นวัตกรรม...ทางรอด SMEs ยุคเอฟทีเอ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

๐ ทำอย่างไรเมื่อความคิดตีบตัน วิธีคิดและกลยุทธ์เดิมๆ ใช้ไม่ได้ผล
๐ “นวัตกรรม” คืออะไรกันแน่ เป็นสิ่งใหม่ที่ทำได้ไม่ยากเกินจริงหรือไม่ ?
๐ หน่วยงานรัฐ-เอกชนร่วมมือเดินหน้าโชว์หนทางและวิธีการนำนวัตกรรมสร้างเครื่องมือใหม่สู่ความสำเร็จ
๐ เปิดโลกทัศน์ผู้ประกอบการ SMEs หาโอกาส ปรับตัวเพื่ออยู่รอดอย่างยั่งยืน

“ผู้จัดการรายสัปดาห์” ติดตามความเคลื่อนไหวหนทางที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อมได้ปรับตัวและเป็นทางออกเพื่อจะนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จในยุคที่การแข่งขันของโลกไร้พรมแดนเป็นไปอย่างรุนแรงเข้มข้น รวมทั้งแนวโน้มของการค้าเสรีที่กำลังแผ่ขยายออกไปทั่วโลก เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค ผู้ที่จะอยู่รอดและไปถึงเป้าหมายต้องพร้อมเสมอ

“นวัตกรรม” เป็นหนทางที่ดีและจำเป็น เพื่อสร้างจุดแข็งและความได้เปรียบ เมื่อภาครัฐซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนโดยตรงและเอกชนบางส่วนที่เป็นกลไกกำลังตื่นตัวช่วยกันขับเคลื่อน ผู้ประกอบการควรจะพิจารณาและหาทางใช้ประโยชน์ในจุดนี้

มุ่งสร้างหุ้นส่วน-เครือข่ายนวัตกรรม

ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยถึงนโยบายการสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศในกรอบ 4 ปีระหว่าง 2549-2552 ว่าล่าสุดได้รับอนุมัติวงเงินจากคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติจำนวน 1,250 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อน 3 แผนงานดังนี้ 1.ยกระดับนวัตกรรมจำนวน 825 ล้านบาท 2.ส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม 238 ล้านบาท และ 3.แผนสร้างองค์กรนวัตกรรม 187 ล้านบาท

สำหรับแผนงานในปี 2549 นี้จะเป็นปีแห่งการสร้างหุ้นส่วนและเครือข่ายนวัตกรรม โดยร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ รวมถึงการปรับบทบาทจากการเป็นผู้ให้เพียงอย่างเดียวสู่การเป็นผู้พัฒนาหรือผู้รับทุน จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนความหมายที่แท้จริงในการเป็นหุ้นส่วนที่มีเป้าหมายร่วมกันและพัฒนานวัตกรรมของชาติที่มีเครือข่ายที่เข้มแข็งหรือการร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทำหลักสูตรนวัตกรรมขึ้น

ด้านทิศทางการดำเนินงาน จะพัฒนาอุตสาหกรรมหลักใน 3 สาขา ได้แก่ 1.ด้านธุรกิจชีวภาพ 2.ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม 3.ด้านการออกแบบและสร้างตราสินค้า รวมถึงนวัตกรรมที่มีการพุ่งเป้าและสนับสนุนไปบ้างแล้ว เช่น นาโนเทคโนโลยี และสเต็มเซลล์

ศุภชัย กล่าวว่าในปีนี้ สนช.จัดงบประมาณ 177 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการเงิน และวิชาการจำนวน 70 โครงการ ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมาเพื่อมุ่งเน้นคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำตลาดให้กลุ่มผู้ประกอบการ และพัฒนาเว็บไซต์เชิงธุรกิจ www.innook.com ขึ้นมา

