ความพยายามของธนินท์ ชาติรอด ซี.พี. รอด

โดย พิจิตรา ยิ้มจันทร์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ธนินท์ เจียรวนนท์ ออกงานสังคมบ่อยครั้ง เข้าหาศูนย์อำนาจรัฐ ด้วยความเชื่อแบบเถ้าแก่ ใช้สายสัมพันธ์แก้ปัญหาธุรกิจ แต่บทเรียนที่ผู้นำซี.พี.ได้รับครั้งนี้ มีผู้นำการเมืองดีก็ทำให้ประเทศดี ตราบใดผู้นำแก้ปัญหาของชาติไม่ตก แม้สัมพันธ์ล้ำลึกก็ช่วยไม่ได้

กิจการหลายสาขาของ ซี.พี. ชะงักงัน ชะลอการลงทุน ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน หนี้สินเพิ่ม การเดินเกมของเจ้าสัวธนินท์อาจเพื่อช่วยแก้ปัญหาของชาติ ? แต่ด่านแรกเพื่อพยุงธุรกิจ ซี.พี. ไม่ให้ล้มกลางทางด้วยความเชื่อเรื่องสายสัมพันธ์นักการเมือง แต่ครั้งนี้ ซี.พี. ต้องเจอภาวะสะดุดขาตัวเองได้เหมือนกัน !!

ช่วงปี 2540 การเคลื่อนไหวของธนินท์มีมากจนเป็นที่น่าสังเกตว่าบุคคลที่เคยพยายามเกษียณอายุตนเองเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เหตุใดต้องหวนคืนสังเวียนอีกครั้ง ทำไมจึงมีภาพของธนินท์ที่ทำเนียบรัฐบาลพบปะอดีตนายกรัฐมนตรีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ การร่วมหารือกับอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอย่างพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือการนำดอกไม้ไปแสดงความยินดี กับนายกฯ คนล่าสุด ชวน หลีกภัย

ทำไมธนินท์ต้องหันมาทำกิจกรรมด้านการเมือง ทั้งที่ส่งผลเสียต่อภาพพจน์กับซี.พี. แม้จะมีส่วนดี ในการแสดงท่าทีชัดเจนของนักธุรกิจ แต่ก็เป็นดาบสองคม

ความสัมพันธ์ที่มีกับนักการเมือง แสดงความชัดเจนขึ้น

กลางปี 2539 การแผ่ขยายอาณาจักรซี.พี.มีต่อเนื่อง แต่ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มเข้าสู่วิกฤติ ทำให้ธนินท์ต้องออกมาแสดงความคิดเห็นบ่อยครั้ง

ธนินท์ก็ยังคงประกาศนโยบายและทิศทางของซี.พี. ยังจะมุ่งไปในธุรกิจด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ทั้งเทคโนโลยีที่ใช้กับการเกษตร ด้านสื่อสารโทรคมนาคม และใต้ทะเล แต่ก็ยังแสดงความเป็นห่วงว่าหากรัฐบาลไม่มีมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก และรายกลาง โอกาสเติบโตก็คงมียาก

ธนินท์รับรู้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ เพราะซี.พี.มีธุรกิจในมือ 9 กลุ่มธุรกิจหลักกับอีก 2 ธุรกิจใหม่

ด้วยนโยบายการนำเทคดนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในธุรกิจเกษตรที่ซี.พี.เชี่ยวชาญอยู่ เป็นการลดต้นทุนด้านบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต ขณะที่เทคโนโลยีอวกาศเช่นการมีดาวเทียม และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมเป็นเรื่องของความจำเป็นที่จะใช้ในอนาคต ขณะที่ใต้ทะเล เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีอยู่มหาศาลเพราะผืนน้ำมากกว่าผืนดิน

ธนินท์ยังมีความคิดที่จะมุ่งขยายธุรกิจในต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อห้เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นธุรกิจข้ามชาติเหมือนอย่างแดวู หรือซัมซุงของเกาหลี ตลาดใหญ่ของเขาคือจีนที่มีฐานการลงทุนอยู่ถึง 70% เป้าหมายต่อไปของเขาคือสหรัฐอเมริกา

