|
"ตลาดเอเชีย"สวรรค์"นิวยอร์คไลฟ์""ไอเอ็นจี"ยืนกรานปักหลักลงทุนยาว
ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจประกันชีวิต 2 ค่ายจากฝั่งอเมริกาและยุโรป ยังมองไทยเป็นแดนสวรรค์ "นิวยอร์คไลฟ์"อเมริกาเห็นโอกาสเติบโตสูง วัดจากสถิติอัตราการทำประกันชีวิตต่อเบี้ยประกันต่อหัวทั้งไทย จีน อินเดีย และเวียดนาม ถึงแม้จะทิ้งห่างฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ห่างไกล แต่เมื่อเทียบการทำประกันชีวิตต่อจีดีพีกลับพบว่าไทยและอินเดียก็มีช่องว่างที่จะเข้าเบียดแทรกได้ ขณะที่ "ไอเอ็นจีกรุ๊ป"เชื่อคำพยากรณ์ "สวิสรี"ในช่วง 10 ปี นับจาก 2005-2015 ไทยจะขยายตัวเกินหน้า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนามหลายช่วงตัว โดยปัญหาการเมืองถูกมองเป็นปัจจัยช่วงสั้น แต่บริษัทยังปักหลักลงทุนระยะยาวไม่เปลี่ยนแปลง...
กองทัพธุรกิจกลุ่มโลกตะวันตก ที่เข้ามาลงเสาปักหลักดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในช่วงที่ภาครัฐเปิดประตูต้อนรับเต็มที่ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจหมาดๆ ส่วนใหญ่ยังเห็นปัญหาการเมืองเป็นเรื่องนอกสายตา ขณะเดียวกันผลกระทบก็คงเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ
อิ ริค บี.แคมพ์เบลล์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานช่องทางจัดจำหน่าย นิวยอร์คไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล อเมริกา ให้มุมมองธุรกิจประกันชีวิตในเอเชียยังมีโอกาสเติบโตสูง เมื่อดูตัวเลขอัตราการทำประกันชีวิตต่อเบี้ยประกันต่อหัวในปี 2547 ที่ผ่านมา
ฮ่องกง ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้เป็นกลุ่มท็อป ที่มีตัวเลขสูงเรียงตามลำดับ จาก 1,884 ดอลลาร์ 1,494 ดอลลาร์ และ1,006 ดอลลาร์ ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอย่าง ไทย จีน อินเดียและเวียดนามตัวเลขยังห่างไกลสุดกู่ โดยไทยอยู่ที่ 51ดอลลาร์ จีน 27 ดอลลาร์ อินเดีย 15 ดอลลาร์ และเวียดนาม 16 ดอลลาร์
ตรงกันข้ามกับแถบสวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหรัฐและอิตาลีที่มีตัวเลขจากต่ำสุด 1,417 ดอลลาร์ ถึง 3,275 ดอลลาร์
ตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ กลับไม่ได้ทำให้นิวยอร์คไลฟ์เบือนหน้าหนี เพราะมองว่าตัวเลขที่ต่ำเมื่อเทียบกับโอกาสที่ธุรกิจจะเบียดชิงพื้นที่ กลับมีมหาศาล
ฮ่องกง ถือเป็นแดนสวรรค์ของธุรกิจประกันชีวิตจากซีกโลกตะวันตกเกือบจะทุกราย ยิ่งเมื่อพลิกมาดูการทำประกันชีวิตเทียบกับจีดีพี และอัตราการเติบโตของตลาด จะพบว่าวิ่งมาอยู่แถวหน้าโดยไม่ต้องสงสัย ส่วนไทยและอินเดีย ที่มีการทำประกันชีวิตต่อจีดีพีค่อนข้างต่ำ แต่อัตราการเติบโตของตลาดแต่ละปีกลับไม่ต่ำตามกันไป
แรงผลักดันของตลาดใหม่ในย่านเอเชียเหล่านี้ ส่วนสำคัญมาจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของเบี้ยประกันชีวิต จำนวนประชากรหรือขนาดของประเทศ การลดภาษี รวมถึงภาครัฐที่มีบทบาทในการให้ความรู้ และมองเป็นเครื่องมือในการลงทุน ทั้งหมดคือตัวแปรที่เร่งให้ธุรกิจประกันชีวิตขยายตัวในอนาคต
