|

ไทยเรยอนรุกธุรกิจกระดาษในลาวลง1.5พันล.ผุดรง.-ปลูกยูคาลิปตัส
ผู้จัดการรายวัน(20 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ไทยเรยอน เซ็นสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลลาว เพื่อดำเนินธุรกิจปลูกป่ายูคาลิปตัส และก่อสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ คาดใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 1.5 พันล้านบาท
นางมยุรี ณ รังศิลป์ เลขานุการบริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) หรือ TR แจ้งความคืบหน้าโครงการร่วมลงทุนในประเทศลาว ว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2549 บริษัทได้ลงนามในสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลประเทศลาว โดยตัวแทนจากคณะกรรมการวางแผนและการลงทุน (ซีพีไอ) เป็นผู้ร่วมลงนาม สาระสำคัญของสัญญาดังกล่าว 2 ประเด็นหลัก
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2548 ได้อนุมัติให้ TR ลงทุนในบริษัท เบอร์ล่า ลาว พัลพ์ และแพลทเทชั่น จำกัด ประเทศลาว มูลค่า 7.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 310 บาท เพื่อดำเนินกิจการปลูกป่าต้นยูคาลิปตัส แล้วนำผลผลิตที่ได้มาผลิตเป็นเยื่อกระดาษ
สำหรับรายละเอียดของสาระสำคัญในสัญญาฉบับดังกล่าว ประเด็นแรก บริษัทและบริษัทในเครือเบอร์ล่าจากประเทศอินโดนีเซียและอินเดีย ร่วมลงนามในกรรมสิทธิ์การใช้ที่ดินจำนวน 50,400 เฮกเตอร์ (ประมาณ 315,000 ไร่) เป็นเวลา 75 ปี เพื่อพัฒนาและดำเนินการปลูกป่าจำนวน 3 แห่ง และสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ
ประเด็นที่สอง โครงการร่วมลงทุนแบ่งออกเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรก ปลูกป่าในเฟสนี้ใช้เวลาประมาณ 7 ปี มูลค่าการลงทุน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการลงทุนโดยผู้ถือหุ้น 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 30 คิดเป็น 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 310 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นการกู้ยืมอีก 25 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนเฟสที่ 2 โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ การลงทุนในเฟสที่ 2 จะขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของเฟสที่ 1 ว่าผลผลิตจากการปลูกป่ามีพัฒนาการที่ดีเพียงใด บริษัทจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษในปีที่ 6 ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปี โดยผลผลิตที่ได้จะนำใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตเส้นใยเรยอนต่อไป ผู้ใช้เยื่อกระดาษส่วนใหญ่คือผู้ถือหุ้น
สำหรับเงินลงทุนในเฟส 2 นี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการลงทุนโดยผู้ถือหุ้น 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินกู้ยืมอีก 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้น 30% คิดเป็นเงินลงทุนในเฟส 2 ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ การลงทุนในเฟสที่ 2 จะต้องได้รับการอนุมัติและความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ผู้ถือหุ้น ตามข้อบังคับของบริษัทและตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ของข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อ 31 สิงหาคม 49 มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 60 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 เรื่องการเปลี่ยนแปลงนโยบายจ่ายเงินปันผล โดย คณะกรรมการได้มีมติให้แก้ไขข้อความนโยบายเงินปันผลดังนี้ การจ่ายเงินปันผลจะตัดจ่ายจากกำไรที่เป็นเงินสด หลังจากพิจารณาสำรองเงินเพื่อการดำเนินกิจการและการลงทุนตามความเหมาะสม
ข้อความดังกล่าวได้เปิดเผยไว้ในรายงานประจำปี 2548 ซึ่งจัดส่งให้ผู้ถือหุ้น และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ซึ่งได้จัดส่งให้หน่วยงานกำกับดูแลคือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและ กลต. ตลอดจนได้จัดส่งข้อมูลทางออนไลน์ เพื่อเผยแพร่ให้ผู้เกี่ยวข้องเพื่อทราบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548ที่ผ่านมา
ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกสิ้นสุด 31 ธันวาคม 49 พบว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ 231.42 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 441.22 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 11.48 ล้านบาท ส่วนงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 21.89 ล้านบาท เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้น(พาร์) จาก 10 บาทเหลือ 1 บาทเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|