MFCเปลี่ยนวิกฤติการลงทุนเป็นโอกาสออก"MGS" ดึงผลตอบแทนต่างประเทศ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

MFC สะบัดธงนำ ออกกองทุนใหม่ "โกลบอล สมาร์ทฟันด์"ลงทุนต่างประเทศ เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและความผันผวนในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ ณ ปัจจุบัน อันเกิดจากผลทางการเมือง และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยRP/14วันขยับขึ้น การขยายช่องทางลงทุนต่างประเทศเป็นการกระจายความเสี่ยง และด้วยเครือข่ายพันธมิตรของ MFCที่มีหลากหลายจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยบริหารจัดการกองทุน

ปัจจัยเรื่องการเมืองกลายเป็นปัญหาที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนสูงนักลงทุนเริ่มชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจนของการเมือง ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เสน่ห์ของตลาดหุ้นจางลง

ไม่เพียงตลาดหุ้นเท่านั้น ในตลาดตราสารหนี้ ความน่าสนใจในการลงทุนก็เริ่มเสื่อม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย RP/14 วันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งหมายถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้นั้นเริ่มไม่น่าสนใจอีกต่อไป

ในยามที่ช่องทางการลงทุนทั้งหลายถูกเมฆครึ้มบดบังไร้แสงแห่งความหวัง กองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศจะกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ เพราะไม่เพียงเพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุนแต่ยังสร้างโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนด้วย เพราะกล่าวได้ว่าในยามที่ประเทศไทยต้องเผชิญความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนทางการเมืองจนส่งผลกระทบต่อการลงทุน แต่ในบางประเทศไม่ได้เป็นเช่นนั้นทำให้ความผันผวนจากการลงทุนมีความเสี่ยงน้อยกว่า

พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่าด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บริษัทจึงได้เพิ่มทางเลือกให้ผู้ลงทุนด้วยการออกกองทุน โกลบอล สมาร์ทฟันด์ (MGS) เพื่อลงทุนในต่างประเทศโดยเน้นลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมประเภทอื่น ๆ เช่น กองทุนที่อิงกับราคาทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการลงทุนในค่าเงินดอลลาร์

หรือกล่าวได้ว่า MGS เน้นลงทุนในอินเด็กซ์ต่าง ๆ ของแต่ละประเภท อย่าง อินเด็กซ์ตลาดน้ำมัน ตลาดทองคำ หรือในอินเด็กซ์ตลาดหุ้นเกิดใหม่อย่างบราซิล เป็นต้น

ซึ่งการลงทุนในค่าเงินดอลลาร์ก็คือการเฮจด์ค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ แต่การจะทำหรือไม่นั้นก็ต้องดูจังหวะที่เหมาะสมด้วยว่าค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็ง ถ้าค่าเงินบาทอ่อนดอลลาร์แข็งก็ถือไว้ไม่ต้องทำการเฮจด์ค่าเงิน อีกทั้งกระบวนการทำแต่ละครั้งก็มีต้นทุน ดังนั้นเวลาลงทุนในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทางMFC ก็ต้องเลือกในจังหวะที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน

พิชิต บอกอีกว่า แม้กองทุนดังกล่าวจะช่วยกระจายความเสี่ยงก็จริง แต่ผู้ที่จะลงทุนในกองทุน MGS จะต้องรับความเสี่ยงในระดับหนึ่งได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีความรู้และเข้าใจในการลงทุนตราสารทุนและตราสารหนี้ด้วยเนื่องจาก MGS จัดเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง

ศุภกร สุนทรกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์/ฝ่ายวิศวกรมการเงิน เล่าถึงรูปแบบการบริหารกองทุน MFC ว่า เป็นแบบTruly active ซึ่งหมายถึงความแม่นยำในเลือกหลักทรัพย์ที่ลงทุน ด้วยประสิทธิภาพของระบบ TERMINUS และพันธมิตรต่างประเทศที่ทำธุรกิจคู่กันมานานจะเป็นสะพานเชื่อมข้อมูลหลักทรัพย์จากทั่วโลกที่ MGS สนใจเข้าไปลงทุน