อีกทั้ง การจัดนิทรรศการ การประชุมนานาชาติ และความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น เยอรมนี อเมริกา รวมถึงการผลักดันการจัดตั้งสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เพื่อสร้างและนำนวัตกรรมไปใช้ในเครือข่ายวิสาหกิจมากขึ้น นำไปสู่ปีแห่งการสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติในปี 2550 ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ระบบฐานความรู้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้

ศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้พยายามสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในด้านของความคิดที่จะทำอะไรใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายร่วมกัน เพราะนวัตกรรมไม่สามารถทำโดยคนใดคนหนึ่ง ต้องมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และหาความรู้จากภายนอก เพราะนอกจากการสร้างความรู้กับตนเองแล้ว ต้องใช้ความรู้จากที่อื่นให้เป็นด้วยโดยนำมาผสมผสานกัน

ธ.กรุงเทพหนุนลูกค้านวัตกรรม

โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แบงก์ยังคงสนับสนุนผู้ประกอบการในแง่การเงินโดยร่วมกับ สนช. แต่เงินอย่างเดียวไม่ใช่หลักประกันความสำเร็จ ต้องใช้ร่วมกับความรู้ หรือนวัตกรรม เพราะมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างมาก ในแง่ของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน จะนำมาซึ่งการสร้างความแตกต่าง แต่ต้องผ่านกระบวนที่เรียกว่านวัตกรรมให้ได้ และดูแล้วว่าสินค้าหรือสิ่งที่ผลิตนั้นผู้บริโภคมีความพึงพอใจมากขึ้นและทำได้ดีกว่าคู่แข่ง

ในฐานะประธานกรรมการตัดสินรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ เห็นว่า การจัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2549 จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 คาดว่าจะได้รับการตอบรับจากผู้ร่วมประกวดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามาก โดยในปีนี้มุ่งเน้นตามยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสนับสนุนให้มีการใช้นวัตกรรมมากขึ้นเช่นกัน

ตั้ง Innovation Park แหล่งข้อมูล

ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมโครงการตั้ง Innovation Park เพื่อเป็นศูนย์รวมผลงานนวัตกรรม แหล่งความรู้ และข้อมูลเชิงธุรกิจ สำหรับผู้สนใจและผู้ประกอบการที่ต้องการนำนวัตกรรมไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะใช้พื้นที่ในกระทรวงฯ จัดทำศูนย์ดังกล่าว เพื่อสนับสนุนสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และยังคงสานต่อการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการเงินใน 4 รูปแบบ วงเงิน 121 ล้านบาท ได้แก่

1.โครงการ “นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย” สนับสนุนโครงการนวัตกรรม วงเงินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท โดย สนช.จะเป็นผู้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้แทนผู้รับการสนับสนุนภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีแรก วงเงินสนับสนุน 61 ล้านบาท 2.โครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน สนับสนุนเงินให้เปล่าวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทเน้นนวัตกรรมที่มีระดับของความใหม่ วงเงินสนับสนุน 24 ล้านบาท 3.โครงการทุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม วงเงินสนับสนุน 24 ล้านบาท และ4.โครงการร่วมลงทุนธุรกิจนวัตกรรม วงเงินสนับสนุน 12 ล้านบาท

“เราเน้นให้เอกชนพัฒนาโปรดักต์ ด้วยการช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ และสร้างศักยภาพทางธุรกิจเพื่อแข่งขันในระดับโลก เชื่อว่าเศรษฐกิจนวัตกรรมจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นประโยชน์” รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว

4 ทัศนะผู้บริหารมือโปรไขรหัส

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและเครือข่าย 5 ธนาคารพันธมิตร ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาในหัวข้อ “นวัตกรรม...เพื่อธุรกิจใหม่” บรรยากาศภายในงานได้รับความสนใจจากผู้ประกอบ บริษัท ห้าง ร้านเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

ช่วงเช้าของงานสัมมนามีผู้บริหาร 4 รายที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ มาแสดงความคิดเห็นและแนะนำการนำนวัตกรรมไปใช้ในการทำธุรกิจ

