|
'General Electric' บริษัทที่ได้รับการยกย่องที่สุดในโลก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ทุกๆ ปีนิตยสาร Fortune เขาจะมีการจัดลำดับบริษัทที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในโลก ซึ่งผลในปีนี้ก็ออกมาแล้วครับ โดยผลในปีนี้ก็เป็นเจ้าเดิมจากปีที่แล้วครับนั้นคือ General Electric หรือ GE ที่เราคุ้นเคยครับ ผลออกมาก็ไม่น่าแปลกใจนะครับ ทาง Fortune เขาจัดอันดับเรื่องนี้มาแปดปีและในหกปีที่ผ่านมาบริษัทที่ได้รับการยกย่องเป็นอันดับหนึ่งก็หนีไม่พ้น GE เจ้าเก่าครับ
ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยนะครับว่าหลังจากยอดผู้บริหารอย่าง Jack Welch ออกจาก GE และ Jeff Immelt เข้ามาบริหารแล้ว ความร้อนแรงของ GE ก็น่าจะลดลงนะครับ แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นอย่างนั้น ทั้งนี้เนื่องจากตัว Immelt เองก็ถือเป็นผู้บริหารชั้นยอดคนหนึ่ง และระบบของ GE ก็ไม่ได้พึ่งพาผู้บริหารเพียงแค่คนเดียว คนที่เกี่ยวข้องกับ GE หลายๆ คนจะระบุตรงกันเลยครับว่าความสามารถหลัก (Core Competence) ที่โดดเด่นที่สุดของ GE คือเรื่องของการมีบุคลากรที่เก่งที่สุดในทุกตำแหน่ง และแนวทางในการพัฒนาผู้นำของ GE
นักวิชาการชื่อดังจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อย่าง Clayton Christensen ยังยอมรับเลยครับว่า GE เป็นสถาบันการศึกษาทางด้านการบริหารจัดการที่ดีที่สุดในโลก (GE is the best school of management in the world) ประเด็นที่น่าสนใจจากการจัดลำดับบริษัทที่ได้รับการยกย่อง (หรืออีกนัยหนึ่งคือมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ) มากที่สุดในโลกนั้น ก็คือราคาหุ้นของ GE ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาได้ตกลงอย่างมากและออกมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ S&P 500 แต่ยังเป็นบริษัทที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดทั่วโลก
ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะบอกว่าเกิดขึ้นจากบุญเก่าและชื่อเสียงเดิมๆ ของ GE ที่ได้ทำไว้ ทำให้เวลาคนนึกถึงบริษัทชั้นนำของโลก ก็ยังคงนึกถึง GE อยู่ แต่ก็มีข้อถกเถียงครับเนื่องจากหุ้นของ GE ได้ตกลงตั้งแต่ปี 2001 แล้ว ถ้า GE ยังคงอาศัยบุญเก่าอยู่ ป่านนี้บุญเก่าก็น่าจะหมดแล้วนะครับ ดังนั้นสิ่งที่อาจจะเป็นไปได้อีกมุมมองหนึ่งก็คือราคาหุ้นของ GE อาจจะไม่ได้สะท้อนต่อความสามารถที่แท้จริงของบริษัท ผู้บริหารบางท่านบอกเลยครับว่าการที่ GE ได้รับการยกย่องขนาดนี้ถือเป็นตัวชี้วัดที่เป็นเหตุ (Lead Indicators) ที่สำคัญที่จะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นของ GE ต่อไปในอนาคต
ทาง Fortune ได้วิเคราะห์ว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ GE ยังคงโดดเด่นมาได้นานเช่นในปัจจุบันเกิดขึ้นจากความสามารถของ GE เอง ในการทำสิ่งที่บริษัทอื่นไม่สามารถทำได้ GE เองไม่ใช่เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจธรรมดาเท่านั้น แต่เขาถือว่าเป็นสถาบันทางด้านการจัดการที่สำคัญที่ผลิตแนวคิดทางด้านการจัดการใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ช่วงปี 1892 - 1912 ที่พัฒนาแนวทางในการออกแบบองค์กร ที่เป็นแนวทางสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งเป็นผู้จุดประกายว่าทรัพยากรหรือสินค้าที่สำคัญที่สุดของบริษัทไม่ใช่ตัวผลิตภัณฑ์ แต่เป็นบุคลากรที่มีความสามารถภายในองค์กร
ในปี 1900 GE เองก็เป็นบริษัทแรกๆ ที่เริ่มตั้งหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาขึ้นมาภายในองค์กร ในปี 1930 ให้ความสำคัญกับแรงงานสัมพันธ์ สวัสดิการ และปันส่วนโบนัสจากกำไร ในปี 1950 ผลิต Blue Books ที่เป็นเหมือนกับตำราหรือคู่มืออย่างละเอียดสำหรับแนะนำการทำงานของผู้บริหาร GE ในปี 1960 เป็นผู้บุกเบิกเรื่องของการวางแผนกลยุทธ์ ในปี 1980 และ 1990 ก็เป็นผู้ผลักดันและให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้นำ การนำ Six Sigma มาใช้ และการพัฒนาหลักการเรื่องของ Work Out
