กลุ่มเตชะไพบูลย์ ก้าวมาถึงทางตันทางด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง
การก่อสร้างอภิมหาโปรเจ็กต์ ตัวอย่างเช่น "เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์"
และ "ฮาเบอร์วิว" ที่ครองแชมป์การก่อสร้างล่าช้าที่สุดอยู่แล้วต้องยืดเยื้อไปอีก
ส่วนโครงการ "โอเอซิส" เองที่ใกล้จะเสร็จก็ต้องหยุดการก่อสร้างไว้ชั่วคราวเช่นกัน
ทางด้านโครงการยักษ์ "ศรีราชานคร" ก็ต้องใช้เงินจำนวนมากอัดฉีด
คราวนี้เห็นทีแบงก์ศรีนครเองก็คงช่วยอะไรไม่ได้แล้ว !
ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ที่มีกลุ่มเตชะไพบูลย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ต้องประสบปัญหากับข่าวลือด้านลบมากธนาคารหนึ่งในช่วงสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต
ยงใจยุทธ จนต้องเตรียมการเพิ่มทุนและหากลุ่มผู้ร่วมทุนใหม่ให้วุ่นวายไปหมด
บังเอิญโชคช่วย ข่าวลือยังไม่ทันได้ถูกตัดสินก็เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองเสียก่อน
และทันทีที่ขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเมืองไทยเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน
2540 นั้นชวน หลีกภัย ก็ย้ำว่าจะไม่มีการปิดสถาบันการเงินอีกต่อไป
ปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของข่าวลือในครั้งนั้นเป็นเพราะหนี้สินจำนวนมากของธนาคารที่เกิดจากกิจการของบริษัทในเครือ
โดยเฉพาะธุรกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์
ตระกูลเตชะไพบูลย์ก็เหมือนธนราชันรายอื่นๆ ของเมืองไทยที่นิยมค้าเงิน และค้าที่ดินไปพร้อมๆ
กันจะต่างกันตรงที่ว่าโครงการพัฒนาที่ดินในมือของกลุ่มนี้หลายโครงการพัฒนาไม่สำเร็จถูกทิ้งค้างคา
ให้ดอกเบี้ยเงินกู้เบ่งบานสูงขึ้นทุกวี่ทุกวัน จนสร้างปัญหากลับไปยังธนาคารศรีนครแหล่งใหญ่ที่ปล่อยเม็ดเงินออกมา
ความสามารถในการบริหารเป็นสิ่งที่ถูกมองมากที่สุด หลายโครงการของกลุ่มนี้ผู้ที่รับผิดชอบก็คือคนในตระกูล
โดยเฉพาะโครงการทางด้านพัฒนาที่ดินที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มเตชะไพบูลย์คือโครงการเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์นั้นใช้เวลาสร้างกันยาวนานกว่า
10 ปี
จนวันนี้ในส่วนของตึกสูงการก่อสร้างยังค้างคาอยู่ที่ประมาณชั้นที่ 38 ทั้งที่เมื่อมีการปรับแผนครั้งใหม่ล่าสุดเมื่อปี
2538 นั้น ในส่วนเฟสที่สำคัญคืออาคารสำนักงานสูง 63 ชั้นนั้นกำหนดจะต้องเสร็จสิ้นปี
2540 แต่แม้จะเป็นปีนี้ก็เท่ากับว่าล่าช้าไปจากแผนการเดิมถึง 9 ปี
เรื่องมันเลยยุ่งไม่รู้จบ แต่ถ้ามองต่างมุมก็คงยิ่งยุ่งเหยิงขึ้นไปอีกถ้าเสร็จปีนี้จริงๆ
ซึ่งเป็นปีที่ตลาดอาคารสำนักงานดิ่งลงเหว
เมื่อพลิกปูมหลังของโครงการนี้จะพบว่าตามสัญญาการเช่าที่ระหว่างบริษัทวังเพชรบูรณ์
ซึ่งได้รับคัดเลือกจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เข้ารับสัมปทานในการจัดประโยชน์ที่ดินพื้นที่
65 ไร่ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ทำโครงการเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์นั้นจะพบว่าครั้งแรกโครงการนี้มีสัญญาเช่ารวม
