้ดีเก่าอย่างเขา
แต่บีบีซีหาใช่แบงก์ชาติไม่ ย่างเข้าปีที่ 4 และ 5 เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ถือหางเสือนำพาแบงก์บีบีซี
เข้าสู่การพลิกผันครั้งใหญ่
ช่วงปี 2533-2534 เป็นยุคทองของตลาดหลักทรัพย์ แต่เป็นยุคอับของตลาดเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำเพราะถูกตรึงเพดานไว้
หนักไปกว่านั้น รัฐบาลประกาศรับพันธะมาตรา 8 และประกาศผ่อนคลายปริวรรตเงินตรา
สร้างบรรยากาศการแข่งขันในตลาดการเงิน เพื่อรับมือกับการเปิดเสรีภาคบริการตามแรงกดดันของ
GATS (ปัจจุบันเป็นองค์กร WTO)
แบงก์ชาติ เริ่มมีนโยบายเปิดให้ธนาคารต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจใน BIBFS
(BANGKOK INTERNATIONAL BANKING FACILITES)
สภาพแวดล้อมใหม่กดดันเกริกเกียรติมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาเริ่มวิตกว่าแบงก์บีบีซี
ต้องดำรงอยู่อย่างไร ในกติกาใหม่ของโลกการเงิน ?
ท่ามกลางความหวังอันมืดมิดเกริกเกียรติเริ่มมองเห็นแสงสว่างลาง ๆ
ยุคนั้นกิจกรรมในตลาดทุนคึกคักผู้คนในแวดวงการเงินต่างแสวงหาช่องทางธุรกิจใหม่
ๆ ที่กำลังจะตามมา อาทิธุรกิจเวนเจอร์ แคปิตอล (สถาบันการเงินร่วมทุนกับบริษัท
ลูกค้าตั้งแต่เริ่มจากนั้นผลักดันให้เข้าตลาดแล้วขายหุ้นทำกำไร) ธุรกิจในตลาดหุ้นนอกตลาด
(OVER THE COUNTER MARKET) เป็นต้น
ในวงนี้ มีราเกซ สักเสนา เป็นตัวชูโรงตอนนั้นเขายังเป็นที่ปรึกษาอยู่ที่
บงล. สหธนกิจไทย
ต้นฤดูร้อนของปี 2533โรงแรมจุลดิศเขาใหญ่เต็มไปด้วยผู้บริหาร ระดับกลางถึงสูงของสถาบันการเงินหลายแห่งในงานสัมมนาเรื่องธุรกิจเวนเจอร์
แคปิตอล เอกชัย อธิคมนันทะ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บีบีซี เป็นหนึ่งในผู้ที่ให้ความสนใจไอเดียของราเกซมากและ
เอกชัยก็เป็นสะพานเชื่อมราเกซ ไปยัง เกริกเกียรติ
"ความต้องการของราเกซ กับผู้บริหารแบงก์บีบีซี เป็นเหมือนแม่เหล็กต่างขั้วกัน
พอเจอกันก็ดูดเข้าหากันทันที ราเกซมีโมเดลใหม่ที่เห็นดอกผลสวยงามรออยู่ข้างหน้า
แต่จะสำเร็จได้ยากหากไม่มีแบงก์สนับสนุน ขณะที่แบงก์กำลังมองหาวิธีสร้างรายได้เข้ากระเป๋าอยู่พอดี"
ผู้บริหารระดับสูงในวงการแบงก์พาณิชย์วิเคราะห์ให้ฟัง
เมื่อแม่เหล็กทั้งสองขั้วมาเจอกัน ชะตากรรมของแบงก์ บีบีซีก็เหวี่ยงไปตามเส้นแรงแม่เหล็กแท่งใหม่
ราเกซได้รับเชื้อเชิญเข้ามาเป็นที่ปรึกษาธนาคารบีบีซีในที่สุดหลังจากอกหักกับวิชัย
อัสสรัตน์แห่ง บงล. สหธนกิจไทย
นับแต่นั้นตำนานอันลือลั่นเร้าใจแห่งทศวรรษของบีบีซีก็เริ่มขึ้น
ราเกซ & ตั้ว เราจะไม่พรากจากกัน
การตบมือข้างเดียวไม่ดังฉันใด ฉันนั้น ตำนานอันอื้อฉาวนี้เกิดขึ้นไม่ได้
ถ้าคนทั้งสอง-เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ และราเกซ สักเสนา- ไม่ร่วมมือกัน
เกริกเกียรติยกมุมหนึ่งบนชั้น 8 อาคารแบงก์สตางค์แดง ถนนจันทร์ให้เป็นที่ปักหลักของราเกซ