เมื่อคนอย่างธนินท์ลั่นวาจาเขาต้องเดินหน้าอย่างแน่นอน แม้จะมีคำถามตามมาเกี่ยวกับความมั่นใจในความสำเร็จ ซึ่งธนินท์ก็ย้ำว่าหากไม่สำเร็จเขาก็จะไม่ทำ

ซี.พี.มีแผนเข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกามากขึ้น ถึงกับได้มีโอกาสเข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐฯ บิลล์ คลินตัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2539 และการนำพานักธุรกิจชาวไทยที่มีเชื้อสายจีนไปร่วมลงทุนในสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยมีการเตรียมการก่อนที่จีนจะรับเกาะฮ่องกงคืน ในกลางปี 2540

เป้าหมายซี.พี.ชัดเจนแล้ว รอเพียงการกรุยทางต่อไปข้างหน้า แต่ใครจะรู้ว่า ขวากหนามของเขาไม่ใช่ใครอื่นไกลที่ไหน แต่คือรัฐบาลที่มีนักการเมือง ซึ่งซี.พี.เชื่อมั่นมาโดยตลอดว่าตนเองมีสายสัมพันธ์อันดีอยู่ด้วย

เมื่อเริ่มเข้าปี 2540 ธนินท์ก็ได้แสดงตัวออกงานสังคมประปราย เช่น การไปเปิดการร่วมปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับโอกาสและทิศทางธุรกิจภาคเหนือที่จังหวัดลำปาง หรือการไปร่วมเปิดตัวโครงการเกษตรผสมผสานที่จังหวัดบุรีรัมย์ สื่อมวลชนได้มีโอกาสใกล้ชิดธนินท์มากขึ้น และได้รับรู้วิสัยทัศน์และทิศทางของซี.พี.ในการมุ่งพัฒนาธุรกิจสู่ภาคเทคโนโลยีมากขึ้น

ไม่ใช่เพียงสื่อมวลชน หนังสือธุรกิจอย่างฟาร์อีสเทิร์น อิโคโนมิสต์ บิสซิเนส วีค แม้กระทั่งเอเชีย วีค ก็ยังได้มีโอกาสเผยแพร่วิสัยทัศน์ และทิศทางธุรกิจของประธานฯ ซี.พี.

แทนที่จะอยู่เบื้องหลัง คอยสั่งการด้านนโยบายเพียงอย่างเดียว เป็นการมุ่งเดินหน้าของซี.พี. ขณะที่เศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่สภาวะถอยหลัง

มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นฤกษ์ดีซึ่งธนินท์ได้ไปร่วมเปิดศูนย์การค้าโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่นครเซี่ยงไฮ้ มีสื่อมวลชนจำนวนมากเดินทางร่วมไปด้วย ธนินท์จึงถือเป็นโอกาสในการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มตัว เพราะธนินท์เห็นอุปสรรคชัดเจนของการขยายตัวของธุรกิจในเครือซี.พี.ว่ากำลังเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา

ด้วยธุรกิจหลักของซี.พี.มุ่งไปที่ตลาดผู้บริโภคจำนวนมาก (mass market) ที่เน้นไปที่ปริมาณผู้ซื้อจำนวนมากเพื่อสร้างผลกำไร หากลูกค้าของเจอผลกระทบ แน่นอนว่าสินค้าของซี.พี.ก็เจอผลกระทบด้วย "ถ้าลูกค้ารวยเราก็รวย ถ้าลูกแย่ เราก็แย่" นี่เป็นปรัชญาทางธุรกิจที่เจีย เอ็ก ชอ บิดาของธนินท์สอนลูกไว้

ธนินท์เคยเผยความคิดในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไว้ว่า

จากการที่ภาคธุรกิจของไทยใช้หนี้เงินกู้ต่างประเทศถึง 6.3 ล้านล้านบาท หากมีการลดค่าเงินบาทย่อมเกิดผลกระทบรุนแรง ทำให้ไทยอยู่ในภาวะย่ำแย่เหมือนเม็กซิโก วิธีการที่รัฐควรช่วยเหลือนักธุรกิจก็คือการลดดอกเบี้ย แต่รัฐบาลไม่กล้าทำ ส่วนสถาบันการเงินก็ไม่ควรปล่อยให้ล้ม ควรมีมาตรการมารองรับ เช่น การปรับเปลี่ยนผู้ถือหุ้นแม้จะเป็นต่างชาติก็ต้องยอม