"TERMINUS เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุน เราจะเห็นว่าปกติกองทุนแต่ละประเภทจะมีผู้จัดการกองทุนดูแลอยู่แต่เนื่องจาก MGS เป็นกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์หลากหลาย ดังนั้นจึงไม่สามารถให้ผู้จัดการกองทุนคนใดคนหนึ่งดูแลได้ แต่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากผู้จัดการกองทุนในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้วนตลาดทุน ตราสารหนี้ หรือทองคำเป็นต้น"

ศุภกร บอกว่าMGS จะมีทีมเฉพาะด้านเข้ามาช่วยในการดูแล และให้ข้อมูล แต่การตัดสินใจจะลงทุนในหลักทรัพย์ตัวหนึ่งตัวใดนั้นอยู่ที่ ระบบ TERMINUS ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของกองทุน ที่จะทำหน้าที่วิเคราะห์เชิงปริมาณที่แต่ละทีมส่งข้อมูลเข้ามา และระบบดังกล่าวจะประเมินเป็นสถิติเพื่อหาข้อมูลที่เชื่อถือได้มากที่สุดออกมาเป็น 1สัญญาณ

"ระบบนี้ทำให้เรารู้ว่า ณ เวลานี้ควรลงทุนในหลักทรัพย์ตัวไหน และต้องแจกจ่ายกระจายการลงทุนอย่างไร เพื่อสร้างผลตอบแทนออกมาให้ดีที่สุด และด้วยรูปแบบกองทุนที่สามารถจัดสรรการลงทุนในแต่ละหลักทรัพย์ได้ 0-25% ทำให้โอกาสการสร้างผลตอบแทนมีมากขึ้น"

กระนั้นก็ตามไม่เพียงแค่ระบบ TERMINUS ที่นำมาช่วยในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ แต่พันธมิตรในต่างประเทศก็เป็นเครือข่ายสำคัญที่ทำให้ MFCได้รับข้อมูลข่าวสารจากทั่วประเทศก่อนตัดสินใจลงทุน

ศุภกร เล่าว่า พันธมิตรต่างประเทศที่MFCร่วมงานมีหลายหน่วยงาน ซึ่งเป็นการทำงานแบบบริหารร่วมกันหรือให้คำปรึกษา ทำให้MFC เห็นว่าผลจากการที่เคยทำงานร่วมกันนั้นเป็นโอกาสของบริษัท ดังนั้นไม่ว่ากองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ Foreign Investment Funds (FIF) หรือกองทุนที่มีทุนมาจากต่างประเทศ (Country Fund) ที่อยู่ภายใต้การจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการMFC ล้วนแล้วแต่สร้างประสบการณ์ให้บริษัทในการบริหารกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ

สำหรับMFC เคยออกกองทุนFIF มาแล้ว 3 กองทุน คือ MFC Global Equity Fund (MGE) MFC Global Opportunity Bond Fund (MGB) MFC Global Alpha Fund (MGA)และล่าสุด MFC Global Smart Fund- MGS เป็นกองทุนที่ 4 เป็นกองทุนเปิดที่มีมูลค่า 600 ล้านบาท เริ่มขายในวันที่ 13-28 มีนาคมนี้

ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2548 กองทุน FIF ที่ลงทุนต่างประเทศมีอยู่ทั้งสิ้น 33 กองทุน จาก 15 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยรวมเม็ดเงินสุทธิของ 33 กองทุนรวมFIFอยู่ที่ 8,350,884,467 บาท มูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) 31,662 ล้านบาท

ศุภกร วิเคราะห์ว่า ในอนาคต กองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศจะเพิ่มมากขึ้น และเป็นทิศทางที่ บลจ.หลายแห่งเริ่มศึกษาและให้ความสนใจ ไม่ใช่เพราะเพื่อเพิ่มทางเลือกและกระจายความเสี่ยงให้ผู้ลงทุนเท่านั้น แต่เป็นสัญญาณว่าธุรกิจจัดการกองทุนกำลังพัฒนาไปข้างหน้า การสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการแข่งขันที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดเสรีภาคบริการ

ยามนี่นักลงทุนที่มีทุนหนาอาจคลายความกังวลเพราะมีทางเลือกการลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะในยามนี้บรรยากาศของประเทศไทยไม่เอื้อต่อการลงทุนยิ่งนัก และนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ MFC ไม่พลาดที่จะมองวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการออกกองทุนเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.