เขาจะเข้าแบงก์เกือบทุกวันจันทร์-เสาร์ ห้องทำงานแห่งนี้ราเกซ ให้เป็นที่ปฏิบัติการธุรกิจ
ราเกซ เป็นผู้จุดประกาย แสงสว่างท่ามกลางความหวังที่มืดมิดของเกริกเกียรติ
นับตั้งแต่ราเกซเข้ามา โครงสร้างของแบงก์บีบีซีเริ่มมีการขยับขยายสร้างสายงานใหม่
อาทิ สายงานวาณิชธนกิจ, บริหารเงิน, ฝ่ายต่างประเทศ ราเกซไม่มีตำแหน่งอะไรในแบงก์นอกจากที่ปรึกษาแต่ทุกคนในแบงก์ทราบดีว่าสายงานนี้ราเกซดูแลโดยตรง
เกริกเกียรติเริ่มมองเห็นอนาคตที่พอจะเป็นความหวัง สร้างรายได้ให้แบงก์ท่ามกลางการย่ำอยู่กับที่ของธุรกิจดั้งเดิมปล่อยสินเชื่อ
เพื่อกินส่วนต่างจากดอกเบี้ยเงินฝาก
ราเกซ จัดอยู่ในขั้นอัจฉริยะ ทว่าเขาใช้ความปราดเปรื่องไปในการสร้างเกมธุรกิจที่ซับซ้อนหลากชั้น
และเมื่อเกริกเกียรติ ยอมให้เขาผูกเงื่อนไขธุรกิจของบีบีซี เกมทั้งหมดก็อยู่ในอุ้งมือราเกซ
เขาค่อย ๆ หยั่งรากลงในบีบีซีอย่างช้า ๆ รอเพียงจังหวะและโอกาสมาถึงเท่านั้น
ในที่สุดวันที่ราเกซรอคอยก็มาถึง
ปี 2535 สภาพแวดล้อมในตลาดทุนไทยเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
16 พฤษภาคม องค์กรกำกับ ดูแลตลาดทุนเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) เป็นผู้คุมนโยบาย
เดือนตุลาคม ปีเดียวกันนั้น รัฐบาลชวน หลีกภัย ก็สร้างผลงานชิ้นโบแดง ด้วยการกำจัดพฤติกรรมสร้างราคาหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์
เป้าหมายของรัฐพุ่งไปที่พฤติกรรมของสอง วัชรศรีโรจน์ นักลงทุนชื่อดัง ซึ่งขณะนั้นได้แจ้งแก่
ก.ล.ต.ว่าซื้อหุ้นในบีบีซีเกินกว่า 5% รวมแล้วเป็นสัดส่วนถึง 10% และราคาหุ้นแบงก์บีบีซีได้พุ่งสูงติดต่อกันมากกว่าสองสัปดาห์ในช่วงต้นเดือนตุลาคม
(2-15 ตุลาคม)
ภาพของทั้งสองฝ่าย คือ สอง วัชรศรีโรจน์-เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ในช่วงแรกสับสนพอสมควร
ไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นศึกเทกโอเวอร์ช่วงชิงแบงก์ หรือร่วมมือกันสร้างราคาหุ้นกันแน่
รัฐมนตรีคลังยุคนั้น ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องของการเทคโอเวอร์
เพราะพบว่าสองใช้เงินไปเพียง 25% ในการซื้อหุ้นบีบีซีกว่า 10% ของการจดทะเบียนแบงก์
ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 728 ล้านบาท ส่วนอีก 25% เป็นมาร์จินจากโบรกเกอร์
ทว่าราเกซ สักเสนา ช่วงชิงออกข่าวใหญ่โตว่า สอง วัชรศรีโรจน์ กำลังจะยึดแบงก์
เชื่อว่าสองมีหุ้นในมือ 24% แต่เกริกเกรียติก็พร้อมที่จะสู้
ฝ่ายเกริกเกียรติเองถึงกับงง ที่นายราเกซพูดจาเป็นคุ้งเป็นแคว ได้ขนาดนั้นได้แต่ออกมาชี้แจงว่า
ขณะนี้เขารู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่บริหารแบงก์ต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหา ผู้ถือหุ้นฝ่ายเขานั้นรวมแล้ว
54% ที่ราเกซพูดอะไรนั้นเขาไม่รู้เรื่องด้วย
สุดท้ายผู้ที่ได้ ประโยชน์สูงสุดจากสถานการณ์นี้ก็คือ ราเกซ สักเสนา