เป็นการส่งผ่านความคิดของเขาผ่านสื่อมวลชนไปยังผู้นำรัฐ ย้ำว่าการลดค่าเงินบาทนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

แต่ก่อนหน้านี้ ธนินท์เคยเสนอแนวคิดเรื่องการปรับลดค่าเงินบาทต่ออำนวย วีรวรรณ แต่อำนวยไม่เห็นด้วยกับวิธีดังกล่าว เพราะเห็นว่าไทยมีหนี้สินต่างประเทศอยู่สูงถึง 9 หมื่นล้านบาท โดยไม่ยอมรับข้อเสนอของประธานฯ ซี.พี. ซึ่งธนินท์ก็ยอมรับในเวลาต่อมาว่า ต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวเพื่อแข่งขันด้านส่งออกของประเทศได้

แต่ธนินท์ก็ยังไม่ระงับการลงทุนต่างๆ ของซี.พี.

แต่วันนี้ต่างกับวันนั้น !

แม้ธนินท์จะเรียกระดมพลนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเงินหลายคนไปหารือถึงที่ทำงานแห่งใหม่ที่เทเลคอม ทาวเวอร์ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ แต่เขาก็ไม่เคยคิดว่ารัฐบาลจะประกาศลดค่าเงินบาทในเวลาต่อมา เพราะเชื่อมั่นในข้อมูลของ "วงใน" ที่ธนินท์รู้จักดีในรัฐบาลว่า ไม่มีนโยบายเรื่องนี้ และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ถือได้ว่าสนิทสนมกับธนินท์เองนั้นก็ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีการลดค่าเงินบาท

แต่ก็ยังมีเรื่องที่ธนินท์ไม่รู้อีกมากโดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลของพรรคความหวังใหม่มีขุนคลังอย่าง ดร.ทนง พิทยะ

2 กรกฎาคม 2540 เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ของประเทศที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปลี่ยนระบบอัตราค่าเงินบาทเป็นแบบลอยตัวเพื่อกู้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจให้ผ่อนคลายไปในทางที่ดี

มีแต่ฟากของพล.อ.ชวลิตเท่านั้นที่รับรู้เรื่องนี้ ส่วนธนินท์กลายเป็นคน "นอกวง" ไปเสียแล้ว

ผลจากการปรับค่าเงินบาทลอยตัวในช่วงแรก ซี.พี.ยอมรับเพียงว่ามีผลกับธุรกิจที่ต้องลงทุนด้วยการกู้เงินจากต่างประเทศ คือบริษัทเทเลคอมเอเซีย จำกัด หรือ ทีเอ เพราะมีเงินกู้ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เงินกู้ต่างประเทศก้อนใหญ่นี้ทีเอจำเป็นต้องนำมาใช้สำหรับเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม ซึ่งกำลังเติบโต และยังไม่มีรายได้เพียงพอที่จะคืนทุน เพราะการลงทุนครั้งนั้นทำไว้เพื่ออนาคต

ด้วยความมั่นใจในอาณาจักรของซี.พี. ว่าไม่มีปัญหา เพราะเป็นเงินกู้ระยะยาว การเดินหน้าคงดำเนินต่อไปได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง ซี.พี.ก็รับรู้ว่า การไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงของเงินกู้ต่างประเทศ หรือที่เรียกทั่วไปว่า hedging จะส่งผลกระทบรุนแรงอย่างไรหากค่าเงินบาทลอยตัวแบบไร้เสถียรภาพ

ซึ่งนักวิเคราะห์ได้ศึกษาสถานการณ์ของทีเอ แล้วประเมินว่าปลายปีนี้ ทีเอต้องมีภาระดอกเบี้ยจ่ายถึง 4,200 ล้านบาท จากเดิมปี 2539 ที่มีประมาณ 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

เพราะความไม่พอใจในผลงานของพล.อ.ชวลิต ทำให้ธุรกิจต้องพังพินาศเพราะค่าเงินบาทลอยตัวไม่หยุด นักธุรกิจกลุ่มหนึ่งถึงกับรวมตัวเข้าพบพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติในตอนนี้ไม่มีการระบุว่ามีชื่อธนินท์อยุ่ด้วย

หลังการเปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จากเริงชัย มะระกานนท์ มาเป็น ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัวดิ์ และปลด ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ปลัดกระทรวงการคลัง และให้ศุภชัย พิศิษฐวานิช มาเป็นแทน ธนาคารชาติก็สั่งปิดกิจการของไฟแนนซ์เพิ่มอีก 42 แห่ง

มาตรการทั้งการลดค่าเงินบาทและปิดสถาบันการเงินนี้สวนทางกับแนวคิดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของธนินท์โดยสิ้นเชิง !

