โมเดอร์นฟอร์มฯหนักในการเมืองปรับแผนกระตุ้นยอดขายครึ่งปีหลัง


ผู้จัดการรายวัน(16 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดเฟอร์นิเจอร์ตั้งป้อมรับมือการเมือง หลังตลาดอาคารสำนักงาน-โครงการจัดสรรชะลอการลงทุน "โมเดอร์นฟอร์มฯ" ทบทวนเป้ารายได้ หากสถาน -การณ์ไม่คลี่คลาย พร้อมดันกลุ่มสินค้า Hospitality เสริมยอดขายในและต่างประเทศ หวังปีแรกสร้างรายได้กว่า 100 ล้านบาท ด้านเอสบีฯ วิเคราะห์หลังเหตุการณ์สงบกำลังซื้อไหลกลับมาแน่ มั่นใจยอดขายเติบโตตามเป้า 15% เร่งปรับตัวรับแบรนด์ต่างชาติตีตลาดในไทยหลังเปิดเสรีการค้า ด้านส.อุตฯเครื่องเรือนไทยตั้งเป้าส่งออก 1,500 ล้านเหรียญฯ

นายวัฒนา อุษณาจิตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากผลกระทบทางการเมือง ตั้งแต่ช่วงปลายปี2548 จนถึงขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของธุรกิจทุกประเภท โดยบริษัทโมเดอร์นฟอร์มฯได้รับผลกระทบในส่วนนี้ ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ คาดว่ายอดขายของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 15% หรือตกจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่ 20% ขณะที่เป้ายอดขายทั้งปีอยู่ที่ 20%

"หากสถานการณ์การเมืองยังยืดเยื้อไปถึงไตรมาสที่ 2 บริษัทอาจจะมาทบทวนเป้ารายได้รวมทั้งปี ตอนนี้ต้องรอดูสถานการณ์จากการเมืองไปก่อน ซึ่งโมเดอร์ฟอร์มฯ หวังว่าปัญหาด้านการเมืองจะสามารถได้บทสรุปในระยะสั้น หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไป" นายวัฒนากล่าว

สำหรับสาเหตุที่ยอดขายของบริษัทไม่เป็นไปตามเป้าในช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากการชะลอการซื้อและการลงทุนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า ที่มีอัตราการขยายตัวลดลง ทั้งนี้ โครงสร้างรายได้ของบริษัท สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ การขายเฟอร์นิเจอร์ตกแต่อาคารสำนักงานประมาณ 60% รายได้จากการขายให้แก่โครงการ 35% และอีก 5% ที่เหลือมาจากรายได้จากการส่งออก โดยจะมีการขยับสัดส่วนการส่งออกเพิ่มเป็น 7% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับเปลี่ยนการทำตลาดและเพิ่มสินค้าเข้ามาเสริมรายได้ให้แก่บริษัท โดยได้นำเฟอร์นิเจอร์ในกลุ่มHospitality หรือชุดรับรอง เจาะกลุ่มสำนักงานและโรงแรมเข้ามาช่วยเสริมรายได้ โดยสินค้าในกลุ่มดังกล่าวจะทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ สินค้ากลุ่มนี้ เดิมแทรกอยู่ในกลุ่มสินค้าทุกประเภทของบริษัท ไม่มีการแยกออกเป็นกลุ่มเฉพาะ แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้น บริษัทจึงมีแผนในการเพิ่มรายได้ในกลุ่มสินค้าดังกล่าวเข้ามา ซึ่งจากการเปิดตัวสินค้าในงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ TIF จัดขึ้นที่เมืองทองธานีในช่วงสัปดาห์ก่อน ปรากฏว่ากลุ่มสินค้าHospitality ได้รับการตอบรับที่ดีมาก โดยมียอดสั่งจองจากโรงแรมในต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทในประเทศสั่งจอง โดยส่งแบบเฟอร์นิเจอร์เข้ามาให้บริษัทผลิตสินค้าให้จำนวนมาก"