กูรูตลาดแนะเพิ่มคุณค่า-ต้นทุนต่ำ

ลักขณา ลีละยุทธโยธิน นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในอดีตแผนกวิจัยและพัฒนาเป็นแผนกที่บริษัทส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ แต่ปัจจุบันหลายบริษัทลงทุนอย่างมหาศาล เพราะจะช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับบริษัท ทำให้มีการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคตได้

อย่างไรก็ดี การทำนวัตกรรมจะทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น แต่เนื่องจากลูกค้าจะไม่ยอมรับราคาที่สูงขึ้น ดังนั้น นวัตกรรมที่ดีต้องทำให้สินค้ามีคุณค่าที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ต้นทุนเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยปัจจัยสำคัญในการคิดนวัตกรรม คือจะต้องทำให้ชีวิตของลูกค้าสบายขึ้น

สำหรับนวัตกรรมของสินค้าคอนซูเมอร์ทำให้เกิดความหลากหลาย เช่น ในอดีตแชมพู สบู่ ทุกคนในบ้านใช้เหมือนกันหมด แต่ต่อมามีแชมพูเหมาะกับผมแบบต่างๆ สบู่มีแยกสำหรับหลายผิว ทำให้ธุรกิจเบ่งบาน อุตสาหกรรมคอนซูเมอร์ใหญ่ขึ้น และลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น

หรือเซเรบอส ในอดีตจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซุปไก่ แต่หลังจากทำนวัตกรรมออกสินค้าวีต้าทำให้เกิดลูกค้ากลุ่มใหม่ ทำให้ธุรกิจของบริษัทโตขึ้น เมื่อออกวีต้าเม็ดพกพาสะดวกทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนและเกิดการแข่งขันที่ท้าทายสำหรับคู่แข่งด้วย

ดังนั้น นักการตลาดไม่ควรมองข้ามเพราะหากไม่ทำจะสู้กับคู่แข่งไม่ได้ แต่ทำช้ากว่าคนอื่นได้ นวัตกรรมเกิดขึ้นในทุกด้าน ตั้งแต่ต้นทุนสินค้า ลักษณะสินค้า ลักษณะของการสื่อสาร และช่องทางการจัดจำหน่าย

นอกจากนี้ ในมุมมองของนักการตลาด นวัตกรรมยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงหรือขยับบางอย่างก็ได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงขวดแชมพู ทำให้ทันสมัยและใช้สะดวกขึ้น หรือโรลออนยี่ห้อหนึ่งยอดขายเริ่มนิ่งจึงสร้างนวัตกรรมวิธีการใช้ใหม่ด้วยการให้ฉีดเป็นรูปเอ็กซ์ ทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้น

นวัตกรรมที่ทำให้เกิดสินค้าใหม่ในแต่ละปีมีปริมาณน้อยแต่สามารถสร้างรายได้มาก ซึ่งการคิดนวัตกรรมสินค้านั้น หากฉีกแนวได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้การสื่อสารมากเพราะเห็นความแตกต่างชัดเจน เช่น ยาไวอากร้า ในขณะที่นวัตกรรมที่เปลี่ยนบางส่วนทำได้ง่ายแต่สร้างรายได้น้อย เช่น การเปลี่ยนสีหรือกลิ่นจะต้องใช้การสื่อสารเป็นตัวช่วย

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีพนักงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ และสิ่งสำคัญ องค์กรต้องพร้อมเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ด้วย

ชี้นวัตกรรมบริหารดีกว่าเทคโนโลยี

“หลายปีที่ผ่านมาทุกคนได้เห็นว่านวัตกรรมมีความสำคัญมาก คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีหรือสินค้าใหม่ๆ แต่นวัตกรรมมองไปในเรื่องของการบริหารจัดการก็ได้ เป็นการใช้งบลงทุนที่น้อยแต่ได้ผลสูง อย่างการวางแผนธุรกิจ คอนเซ็ปต์ การวางแผนกลยุทธ์ ทั้งกลยุทธ์บริษัท กลยุทธ์ธุรกิจ ซึ่งกลยุทธ์ธุรกิจคือการทำ CMR ในองค์กร การทำตลาดโปรดักต์ ราคา โปรโมชั่น ทั้งหมดนี้เราสร้างให้เป็นนวัตกรรมได้”ไพศาล เปรื่องวิริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฟมิลี่ จำกัด ให้มุมมองอีกด้าน