30 ปี นับจากวันที่งานก่อสร้างสิ้นสุดลง โดยจะต้องก่อสร้างให้เสร็จภายใน
5 ปี นับจากวันที่ระบุในสัญญาคือวันที่ 22 สิงหาคม 2526
นั่นก็หมายความว่าโครงการนี้ต้องเสร็จสมบูรณ์เต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2531
ซึ่งถ้าเสร็จสมบูรณ์ตามช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงยุคทองของเศรษฐกิจในเมืองไทยนั้น
กลุ่มเตชะไพบูลย์คงฟันกำไรไปอย่างมหาศาลแล้ว
ความล่าช้าของโครงการนี้ประเด็นสำคัญถูกเพ่งเล็งไปยัง วิรุฬ เตชะไพบูลย์
ลูกชายคนที่ 2 ของเจ้าสัวอุเทน ซึ่งเป็นคนนำทีมในการบริหารซึ่งโครงการใหญ่เช่นนี้แน่นอนว่าการบริหารต้องมีมาก
ยิ่งมาเจอกับปัญหาเรื่องสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปัญหาการเมืองภายในประเทศ ลากยาวมาจนถึงช่วงที่กำลังซื้อหดหาย
และเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ในเรื่องการเงินของประเทศในวันนี้ ส่งผลให้ทางโครงการขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนักต่อเนื่องมาโดยตลอด
เจ้าหนี้รายใหญ่ของโครงการเวิลด์เทรด คือธนาคารศรีนครที่พยายามหาเม็ดเงินอัดฉีดโครงการนี้อย่างเต็มที่
เพื่อให้เสร็จสิ้นเป็นอนุสรณ์สถานของตระกูล อย่างที่อุเทน เตชะไพบูลย์ ตั้งใจไว้
แต่เมื่อโครงการไม่มีอะไรคืบหน้า มีเพียงแต่ในส่วนของศูนย์การค้าเซ็นและอิเซตันเท่านั้นที่เปิดดำเนินการได้
ตลอดเวลาที่ผ่านมาทางกลุ่มเตชะไพบูลย์ก็ได้พยายามหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ ซึ่งในที่สุดทางธนาคารไทยพาณิชย์ก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยประกาศจะอัดฉีดเงินจำนวน
4,000 ล้านบาทเพื่อให้การก่อสร้างเดินหน้าต่อไป
ซึ่งคราวนั้นกลุ่มเตชะไพบูลย์ได้เปิดแถลงข่าวอย่างใหญ่โต ทั้งๆ ที่ในรอบหลายปีที่ผ่านมาปิดตัวปิดปากเงียบเกี่ยวกับโครงการนี้มาตลอด
โดยประกาศแผนการใช้เงินว่าจะนำเงินประมาณ 1,100 ล้านบาทไปชำระหนี้คืนธนาคารศรีนคร
ส่วนที่เหลือจะเอาไปใช้ในงานก่อสร้างในส่วนของตึกสูง 63 ชั้น โดยจะมีรายได้อีกส่วนหนึ่งเข้ามาคือเงินที่มาจากการทำสัญญาเซ้งพื้นที่ซึ่งจะมีพื้นที่ขายประมาณ
126,000 ตารางเมตร
บริษัทโจนส์แลงก์วูธทั่น คือบริษัทที่เข้ามารับงานขายในครั้งนั้น เช่นเดียวกับบริษัทสยามซินเท็คที่จะเข้ามาดำเนินการต่อในการก่อสร้าง
ทุกคนร่วมเซ็นสัญญาในวันนั้นด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสเช่นเดียวกับอุเทนในวัย
81 ปีซึ่งเดินทักทายและรับรองแขกเหรื่ออย่างกระฉับกระเฉง จนเวลาลุล่วงเข้าปลายปี
2540 ซึ่งเป็นกำหนดแล้วเสร็จ โครงการนี้กลับถูกทิ้งค้างคาอีกครั้งไว้ที่ชั้น
38
แหล่งข่าวจากบริษัทสยามซินเท็คยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่าทางบริษัทหยุดงานก่อสร้างที่โครงการนี้ชั่วคราวหลายเดือนแล้ว
โดยไม่ยอมเปิดเผยเหตุผล
ส่วนทางด้านบริษัทโจนส์แลงก์วูธทั่นที่เข้าไปรับงานบริหารการขายก็เปิดเผยกับ
"ผู้จัดการ" ว่าทางบริษัทไม่ได้รับงานขายโครงการนี้แล้ว
เกิดอะไรขึ้นกับโครงการอาถรรพ์นี้อีกแล้ว ผู้ที่น่าจะตอบได้ดีนอกเหนือจากกลุ่มเตชะไพบูลย์ที่ปิดปากเงียบคือทางธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเคยยื่นมือเข้ามากอบกู้สถานการณ์