ทั้งนี้ ยอดขายสินค้าในกลุ่มดังกล่าวประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปี แต่หลังจากที่มีการแยกกลุ่มที่ชัดเจนขึ้น บริษัทคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 100 ล้านบาทในปีนี้

เอสบีฯปรับตัวรับเปิดเสรีการค้า

ด้านนายธนทัต ชวาลดิฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสบี เฟอร์นิเจอร์ อินดัสตรี จำกัด กล่าวว่า ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในปีนี้ยังขยายตัวอยู่ แต่ในช่วงไตรมาสแรกนี้อาจจะมีอัตราการชะลอตัวลงไปบ้าง จากผลกระทบทางด้านการเมือง แต่เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ และเมื่อเหตุการณ์สงบคาดว่ากำลังซื้อของลูกค้าจะกลับเข้ามาในตลาดเช่นเดิม เนื่องจากความต้องการในตลาดยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ที่มีการชะลอการซื้อออกไป เพราะกลุ่มลูกค้ากำลังติดตามสถานการณ์การเมืองในตอนนี้

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในปีที่ผ่านมา มียอดขายรวมประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท และในปี49 นี้ บริษัทได้ตั้งเป้าว่าจะมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 15% แม้ว่าผลกระทบด้านการเมืองที่เกิดขึ้น จะทำให้เกิดการชะลอการซื้อออกไปในช่วงไตรมาสแรก แต่เอสบีฯจะไม่มีการปรับเป้ารายได้ลงและมั่นใจทั้งปียอดขายได้ตามเป้า

ส่วนเรื่องการปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้น เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรงถึงขั้นต้องมีการปรับแผนการตลาดใหม่เพื่อรองรับกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตามหากจะต้องมีการปรับตัวรับกับสถานการณที่เกิดขึ้น คงไม่เกี่ยวกับการปรับตัวรับกับสถานการณ์จากการเมือง แต่ปรับตัวรับกับสถานการณ์ด้านการแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น โดยจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีข้อได้เปรียบทั้งด้านเงินทุน ,แบรนด์สินค้า, รูปแบบการดีไซน์ และการตลาดที่เข้มแข็งเข้ามาเป็นคู่แข่งในตลาดอาทิ แบรนด์ อีเกียร์ ซึ่งในส่วนนี้บริษัทก็ไม่ได้กังวลกับการแข่งขันจากผู้ประกอบการต่างประเทศมากนัก เนื่องจากเอสบีฯ ได้ส่งออกไปต่างประเทศอยู่แล้ว ประมาณ 36 ประเทศ ดังนั้นจึงมีความั่นใจที่พร้อมรับการแข่งขันในทุกตลาด

เร่งปรับเทคโนโลยีหนี้ผลกระทบFTA

นายวรรธนะ เจริญนวรัตน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย กล่าวว่า ทางสมาคมฯได้วางแผนรุกตลาดส่งออก และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน โดยมีเป้าหมายการส่งออกปี 49 มูลค่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐเติบโตขึ้น 10% โดยมีกลยุทธ์ต่างๆในการขับเคลื่อนให้ได้เป้าหมาย อาทิ มุ่งเน้นตลาดระดับบน ลดต้นทุนการผลิตจากแหล่งวัตถุดิบ มุ่งเน้นเครื่องจักรพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตไม้ และเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์

"หลังจากที่ไทยทำสนธิสัญญาเปิดเขตการค้าเสรี ทำให้เห็นโอกาสทางการค้าและขณะเดียวกันได้เห็นผลกระทบต่างๆได้เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว และพยายามให้อยู่เหนือประเทศคู่แข่ง อาทิ จีน เวียดนาม และมาเลเซีย คือ การมีเทคโนโลยีที่สูงกว่าและบุคลากรที่มีศักยภาพเหนือกว่า " นายวรรธนะกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.