"ประภัศร์ ศรีสัตยากุล พักยาวก่อนขึ้นเป็นนายแบงก์"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทเงินทุน เอกธนกิจครั้งล่าสุดมีข่าวการลงมติอนุมัติการลาออกของประภัศร์ ศรีสัตยากุลกรรมการผู้จัดการเป็นข่าวสั้น ๆ ที่ถูกกลบด้วยข่าวการเสนอขาย วอร์แรนต์ (ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ) แก่กรรมการและพนักงานจำนวน 12 ล้านหน่วย

การจัดสรรวอร์แรนต์ที่ให้กับกรรมการจำนวน 1,125,000 หน่วยนี้ งานนี้ประภัศร์ได้รับแบ่งปันตามสิทธิจำนวน 93,750 หน่วยเพราะถึงแม้ประภัศร์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมผู้จัดการแล้ว แต่ปิ่น จักกะพาก กรรมการผู้อำนวยการได้ขอร้องให้ดำรงสภาพเป็นกรรมการและที่ปรึกษาด้านกฎหมายต่อไป

เบื้อหลังการทิ้งเก้าอี้เอ็มดีเอกธนกิจครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ใครก็ไม่คาดคิดแม้กระทั่งเจ้าตัวเอง เพราะเกิดเหตุร้ายเมื่อปลายปีที่ผ่านมาที่ทำให้บุรุษร่างใหญ่อย่างประภัศร์ต้องล้มทั้งยืน จากอาการช็อคเนื่องจากน้ำตาลในเส้นเลือดสูงมาก ๆ ด้วยฤทธิ์ที่เกิดจากโรคเบาหวาน โรคหัวใจและความดันโลหิตสูงที่รุมเร้า

"คุณประภัศร์เล่าให้ฟังว่า วินาทีที่ช็อกที่บ้านนั้นยังมีสติและคิดรำพึงกับตัวเองว่าทำไปเพื่ออะไร ? เงินทองก็มีแล้วพลันคิดตกว่าชีวิตสำคัญกว่าชื่อเสียงเงินทอง ประกอบกับหมอได้สั่งให้คุณประภัศร์หยุดทำงานไม่ต่ำกว่า 6 เดือนด้วย ตอนนี้สุขภาพก็ยังไม่ดี ผ่าตัดทำบายพาสเส้นเลือดหัวใจที่ตีบก็ยังไม่ได้เพราะปัญหาโรคเบาหวาน ทำให้คุณประภัศร์ต้องใช้เวลารักษาตัวนานมาก ๆ จึงยื่นจดหมายขอลาออกจากตำแหน่ง แต่คุณปิ่นขอร้องให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายต่อไป" นี่คือน้ำใจที่คนเราจะมอบให้แก่กันได้ยามเจ็บป่วยตามคำบอกเล่าของคนร่วมงานกับประภัศร์

ประภัศร์เริ่มทำงานที่บริษัทเงินทุนเอกธนกิจตามคำชักชวนของปิ่น จักกะพาก เมื่อประมาณสามปีมาแล้ว ก่อนหน้านั้นประภัศร์บริหารงานที่แบงก์กสิกรไทย ดูแลโครงการสินเชื่อขนาดใหญ่ ภายหลังจากมรณกรรมของบัญชา ล่ำซำ เจ้านายที่ประภัศร์เคารพรัก การเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงานของประภัศร์ก็เกิดขึ้น ประภัศร์เริ่มมองหางานใหม่ที่ท้าทาย และที่เอกธนกิจซึ่งโดดเด่นด้านอินเวสท์เมนท์แบงกิง เป็นสถาบันการเงินรุ่นใหม่ไฟแรงที่ประภัศร์ตัดสินใจร่วมงาน

นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกจังหวะเวลากับที่เอกธนกิจได้ก้าวกระโดด ประภัศร์ได้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมทำงานคนหนุ่มสาวของปิ่นในดีลสำคัญ ๆ โดยเฉพาะการวางแผนยื่นขอใบอนุญาตตั้งแบงก์พาณิชย์ใหม่ในนามเอกสิน และการเข้าถือหุ้น 20% ในแบงก์ไทยทนุ

"ทางเลือกมีสี่ทาง แต่ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย แต่ตอนนี้เราต้องดูว่าการเป็นแบงก์จะก้าวไปได้กี่ทาง ถ้าโอกาสเปิดเราก็ต้องลองทุกประตู เรื่องแบงก์ไทยทนุเป็นแค่ synerqy เราทราบดีว่าการทำแบงก์ต้องมีพาร์ตเนอร์ คุณต้องเข้าใจว่าแบงก์และไฟแนนซ์ ธุรกิจมันใกล้กันเพียงแต่ไฟแนนซ์ทำบางอย่างไม่ได้แต่ทำ lending funding เหมือนกัน