แหล่งข่าวจากธนาคารไทยพาณิชย์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การเข้ามาปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการนี้แน่นอนว่าทางธนาคารก็ต้องการเข้าไปเป็นผู้บริหารด้วย
ซึ่งอาจจะมีปัญหาว่าทางกลุ่มศรีนครเองก็ไม่ยอมปล่อยมือในเรื่องนี้ ประกอบกับภาวะตลาดสำนักงานที่ซบเซาอย่างหนัก
ทำให้ต้องคิดหนักในการปล่อยเงินก็เลยยังชะลอไว้ก่อนก็ได้
นอกจากโครงการนี้ที่ทิ้งค้างอวดโฉมกลางกรุงมาเนิ่นนาน ทางกลุ่มเตชะไพบูลย์ก็ยังมีคอนโดมิเนียมหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยาคือโครงการ
"ฮาเบอร์วิว" ซึ่งเริ่มเปิดขายและก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2533 ตัวโครงการตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ใกล้ๆ
กับสะพานซังฮี้และโครงการบางกอกมารีน่า โครงการคอนโดรูปไข่ แต่ในขณะที่โครงการบางกอกมารีน่าเดินเครื่องก่อสร้างเต็มที่จนสร้างเสร็จมีคนเข้าพักอาศัยมานานหลายปีแล้ว
ฮาเบอร์วิวก็มีปัญหาทางด้านก่อสร้าง จนต้องชะงักงันอยู่หลายครั้งจนถึงบัดนี้
7 ปีผ่านไป โครงการตึกสูง 35 ชั้นนี้ก็ไม่เสร็จเรียบร้อย ถูกทิ้งร้างค้างคาไว้เช่นเดียวกับโครงการเวิลด์เทรด
ฮาเบอร์วิว เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มเตชะไพบูลย์ประสบความสำเร็จจากโครงการริเวอร์ไซด์
ทาวเวอร์ คอนโดริมแม่น้ำในพื้นที่ 16 ไร่ย่านถนนพระราม 3 ใกล้กับสะพานแขวนซึ่งเป็นอาคารสูง
22 ชั้น 2 ทาวเวอร์ประมาณ 120 ยูนิต นับว่าเป็นคอนโดริมแม่น้ำราคาสูงยุคแรกๆ
ที่มีเพียงไม่กี่โครงการในช่วงปี 2532
วีระเดช เตชะไพบูลย์ ลูกชายคนสุดท้องของอุเทน เตชะไพบูลย์ ที่ถูกกำหนดบทบาทให้เข้ามาดูแลธุรกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลและเข้ามารับผิดชอบ
2 โครงการนี้ในขณะที่วีระเดชเองก็ไม่พร้อมที่จะเปิดเผยข่าวของฮาเบอร์วิว
แต่ภายในบริษัทนั้นว่ากันว่าโครงการนี้ถูกเสนอขายนักลงทุนทั้งนอก และในประเทศหลายครั้งแต่ปัจจัยสำคัญที่ว่าตลาดที่อยู่อาศัยราคาแพงนั้นขณะนี้ตายสนิทมานานโดยยังไม่เห็นอนาคต
และที่สำคัญโครงการคอนโดหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่งตั้งแต่เขตพระนครไปทางเหนือจนถึงอำเภอปากเกร็ดนนทบุรี
และฝั่งทางใต้ไปจนถึงถนนพระราม 3 นั้นมียูนิตทิ้งร้างอยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งแน่นอนว่าคอนโดสูงกว่า 30 ชั้น ค่าก่อสร้างรวมทั้งค่าดอกเบี้ยจนถึงวันนี้
ต้องทวีเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท และที่สำคัญการก่อสร้างที่เลยกำหนดมานานอย่างนี้ลูกค้าที่เคยวางเงินจองไว้อาจจะขอเงินคืนไปหมดแล้ว
ส่วนลูกค้าใหม่ก็คงหมดความไว้วางใจที่จะซื้อเช่นกัน
อีกโครงการหนึ่งที่วีระเดชเข้าไปรับผิดชอบ และต้องกุมขมับเหมือนกันก็คือโครงการโอเอซิส
ที่ทำในนามบริษัทคริสตัลซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ ตั้งอยู่ริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่ใกล้แยกอโศก
เป็นคอนโดพักอาศัยสูง 28 ชั้น และ 25 ชั้น 2 ตึก ดูทำเลที่ตั้งและรูปแบบโครงการแล้วโครงการนี้น่าจะไปได้ดีเป็นรูปแบบคอนโดในเมืองที่ดีมากโครงการหนึ่ง