อิ ริค บอกว่า เอเชียเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกัน การขยายตลาดจะเริ่มจากจำนวนประชากรสูงจากจีน อินเดีย ที่มีคนมากกว่า 2.6 พันล้านคน ไปยังตลาดที่มีขนาดเล็กลง
" เชื่อว่าการเติบโตอาจจะไม่สูงมาก แต่เมื่อคำนวณออกมาเป็นตัวเลขจะเป็นจำนวนที่สูง"
ในอินเดีย จัดเป็นตลาดเปิดกว้างสำหรับนิวยอร์คไลฟ์ เพราะภาครัฐไม่จำกัดจำนวนธุรกิจ เงินทุนหรือแม้แต่การลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ช่วงเวลา 5 ปีตลาดขยายตัวมาก โดยมีธุรกิจประกันชีวิตเพียง 24 แห่ง ขณะที่ฮ่องกงที่มีประชากร 7 ล้านคน มีธุรกิจถึง 30 แห่ง แต่การแข่งขันก็สูงมาก และถือเป็นตลาดที่เติบโตกว่าที่อื่นๆนานแล้ว
ในฮ่องกงนิวยอร์คไลฟ์ถือหุ้นเต็ม 100% จึงขายผ่านช่องทางตัวแทนทั้ง 100% ส่วนอินเดียร่วมทุนกับพันธมิตรที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ถือหุ้นในสัดส่วน 50 ต่อ 50 แต่ที่ต่างออกไปจากที่อื่นคือ อินเดียมีสินค้าประเภทกรมธรรม์ควบการลงทุนหรือ ยูนิต ลิงค์สูงถึง 50%
ขณะที่ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ ถือหุ้นร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ เน้นหนักขายผ่านช่องทาง แบงแอสชัวรันส์ (ขายกรมธรรม์ผ่านสาขาแบงก์) มี่สวนแบ่งการตลาด 49% ห่างจากอันดับ 2 ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 14% นอกจากนั้นก็ยังเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย
จอห์น ไวลี่ ผู้จัดการทั่วไปและภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ไอเอ็นจีประกันชีวิตที่กำลังจะอำลาตำแหน่งไปไต้หวัน บอกว่า ปีที่ผ่านมาไอเอ็นจีประกันชีวิต ประเทศไทย มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 2,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.6% เป็นเบี้ยปีแรก 920 ล้านบาท ขยายตัว 28% เบี้ยประกันปีต่ออายุ 1,560 ล้านบาท ขยายตัว 91% มีจำนวนตัวแทน 5,400 คน
โดยปีนี้ ประเมินว่าเบี้ยประกันภัยรับรวมจะเพิ่มเป็น 3,420 ล้านบาท เป็นเบี้ยปีแรก 1,297 ล้านบาท เบี้ยปีต่ออายุ 2,123 ล้านบาท จะเพิ่มจำนวนตัวแทนเป็น 6,000 คน ก่อนจะถึงจุดคุ้มทุนในปี 2550 ขณะที่ 2 เดือนแรกธุรกิจขยายตัวเฉลี่ย 35% โดยเป้าปีนี้จะผลักให้ถึง 40%
จอห์น ปัดปัญหาการเมืองว่าธุรกิจไม่เกี่ยวกับการเมือง และมองเป็นปัจจัยช่วงสั้นที่คงไม่กระทบภาพใหญ่ของธุรกิจ เพราะสำหรับไอเอ็นจีประกันชีวิตยืนยันจะปักหลักลงทุนระยะยาว
นอกจากนั้น ยังนำเอาตัวเลขการพยากรณ์ของสวิสรี ในช่วงปี 2005-2015 มายืนยันว่า ตลาดไทยจะขยายตัวสูงกว่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและเวียดนาม นั่นก็แสดงว่าวิสัยทัศน์ยังแจ่มใสอยู่
ไอเอ็นจีกรุ๊ป คือค่ายยักษ์จากเนเธอร์แลนด์ที่มีการแยกธุรกิจธนาคารและประกันชีวิตออกจากกันอย่างชัดเจน และยังถือเป็นธุรกิจประกันชีวิตเบอร์สองในตลาดเอเชีย เป็นรองแค่เอไอจี จากอเมริกาเพียงเจ้าเดียวเท่านั้น
จอห์นบอกว่า ไอเอ็นจีกรุ๊ป ไม่มีการลงทุนในแบงก์ต่างๆ แต่ก็ได้อาศัยบทบาทของธนาคารพันธมิตรอย่าง ทหารไทย ซิตี้แบงก์และ เอชเอสบีซี เป็นช่องทางขยายตลาด
