โตโยต้าฯ ปิดโรงงานแค่พักร้อน อย่าตกใจ !!!


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ในที่สุดโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ไม่อาจที่จะต้านทานกระแสความตกต่ำของเศรษฐกิจไทยได้

แม้ว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาโตโยต้าจะเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย และหลายเดือนก่อนนับจากตลาดรถยนต์เริ่มส่อวิกฤติ โตโยต้าจะยังได้รับการมองว่าจะสามารถแบกรับสถานการณ์ได้ เนื่องด้วยความได้เปรียบในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นตัวผลิตภัณฑ์ และความยยิ่งใหญ่ขององค์กร

แต่วันนี้ ได้บทสรุปที่เป็นธรรมชัดเจนแล้ว ที่ว่าไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหนไม่อาจพ้นขวากหนามสำคัญนี้ได้

4 พฤศจิกายน โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ออกข่าวถึงการปิดโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าในไทยทั้ง 2 แห่ง คือที่สำโรง และในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้

รุ่งขึ้น วาย มูรามัตซึ ประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ต้องออกแถลงการณ์ด่วน ถึงกระแสข่าวข้างต้น เพื่อชี้แจงให้เกิดความกระจ่างมากขึ้น

มูรามัตซึ ชี้แจงว่า เนื่องจากตลาดรถยนต์เมืองไทยมีขนาดลดลง บริษัทจึงมีการปรับปริมาณการผลิต โดยขั้นแรกได้มีการปรับการผลิตจาก 2 กะทำงานเหลือเพียง 1 กะทำงาน และในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้ปรับการทำงานจาก 5 วันเหลือเพียง 3 วัน โดยดำเนินการทั้งที่เกตเวย์และสำโรง

แต่ความเลวร้ายของสถานการณ์กลับทวีความรุนแรงขึ้น โตโยต้าฯ จึงจำเป็นต้องงัดนโยบายที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาใช้

การปิดโรงานทั้ง 2 แห่งในไทยนั้น มูรามัตซึ ชี้แจงว่าเป็นเพียงการหยุดสายการผลิตชั่วคราวเป็นเวลา 1 เดือนครึ่งเท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2540 นี้ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการปิดโรงงานหรือหยุดการดำเนินการ

ในด้านพนักงานนั้น โตโยต้าฯ มีรวมทั้งสิ้น 4,700 คน โดยเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตประมาณ 2,000 คน ซึ่งจำนวนนี้จะจัดให้มีการฝึกอบรมและช่วยงานในฝ่ายที่ขาดแคลนกำลังคน

"แม้ว่าจะมีการหยุดการผลิตชั่วคราว แต่บริษัทไม่มีนโยบายปลดพนักงาน และยังคงจ่ายเงินเดือนตามปกติ"

มูรามัตซึยังได้ถึงประสบการณ์ในอดีตให้ฟังอีกว่า โตโยต้านั้นเคยมีประสบการณ์ในบริษัท NUMI ที่ประเทศอเมริกาเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งต้องเผชิญปัญหากับกำลังการผลิตที่จำเป็นต้องลดลงอย่างฮวบฮาบ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในปัจจุบัน บริษัทดังกล่าวก็ยังไม่ทำการปลดพนักงาน และเมื่อเศรษฐกิจในอเมริกาดีขึ้น ฟื้นกลับมาดังเดิม บริษัทดังกล่าวก็สามารถเพิ่มการผลิตได้ทันทีซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความประทับใจให้กับพนักงานและสังคมอย่างมาก

สำหรับประเด็นของขนาดทางธุรกิจในส่วนของโรงงานประกอบนั้น มูรามัตซึกล่าวว่า ถึงขณะนี้ไม่มีแผนที่จะลดขนาดของโรงงาน โดยเดิมทีนั้นได้ประเมินว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจะมีขนาดโดยรวมอยู่ที่ 800,000 คันต่อปีในปีค.ศ.2000 ซึ่งบริษัทก็ได้ทำการลงทุนสร้างโรงงานเพื่อขยายกำลังการผลิตให้ได้ 240,000 คันต่อปีเตรียมรองรับตลาดที่จะมีมาถึงในส่วนแบ่งตลาดที่ 30% ซึ่งได้วางเป้าหมายไว้ และการลงทุนที่ว่านั้นก็ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะอยู่ในช่วงขาลงแต่เราก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายดังกล่าว แต่การบรรลุยอดจำหน่ายที่ 240,000 คันต่อปีนั้นคงต้องเลื่อนออกไป 2-3 ปี

"ในปี 2541 ตลาดรถยนต์ รวมของไทยคงอยู่ที่ 300,000 คันต่อปี แต่ถ้าเลวร้ายที่สุดคงไม่ต่ำกว่า 240,000 คันต่อปีโดยโตโยต้ายังตั้งเป้าหมายส่วนแบ่งตลาดไว้ที่ 30%"

มองจากประมาณการที่มูรามัตซึกล่าวถึงนั้น น่ากลัวไม่น้อยไม่เฉพาะแต่โรงงานประกอบหรือผู้ผลิตค่ายต่างๆ แต่ความน่ากลัวนั้นได้แผ่ซ่านไปยังทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยานยนต์ของไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วน และตัวแทนจำหน่ายทั้งหลาย เพราะจากที่เคยค้าขายได้ 100 แต่ปีหน้าจะหดเหลือเพียง 50 เท่านั้น การวางแผนเพื่อรองรับรายได้ที่จะขาดหายไปจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

สำหรับโตโยต้าฯ เองมูรามัตซึกล่าวว่า ในด้านการส่งออกนั้นจะเข้ามาช่วยได้ส่วนหนึ่ง โดยปี 2539 ที่ผ่านมาบริษัทส่งออกได้ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ และปีนี้คาดว่าจะสามารถส่งออกได้ 90 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปีหน้า (2541) ตั้งเป้าหมายว่าจะส่งออกทั้งสิ้น 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในด้านการส่งออกนั้น สถานการณ์ได้บีบบังคับให้โตโยต้าฯ ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น และในปีหน้าการส่งออกรถปิกอัพ ไมตี้เอ็กซ์ โมเดลใหม่ อย่างเป็นรูปเป็นร่างจะเริ่มต้นขึ้น โดยจะส่งออกไปจำหน่ายยัง 30 ประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย และประเทศในแถบแอฟริกา นอกจากนี้การย้ายฐานการผลิตปิกอัพทั้งหมดจากญี่ปุ่นมาไว้ที่เมืองไทยจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ด้วย โดยจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตปิกอัพในภูมิภาคนี้แทนญี่ปุ่น และจะส่งกลับไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่นด้วย ส่วนโซลูน่า รถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ฮือฮาอย่างมากในช่วงแรก กลับจะต้องรอความชัดเจนและความพร้อมอีกระยะหนึ่ง เพราะแผนส่งออกยังไม่ได้เตรียมไว้เพื่อช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเชื่อถือกันที่คำพูดอันหนักแน่นก็คงต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของโตโยต้า ณ วันนี้ ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่สุด หรือไม่ได้ตกนรกอย่างไม่มีวันเกิด เพียงแต่รอเวลากลับมายิ่งใหญ่เท่านั้น และเช่นกันมันได้สะท้อนมายังสภาพเศรษฐกิจของไทยด้วย

"โตโยต้ายังมีความมั่นใจว่าประเทศไทยยังคงมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ได้ต่อไป" มูรามัตซึกล่าวอย่างมาดมั่น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.