เห็นไหมครับว่า GE เองได้พัฒนาแนวคิดทางการบริหารหลายๆ ประการออกมาสู่โลกธุรกิจ ถึงแม้แนวคิดหลายๆ เรื่องข้างต้นจะล้าสมัยไปแล้ว แต่เราก็ต้องอย่าลืมนะครับว่าผู้ที่ทำให้เครื่องมือหรือแนวคิดเหล่านั้นล้าสมัยก็เป็นทาง GE เอง อาจจะกล่าวได้ว่า GE เองจะมีการพัฒนาตนเองอย่างเนื่อง ดังนั้นต่อให้บริษัทอื่นๆ พยายามลอกเลียนแบบ GE อย่างไร GE ก็ยังคงก้าวนำหน้าบริษัทอื่นๆ ไปอย่างน้อยหนึ่งก้าวเสมอ ดังนั้นก็เลยไม่น่าแปลกใจเลยนะครับว่าทำไมผู้บริหารทั่วโลกเขาถึงยังคงยกย่องให้ GE เป็นที่หนึ่ง (ทั้งๆ ที่ไม่ใช่บริษัทที่มียอดขาย กำไร เติบโตสูงสุด หรือ มีมูลค่าสูงสุด) เพราะ GE สามารถทำในสิ่งที่บริษัทอื่นๆ ทำไม่ได้และเป็นต้นแบบในการบริหารของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก
สิ่งหนึ่งที่ GE ให้ความสำคัญอย่างมาก และบริษัทอื่นๆ ก็ยังไม่สามารถลอกเลียนแบบได้เท่าคือเรื่องของคน GE นั้นเขาให้ความสำคัญกับคนของเขามากจริงๆ ผู้บริหารเกือบทุกคนต้องใช้เวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของเวลาทำงานไปเกี่ยวข้องกับคน ไม่ว่าจะเป็นการรับคน การพัฒนา การประเมิน การวางแผนทดแทน อดีตผู้บริหารของ GE ท่านหนึ่งได้ระบุไว้เลยครับว่าไม่มีองค์กรไหนในโลกนี้อีกแล้วที่มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถเท่ากับ GE ประโยคหนึ่งที่ผู้บริหารท่านนี้ (Larry Johnston ปัจจุบันเป็น CEO ของ Albertson's บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ของอเมริกา) คือเมื่อ GE มีคนที่เก่งที่สุดแล้ว GE ก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องของการปฏิบัติงาน (Execution) เนื่องจากคนเหล่านี้จะรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านี้เอง
เคล็ดลับที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ GE จากปากคำของ Larry Johnston ก็คือ GE มีวัฒนธรรมที่สำคัญในเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) คนของ GE จะพยายามทำให้ทุกอย่างดีขึ้นในทุกระดับ ปรัชญาสำคัญอย่างหนึ่งของ GE ก็คือไม่มีข้อจำกัดใดๆ สำหรับการพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น ถึงแม้เราจะดีที่สุด (The Best) เราก็ยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ผู้ชนะที่แท้จริงจะไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น และที่น่าสนใจก็คือ GE จะพยายามออกไปเสาะแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดจากภายนอกองค์กรตลอดเวลา GE จะไม่เกิดความรู้สึกหลงตัวเองแต่พร้อมจะเรียนรู้จากภายนอกตลอดเวลา
Johnston ยกตัวอย่างสมัยเขาเป็น CEO ของ GE Appliances บริษัทเขาก็ได้ไปเรียนรู้วิธีการในการจัดการกับกระบวนการจัดการ Inventory จากบริษัทเล็กๆ ในนิวซีแลนด์ และหลังจากนั้นก็ได้มีการนำเอาวิธีการนั้นไปใช้ทั่วทั้งบริษัท ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ GE เป็นคนคิดขึ้น แต่คนของ GE จะออกไปเสาะแสวงหาแนวคิดดีๆ จากภายนอกตลอดเวลา
จริงๆ แล้วในวารสาร Fortune ฉบับนี้นอกเหนือจากจะมุ่งเน้นไปที่ GE แล้ว เขายังให้ความสำคัญกับ Toyota ด้วยครับ เนื่องจากในปีนี้ Toyota ได้ขึ้นมาเป็นอันดับสองของบริษัทที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด และถือเป็นบริษัทนอกประเทศอเมริกาที่ได้อันดับสูงสุดจากที่เคยจัดอันดับมา ซึ่งก็น่าสนใจและน่าศึกษาเหมือนกันนะครับ ว่าแนวคิดของเอเชียของ Toyota จะต่างจากแนวทางของอเมริกาอย่าง GE ได้อย่างไร ท่านผู้อ่านที่สนใจก็ลองหา Fortune ฉบับนี้อ่านกันนะครับ หรือจะเข้าไปที่เว็บก็ได้ครับ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|