นับว่ากล้าหาญมาก สำหรับบริษัทรอยเนท ที่ประกาศตัวอย่างเป็นทางการเป็นบริษัทแรก
ว่าจะขอเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (Market for Alternative
Investment : MAI) ตลาดหุ้นแห่ง ที่ 2 ที่เปิดดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี แต่ยังไม่มีบริษัทเข้าไปจดทะเบียนแม้แต่รายเดียว
ตลาดหุ้นแห่งนี้ ถือกำเนิดขึ้นในช่วง ที่ภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ยังไม่พ้นวิกฤติ
การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ในภาวะซบเซา
ตลอดทั้งปีถ้าไม่นับรวมหุ้นของโรงไฟฟ้าราชบุรีแล้ว จะมีเพียงหุ้นของเจนโก้เพียงรายเดียวเท่านั้น
ที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในทางตรงข้าม บริษัท ที่ประกาศตัวว่าจะขอออกไปอยู่นอกตลาด
กลับมีมากกว่าหลายเท่า
การประกาศตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI ของรอยเนทจึงเป็นงานสำคัญ ถึงขั้น ที่ยุทธ
วรฉัตรธาร กรรมการผู้จัดการ MAI ต้องเดินทางไปร่วมเป็นสักขีพยานด้วยตัวเองในวันที่เปิดตัวกับสื่อมวลชน
รอยเนท เป็นบริษัทผู้ให้บริการ ให้คำปรึกษา ด้านการวางระบบคอมพิวเตอร์ในองค์กร
รวมทั้งการจัดฝึกอบรมด้านเทคนิคให้กับหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์
และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะระบบของ Microsoft ตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน
2540 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 41 ล้านบาท
บริษัทแห่งนี้ ถือหุ้นใหญ่โดยคนในตระกูลเยาวพฤกษ์ มีกิตติพัฒน์ เยาวพฤกษ์
เป็นกรรมการผู้จัดการ และมาโนช เยาวพฤกษ์ เป็นผู้จัดการทั่วไป
เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา รอยเนทเพิ่งได้รับอนุมัติจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.)
ให้ทำธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ต(ISP) โดยได้จัดตั้งบริษัทรอยเนท อินเตอร์เน็ต
ขึ้น โดยรอยเนทเข้าถือหุ้น 65% ที่เหลืออีก 35% เป็นหุ้นลม ที่ให้กับกสท.
"ตอนนี้รอยเนทเป็น ISP ที่เหลืออยู่เพียงรายเดียว ที่เป็นของคนไทยล้วน"
ยุทธกล่าวถึงว่า ที่ลูกค้ารายแรก
การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนใน MAI รอยเนทต้องการระดมเงินทุน เพื่อนำไปใช้ในการสร้าง
Data Center ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 60 ล้านบาท รวมทั้งเพิ่มเครือข่ายให้สามารถให้บริการครอบคลุมทั้ง
76 จังหวัด จากปัจจุบัน ที่มีเครือข่ายให้บริการได้เพียงในพื้นที่ กรุงเทพฯ
ชลบุรี นครราชสีมา และพระนครศรีอยุธยา
"เม็ดเงิน ที่เราต้องการจะระดมทุนจากการเข้าตลาด MAI ครั้งนี้ ประมาณ 100
ล้านบาท" กิตติพัฒน์ กล่าว
MAI ถูกจัดตั้งขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน
2542 โดยมีเป้าหมายให้เป็นแหล่งรองรับสำหรับระดมเงินทุนให้กับธุรกิจขนาดกลาง
และขนาดเล็ก ที่มีคุณสมบัติไม่เพียงพอจะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพยฯ
โดยช่วงแรกมีดร.สุรัตน์ ผลาลิขิต รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำหน้าที่รักษาการ
กรรมการผู้จัดการ จนเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2543 ยุทธ ที่เพิ่งลาออกจากผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส
ธนาคารออมสิน จึงได้เข้ามารับหน้าที่กรรมการผู้จัดการ
งานหลักของยุทธตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่ง คือ การเร่งหาบริษัทเข้าจดทะเบียนใน
MAI และตลอดเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา มีข่าวปรากฏเป็นระยะๆว่ามีบริษัทหลายแห่งสนใจเข้าจดทะเบียน
แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการทั้งจากตัวบริษัท และ MAI
เพิ่งจะมีรอยเนทเป็นแห่งแรก"รอยเนทถือเป็นบริษัทแรกในกลุ่มไอที ที่แสดงความจำนง
แต่ขณะนี้ยังมีอีกประมาณ 15 บริษัท ที่ตอบรับจะเข้าจดทะเบียนกับเราแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นเรื่องเข้ามา"ยุทธกล่าว
สำหรับ 15 บริษัท ที่เขากล่าวถึง เป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์
ชิ้นส่วนรถยนต์ และผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อการส่งออก โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้
บริษัทในกลุ่มนี้ 3-4 ราย จะมีการยื่นเรื่องขอกระจายหุ้น โดยนำหุ้นออกมาขายกับประชาชนทั่วไป
ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ก่อนยื่นเรื่องขอเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนต่อ
MAI
แต่สำหรับรอยเนทจะ กิตติพัฒน์บอกว่าจะรอปิดบัญชีงวดสิ้นปี 2543 ก่อน เพื่อนำตัวเลขไปประกอบกับการขออนุมัตกระจายหุ้น
ซึ่งคาดว่าจะยื่นเรื่องได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
ก็ต้องลุ้นกันอีกว่าเมื่อถึงเวลานั้น แล้ว ภาวะตลาดหุ้นของเราเอื้ออำนวยให้เพียงใด