ซี.พี.เริ่มยอมรับสภาพว่ามาตรการของรัฐกระทบอย่างหนักกับธุรกิจโทรคมนาคมของทีเอ ที่ใช้เงินกู้ต่างประเทศ ทำให้เจ้าสัวธนินท์ต้องประกาศนโยบายรัดเข็มขัดครั้งใหญ่กับกิจการในเครือ โดยเฉพาะ เรื่องการลงทุนใหม่ที่ยังไม่มั่นใจ ก็สั่งระงับทั้งในประเทศ และต่างประเทศ บริษัทในเครือทุกแห่งต้องพัฒนาบุคลากรให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ถึงกับมีการระบุกันว่า ซี.พี.คงต้องหันกลับไปสู่ธุรกิจการเกษตรที่เชี่ยวชาญแทน หากผลกระทบกับกิจการไฮเทครุนแรงขึ้น

แน่นอนว่าทุกบริษัทในเครือพร้อมใจตอบสนองนโยบาย เพราะธุรกิจหลายสาขาของซี.พี. เจอพิษค่าเงินบาทอยู่ไม่น้อย

ทีเอนั้นถึงกับต้องขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยบางแห่งออกไปเพื่อลดภาระ !

ขณะที่กิจการปั๊มน้ำมันของปิโตรเอเชียที่มีอยู่ 7 สาขาต้องทำการปิดตัวเองในเวลาต่อมาเพราะก่อนหน้านี้ก้ไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานอยู่แล้ว เนื่องจากการแข่งขันด้านปั๊มน้ำมัน และร้านสะดวกซื้อในปั๊มแข่งขันกันอย่างหนัก

ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ไม่ได้มีแค่กิจการของทีเอ บริษัทด้านสินค้าเกษตรในตลาดหลักทรัพย์ฯ อันประกอบด้วยบริษัทกรุงเทพผลิตผลอุตสาหกรรมการเกษตร จำกัด (มหาชน) หรือ BPA บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย หรือ CPF และบริษัทกรุงเทพโปรดิวส์ จำกัด หรือ BKP ต่างก็เจอผลกระทบด้วยเช่นกัน และซี.พี.อาหารสัตว์เองแม้ทำกำไรแต่ก็น้อยกว่ายอดปีที่แล้ว

ส่วนด้านสินค้าอุปโภค บริโภคทั่วไป ซึ่งน่าจะเจอผลกระทบรุนแรง เพราะเป็นของจำเป็น แต่ประวิตร ไวรุ่งเรืองกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทซี.พี. คอนซูเมอร์โพรดักส์ จำกัด ก็ตอบว่า ได้รับผลกระทบเหมือนกัน และที่ซี.พี.สามารถรับรู้ผลนี้ได้เร็วนั้นเพราะซี.พี.หยั่งขาลงไปในธุรกิจหลากหลายสาขานั่นเอง

ซี.พี.คอนซูเมอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคทั้งของในเครือเอง กับผู้ผลิตรายอื่น ที่ซี.พี.มีสายสัมพันธ์ด้วย ประวิตรประเมินอัตราการเติบโตของซี.พี.คอนซูเมอร์เองนั้น จากเดิมที่วางไว้ประมาณ 30-40% ในปี 2541 คงจะเหลือแค่ประมาณไม่เกิน 20% เท่านั้น และคงรอดูสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปี 2540 ไปก่อน ส่วนในปี 2541 หากเศรษฐกิจไม่แย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี

ธุรกิจปิโตรเคมีเองนั้น แม้จะลงทุนไปมหาศาลประมาณ 8 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับผลกำไรตอบแทนกลับคืนมา ยิ่งพิษเศรษฐกิจไทยเป็นเช่นนี้ นอกจากข้อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องภาษีนำเข้าอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังไม่ประสบความสำเร็จแล้วซี.พี.คงต้องพยุงกิจการให้อยู่รอดพ้นไปจนถึงปีหน้า และปีต่อๆ ไป หรืออาจตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หากทุกอย่างไม่กระเตื้องขึ้น

ส่วนกิจการค้าปลีก ซึ่งดูเหมือนยังคงไปได้ดี ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ยังคงเดินหน้าขยายสาขาต่อไป แม็คโครซึ่งกำลังรอความลงตัวของผู้ถือหุ้นโลตัสยังมีอนาคตที่ดีอยู่ เพียงแต่กิจการเหล่านี้ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้นอีก

สำหรับต่างประเทศนั้น ซี.พี.ก็ต้องสั่งชะลอการลงทุนทั้งหมด เช่น ที่เมืองจีน แม้ซี.พี.จะมีฐานการลงทุนขนาดที่ใหญ่กว่าประเทศไทยอย่างมากก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถนำกลับมาเอื้อประโยชน์ให้กิจการในประเทศไทยได้ เพราะซี.พี.ถือว่าต้องมีการแยกการดำเนินงานกัน ที่สำคัญเงื่อนไขของรัฐบาลจีนนั้น ต้องการให้บริษัทต่างประเทศที่เข้าไปลงทุน นำผลกำไรที่ได้ให้คงอยู่ในประเทศในรูปของการลงทุนเพิ่มเติม

กิจการหลากสาขาของนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยที่ซี.พี. เป็นแม่งานพาไปลงทุนต่างก็ต้องระงับโครงการออกไป โดยไม่มีกำหนดจากเหตุผลของสนั่น อังอุบลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด ก็คือเงินลงทุนที่ต้องใช้ในเมืองจีนเพิ่มขึ้นตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่ผันแปรไป ซึ่งธนินท์เองก็เห็นด้วย เพราะนอกจากบริษัทในเครือจะไม่นำเงินไปลงทุนในเมืองจีนแล้ว พันธมิตรเหล่านี้ก็ควรระงับด้วยเช่นกัน

"ค่าเงินหยวนแข็งขึ้น หากลงทุนในจำนวนเท่าเดิม เราก็ต้องใช้เงินบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่คุ้ม คุณธนินท์ก็เห็นด้วยที่เราระงับการลงทุน และคิดว่าเราน่าจะเก็บเงินไว้ในประเทศเพื่อใช้หมุนเวียนให้เกิดสภาพคล่องดีกว่า" สนั่นกล่าวย้ำนโยบายของธนินท์

กิจการของพันธมิตรซี.พี.หลายโครงการยังไม่ได้ลงทุนอย่างจริงจังจึงสามารถระงับไว้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบรุนแรงนัก แต่ก็ทำให้การแผ่ขยายอาณาจักรให้ครบทั้ง 30 มณฑลของจีนยังเกิดไม่ได้เต็มที่นัก

สำหรับสหรัฐอเมริกา ที่แม้จะไกลคนไทย แต่ธนินท์วางโครงการไว้ที่จะเริ่มเข้าสู่เมืองลุงแซมนี้เช่นกันจากที่มีบริษัทในเครือ อย่างบริษัทเอ็กชอ ไชน่า มอเตอร์ไซเคิล จำกัด เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทแล้ว ยังมีกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ จำกัด (มหาชน) กับธุรกิจท้องถิ่นที่เมืองเมดิสัน รัฐอลาบามา เพื่อทำธุรกิจไก่ครบวงจร

แต่ด้วยภาพที่ธนินท์เข้าพบบิลล์ คลินตัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2539 ทำให้ทางการสหรัฐฯ ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้นำพรรคเดโมแครตที่พัวพันเกี่ยวกับการรับเงินนักธุรกิจต่างชาติ 6.25 แสนเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้หุ้นของซี.พี.ในตลาดหุ้นนิวยอร์กตกลง และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กวดขันมากขึ้นสำหรับธนินท์