ในแถบเอเชีย ไอเอ็นจีจะเรียกเป็นตลาดเกิดใหม่หรือ "กรีนฟิล์ด" โดยแบ่งเป็นกลุ่มชัดเจน กลุ่มแรกคือ เกาหลีใต้ ทำเลทองที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด ไต้หวัน และญี่ปุ่น ส่วนอีกกลุ่มคือ จีน ไทย มาเลเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และมาเก๊า ฝ่ายหลังอินเดียจัดเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีเม็ดเงินไหลเข้ามามากที่สุด มากกว่าประเทศจีน ทั้งที่ขนาดตลาดใกล้เคียงกัน ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะอินเดียเป็นตลาดเปิดกว้าง กฎเกณฑ์ภาครัฐผ่อนปรนกว่า ที่สำคัญคือจีนจะเปิดตลาดเป็นมณฑล และแต่ละมณฑลก็มีประชากรประมาณ 50 ล้านคน ขณะที่ ไอเอ็นจี เปิดตลาดใน 4 มณฑล มีประชากรจำนวน 200 ล้านคน
สมโพชน์ เกียรติไกรวัลศิริ รองกรรมการผู้จัดการสายงานตัวแทน ไอเอ็นจีประกันชีวิต บอกว่า 2-3 ปีก่อน ตลาดชะลอตัว ปี 2547 ตลาดติดลบ ปี 2548 ปรับมาเป็นบวก 3 โดยคาดว่าปี 2549 ตลาดยังชะลอตัว เห็นได้จากธุรกิจเบอร์ 1 , 2 และ 3 ในตลาดมีผลประกอบการติดลบตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ปีก่อนช่วงเดียวกันผลดำเนินงานยังเป็นบวก
" สัญญาณปีนี้ไม่ค่อยดี ธุรกิจอาจไม่เติบโต ถึงแม้จะเคยประเมินว่าปีนี้อุตสาหกรรมควรจะโตไม่ต่ำกว่า 10% อย่างไรก็ตามปีนี้เราจะไม่ให้เติบโตต่ำกว่า 40%"
ธุรกิจประกันชีวิตในช่วงหลังๆ ถูกประเมินว่าเอนเอียงไปทางช่องทางขายผ่านแบงก์ จนสร้างปัญหาให้กับการพัฒนาตัวแทนขาย หลายบริษัทเริ่มลดความสำคัญของการพัฒนาตัวแทนน้อยลง ทำให้ช่องทางแบงแอสชัวรันส์แกร่งขึ้นมาในทันที ขณะที่ตัวแทนขายอ่อนแอลงเรื่อยๆ
" เราจะไม่เป็นอย่างนั้น จะเน้นพัฒนาตัวแทนให้แกร่งขึ้น ให้ความรู้ ความเข้าใจ ออกสินค้าใหม่ๆให้แข่งกับหลายบริษัทที่ขายผ่านแบงก์ เช่นต่อไปอาจจะขายผ่านทางเทเลมาร์เก็ตติ้ง"
สมโพชน์บอกว่า ช่องทางแบงแอสชัวรันส์บางแบงก์อาจสำเร็จ แต่บางแบงก์ก็ทำไปเพียงเพื่อซัพพอร์ตบริษัทในเครือตระกูลเดียวกันเอง ดังนั้นการให้บริการลูกค้าจึงด้อยลงไป ถึงกับมีเสียงบ่นให้ได้ยินถึงการให้บริการของบางแบงก์
ขณะที่ไอเอ็นจีฯ ยังเลือกจะใช้ช่องทางเดิมๆ คือขายผ่านตัวแทนเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการให้บริการลูกค้าอย่างใกล้ชิด มีรถให้บริการเคลื่อนที่สีส้มวิ่งไปตามท้องถนน ทั้งหมดเป็นการพยายามเข้าถึงเรื่องบริการ ที่ปรับคอนเซ็ปท์ จากปัญหา การเคลมยาก มีปัญหาระหว่างบริษัทกับลูกค้า มาเป็นการตอบรับการให้บริการในช่วงที่ลูกค้ายังมีชีวิตอยู่ ซึ่งหลายแบงก์มองข้ามไป
" ตามหลักแล้ว อิมเมจของแบงก์ควรจะช่วยอุ้มชูธุรกิจประกันชีวิต แต่ในพักหลังกลับเริ่มมีเสียงบ่นของลูกค้าที่ซื้อประกันชีวิตผ่านสาขาแบงก์มากขึ้นเรื่อยๆ ไอเอ็นจีฯก็จะนำตรงนี้มาเปลี่ยนเป็นให้ธุรกิจประกันชีวิตช่วยให้อิมเมจแบงก์พันธมิตรดูดีขึ้น"
ฉะนั้น ใครก็ตามที่ปรับตัวได้ดีกว่า มีพร้อมทั้งการอบรมตัวแทน และออกสินค้าใหม่ๆ การให้บริการที่ดี ก็จะอยู่รอดและเติบโตต่อเนื่องในตลาด เพราะตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะไทยนั้น ยังต้องเผชิญกับปัจจัยการเมือง ดอกเบี้ย เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น บวกกับสนามแข่งขันที่รุนแรง คอยรบกวนอยู่ตลอดเวลา...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|