ราเกซ ใช้ยุทธวิธีบิดประเด็นให้กลายเป็นเรื่องชิงอำนาจในการเทคโอเวอร์
เขาแสดงบทซีเรียส ท้ารบกับสอง วัชรศรีโรจน์ ยืนข้างเกริกเกียรติ และอาสาจะเป็นตัวกลางให้เกริกเกียรติ
และสองจับเข่าคุยกัน เพื่อเคลียร์ไม่ให้เกิดความสับสนกับผู้ถือหุ้น และพนักงานแบงก์
ถ้ามีรางวัลออสการ์สำหรับนักธุรกิจตุ๊กตาทองคงต้องตกเป็นของราเกซ เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบีบีซี
เริ่มหวั่นไหวไปกับบทบาทของเขาจะเป็นเรื่องจริง หรือไม่ไม่ทราบถ้าจริงผู้ถือหุ้นก็ต้องตัดสินใจเดินเกมต่อต้านการเทคโอเวอร์
แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องจริงการป้องกันเอาไว้ก็ไม่เสียหายอะไร
เกริกเกียรติ ตัดสินใจเรียกใช้ราเกซ สักเสนา เพราะเรื่องแบบนี้ไม่มีใครเหมาะสมเท่าเขาอีกแล้ว
กองทัพของราเกซ เคลื่อนพลเข้าบีบีซีอย่างเป็นทางการโดยมีเจ้าของบ้านเปิดประตูต้อนรับ
นำขบวนโดยบริษัทซัพพอร์ต ซีสเต็มซึ่งผู้ถือหุ้นร่วมกันระหว่างราเกซ และผู้บริหารบีบีซี
เช่นเอกชัย อธิคมนันทะและผู้ถือหุ้นบางส่วน เช่นจิตตสร ปราโมช ณ อยุธยา ฯลฯ
ร่วมกับบริษัทลูก คือ บ. ฟาร์ม เวนเจอร์ส บ. สเปเชียล แอสเซ็ท บ. แม่ฮ่องสอนเวนเจอร์ส
บ. เทรเชอร์รี่แมเนจเมนท์ถือหุ้นในบีบีซีรวมกันประมาณ 12%
ความจริงราเกซเตรียมการ ไว้เมื่อหลายปีก่อน เขาให้บริษัทเหล่านี้ซื้อหุ้นแบงก์บีบีซีไว้จำนวนหนึ่งเมื่อราคายังถูกกว่า
(ราว 15 บาทต่อหุ้น)
ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ากันว่ามีหุ้นอีกจำนวนหนึ่ง โอนลอยไว้ที่ราเกซ เผื่อกรณีฉุกเฉิน
ราเกซ เป็นผู้ถือหุ้นแบงก์ที่มีสิทธิ์และเสียงอย่างเต็มภาคภูมิเขาผูกปมแรกในบีบีซีสำเร็จแล้ว
ความเย้ายวน
เกริกเกียรติ สังเกตเห็นความผิดปกติเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน เมื่อ ดร. วีรพงษ์
รามางกูร ที่ปรึกษาคณะกรรมการธนาคารซึ่งแบงก์ชาติส่งเข้ามาเริ่มเตือนเขาว่าควรจะระวังชาวอินเดียคนนี้ไว้ให้มาก
ๆ
ทว่าคุณสมบัติประการหนึ่งของราเกซที่พอจะชดเชยความไม่สบายใจของเกริกเกียรติได้บ้างก็คือ
ราเกซเป็นนักธุรกิจประเภท "กินแบ่ง" ไม่ใช่ "กินรวบ"
เมื่อราเกซ ทำธุรกิจแล้วแบ่งปันให้แบงก์บ้าง คนรอบข้างบ้าง ผลประโยชน์ก็ลงตัว
เพียงแต่คนที่ทำธุรกิจกับราเกซต้องตกลงกันก่อนว่าต้องปล่อยให้ราเกซเป็นผู้คุมเกมแต่เพียงผู้เดียว
เกริกเกียรติดูจะเข้าใจในกติกานี้ดี
ปี 2536-2537 เป็นปีที่แผนการของราเกซ ออกดอกออกผลอย่างเต็มที่
โครงสร้างบีบีซี ถูกจัดเป็นสองสาย
สายหนึ่ง ธุรกิจดั้งเดิม เป็นฐานรายได้จากดอกเบี้ย ซึ่งได้แก่ การให้สินเชื่อเงินฝากรวมทั้งกิจการสาขาทั้งหมด
ขึ้นตรงต่อ ดร. วีรพงษ์ รามางกูร
อีกสายหนึ่ง ธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ในรูปค่าธรรมเนียม ทุกคนรู้ดีว่าราเกซเป็นหัวเรือใหญ่
แล้วราเกซก็สร้างกิจกรรม ทางธุรกิจขึ้นมาราวกับเนรมิต