ในขณะที่นวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะนวัตกรรมเรื่องซอฟท์แวร์หรือเครื่องจักรซึ่งมีวงจรชีวิตสั้นมาก การจะได้นวัตกรรมใหม่ๆ ผู้ประกอบการควรมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูสินค้าจากประเทศต่างๆ และหาสินค้าตัวอย่างมาวิเคราะห์ แต่สิ่งสำคัญคือไม่ควรใจร้อน เพราะเทคโนโลยีเป็นเรื่องของความเสี่ยงอาจจะทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนได้มาก

แต่นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทต้องมี เพื่อตอบรับกระแสการทำธุรกิจและทำให้บริษัทอยู่รอด เพราะนวัตกรรมเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการลดต้นทุน ลดความสูญเสีย สร้างกำไร และทำให้มีการเพิ่มผลผลิต

เช่น เมื่อ 5 ปีก่อน แฟมิลี่ให้พนักงานนั่งประกอบสินค้า แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นยืนประกอบสินค้าสามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้น 20% และส่งผลดีต่อสุขภาพของพนักงาน นี่เป็นนวัตกรรมในรูปแบบง่ายๆ

“สิ่งสำคัญนวัตกรรมไม่ต้องมองไปในเรื่องของเทคโนโลยีเป็นหลัก เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้เงินลงทุนสูง และต้องไม่คำนึงแต่เรื่องความเท่ห์หรือความทันสมัยเป็นที่ตั้ง แต่นวัตกรรมควรเป็นสิ่งที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เป็นความเสี่ยง” ไพศาล กล่าวทิ้งท้าย

"มิสลิลลี่”ชูรูปแบบธุรกิจ

เรวัต จินดพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิสลิลลี่ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนส่วนมากคิดว่าการเปลี่ยนแปลงคือเทคโนโลยี แต่หัวใจของการทำธุรกิจจริงๆ คือเรื่องของการสร้างแบรนด์ ทำแบรนด์ให้หวานเพื่อไปทำการตลาด ซึ่งการทำน้ำตาลให้หวานหรือแบรนด์ คือการทำธุรกิจทั้งระบบไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว ในขณะที่การตลาดคือกระบวนการเรียกมดให้มากินน้ำตาล

แต่การทำแบรนด์ไม่ใช่แค่ทำให้แพงแล้วจะดีแต่ต้องทำให้แบรนด์นั้นสามารถสื่อสารไปได้ด้วย การทำแบรนด์มี 3 ประการ คือ องค์กร พนักงาน และสินค้า ซึ่งต้องทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน การทำยุทธศาสตร์ของแบรนด์ คือ แผนการดำเนินงาน แผนปฏิบัติการ ซึ่งควรจะมีความได้เปรียบนำหน้าคู่แข่งอย่างน้อย 3 ปี สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ คือ ต้องมองหายุทธศาสตร์ของสินค้าตัวเองให้ได้ก่อน

“อย่างวันแรกที่มิสลิลลี่คิดจะทำดิลิเวอรี่ คนอื่นบอกทำแค่กรุงเทพฯก็พอ แต่ผมบอกว่าต้องทำทั่วประเทศ เพราะถ้าทำในกรุงเทพฯ คนตามทัน ซึ่งปีแรกที่ทำคนเขามองกันว่าบ้า แต่พอถึงปีที่สองคนจะมองว่าทำได้หรือ จะเจ๊งเมื่อไหร่ พอเข้าปีที่ 3 เขามองว่าทำตามดีกว่า ดังนั้นพอครบ 3 ปีแล้วเราก็ไปมองหายุทธศาสตร์ตัวใหม่ต่อไป”

