"อัครพงษ์ ไทยานนท์ ถึงเวลาของเขาแล้วแม่ทัพใหม่ "เพรีกรีนนิธิ"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

เดือนเมษายนนี้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เพรีกรีนนิธิจะบุกธุรกิจเงินทุนอย่างเป็นทางการภายใต้การบริหารงานของแม่ทัพหนุ่มมืออาชีพ คืออัครพงษ์ ไทยานนท์ ขณะที่ศรีพร สุทธิพงษ์ เป็นกรรมการผู้จัดการสาวหน้าหวานเสียงใสยังคงดูแลธุรกิจหลักทรัพย์

นี่คือนิมิตหมายของการเตรียมตัวขยายอาณาจักรสินทรัพย์ธุรกิจใหญ่โตในอนาคตอันใกล้ เพื่อการแยกเป็นบริษัทเงินทุนกับบริษัทหลักทรัพย์ เพรีกรีน นิธิ

สำหรับคนทิสโก้ชื่ออัครพงษ์ ไทยานนท์เป็นที่รู้จักกันดี เพราะอัครพงษ์ทำงานทิสโก้ไม่ต่ำกว่า 11 ปี มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อที่สานสัมพันธ์ลูกค้าที่ดี จนเป็นที่จับตาของแมวมองเฮดฮันเตอร์ที่มองหากรรมการผู้จัดการคนใหม่ด้านธุรกิจเงินทุนให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ตะวันออกหรือที่รู้จักกันในนามภาษาอังกฤษ ว่า "เพรีกรีน นิธิ" อันเกิดจากความร่วมมือระหว่าง บงล. นิธิภัทรกับพันธมิตรธุรกิจอย่างเพรีกรีน ซีเคียวริตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัท โอสถสภา โฮลดิ้ง บริษัทศรีไทยซุปเปอร์แวร์ และกลุ่มบริษัทไทยวาที่ร่วมกันซื้อหุ้นส่วนใหญ่ บงล. ตะวันออกในปี 2535-2536

เพรีกรีนนิธิจึงเป็นน้องใหม่อายุสามขวบที่มีใบอนุญาตทำธุรกิจได้ครบ 8 ใบแต่ในช่วงสามปีที่ผ่านมาเพรีกรีนนิธิจะเน้นทำธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งกลุ่มเพรีกรีนมีความเชี่ยวชาญผลกำไรปี 2537 กำไรเพิ่มขึ้น 76% จากปี 2536 และปีที่แล้วก็มีกำไรเพิ่มขึ้น 110% จากปี 2537 แม้จะประสบปัญหาสภาวะซบเซาของตลาดหุ้นไทย

"เราหวังว่าปี 2539 นี้ไม่ควรน้อยหน้าปีที่แล้วเพราะปีนี้เราจะเน้นหนักด้านธุรกิจเงินทุนซึ่งได้คุณอัครพงษ์มาเป็นเอ็มดีและเริ่มทำงานกันเมื่อปลายปีที่แล้ว ขณะเดียวกันปีนี้เราจะทำธุรกิจควบคู่กับธุรกิจ FIX INCOME ซึ่งกลุ่มเพรีกรีนเป็นผู้นำในการทำธุรกิจตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชียนี้ นอกจากนี้เรายังมีวาณิชธนกิจ (อินเวสเมนท์แบงกิ้ง) ที่มีดีลสำคัญระดับข้ามชาติที่จะดึงมาลงทุนในไทย" ศรีพร สุทธิพงษ์ กรรมการผู้จัดการด้านธุรกิจหลักทรัพย์เล่าให้ฟัง

จากทิสโก้ อังครพงษ์เริ่มต้นที่เพรีกรีนนิธิในเดือนตุลาคม ช่วงสามเดือนแรกอัครพงษ์ได้ระดมสร้างทีมงานของเขาขึ้นมาที่ตั้งไว้ต่ำกว่า 50 คน โดยเริ่มต้นชักชวนเพื่อนเก่าอย่างวรศักดิ์ พิทธวงศ์เข้ามาเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ วรศักดิ์ผู้นี้ท่องยุทธจักรการเงินถึง 14 ปี โดยเริ่มต้นชีวิตทำงานที่ทิสโก้ที่ซึ่งเขาเคยร่วมงานกับอัครพงษ์ 6 ปี และย้ายมาอยู่สินอุตสาหกรรม 2 ปี จากนั้นหาญเกียรติเฟื่องฟูก็ชวนมาทำเอกสิน ก่อนที่จะมาที่เพรีกรีนนิธิ