ปลายปี 2536 ธนาคารมีรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย 1,064 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง
9.4% ของรายได้รวม (11,284 ล้านบาท) บีบีซีครองแชมป์สัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมสูงที่สุดในธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบ
ซึ่งมีสัดส่วนเฉลี่ยเพียง 3-5% ของรายได้รวม
สิ้นปี 2537 รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยกระโดดขึ้นถึง 100% เป็น 2,134 ล้านบาท
ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพียง 16%
ผลงานของราเกซทำให้กำไรสุทธิของแบงก์เพิ่มขึ้นจากปี 2536 ถึง 107% จาก
240 ล้านบาท เป็น 525 ล้านบาท
การประชุมผู้ถือหุ้นปีนั้น แบงก์ก็สามารถจ่ายเงินปันผลได้เป็นครั้งแรกในรอบ
5 ปีในอัตราหุ้นละ 0.5 บาทต่อหุ้น จากที่ก่อนหน้านั้นไม่สามารถจ่ายปันผลได้
ผลงานของราเกซปรากฎชัดเจนชนิดทิ้งห่างกับสายธุรกิจดังเดิมพร้อมๆ กับปมที่ราเกซผูกไว้ก็แน่นเข้าไปอีก
ปมซ่อนเงื่อนของราเกซ
ในค่ายกลราเกซผูกเงื่อนไขซ้อนไว้หลายชั้น พันธนาการทั้งเกริกเกียรติ และบีบีซีด้วยเงื่อนไขพิสดาร
ยิ่งดิ้นยิ่งรัด
ปมหนึ่ง ราเกซผูกตัวเกริกเกียรติไว้ด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจส่วนตัว
ช่วงปี 2535 เกริกเกียรติ และราเกซร่วมทุนกันซื้อกิจการในตลาดหลักทรัพย์แวนคูเวอร์
ชื่อ ALGONQUIN MINERAL INC. ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บ. เอเชียน โฮลดิ้ง
ถือหุ้นกันคนละครึ่ง จำนวน 1 ล้านกว่าหุ้น หุ้นละ 15 เซ็นต์ (1 เหรียญ แคนาดา=
20 บาทในปีนั้น)
อีกปมหนึ่ง ราเกซมัดโครงสร้างของธนาคารไว้แน่นหลายชั้น
ชั้นแรก อยู่ที่แหล่งที่มาของเงินอันเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงธนาคาร
ปี 2536-2537 แบงก์บีบีซีอยู่ในสภาพขาดเงินมาหล่อเลี้ยงชีวิต ต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน
3,000 ล้านบาท, ต้องมีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทเพื่อขยายธุรกิจตามกฏเงินกองทุน
ต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่แบงก์ชาติกำหนด
ราเกซดึงแบงก์บีบีซีไประดมเงินมาจากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะคูเวตเป็นเงินกู้สกุลดอลล่าร์
ดอกเบี้ยต่ำกว่าแหล่งเงินในตลาดการเงินในโลกสำคัญ อาทิ สิงค์โปร์ นิวยอร์ก
จนบีบีซีเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่อาศัยแหล่งระดมทุนจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
วิธีนี้แบงก์จะได้เงินกู้ต้นทุนต่ำกว่าเงินฝากสกุลบาท เป็นเท่าตัว
ในส่วนของผู้ถือหุ้น ราเกซดึงสถาบันการเงินและนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นในบีบีซี
ในปี 2538 เมื่อแบงก์ชาติให้เพิ่มทุน เกริกเกียรติก็พลิกมติที่ประชุมให้การเพิ่มทุน