อย่างไรก็ดี การทำนวัตกรรมอาจจะอยู่ในรูปแบบของธุรกิจก็ได้ เช่น มิสลิลลี่ ใน 3 ปีแรก เน้นรูปแบบของดิลิเวอรี่ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่ไม่ต้องอาศัยการวิจัย หรือนวัตกรรมตัวสินค้า เช่น ในอนาคตจะมีการคิดค้นวิธีการทำพวงหรีดที่ไม่จำเป็นต้องทำเป็นรูปวงรีหรือวงกลม แต่ทำเป็นรูปธงชาติ หรือแจกันดอกไม้ ไม่ต้องใช้เซรามิคแต่เป็นแจกันกระดาษแทน

สภาอุตฯ แจง 5 ปัจจัยส่งผล

เกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำธุรกิจปัจจุบันต้องเกี่ยวข้อง 5 ปัจจัย คือ เทคโนโลยี การตลาด การจัดการ การเงิน และบุคลากร ซึ่งนวัตกรรมแฝงอยู่ทั้ง 5 ส่วน เช่น นวัตกรรมเทคโนโลยี คือการสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะต้องเกิดจากการต่อยอดหรือการพัฒนาจากพื้นฐานที่มีอยู่เดิม แต่หากไม่มีพื้นฐานเดิมอยู่ต้องไปค้นคว้า

นวัตกรรมด้านการตลาด เห็นตัวอย่างจากไนกี้ จำหน่ายเครื่องใช้กีฬา ธุรกิจที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ใช้วิธีออกแบบสินค้าและจ้างคนอื่นผลิต โดยกำหนดค่าการตลาดของนวัตกรรมไว้ที่ 1,000 บาทต่อรองเท้าหนึ่งคู่ ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องรู้คือคนไทยต้องรู้จักคิดด้วยการเอาเทคโนโลยีกับการตลาดมารวมกัน เช่น เกษตรกรขายข้าวต้องคิดว่าที่จะขายข้าวเป็นเมล็ดไม่ใช่ขายเป็นเกวียน เช่น คิดทำข้าวที่กินแล้วไม่อ้วน

ส่วนนวัตกรรมการจัดการ คือ การจัดการสินค้าให้ไม่มีสต๊อกเพราะช่วยเรื่องลดต้นทุนได้ และการบริหารเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่เพราะหากพนักงานฉลาดจะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เรื่อยๆ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่สามารถคิดสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา เพราะหากเป็นบริษัทใหญ่การคิดสิ่งใหม่ๆ จะต้องมีระบบการจัดการที่ยุ่งยาก แต่นักประดิษฐ์บางคนไม่จำเป็นต้องเป็นนักธุรกิจ และนักธุรกิจบางคนก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักประดิษฐ์

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้คนไทยยังขาดความคิดใหม่ๆ เพราะการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของคนไทยน้อยเกินไป ทำให้ไทยพัฒนาสินค้าได้ช้าส่งผลให้สินค้าไทยกำไรน้อย เพราะผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่มักจะนำเงินไปบำรุงกิจการเพื่อหวังสร้างกำไร ไม่ได้คิดจะนำเงินมาพัฒนาเรื่องนวัตกรรม แต่หากผู้ประกอบการสามารถคิดค้นหรือผลิตสิ่งใหม่ๆ ได้ควรรีบนำมาจำหน่ายเร็วที่สุด เพราะขายก่อนกำไรก่อน

รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวถึงปัจจัยสุดท้ายว่า ต้องยอมรับว่าด้านบุคลากรในประเทศ ปัจจุบันให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์น้อยกว่าสังคมศาสตร์ ซึ่งควรจะแก้ไขด้วยการให้ผู้ที่มีความรู้มาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาเกิดความรู้ใหม่ๆ หรือโรงงานที่มีห้องทดลองจะต้องให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานได้ซึ่งจะทำให้การต่อยอดเทคโนโลยี