แต่ก็เช่นเดียวกันในขณะที่โครงการคอนโดเมืองที่กำลังฮิตของกลุ่มพัฒนาที่ดินกลุ่มอื่น
ต่างพากันเดินหน้าและสร้างเสร็จไปแล้ว โครงการนี้ก็ล่าช้าอีกจนได้ จากกำหนดแล้วเสร็จปลายปี
2539 ถูกเลื่อนไปเป็นปลายปี 2541 และล่าสุดจากปัญหาทางด้านการเงินที่จะเข้ามาสนับสนุนโครงการทำให้โอเอซิสต้องหยุดชะงักการก่อสร้างไปอีก
โดยที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างใหม่ต้นปี 2541 และจะแล้วเสร็จในปี 2542
วีระเดชเองก็เคยประกาศขายตึกสูง 25 ชั้นตึกด้านหน้ามาตลอดเพื่อให้สภาพคล่องทางการเงินดีขึ้นแต่ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จ
นอกจาก 3 โครงการที่ทางกลุ่มเตชะไพบูลย์กำลังเร่งรีบหาทางออกก่อนที่จะอาการหนักไปกว่านี้
ก็ยังมีโครงการพัฒนาที่ดินของกลุ่มเตชะไพบูลย์ที่กำลังใช้เงินลงทุนก้อนมหึมาหลายพันล้านบาทมูลค่าโครงการนับหมื่นล้านบาท
อีกแห่งคือโครงการศรีราชานคร ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ 141 ไร่ กม.ที่ 118
ติดกับถนนสุขุมวิท อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
เดิมที่ดินแปลงนี้เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่บริษัทไม้อัดศรีราชานครประมูลได้ไปในราคาประมาณ
500 ล้านบาท ต่อมาที่ดินถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของเสี่ยฮวด หรือพิพัฒน์ โรจนวณิชชากร
นักธุรกิจท้องถิ่นในอำเภอศรีราชาเพื่อสร้างโครงการศรีราชาคอมเพล็กซ์ เสี่ยฮวดได้ซื้อต่อที่ดินแปลงนี้ในราคาประมาณ
600 ล้านบาท โดยกู้เงินจากธนาคารศรีนคร แต่ยังไม่ทันเปิดโครงการเสี่ยฮวดได้เสียชีวิตลงจากการถูกยิงถล่มด้วยอาวุธสงคราม
ทายาทจึงได้ประกาศขายต่อ ทางเจ้าหนี้รายใหญ่คือกลุ่มเตชะไพบูลย์ จึงได้เข้ามาสานต่อโครงการและเปลี่ยนชื่อเป็นศรีราชานครคอมเพล็กซ์
ศรีราชานครเปิดตัวเมื่อประมาณปี 2534 ตามคอนเซ็ปต์ของโครงการนี้จะต้องเป็นเมืองประกอบไปด้วยศูนย์การค้าแปซิฟิคพาร์ค
และห้างสรรพสินค้าโรบินสัน อาคารพาณิชย์รวมกว่า 1,000 ยูนิต คอนโดมิเนียม
7 อาคาร กว่า 2,000 ยูนิต โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา ขนาด 250 เตียง และโรงแรม
ซึ่งตามความคืบหน้าในปัจจุบันก็คือในส่วนของศูนย์การค้าแปซิฟิคพาร์ค และห้างสรรพสินค้าโรบินสัน
ขณะนี้เปิดให้จองพื้นที่ขาย ส่วนของอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง-4 ชั้นพร้อมชั้นลอยกำลังขายในราคาเริ่มต้นที่
2.49 ล้านบาท
ทางด้านโรงพยาบาลพญาไทศรีราชานั้น ขณะนี้ได้เปิดบริการไปแล้วในส่วนของศรีราชาเพลสคอนโดมิเนียม
ขณะนี้สร้างเสร็จไปแล้ว 1 อาคาร สูง 15 ชั้นโดยชั้นที่ 1-10 จะเป็นคอนโดพักอาศัย
125 ยูนิต ขนาด 34 ตารางเมตร ราคาประมาณ 8 แสนบาท
และเพื่อเป็นการปรับแผนให้สอดคล้องกับภาวะตลาดส่วนหนึ่งของคอนโดหลังนี้คือในชั้นที่
11 นั้นได้จัดให้บริการแบบเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ให้เช่ารายวัน วันละ 800-1,000
บาท หรือถ้าคิดเป็นเดือนประมาณ 11,000-11,500 บาท
ขณะนี้บริษัทได้พัฒนาโครงการนี้ไปแล้วกว่า 100 ไร่ ใช้เงินก่อสร้างไปแล้วกว่า
1,000 ล้านบาท และต้องใช้เงินในการพัฒนาต่ออีกประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนตัวของโรงแรม
อาคารสำนักงานนั้นได้ตัดสินใจชะลอการก่อสร้างไปก่อนเพื่อรอภาวะของตลาด โครงการนี้มีสมบูรณ์
วรปัญญาสกุล ซึ่งเป็นเครือญาติใกล้ชิดของตระกูลนี้เพราะเสาวณีย์ภรรยาของวิเชียร
คือน้องสาวของเขาเองเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
เป็นที่รู้กันว่าโครงการศรีราชานครนั้นในระยะแรกของการเปิดขายก็จะลื่นไหลไปได้ดีพอสมควร
แต่ในระยะหลังๆ นี้จากภาวะตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซามาตลอดผนวกกับข่าวลือของธนาคารศรีนครเอง
ก็มีความเป็นไปได้มากว่ายอดขายในระยะนี้ฝืดพอสมควร
สำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมบางปูที่เคยเป็นเม็ดเงินหล่อเลี้ยงโครงการอื่นๆ
ในช่วงเวลานี้ คงเป็นที่พึ่งยากเช่นกัน
ย้อนหลังไปเมื่อ 30 ปีก่อน อุเทนเคยกว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่ร่วมกับกลุ่มอื้อจือเหลียงจำนวนมหาศาลเกือบหมื่นไร่
ริมถนนสุขุมวิท โดยมีความตั้งใจจะพัฒนาที่ดินแปลงนั้นให้เป็นสวนสนุกแบบดิสนีย์แลนด์ของอเมริกา
แต่โครงการนั้นต่อมาก็ได้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมโครงการแรกของเมืองไทย
โดยพื้นที่ดินในโครงการได้ถูกวางผังแบ่งการใช้ที่ดินไว้อย่างชัดเจน โดยเริ่มพัฒนาที่ดินขายตั้งแต่ปี
2520 เป็นต้นมา ซึ่งเฟสแรกจำนวนเกือบ 4,000 ไร่นั้น ได้สร้างเม็ดเงินกลับมาให้กลุ่มนี้มหาศาลเพราะจากต้นทุนที่ดินบางแปลงราคาต่อไร่ไม่ถึง
1,000 บาท สามารถขายได้เป็นล้านบาทต่อไร่
แต่พอเริ่มพัฒนาเฟสที่ 2 ขายเมื่อประมาณปี 2533 ก็ต้องเจออุปสรรคครั้งใหญ่
ภาวะสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปัญหาการเมืองภายในประเทศ จนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามาถึงปัจจุบัน
พร้อมๆ กับนิคมอุตสาหกรรมคุ่แข่งเกิดขึ้นมากมาย ทำให้สภาพการขายในระยะปีหลังๆ
จึงประสบปัญหาเหมือนกับอสังหาริมทรัพย์โดยทั่วไปเช่นกัน
แหล่งข่าวในนิคมบางปูยืนยันว่าขณะนี้ทางกลุ่มเตชะไพบูลย์และเอื้อวัฒนะกุล
ผู้ถือหุ้นใหญ่ยังเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งยังไม่พัฒนาอีกประมาณ 2,000-3,000
ไร่ และปัจจุบัน นิพิธ โอสถานนท์ ลูกเขยคนโตของอุเทนเป็นผู้บริหารและมีวันจักร
วรดิลก อดีตผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาเป็นผู้จัดการทั่วไป
ดูราวกับว่าโครงการที่ประสบความสำเร็จในขณะนี้คงจะเป็นโครงการแฮมตันเพลสในซอยลาดพร้าว
126 ซึ่งเป็นคอนโดสูง 8 ชั้น จำนวน 60 ยูนิต ราคาประมาณยูนิตละ 6 แสนบาท
และทาวน์เฮาส์อีก 54 หลังราคาประมาณ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมียอดขายเกิน
90% แล้ว แต่ก็เป็นกระแสเงินที่ไหลเข้ามาเล็กน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องใช้ในอีกหลายโครงการที่กำลังก่อสร้าง
เมื่อการบริหาร การเงิน การตลาด มีปัญหาพร้อมๆ กันอย่างนี้แนวความคิดที่จะขายทิ้ง
หรือหาผู้ร่วมทุนอาจจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องแน่นอน แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากมากๆ
เช่นกันในสถานการณ์อย่างนี้
เห็นทีตระกูลนี้ต้องรับศึกหนักหลายด้านไปอีกนานทีเดียว !