ถ้าคุณต้องเป็นแบงก์ รับฝากเงินจากประชาชน และระดมทุน ทำให้เกิดตลาดตราสารแห่งหนี้ โดยต้องไปกู้เงินเขามา จะเห็นว่าคนฝากประจำ 1 ปีน้อยมาก แต่สำหรับตราสารหนี้ทำได้ยาวถึง 5 ปี 10 ปี ในอัตราดอกเบี้ยแน่นอน" ประสบการณ์ยาวนานที่ทำแบงก์กสิกรไทยทำให้ประภัศร์มองเห็นจุดได้เปรียบเสียเปรียบ

"ถ้าพูดถึงงานไฟแนนซ์ ผมเองมาจากแบงก์ ผมค่อนข้างอยู่กับ lending funding มากกว่า โดยเฉพาะตำแหน่งตอนนั้นผมเป็น CEO ของกสิกรไทยที่อยู่กับ Funding มากกว่า แต่ตอนนี้ผมไม่ได้ทำ ผมกำลังทำสำนักอำนวยสินเชื่อของเอกธนกิจ และอะไรที่จะพาไปสู่ bank business

เอกธนกิจมีมือแขนขา เราถือหุ้นใหญ่กว่า 40% ในเอเชียเอคิวตี้ ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วไปทั้งลอนดอน อังกฤษ อเมริกา ฮ่องกง เพราะฉะนั้นธุรกิจหลายอันผ่านเอเชียเอคิวตี้ ส่วนเรื่องของ funding Bond หรือ ECd เราผ่านคอลล์แบงก์ของเราก็ได้ เช่นผ่านมาลีบา ลีแมน ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของเราอยู่ ถ้าทำได้ก็ไม่จำเป็นต้องมีสาขาอย่างที่คุณคิด" ประภัศร์เล่าให้ฟัง

งานบุกเบิกสำนักอำนายสินเชื่อของเอกธนกิจที่มีประภัศร์เป็นหัวเรือใหญ่ โดยมีพินิจเป็นผู้ช่วยดำเนินการเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อยและยากกว่าในฐานะบริษัทเงินทุนที่ต้องปูพื้นฐานความเข้าใจตลาดลูกค้า งานเครียดแต่ด้วยอุปนิสัยใจคออันน่ารักของประภัศร์ก็ทำให้ทีมงานมีกำลังใจ

ยามว่างประภัศร์รักการพักผ่อนด้วยการฟังดนตรีในห้องฟังเพลงซึ่งสร้างไว้อย่างพิถีพิถันในบ้าน ชีวิตวัยเยาว์ในครอบครัวที่มีคุณแม่เล่นเปียโนได้ปลูกฝังให้หนุ่มน้อยอย่างประภัศร์รักการเล่นเป็นมือกีตาร ์และแต่งเพลงในวงดนตรีที่ตั้งกันในหมู่เพื่อนฝูง แนวเพลงโปรดที่ประภัศร์ชอบจึงหลากหลาย แม้กระทั่งเพลงอันเดอร์กราวน์ แต่เพลงต้องห้ามที่ประภัศร์ยอมรับไม่ได้ก็คือเพลงแร็พ

วันนี้ประภัศร์ไม่ทำงานหนักเพราะต้องยอมจำนนความเจ็บไข้ได้ป่วย เอกธนกิจต้องขาดมืออาชีพที่เป็นคนสำคัญในทีมงานไปคนหนึ่ง ในห้วงเวลาสำคัญที่เอกธนกิจจะต้องก้าวกระโดดเป็นแบงก์พาณิชย์แห่งใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม ปิ่นก็ยังยืนยันว่า ประภัศร์ยังไม่หลีกลี้หนีหายไปไหน

"เขาถูกวางตัวให้เป็นเอ็มดีแบงก์ใหม่กลุ่มเรามาแต่ต้น แต่เมื่อเราเปลี่ยนทางมาเป็นการลงทุนซื้อหุ้นในธนาคารไทยทนุ ก็ต้องเปิดทางให้เขาไปเป็นเอ็มดีแบงก์ใหม่ตามที่ได้รับการทาบทามมา" ปิ่นกล่าว

เอ็มดีแบงก์ใหม่ที่ปิ่นกล่าวถึงนั้นคือ กลุ่มอิตาเลียนไทยที่มีกลุ่มเอกถือหุ้นอยู่ด้วย

นั่นก็หมายความว่า การลงจากตำแหน่งเอ็มดีเอกธนกิจของประภัศร์จึงเป็นการปลดเปลื้องภารกิจชั่วคราว เพื่อที่จะให้ประภัศร์พักยาวและเข้าโรงซ่อมสุขภาพครั้งใหญ่ ก่อนที่เจ้าตัวจะต้องรับกับภารกิจอันหนึกอึ้งในอีกไม่นาน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.