แม้ภาคการส่งออกของซี.พี.จะดีขึ้นบ้าง เนื่องจากค่าเงินบาทที่ลดลงไปทำให้สินค้าเพิ่มปริมาณขายมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 15% จากราคาของที่ถูกลง แต่ในระยะยาวปัญหาอื่นที่ตามมา ทั้งเรื่องการตัดสิทธิทางการค้าโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ภาระค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง เช่น น้ำมัน ค่าดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมา การส่งออกก็ยังคงไม่รุ่งอย่างแท้จริงอยู่ดี

การบุกสู่ตลาดต่างประเทศของซี.พี.จึงต้องรอการกู้สถานการณ์ในเมืองไทยก่อน

ผลกระทบที่เกิดกับซี.พี.ทำให้ธนินท์ไม่อาจนั่งนิ่งติดเก้าอี้ได้

ธนินท์เสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เช่น เสนอให้รัฐต้องมีการแจกแจงให้เห็นถึงตัวเลขสำรองเงินตราต่างประเทศพร้อมกับมาตรการในการช่วยเหลือด้านอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดเล็ก การรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน จนถึงมาตรการที่ชัดเจนในการฟื้นฐานะของสถาบันการเงิน และไม่ควรปิดกิจการ

อีกทั้งการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากจะช่วยปรับฐานะการเมืองให้ดีขึ้นในระยะยาว นโยบายด้านเศรษฐกิจก็จะมั่นคงตามมา และในระยะใกล้ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งการไม่ยอมรับร่างฉบับ สสร. ของพล.อ.ชวลิต ทำให้เกิดผลกระทบในด้านกระแสสังคมจนถึงด้านธุรกิจ

ธนินท์เองก็ร้อนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงต้องไปบ้านอดีตนายกรัฐมนตรี และเสนาะ เทียนทอง อดีต "มท.1" ด้วยตนเองเพื่อให้ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สสร. เพราะผลที่ได้หากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้นักธุรกิจสามารถตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้นักธุรกิจสามารถเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ ตามมาตรา 89 หมวด 5

แม้อดีตนายกฯ จะเอ่ยปากแปลความได้ว่าจะยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากมีการเปิดอภิปรายในสภาฯ แต่ปัญหาเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น แนวทางข้อเสนอของธนินท์ คนในระดับข้าราชการทั้งการเมือง ประจำไม่ยอมที่จะทำตามสิ่งที่ธนินท์ต้องการ ส่วนหนึ่งนั้นเห็นเป็นการอุ้มซี.พี.เสียมากกว่า

ดูเหมือนว่าเสียงของธนินท์จะเล็กลงสำหรับรัฐบาลของ "บิ๊กจิ๋ว"

หลังการรับร่างรัฐธรรมนูญสมาชิกของสภาหอการค้าไทย เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจยังไม่ได้รับการคลี่คลายจึงออกแถลงการณ์ส่งให้สื่อมวลชนเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก จนวิเชียร เตชะไพบูลย์ต้องมาเคลียร์ว่าสมาชิกสภาหอการค้าไทยทั้งหมดไม่มีส่วนรู้เห็น เป็นการกระทำโดยพลการของสมาชิกบางคน แต่ก็เป็นภาพที่เห็นได้ชัดว่าสายสัมพันธ์ของรัฐบาลกับนักธุรกิจขาดสะบั้นลง

เป็นความกล้าอย่างมากของบรรดานักธุรกิจที่อาจหาญไล่นายกรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นส่วนที่ทำให้พล.อ.ชวลิตต้องเอ่ยวาจา "มัน" ที่ทิ่มแทงใจนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลต่อหน้าม็อบเกษตรกรภาคอีสานที่นั่งรถบัสมาให้กำลังใจจนทำให้ธนินท์ต้องฝ่าดงคนอีสาน พร้อมนักธุรกิจผู้มีชื่อเสียงอีกหลายท่านไปพบอดีตนายกรัฐมนตรีถึงทำเนียบฯ ในวันรุ่งขึ้น เพื่อเคลียร์ปัญหาด้วยความคิดถึงสายสัมพันธ์ที่เคยมีต่อกันมาก่อน