สนช.โชว์ 4 ตัวอย่างความสำเร็จ

สำหรับช่วงบ่ายผู้ประกอบการและบริษัท 4 ราย ที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจนวัตกรรมที่ สนช. ให้การสนับสนุน มาให้ข้อมูลตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนสามารถประกอบธุรกิจเป็นที่ยอมรับในตลาด

ณัฐวุฒิ พงศ์พาณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบอร์น ฟาร์ม จำกัด ทำโครงการนวัตกรรมระบบเพาะปลาการ์ตูนเพื่อการส่งออก กล่าวว่า เดิมทำธุรกิจปลาน้ำจืดส่งออก เล็งเห็นโอกาสของตลาดปลาน้ำเค็ม โดยเฉพาะความต้องการของปลาการ์ตูนในตลาดอเมริกา จึงแสวงหาความรู้พบว่า มหาวิทยาบูรพาเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูน จึงมีแนวติดต่อยอดในเชิงธุรกิจและนำเสนอโครงการจนได้รับการสนับสนุนจาก สนช. ด้วยนวัตกรรมของกระบวนการผลิต การเลี้ยงและการสร้างอาหาร

ได้รับเงิน 5.5 ล้านบาท และสนับสนุนวิชาการจากอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาพัฒนานวัตกรรมเรื่อยๆ ทำให้ธุรกิจเติบโต ในปีที่ 3 ที่เริ่มได้กำไรจะต้องจ่ายคืนมหาวิทยาลัยบูรพา 4% ของกำไรสุทธิ และจ่าย สนช. 3% ตามระบบการจ่ายคืน

บุญชัย หล่อพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาราธอน (ประเทศไทย) จำกัด ทำโครงการนวัตกรรมตะกร้อผิวนุ่ม กล่าวว่า เริ่มแนวคิดสินค้านวัตกรรมตะกร้อผิวนุ่ม จากกรณีขาดแคลนหวายวัตถุดิบในการสานตะกร้อ จึงนำพลาสติกมาใช้แทน แต่เกิดการเลียนแบบจึงจดสิทธิบัตร แต่สำหรับตลาดต่างประเทศตะกร้อพลาสติกแข็งเกินไปและอาจบาดเจ็บในการเล่น จึงพัฒนาสู่ตะกร้อผิวนุ่ม และจดสิทธิบัตรเมื่อ 10 ปีแล้ว แต่ใช้โนว์ฮาวการยึดติดกันระหว่างยาง ซึ่งต้นทุนการผลิตสูง จึงต้องรอเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้ต้นทุนการผลิตถูกลง

พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สเปเชี่ยลตี้ ไบโอเทค จำกัด ทำโครงการนวัตกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์จากยีสต์ เล็งเห็นมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมผลิตยีสต์และผลิตภัณฑ์จากยีสต์กว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี จึงได้ค้นคว้าผลิตขึ้นโดยร่วมกับคณะสิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งโรงงานผลิตเป็นครั้งแรกในไทย ประกอบด้วยยีสต์ ยีสต์สกัด ผนังเซลล์และเบต้ากลูแคนเหมาะสำหรับการทำอาหารเสริมหรือใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

นิพนธ์ เอี่ยมโกสุม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซนนิเมด (ประเทศไทย) จำกัด ทำโครงการนวัตกรรมหลอดเก็บตัวอย่างสุญญากาศ กล่าวว่า เป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ พบปัญหาความไม่แน่นอนของธุรกิจ เพราะต้องพึ่งผู้ผลิตต่างประเทศ 80-90% จึงคิดหาผลิตภัณฑ์ของตนเองขึ้นเป็นหลอดเก็บตัวอย่างเลือดสุญญากาศ “ZENIVAC” เพราะตลาดต้องการมาก ต้องนำเข้าจากต่างประเทศปีละ 800 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อผลิตได้เองทำให้ลดต้นทุนสินค้าต่อหน่วยลดลงถึง 20% และกลายเป็นจุดแข็งเพราะสามารถปรับเข้ากับความต้องการของตลาดได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.