200 ล้านหุ้น นั้นขายให้กับนักลงทุน เฉพาะเจาะจงแทนที่จะขายให้ประชาชนทั่วไป
โดยอ้างว่าภาวะตลาดไม่ดี
อาทิ OBLI USA.INC. (ถือหุ้นบีบีซี 38 ล้านหุ้น) INTERNATIONAL CREDIT
BROKERAGE HOLDING N.Y. (ถือหุ้น 14 ล้านหุ้น), ICB HOLDING IN FAVOR OF
SAVING BANK OF RUSSIAN REDERATION (ถือ 38 ล้านหุ้น) บ. พรีเชียส ชิปปิ้ง
(15 ล้านหุ้น)
ชั้นที่ 2 ยุทธศาสตร์ที่ราเกซบรรจงผูกเงื่อนไขไว้คือ ใช้เงินของแบงก์ไปลงทุนอย่างพิศดาร
นั่นคือที่มาของสินเชื่อเทคโอเวอร์อันลือลั่น
ราเกซรับบทเป็นที่ปรึกษาในการเทคโอเวอร์ส่วนแบงก์บีบีซีปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ซื้อกิจการ
โดยมีหุ้นของบริษัทโอนลอยจำนำไว้ที่แบงก์ทั้ง 100% และอสังหาริมทรัพย์มาค้ำประกันอีกส่วนหนึ่ง
บริษัทที่เป็น เป้าหมายก็คือ บริษัทที่มีผลการดำเนินงานตกต่ำ ราเกซได้ของถูกเพราะซื้อไว้เมื่อหลายปีก่อนตอนที่ยังไม่มีใครสนใจ
ปี 2536-2537 ตลาดหุ้นเริ่มกระเตื้องขึ้น จึงได้เวลา "ปล่อยของ"
ตรรกะของราเกซก็คือ เมื่อผู้เข้าพื้นฟูบริษัทใหม่ สามารถสร้างมูลค่าให้กับบริษัทราคาหุ้นย่อมเพิ่มขึ้น
ถึงเวลานั้นเมื่อนำหุ้นออกขาย ทุกคนก็จะได้กำไรส่วนต่างจากราคาที่เพิ่มขึ้น
วิธีนี้แบงก์จะมีรายได้จากค่าที่ปรึกษาพร้อมกับยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น
ผู้ซื้อเดินมาตัวเปล่าเพียงมีอสังหริมทรัพย์จำนวนหนึ่งมาจำนองไว้กับแบงก์ก็สามารถมีสิทธิกู้เงินไปซื้อหุ้น
เมื่อราคาหุ้นขึ้น ก็ขายเอากำไร และนำเงินมาชำระหนี้
ส่วนตัวกลางคือราเกซ จะมีหุ้นเดิมในบริษัท นั้นที่ตัวเองกว้านซื้อไว้ในต้นทุนต่ำกว่าทุกคน
ส่วนต่างกำไรก็สูงขึ้น
ทุกคนได้ประโยชน์หมด ถ้า...ราคาในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มดังที่ต้องการ
แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ก็มีแต่ราเกซที่ลอยตัว เพราะไม่มีอะไรที่จะเสียเนื่องจากหุ้นที่ซื้อมาก็ราคาต่ำอยู่แล้ว
ส่วนแบงก์ก็ค่อยหาทางล้างหนี้ต่อไป
บังเอิญที่ความหวังอันสวยหรูของราเกซ ไม่เป็นไปตามนั้น บีบีซีจึงเจอปัญหาเช่นในทุกวันนี้
เพียง 2 ปี ราเกซสร้างวีรกรรมกับบริษัทถึง 16 บริษัท ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในจำนวนนี้มีถึง
11 บริษัทที่แบงก์บีบีซีปล่อยกู้ให้กับผู้ซื้อมูลค่าตามตัวเลขที่ปรากฎในงบการเงินปี
2537 สูงถึง 5,000 ล้านบาท
ในวังวนนี้ นักการเมืองกลุ่ม 16 อาทิ สุชาติ ตันเจริญ, มะไข่ซอ, สรอรรถ
กลิ่นปทุม, ชูชีพ และชูชาติ หาญสวัสดิ์ ฯลฯ รวมทั้งนักธุรกิจการเมืองอย่างไพโรจน์
เปี่ยมพงษ์สานต์เป็นเพียงตัวประกอบในบทที่ราเกซเขียนเท่านั้น
ชั้นที่ 3 ราเกซยังนำเงินแบงก์บีบีซีไปหารายได้ในรูปแปลก ๆ
มีข่าวปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า บีบีซีปล่อยกู้ให้กับสาธารณรัฐนาอูรูเพื่อไปก่อสร้างสาธารณูปโภค
ขณะที่โครงการสาธารณูปโภคในไทย ยังต้องการเงินอีกจำนวนมหาศาล