แต่ความพยายามแท้จริงของะนินท์ก็คือให้รัฐบาลเร่งมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่กำลังเจ็บหนัก มีการทำข้อเสนอทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ก่อนหน้านี้แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้รับการสนองตอบ ซึ่งพล.อ.ชวลิตจะยอมรับตามนิสัยของคนคุ้นเคย แต่เมื่อถึงขั้นตอนของการรับไปปฏิบัติก็ไร้ความเคลื่อนไหวชัดเจนใดๆ

ครั้งนั้นจึงเป็นครั้งสุดท้านที่ธนินท์ไปพบพล.อ.ชวลิตอย่างเป็นทางการ และด้วยความไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน และไม่ยอมดำเนินมาตรการเร่งด่วนใดๆ เลยที่จะแสดงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

ธนินท์ยอมรับว่าเขาผิดหวังอย่างมากกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

"เสนอไปแล้วรัฐบาลก็ไม่ทำ แล้วไม่รู้ว่าทำไมไม่ทำ แล้วก็ไม่บอกผมว่าทำไม เพราะเราเป็นคนธรรมดา" ธนินท์พูดในที่ประชุมของกลุ่มศึกษาติดตามปัญหานโยบายแห่งชาติ กับผลของสิ่งที่เขาเสนอต่อรัฐบาล "บิ๊กจิ๋ว" (คอร์ปอเรท ไทยแลนด์ ต.ค.40)

สิ่งที่ประธานฯ ซี.พี.ต้องการคือมาตรการแก้ไขปัญหาไฟแนนซ์ 58 แห่งที่ปิดตัวไป เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องทางการเงิน จะได้มีผลสะท้อนกลับไปที่ธุรกิจด้านการส่งออกเพื่อช่วยพยุงฐานะของผู้ส่งออก และอุตสาหกรรมการเกษตร เช่นการผลิตน้ำตาลจากอ้อย ผลผลิตมัน และข้าวนาปรัง ที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงปลายปีนี้ เพื่อให้เจ้าของโรงงานมีเงินทุนไปรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรได้

ใครๆ ก็รู้ว่าฐานด้านธุรกิจส่งออก และการเกษตรนั้นซี.พี.มีส่วนเข้าไปร่วมอยู่ไม่น้อย จึงมีความกังขาเกิดขึ้นกับข้อเสนอของธนินท์

สิ่งที่ธนินท์เห็นว่ารัฐบาลยังไม่ได้ปฏิบัติอย่างแท้จริงในการแก้ปัญหาก็คือ ไม่ได้มีการแพร่กระจายสภาพคล่องทางการเงินให้มากขึ้น ขาดการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทที่ปล่อยให้ลอยตัวไปตามสภาพอย่างไร้จุดยืน และการปิดสถาบันการเงินโดยไม่มีมาตรการอื่นๆ มารองรับ

ผู้ที่ต้องรับผลของงานนี้อย่างเต็มตัวก็คือ ดร.ทนง พิทยะ รมว.กระทรวงการคลังในเวลานั้น

มีการระบุว่ามาตรการของดร.ทนงนั้นสวนทางกับวิธีคิดของซี.พี. แม้จะไม่มีการระบุชัดเจนว่าธนินท์ไม่พอใจมากน้อยแค่ไหน แต่การพูดในที่ประชุมของกลุ่มศึกษาและติดตามนโยบายแห่งชาติของธนินท์ ซึ่งต้องการให้นายกฯ ดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดในการแก้ปัญหา แต่นายกฯ เป็นนักการเมืองจึงไม่กล้าตัดสินใจ "ก็น่าเห็นใจท่านนายกฯ เพราะเป็นคนไปเชิญทั้งดอกเตอร์ทนงและดอกเตอร์โกร่งมาเอง เพราะถ้านายกฯ ไปเที่ยวล้วงลูก 2 คนนั้น อาจลาออกไปเลย"

มาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของนายกฯ "จิ๋ว" ธนินท์ยอมรับว่าเป็นการฟังจากกลุ่มที่ปรึกษาซึ่งมากกว่า 1 กลุ่ม และมีบางกลุ่มที่บอกว่าเศรษฐกิจยังดีอยู่ นายกฯ จึงเห็นว่าภาวะฯ ยังไม่วิกฤติจนเกินไป