"แผนปีแรกเราตั้งเป้าไว้ 4 พันล้าน อย่างแรกเราต้องขยายสินทรัพย์ใหญ่ขึ้นพอที่จะทำธุรกิจต่าง ๆ ได้ เงินทุนจดทะเบียนที่ 500 ล้านบาทนั้นทำให้เราปล่อยสินเชื่อได้เพียงรายละ 100 ล้านกว่าบาทเท่านั้น ทำให้เราต้องทำงานหนักเพื่อหาลูกค้ามากรายขึ้น แต่คิดในแง่ดีก็ทำให้เราสามารถสานสัมพันธ์ลูกค้าได้มากขึ้น ทำธุรกิจได้มาก ฐานลูกค้าเก่าเราก็มี แต่ก็ต้องหากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่จะทำให้ขยายฐานได้กว้างขึ้น" แม่ทัพใหม่ด้านธุรกิจเงินทุนของเพรีกรีนนิธิเล่าให้ฟัง

การปรับตัวของเพรีกรีนนิธิในการรุกตลาดธุรกิจเงินทุนในยุคเปิดเสรีการเงินนี้ กลุ่มเพรีกรีนที่ฮ่องกง คือขุมพลังอันแข็งแกร่ง ที่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายที่จะสนับสนุนทิศทางการปล่อยสินเชื่อแบบคอร์ปอเรทไฟแนนซ์ที่เจาะพื้นที่ลูกค้าอุตสาหกรรม ลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคล และลูกค้ารายย่อยในแต่ละพื้นที่ลูกค้าอย่างน่าจับตา

ขณะเดียวกันธุรกรรมทางการเงินที่กลุ่มเพรีกรีน เชี่ยวชาญ อัครพงษ์กล่าวว่ามีครบ 7 ขา ตั้งแต่คอร์ปอเรทไฟแนนซ์ ที่ปรึกษาการลงทุนตรง นายหน้าค้าหลักทรัพย์ธุรกิจตราสารหนี้ ธุรกิจบริหารกองทุน ธุรกิจตราสารอนุพันธ์และธุรกิจปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ได้กลายเป็นธุรกิจครบวงจรที่ขยายฐานลูกค้าของอัครพงษ์ได้อย่างเห็นผล

"เพรีกรีนกรีปนี้เป็นกลุ่มที่กำลังโตและเขาให้ความสำคัญกับเมืองไทยมากเพราะไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญจุดหนึ่งที่มีศักยภายเติบโตสูง ดังนั้นจึงอยากโฟกัสที่ประเทศไทย หากมีโปรดักส์ใดที่เขาคิดว่าสามารถเปิดตลาดไทยได้ เขาจะรีบมาทำทันที" อัครพงษ์กล่าวอย่างมั่นใจในขุมพลังความรู้ความเชี่ยวชาญที่สนับสนุนอยู่

นอกจากที่กลุ่มเพรีกรีนรีบรุกเข้ามาในธุรกิจเงินทุนแล้ว อัครพงษ์ยังยอมรับว่างานในส่วนของบริษัทเพรีกรีนฟิกอินคัม (PFIL) ต้องรุกตลาดธุรกิจตราสารหนี้ที่กำลังเติบโตเพราะคาดว่าดอกเบี้ยจะลดในปี 2539 ทำให้ความต้องการเงินทุนของธุรกิจเอกชนมากและคาดว่าอัตราเติบโตจะเป็นเลขสองตัวในอีก 2-3 ปีหรือโตมากกว่า 20% ต่อปี

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เกิดการแถลงข่าวเปิดตัว "อาเชียน เครดิต รีเสิร์ช 1995" สองเล่มหนาหนักที่มีเนื้อหาวิจัยครอบคลุมบริษัทในอินโดนีเซียเล่มหนึ่ง และอีกเล่มเจาะบริษัทในไทย ฮ่องกงและมาเลเซีย จะแสดงถึงความพยายามของผู้บริหารตลาดตราสารหนี้อย่าง AAMIR RAHIM ที่เน้นภารกิจสร้างตลาดบอนด์ให้เกิดในไทย ขณะเดียวกันทีมงานนักวิเคราะห์ทำเครดิตรีเสริชภายใต้การนำของ JARDEEP KRISHNA ก็เสริมด้วยงานวิจัยที่น่าสนใจ

งานนี้อัครพงษ์ยืนฟังอยู่ข้างหลังอย่างเงียบ ๆ มิได้ขึ้นเวทีเหมือนศรีพร เพราะยังไม่ถึงเวลาของอัครพงษ์ที่จะเปิดตัวต่อสาธารณชน รอจนกว่าเตรียมพร้อมเต็มร้อยเมื่อนั้นอัครพงษ์จะลั่นกลองรบแต่จะคว้าชัยชนะได้ขยายฐานธุรกิจหรือไม่ เพรีกรีนนิธิมีคำตอบ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.