ซื้อ BRADY BAND ซึ่งเป็นตราสารที่ออกโดยประเทศที่กำลังพัฒนาในประเทศโลกที่สามเช่นเม็กซิโก,
ประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา, ฟิลิปปินส์ เพื่อหาเงินมาชำระหนี้รัฐบาลอเมริกา
และอีกหลายประเทศตราสารเหล่านี้ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน
ราเกซยังสวมหมวกเป็นตัวกลางในการจัดจำหน่ายตราสารต่างประเทศ
อาทิ จัดจำหน่ายตราสารการเงินของบริษัทในตะวันออกกลาง เช่น NATIONAL IRANIAN
STEEL CO.,LTD. ประเทศอิหร่าน มูลค่า 63 ล้านเหรียญ ในรูป PRIVATE PLACEMENT
เป็นตัวแทนจำหน่ายกองทุนของแบงก์ SCANDINAVE (GENEVA) ฯลฯ
ยังมีปมเล็กปมน้อยที่ซ่อนอยู่ในเงื่อนไขใหญ่ที่กล่าวมาแล้วอีก
อาทิ เขาจัดการให้บีบีซี โดยเกริกเกียรติ เซ็นสัญญาว่าจ้างกับ MBF ASIA
CAPITAL (THAILAND) และบริษัท CONSOLIDATED ACCEPTANCES AUSTARALIA เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบีบีซีเป็นจำนวน
8,000 ล้านบาท
แต่อีกมุมหนึ่ง บีบีซีกก็ปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัท CONSOLIDATED ACCEPTANCES
AUSTRALIA และบริษัท ASSET RISK MANAGEMENT ซิดนีย์ ออสเตรเลียด้วยเช่นกัน
ราเกซ ชักชวน EFFECT CREDIT BANK ในรัสเซียมาทำ ASSET SWAP กับบีบีซีซึ่งส่วนหนึ่งนั้นคือการแลกหุ้นกับแบงก์ด้วย
เขาวางเกมแต่ละส่วนให้เกี่ยวโยงกันเป็นโดมิโนซึ่งเมื่อเริ่ม เดินแล้วก็มีแต่ต้องเดินหน้าตามกติกาที่เขาวางไว้เท่านั้น
เพราะต้องพยุงไว้ไม่ให้ตัวหนึ่งตัวใดล้มลง
ถึงตอนนี้อะไรก็หยุดราเกซไม่ได้เพราะทุกส่วนของบีบีซีถูกพันธนาการไว้หมดแล้วคนที่จะสางปมนี้ก็มีแต่เขาเท่านั้น
!
กระนั้นก็ตาม เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์กลับยินยอมที่จะให้ราเกซมัดไว้ ตราบเท่าที่ตัวเลข
รายได้ค่าธรรมเนียมปี 2537 พุ่งไปถึง 600 ล้านบาทเป็นผลงานจากสายสัมพันธ์ราเกซประมาณ
5 ส่วน อีก 1 ส่วนคือค่าธรรมเนียมดั้งเดิมจำพวกการเปิดแอลซี
ปลายปี 2537 เกริกเกียรติ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอย่างมั่นใจว่าทิศทางของแบงก์บีบีซีจะมุ่งเน้นที่รายได้ค่าธรรมเนียมในการเป็นที่ปรึกษา
และนายหน้าค่าตราสารในต่างประเทศ ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะเติบโตขึ้นอีก 10%
จากปีที่ผ่านมา
ข้อน่าสังเกตก็คือ สายสัมพันธ์ของราเกซ นั้นล้วนแต่ "ไกลเกินเอื้อม"
อาทิ อัดนัน คาช็อคกี นายหน้าค้าอาวุธแห่งตะวันออกกลาง ซึ่งปรากฎชื่อผู้เข้ามาซื้อ
บ. ชลประทานซีเมนต์, เอสวีไอและภูเก็ตไอร์แลนด์
เจ้าชายนาวาฟ พระญาติเจ้าชายไฟซาล กษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีชื่อพร้อมๆ
กับอัดนัน คาช็อคกี เข้ามาซื้อ บ. มรกต อินดัสทรี, เอสวีไอ
เจ้าชายซอรับ เทคโคธัส ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับรัสเซีย ปรากฎชื่อเข้าซื้อหุ้น
บ. ภูเก็ต ไอร์แลนด์ รีสอร์ท