ธนินท์หันไปหาบ้านราชครู โดยมีพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ ประสานให้ได้เข้าร่วมประชุมกับพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีอีกคนที่ธนินท์รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดีตั้งแต่เริ่มเสนอทำโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย ดังนั้นในโต๊ะการประชุมหามาตรการด้านเศรษฐกิจของฝั่งพรรคชาติพัฒนา จึงมีธนินท์มาร่วมวงอยู่ด้วย

ขณะที่ธนินท์ซึ่งหมดหวังกับพล.อ.ชวลิต ก็ใช้สายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับพล.อ.เปรม ซึ่งเป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์และทีเอ หารือร่วมกันภายในอาคารเทเลคอม ทาวเวอร์ ตึกบัญชากการหลังปัจจุบันของธนินท์ เพื่อหามาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งลดความดื้อของนายกรัฐมนตรี

ส่วนบิ๊กจิ๋วก็เดินทางไปที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และแถลงการณ์ว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยทาบดร.อาชว์ เตาลานนท์ ประธานกรรมการทีเอ ให้มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเหมือนวิธีการหนึ่งของนายกฯ ที่จะเอาใจซี.พี. แต่มีเสียงปฏิเสธมาจากซี.พี.ในเวลาต่อมา

หลังจากนั้นเพียง 4 วัน "ป๋าเปรม" ก็สร้างความฮือฮา ด้วยการยอมรับเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และเสนอตัวเองขึ้นช่วยแก้ปัญหาของชาติด้วยการเสียสละเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยการเชิญบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ไปที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ด้วยเหตุผลว่ามาอวยพรวันเกิดย้อนหลัง

แม้ไม่เป็นทางการแต่เสียงค้านจากนักการเมืองมีมากกว่ารัฐบาลแห่งชาติเป็นได้แค่ฝัน

หลังจากนั้นการประกาศด้านเศรษฐกิจเพื่อกู้ชาติฉบับ 14 ตุลาคม ของดร.ทนงไม่สัมฤทธิผลทั้งจากนักธุรกิจ สื่อมวลชน หรือเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลกเองก็ตาม ดร.ทนงได้รับความกดดันอย่างมาก จากความไม่พอใจต่อดร.ทนงของนักการเมืองร่วมรัฐบาล จึงขอลาออกจากตำแหน่งโดยระบุว่าหากมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ก็ไม่ขอรับตำแหน่ง

การปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้งของรัฐบาล "จิ๋ว" นอกจากจะไม่มีคนชื่อ ดร.ทนงแล้ว ยังมีการระบุว่าคนที่มีสายสัมพันธ์กับซี.พี.ในสายชาติพัฒนาอย่างพิทักษ์ ไม่ได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีตำแหน่งสำคัญเลยเช่นกัน

และเมื่อเกิดม็อบนักธุรกิจอีกครั้งขณะที่ค่าเงินบาททะยานแบบไม่หยุดไปที่ 41 บาทกว่า พล.อ.ชวลิตก็กู้สถานการณ์ของความหวังใหม่ด้วยการยอมลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ในที่สุดก็ได้ ชวน หลีกภัย จากซีกฝ่ายค้านมารับหน้าที่แทน ซึ่งความดีใจของธนินท์นั้นมีมาก จนกระทั่งนำกระเช้าดอกไม้ไปให้กำลังใจชวนถึงที่ทำการพรรค

ทางหนึ่งธนินท์บอกว่ามาตรการของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ และธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ตรงกับใจที่ธนินท์ต้องการ รอเพียงการลงมือทำอย่างจริงจัง

"ตอนนี้เราก็ได้รัฐบาลที่มีภาพพจน์ดี โดยเฉพาะมีทีมงานด้านเศรษฐกิจที่ได้รับความเชื่อถือ คือคุณศุภชัย พานิชภักดิ์ และคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ หุ้นก็ดีขึ้น เงินบาทก็แข็งขึ้นด้วย นโยบายถูกต้องแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการปฏิบัติเท่านั้น หากปฏิบัติให้ได้ตามมาตรการที่วางไว้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้" นั่นคือบทสรุปของะนินท์ต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน

เป็นการประกาศตัวทางการเมืองชัดเจนว่าคราวนี้ธนินท์สนับสนุนชวนแน่นอนหลังจากที่เคยช่วยอุ้มนายกฯ ของคนอีสานจนประสบความสำเร็จมาแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.