ฯพณฯ อาลี เช็คกาลี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรณีและประธานบริษัท NATIONAL
IRANIAN STEEL ที่เซ็นสัญญาร่วมกับผู้บริหารแบงก์บีบีซีในการเป็นตัวแทนจำหน่ายตราสารทางการเงิน
63 ล้านบาท เมื่อกลางปี 2537
เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ รับทราบทุกขั้นตอนที่เกิดขึ้น และรู้ว่าชะตากรรมของบีบีซี
กำลังก้าวไปสู่สิ่งที่ยากต่อการควบคุมมากขึ้นทุกที ทว่าเขาตัดสินใจเดินหน้าต่อ
โดมิโนล้ม
ตัวต่อโดมิโนของราเกซในบีบีซีมีอันต้องสั่นคลอน ในตอนปลายปี 2537 เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ
และประกาศนโยบายการเงินว่าในปี 2538 หนึ่งในมาตรการที่จะเข้มงวด คือการปล่อยสินเชื่อเพื่อการเทคโอเวอร์ของธนาคารพาณิชย์
ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า แบงก์บีบีซีคือเป้าหมายของมาตรการนี้
ผนวกกับกฎเหล็กของแบงก์ชาติที่ให้แบงก์พาณิชย์หยุดรับรู้รายได้ทันทีที่ลูกหนี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่คุ้มหนี้และค้างชำระเกินกว่า
6 เดือน วิธีนี้บีบีซีต้องสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น
ภาวะตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปลายปี 2538-2539 ต้นปี อยู่ในสภาพซบเซาดัชนีตลาดไม่ขึ้นดังที่ควร
ความหวังที่แบงก์จะเรียกชำระหนี้จากสินเชื่อที่ปล่อยเพื่อการเทคโอเวอร์เริ่มมองไม่เห็น
ขณะที่แบงก์ชาติเริ่มเข้มงวดนับแต่ปี 2538 เป็นต้นมาแบงก์ชาติเร่งรัดแผนเข้าแก้ไขบีบีซีหนักขึ้น
กำหนดให้แบงก์ส่งแผน เพื่อปรับปรุงและแก้ไขปัญหาของแบงก์หนึ่งในแผนนั้นคือแบงก์จะต้องเพิ่มทุนและเรียกชำระให้ครบ10,700
ล้านบาท และยังส่งปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปเป็นกรรมการบีบีซี
เมื่อ ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาบีบีซี แบงก์ชาติก็ถือโอกาสเปลี่ยนแปลงโดยให้
พชร อิศรเสนา อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ขึ้นเป็นประธานบอร์ดบริหาร
11 เมษายน 2538 เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ขอแก้มติผู้ถือหุ้นที่จะขายให้ประชาชน
2,000 ล้านบาทที่จะต้องขายให้ประชาชนทั่วไป มาขายให้กับผู้ถือหุ้นเฉพาะกลุ่ม
ซึ่งก็ได้แก่บรรดาต่างชาติซึ่งเป็นสายสัมพันธ์ของราเกซ แทบทั้งสิ้นอีก 2,000
ล้านบาทเป็นการขายให้กับผู้หุ้นเดิม
หลังจากที่สิ้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานกรรมการแบงก์ผู้มีอิทธิพลระดับสูงของไทยเมื่อวันที่
9 ตุลาคม 2538 บีบีซีก็เริ่มถูกรุมเร้าหนักขึ้น
กุมภาพันธ์ 2539 ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีคลังในรัฐบาลบรรหาร
ศิลปอาชา เปิดเกมเป็นระลอกพุ่งเป้าไปที่เส้นทางการเงินของนักการเมืองกลุ่ม
6, นักธุรกิจการเมืองที่หาประโยชน์จากเงินฝากประชาชน เตรียมหามาตรการเอาผิดกับเกริกเกียรติ
ชาลีจันทร์ ผู้บริหารบีบีซี
โดมิโนตัวแรกล้มลง การซื้อขายสมประสงค์แลนด์ ที่บีบีซี ร่วมกับบริษัทชลประทานซีเมนต์
หรือ JCC ร่วมกันซื้อ บริษัท ซูเปอร์บล็อค ซึ่งเป็นบริษัทลูกของสมประสงค์
กลับมีอันต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลงเอยได้
ตามด้วยการหยุดชะงักการซื้อขาย บริษัทอีสเทิร์นไวร์ (EWC) ของ JCC ให้กับ
ORIN EXPORT บริษัทในเครือของกองทัพโซเวียตที่ผลิตอาวุธก็ต้องพับไป
แผนล้างหนี้ที่แบงก์ปล่อยไปเพื่อการเทคโอเวอร์ต่าง ๆ จึงมีอันต้องล้มพับไปแถวโดมิโนจึงล้มครืน
ราเกซ อ้างว่าดีลต่าง ๆ ต้องพับไปเพราะข่าวที่ออกมาในเชิงลบ แต่เหตุที่สำคัญกว่านั้น
คือการคุมเข้มของบอร์ดบีบีซีชุดใหม่ซึ่งตั้งกฎไว้ว่าสินเชื่อในวงเงินที่เกินกว่า
10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องขออนุมัติจากบอร์ดและแน่นอนว่าบอร์ดไม่ยอมอนุมัติเงินเพื่อต่อสายป่านของราเกซทุกอย่างจึงถูกกระทบเป็นลูกโซ่
มกราคม 2539 แบงก์ชาติ เริ่มแข็งกร้าว บังคับบีบีซีให้เพิ่มทุน 2 รอบภายในปี
2539 อีกรวมจำนวนทั้งสิ้น 7,700 ล้านบาท ในทันที หลังจากหมดความอดทน จากวิธีการแก้ปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไป
เกริกเกียรติ พยายามดิ้นทุกวิถีทางที่จะไม่ให้แบงก์ชาติเข้ามา
เมื่อแบงก์ชาติ ส่งกรรมการเข้ามา 2 คนคือ ชูศรี แดงประไพ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับ
และพัฒนาสถาบันการเงิน และประจวบ พันธุมจินดา ผู้ช่วยผู้ว่าการจากธนาคารแห่งประเทศไทย
เกริกเกียรติก็เตรียมใช้สิทธิผู้ถือหุ้นจากกลุ่มผู้หุ้นต่างชาติฝั่งราเกซ
ตั้งกรรมการ เข้ามาด้วยเช่นกัน
หรือแม้แต่การที่แบงก์ชาติประกาศจะให้กองทุนฟื้นฟูเข้ามาถือหุ้น เขาก็โต้กลับทันทีว่ามตินี้เป็นการเพิ่มทุนให้ผู้หุ้นเดิม
หากหุ้นขายไม่หมดค่อยว่ากัน
18 มีนาคม 2539 แบงก์ชาติจึงตัดสินใจเข้าจัดการกับบีบีซีอย่างเฉียบพลันตามมาตรา
24 ทวิวรรค 3 ว่าด้วยความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มทุนหรือลดทุน
เพื่อให้แบงก์พยุงฐานะและสามารถดำเนินการต่อไปได้ แบงก์ชาติสามารถสั่งให้มีการเพิ่มทุน
หรือลดทุนได้ทันที คำสั่งนี้ถือเป็นมติประชุมผู้ถือหุ้นทันที
เกริกเกียรติ ประหลาดใจพอ ๆ กับนักข่าวที่มาฟังแถลงข่าวในวันนั้น ไม่คิดว่าการจัดการปัญหาแบงก์บีบีซีของแบงก์ชาติครั้งนี้
จะจู่โจมแบบไม่ทันให้ตั้งตัว
เขานั่งเท้าคางฟังแถลงการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย จากจรุง หนูขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการอย่างครุ่นคิด
เขาไม่ตอบคำถามอะไร นอกจากสรุปเพียงสั้น ๆ ว่า "คุณจรุงว่าอย่างไร
ก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรขัดข้องเมื่อคุณขอมาเราก็ให้อยู่แล้ว" ก่อนจะเดินฝ่าวงนักข่าวออกไปขึ้นรถที่ประตูแบงก์ชาติ
ตำนานการต่อสู้อันเร้าใจของอินทรฑูต สิ้นสุดลงด้วยฝีมือของเขา "เกริกเกียรติ
ชาลีจันทร์"